Design Kitchen & Home

Universal Design การออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุ และสมาชิกทุกคนในครอบครัว


ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ และความจำของผู้สูงอายุย่อมมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย และช่วยเหลือตัวเองได้โดยเฉพาะพื้นที่ภายในบ้าน เราจึงควรออกแบบที่อยู่อาศัยให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีความเป็น Universal Design เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุ ตลอดจนสมาชิกทุกคนภายในบ้านสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายคล่องตัว ซึ่งการออกแบบพื้นที่ในบ้านควรคำนึงถึงเรื่องใดบ้างตามเราไปดูกันเลยค่ะ

การออกแบบพื้นที่ในบ้านแบบ Universal Design

รองศาตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์

ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์จากภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการออกแบบพื้นที่ภายในบ้านให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยเมื่อต้องอยู่บ้านคนเดียว รวมไปถึงช่วยลดภาระของลูกหลานที่ต้องมาคอยดูแลตลอดเวลาได้อีกด้วย ไปเริ่มต้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Universal Design กันดีกว่าค่ะ

เริ่มต้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Universal Design กันดีกว่า

Universal Design และการออกแบบที่สัมพันธ์กับสรีระร่างกาย

“เมื่อคนเราอายุมากขึ้นร่างกายจะมีความเสื่อมถอย เช่น ระยะของการเอื้อมที่ทำได้น้อยลง การก้มที่ไม่ถนัดเหมือนเดิม ระยะการนั่งหรือการลุกที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อเข่า ซึ่งเราศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับผู้สูงอายุและผู้พิการมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยเริ่มต้นวัดร่างกายของผู้สูงอายุไทยว่าค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมกับการออกแบบว่าควรมีความกว้าง ความยาวประมาณเท่าไร เนื่องจากมาตรฐานส่วนใหญ่จะอ้างอิงจากต่างประเทศมากกว่า ซึ่งนอกจากเรื่องข้อจำกัดทางร่างกายแล้วยังรวมไปถึงภาวะสมองเสื่อมที่พบในผู้สูงอายุด้วย จึงทำให้การออกแบบต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องความปลอดภัยและช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อจำกัดทั้งทางร่างกายและจิตใจ”

ดังนั้นการออกแบบพื้นที่ภายในบ้านจึงควรคำนึงถึงระยะของเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ขนาดความสูงหรือความกว้างจะต้องมีความสัมพันธ์กับสรีระร่างกายที่เปลี่ยนไป เช่น ความสูงของตู้ลอย ความสูงของเตียง เก้าอี้ ที่จะต้องปรับระดับให้เตี้ยลง ควรมีราวจับในห้องน้ำเพื่อป้องกันการลื่นล้ม ขนาดความกว้างของประตูที่จะต้องกว้างขึ้นเพื่อรองรับการใช้วีลแชร์ เป็นต้น

“การออกแบบพื้นที่ในบ้านหรือการเลือกอุปกรณ์ต่างๆ ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้สะดวก แต่ทุกคนก็ใช้งานได้ง่ายด้วยไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ เด็ก หรือคนทุกเพศทุกวัย ด้วยหลักการของการออกแบบที่เป็น Universal Design ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าเป็นบ้านของผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วทุกคนใช้งานร่วมกันได้” อาจารย์ไตรรัตน์ กล่าว

แนวคิดในการออกแบบสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ

การออกแบบสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยของผู้สูงอายุควรประกอบไปด้วย

  • ความปลอดภัยทางกายภาพ คือ ต้องมีแสงสว่างเพียงพอ บริเวณบันไดหรือห้องน้ำพื้นควรจะเรียบเสมอกัน มีราวจับเพื่อป้องกันการหกล้ม
  • สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย เช่น มีทางลาดสำหรับผู้ที่ต้องใช้วีลแชร์ ความสูงของตู้สามารถเอื้อมถึงและหยิบของได้สะดวก
  • สร้างแรงกระตุ้น เลือกแต่งบ้านที่มีสีสันสดใส เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกกระชุ่มกระชวย โดยเฉพาะโทนสีร้อนอย่างสีแดง สีส้ม สีเหลือง
  • ดูแลรักษาง่าย ไม่ควรออกแบบพื้นที่ให้มีขนาดเล็กจนเกินไป สร้างความรู้สึกอึดอัดคับแคบ หรือไม่ใหญ่จนเกินไปจนดูแลไม่ทั่วถึง

พื้นที่ภายในบ้านแบบ Universal Design ควรออกแบบอย่างไร

ห้องนอนแบบ Universal Design

“เตียงนอนถือเป็นจุดที่ทำให้ผู้สูงอายุล้มได้บ่อยมาก ควรเลือกเตียงนอนแบบเตียงเดี่ยวที่ไม่นุ่มจนเกินไป มีความสูงประมาณ 45 เซนติเมตร ระยะรอบเตียงควรมีที่ว่างประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถลุก-นั่งได้สะดวกทั้ง 3 ด้าน เมื่อนั่งแล้วขาไม่ควรลอยจากพื้น เลือกใช้กระเบื้องหรือพื้นที่มีโทนสีสว่าง ไม่ลื่น และเป็นวัสดุที่ยึดเท้าได้ มีความนุ่มสบาย และไม่ควรมีสิ่งกีดขวางต่างๆ การติดกระจกไว้ในห้องยังช่วยลดอัตราความจำเสื่อมและช่วยฟื้นฟูความทรงจำของผู้สูงอายุได้ด้วย เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมองเห็นตัวเองและแต่งตัวเองได้ โดยควรเลือกตู้เสื้อผ้าแบบหน้าบานเลื่อน สะดวกต่อการเปิด-ปิด ติดตั้งราวแขวนให้ต่ำลงเพื่อให้หยิบเสื้อผ้าได้ง่าย อีกทั้งยังควรออกแบบห้องนอนให้มีแสงสว่างเพียงพอเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแสงจากธรรมชาติหรือการติดตั้งไฟตามจุดต่างๆ”

ห้องรับแขกและห้องนั่งเล่นแบบUniversal Design

นอกจากการตกแต่งที่สวยงามแล้ว เราจะต้องจัดพื้นที่ให้มีความสะอาดเรียบร้อย เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่เหมาะสม ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อผู้สูงอายุเท่านั้นแต่ยังทำให้สมาชิกทุกคนใช้งานได้สะดวกอีกด้วย

โดยเริ่มต้นจากออกแบบให้ส่วนลิฟวิงรูมมีการถ่ายเทอากาศที่ดี เฟอร์นิเจอร์อย่างชุดโซฟาควรจัดให้หันหน้าเข้าหากันเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ความสูงของที่นั่งควรอยู่ที่ประมาณ 45 เซนติเมตร มีเบาะไม่นุ่มหรือเตี้ยจนเกินไปทำให้ลุกยาก โทนสีของพื้น ผนัง และอุปกรณ์ต่างๆ ควรใช้สีตัดกันสามารถมองเห็นได้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการวางสิ่งกีดขวางอย่างโต๊ะกลางหรือพรมเช็ดเท้า

ห้องน้ำแบบ Universal Design

ถือพื้นที่ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากการลื่นล้ม การออกแบบควรเลือกใช้ประตูห้องน้ำแบบบานเลื่อนที่เปิดได้ 90 เซนติเมตร คล่องตัวและมีมือจับยาวที่เปิด-ปิดง่าย และสามารถเปิดเข้ามาช่วยเหลือได้จากภายนอก เลือกใช้วัสดุพื้นกันลื่นและออกแบบให้เรียบเสมอกัน ความกว้างภายในห้องน้ำควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 เมตร เพื่อให้วีลแชร์สามารถหมุนได้โดยรอบ ทุกสุขภัณฑ์ควรมีราวจับที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 เซนติเมตร สามารถจับถนัดมือและพยุงตัวลุกได้สะดวก สำหรับสเปซด้านล่างอ่างล้างหน้าควรเว้นระยะความสูงจากพื้นประมาณ 80 เซนติเมตร ให้วีลแชร์สามารถสอดเข้าไปได้ แยกพื้นที่ส่วนเปียก-ส่วนแห้ง โดยพื้นที่อาบน้ำแนะนำให้ใช้เก้าอี้ในการนั่งอาบน้ำ ติดตั้งฝักบัวที่ปรับระดับความสูง-ความเตี้ยได้ เพื่อให้ทั้งผู้สูงอายุและสมาชิกภายในบ้านสามารถยืนอาบน้ำและใช้งานได้สะดวกเช่นกัน”

ห้องครัวแบบ Universal Design

เมื่ออายุมากขึ้นระยะการเอื้อมของคนเราจะทำได้น้อยลง อาจจะมีผู้สูงอายุบางคนที่เมื่อเอื้อมไม่ถึงก็ปีนขึ้นไปหยิบของบนตู้หรือชั้นต่างๆ ในครัวแล้วทำให้พลัดตกลงมาได้ ดังนั้น ในห้องครัวควรติดตั้งตู้ให้เตี้ยลงหรือเลือกใช้ชั้นที่ดึงออกมาได้โดยไม่ต้องเอื้อมหรือก้มมากเกินไปจะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้งานได้ง่ายขึ้นหรือมีความสูงไม่เกิน 170 เซนติเมตร ในส่วนของเคาน์เตอร์ครัวควรมีความสูงจากพื้นอยู่ที่ประมาณ 75 เซนติเมตร ด้านล่างของโต๊ะ เคาน์เตอร์ ควรเป็นพื้นที่โล่งเพื่อให้สามารถนั่ง หั่น ล้าง หรือเตรียมอาหารได้สะดวก ทั้งยังสามารถใช้วีลแชร์แล้วสอดขาเข้าไปได้ ความลึกของเคาน์เตอร์ไม่ควรเกิน 50 เซนติเมตร เอื้อมถึงได้ง่ายเวลาเปิดก๊อกน้ำหรือเปิด-ปิดปลั๊กไฟ และเพื่อความปลอดภัยมากขึ้นควรมีสวิตช์เปิด-ปิดสัญญาณไฟฟ้าก่อนจะใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อป้องกันไฟรั่วหรือไฟดูด ซึ่งตรงนี้ยังมีผลดีกับบ้านที่มีเด็กๆ ด้วยเช่นกัน”

เลือกใช้มือจับที่มีความยาวและกว้างสามารถดึงจับได้สะดวก

นอกจากนี้การทำอาหารยังถือเป็นกิจวัตรประจำวันและงานอดิเรกของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ซึ่งข้อดีของการที่ผู้สูงอายุยังทำอาหารได้เองนั้นจะช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมได้อีกด้วย แต่เราจำเป็นต้องจำกัดขอบเขตและออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้สูงอายุแต่ละท่าน รวมไปถึงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อให้ใช้งานได้ง่าย สะดวก และลดการเกิดอุบัติเหตุ

เพิ่มพื้นที่จัดเก็บด้วยตู้สูงที่สามารถดึงออกมาหยิบของได้โดยไม่ต้องก้ม และสามารถมองเห็นของได้ทั้งหมด

ออกแบบให้มีตู้และลิ้นชักใต้เคาน์เตอร์เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้ง่าย

บิลต์ตู้เย็นและติดตั้งมือจับให้สามารถเปิดใช้งานได้ง่าย

ออกแบบให้มีปุ่มกดสำหรับเลื่อนตู้ขึ้น-ลง สะดวกต่อการใช้งาน

การเลือกอุปกรณ์ในห้องครัว

มีหลักง่ายๆ อยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ น้ำหนักเบา มือจับใหญ่ถนัดมือ และมีสีสันสดใสมองเห็นง่าย เตาควรเลือกใช้เป็นเตาแม่เหล็กไฟฟ้าที่สัมผัสหน้าเตาแล้วไม่ร้อน จะมีความปลอดภัยมากกว่าเตาแก๊ส ซึ่งการที่ผู้สูงอายุยังสามารถทำอาหารได้เองจะสะท้อนให้เห็นว่าท่านยังทานอาหารได้อร่อยอยู่จึงถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเริ่มเข้าสู่ภาวะสูงวัยช่วงปลายหรือเริ่มมีอาการสมองเสื่อมไม่ควรให้ทำอาหารทานเองเพราะอาจเกิดอันตรายได้ และเมื่ออายุมากขึ้นอาจจะทำอะไรได้ไม่ถนัดมากนักอย่างการตักข้าว จึงควรเลือกช้อน-ส้อมที่จับถนัดมือ ตะเกียบที่ล็อกปลายช่วยให้คีบง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้และทำกิจวัตรในบ้านได้มากขึ้น หลายคนคิดว่าการช่วยทำทุกอย่างอาจจะง่ายกว่า ปลอดภัยกว่า แต่นั่นจะทำให้ภาวะร่างกายหรือความจำของผู้สูงอายุเสื่อมไวกว่าการที่ให้ท่านทำอะไรด้วยตัวเอง” อาจารย์ไตรรัตน์อธิบายถึงการออกแบบพื้นที่ส่วนต่างๆ ภายในบ้าน

ดีไซน์ของใช้และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุใช้งานได้ง่ายขึ้น

อุปกรณ์ในครัวควรมีน้ำหนักเบา ด้ามจับใหญ่ และสีสันสดใส

พื้นที่ภายนอกบ้านก็ต้องมีความปลอดภัย

เริ่มต้นจากส่วนของทางเข้าบ้านควรออกแบบให้มีชายคายื่นออกไปเพื่อป้องกันฝนและบังแดดไม่ให้จ้าจนเกินไป เนื่องจากสายตาของผู้สูงอายุจะปรับได้ช้า อาจเกิดอาการหน้ามืดได้ มีมุมสำหรับให้นั่งใส่และถอดรองเท้า ระหว่างทางเข้าบ้านและภายนอกบ้านไม่ควรมีพื้นต่างระดับหรือถ้าหากมีบันไดควรมีระยะขั้นเหยียบประมาณ 30 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร และควรมีราวจับ นอกจากนี้ยังสามารถออกแบบให้เป็นทางลาดที่มีความชันไม่น้อยกว่า 1:12 (พื้นที่ต่างระดับ 10 เซนติเมตร ทางลาดต้องยาวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร) ระยะทางระหว่างตัวบ้านกับประตูรั้วควรมีพื้นเรียบ เดินง่าย ไม่ลื่น ซึ่งวัสดุที่เหมาะสมควรมีรอยต่อน้อยที่สุด หลีกเลี่ยงการใช้แผ่นทางเท้า แต่ควรเลือกใช้เป็นพื้นบล็อกยาง เมื่อเกิดการล้มจะไม่เจ็บ ปลอดภัยทั้งกับผู้สูงอายุและเด็กๆ

สร้างบรรยากาศให้บ้านสดใสน่าอยู่ นอกจากการออกแบบพื้นที่ส่วนต่างๆ ให้เหมาะสม ปลอดภัย และสะดวกต่อการใช้งานแล้ว เราควรจะออกแบบให้มีพื้นที่สำหรับทำสวน เลี้ยงสัตว์ ออกกำลังกายและทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ได้ด้วย ปลูกต้นไม้ดอกไม้ที่มีสีสันสวยงาม มีกลิ่นหอมในช่วงเวลาต่างๆ ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น ออกแบบบ้านให้มีแสงธรรมชาติเข้าถึงอย่างในห้องนอน มองออกไปเห็นทิวทัศน์ด้านนอกจะช่วยกระตุ้นการรับรู้เรื่องเวลาให้กับผู้สูงอายุและสร้างความมีชีวิตชีวามากขึ้น สร้างความเพลิดเพลินด้วยการติดตั้งน้ำพุบริเวณมุมนั่งเล่นหรือเปิดเพลงสร้างบรรยากาศเบาๆ นอกจากนี้การจัดให้มีมุมนั่งเล่นสำหรับรับแขกหรือชักชวนเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันให้มาพบปะพูดคุย ตลอดจนการทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกหลานยังช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุขและจิตใจเบิกบานอีกด้วย

สำหรับครอบครัวไหนที่มีผู้สูงอายุหรือกำลังจะออกแบบเพื่อการอยู่อาศัยในระยะยาว คงจะดีไม่น้อยถ้าเราวางแผนการออกแบบที่อยู่อาศัยตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตที่เหมาะสม ซึ่งไม่ได้หมายถึงในเรื่องของการออกแบบพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้สดใสและสมาชิกทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Chula.UDC)
ขอขอบคุณชุดครัว : เฮเฟเล่ ดีไซน์ สตูดิโอ


You Might Also Like...