Lifestyle & Cooking People

คุณกุ๊กกิ๊ก-ดุสิตา ชวนคุยเรื่องการออกแบบให้พอดี สะดวกแต่ไม่ต้องสบาย(บ้าง) ก็ได้


ทุกวันนี้เรื่องของการออกแบบหรืองานดีไซน์เป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจมากขึ้น ไม่เพียงในแง่มุมของความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องตอบโจทย์เรื่องฟังก์ชันและประโยชน์ใช้สอย อาคารหนึ่งอาคารอาจจะใช้งานได้หลากหลาย ครอบคลุม เพื่อให้คุ้มค่ากับการก่อสร้าง หรือแม้แต่ห้องหนึ่งห้อง คงจะดีถ้าใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ เมื่อความต้องการมีมากกว่าหนึ่ง การออกแบบนั้นจะทำอย่างไรให้พอแล้วดี คุณกุ๊กกิ๊ก-ดุสิตา บุญมานันท์ จะมาเล่าให้เราฟัง

_NIK9334

เพราะเราต่างเริ่มต้นทำในสิ่งที่ชอบ
ตอนเด็กชอบวาดการ์ตูน อย่างขายหัวเราะ การ์ตูนตาหวาน ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่าพอโตขึ้นจะไปต่อยอดทำอาชีพอะไร โชคดีที่มีพี่สาวช่วยแนะนำ เพราะเขาเห็นเราชอบวาดนู่นวาดนี่ เลยบอกว่าไปเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมไหม จึงตัดสินใจสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หลังจากได้มาเรียนเลยรู้ว่าสถาปัตยกรรมไม่ใช่แค่วาดรูปสนุกๆ แต่มีทั้งศาสตร์ของศิลปะและวิทยาศาสตร์ มีเรื่องของความงาม ฟังก์ชัน และความปลอดภัยด้วย ตอนแรกที่เรียนเรายังไม่เข้าใจมากนัก ด้วยพื้นฐานที่มีคือวาดรูปอย่างเดียว เพื่อนๆ คนอื่นเขาจะมีเรียนพื้นฐานทางสถาปัตย์กันมาบ้างแล้วก่อนที่จะสอบเข้า แต่พอมาเรียนเราก็รู้สึกชอบและสนุกไปกับการออกแบบ ได้ทำโมเดล เปลี่ยนสิ่งที่คิดให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้จริงๆ ตอนนั้นมหาวิทยาลัยยังไม่มีการแยกสาขา เรียนสาขาวิชาสถาปัตยกรรมโดยตรง ส่วนเรื่องอินทีเรีย แลนด์สเคป การจัดไลต์ติง จะเรียนเป็นรายวิชาย่อยแทน ทำให้เราได้เรียนภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ออกแบบบ้าน อาคาร ตึก เขียนแบบ เขียนเสา เขียนคาน สร้างบ้าน

Natchaya1

เรียนรู้จากการทำงาน
เราไม่ได้เริ่มทำงานในบริษัทดีไซน์โดยตรง แต่เป็นบริษัทเกี่ยวกับการควบคุมงานก่อสร้างของอาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ อาจารย์ที่สอนเรามา พอเข้าไปทำงานได้ลองทำทุกอย่างตั้งแต่แผนกออกแบบ แผนกควบคุม การประมาณราคา หรือแม้กระทั่งไปคุมไซด์งานที่ต่างจังหวัด คุมงานก่อสร้าง ทำให้เราได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากการทำงานจริง

ช่วงที่ทำงานแรกๆ ยังไม่รู้ว่าชอบทำงานสไตล์ไหน แต่ตอนเรียนชอบงานที่เป็น Tropical แบบไทยประยุกต์ มีความเป็น Human Scale สัมผัสและเข้าถึงได้ง่าย ให้ความรู้สึกอบอุ่น สบายๆ พอเริ่มทำงานมาเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองชอบงานสไตล์โมเดิร์นเรียบๆ มากกว่า แต่ในส่วนของการทำงานจริงๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละโปรเจ็กต์ว่าโจทย์คืออะไร ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เขามีความสนใจการออกแบบหรืองานดีไซน์กันมากขึ้น อย่างเจ้าของบ้านแต่ละบ้านก็มีความชอบต่างกันไป เราก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมในสิ่งนั้นๆ เพื่อให้สามารถทำงานออกมาได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ร้านอาหาร คลินิก ก็มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน

Natchaya2

พอทำงานได้สักระยะ เราคิดว่าจะไปเรียนต่อจึงออกจากงานบริษัทที่ทำอยู่ตอนนั้น แต่มีเหตุการณ์บางอย่างทำให้เรายังไม่ได้ไปเรียน ระหว่างนั้นพี่สาวของเราที่เป็นหมอกำลังจะทำคลินิกเกี่ยวกับความงามชื่อว่า Natchaya Clinuc เลยให้เราไปช่วยออกแบบตกแต่งให้ คอนเซ็ปต์การออกแบบคือเราอยากเปลี่ยนภาพของคลินิกทั่วไปที่เน้นโทนสีขาวดูสะอาดตา ให้ความรู้สึกกึ่งโรงพยาบาล เข้าไปแล้วดูทางการไม่เป็นกันเอง จึงเลือกใช้โทนสีพาสเทลแทน ตกแต่งแบบวินเทจ ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนเป็นบ้านมากกว่า โจทย์หลักคือสวยและประหยัด เลือกใช้ในสิ่งที่จำเป็น ใช้งานได้สะดวก คล่องตัว สำหรับสาขาที่ 2 อยากให้ดูหรูหรา มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น จึงออกแบบด้านหน้าให้เหมือนเป็นโรงแรม เมื่อเข้ามาจะให้ความรู้สึกเหมือนเป็นล็อบบี้ ใช้โทนสีทอง สีขาว เน้นวัสดุอย่างไม้ งานหิน และกระจกเพื่อให้ดูอบอุ่นมากขึ้น

รายละเอียดฟังก์ชันใช้งานก็จะไม่เหมือนแบบบ้านทั่วไป เมื่อเป็นคลินิกต้องมีห้องศัลยกรรม ห้องผ่าตัดด้วย เพราะฉะนั้นทางเดินต้องกว้างพอ เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายเตียงหรืออุปกรณ์ต่างๆ ได้สะดวก ต้องมีห้องตรวจที่ได้มาตรฐานกำหนด เช่น เรื่องความสะอาด อ่างล้างมือไม่ใช้มือสัมผัส เป็นระบบเซนเซอร์แทน มีส่วน Service ที่รองรับการใช้งานทางการแพทย์หรือเทคนิคพิเศษ การใช้เลเซอร์ เรื่องความเป็นส่วนตัวของแต่ละห้อง การออกแบบจึงต้องแยกฟังก์ชันออกเป็นห้องๆ ต่างกันออกไป

Natchaya3

ถ้าเป็นห้องผ่าตัดจะแบ่งพื้นที่ส่วนปลอดเชื้อ ส่วนสะอาด ส่วนสกปรก มีห้องสำหรับเก็บของที่อบฆ่าเชื้อแล้ว มีพื้นที่เก็บอุปกรณ์ต่างๆ วางแปลนทางเดินจากส่วนสะอาดออกไปหาส่วนสกปรก ไม่เดินกลับมาทางเดิม อย่างเราเข้ามาเป็นของสะอาด ของสกปรกก็ต้องออกอีกทางหนึ่งห้ามย้อนกลับ มีส่วนรองรับทางการแพทย์อย่างระบบแก๊ส ระบบฆ่าเชื้อ จัดระบบการเข้าออกของคนและขยะ ตรงนี้เราต้องวางแปลนเข้า-ออก ว่าอะไรควรอยู่ตรงไหน เน้นการใช้งานฟังก์ชันสะดวก อากาศถ่ายเทสะดวก ถ้ามีกรณีฉุกเฉินสามารถเคลื่อนย้ายออกมาได้เร็ว ก่อนจะออกแบบเราต้องศึกษาหาข้อมูลเพื่อให้ทุกอย่างออกมาถูกต้องได้มาตรฐาน และตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด

ความภูมิใจกับการออกแบบวัด
ตอนเด็กๆ เคยคิดว่าโตมาจะทำอะไรให้สังคมได้บ้าง ตอนนี้ทางพี่สาวเราคุณหมอกุ๊กไก่-ณัฐชญา  ได้ทำมูลนิธิชื่อว่ามูลนิธิบูรณพุทธ กำลังจะสร้างวัดสวนป่าบูรณพุทธที่จังหวัดนครพนม เป็นวัดสำหรับพระปฏิบัติ เราจึงมีโอกาสได้ทำโปรเจ็กต์นี้ ตั้งแต่การออกแบบกุฏิ ศาลา วางผัง การออกแบบจะเน้นสัดส่วนการใช้งานของคนเราคือไม่ใหญ่จนเกินไป อย่างโรงแรมเขาจะออกแบบให้พื้นที่ดูกว้างและใหญ่กว่าปกติ เพื่อให้เข้าไปแล้วรู้สึกโอ่โถง กว้างขวาง หรูหรา แต่สำหรับวัดเราใช้ขนาดพื้นที่แค่พอใช้งานเป็น Human Scale เข้าไปแล้วรู้สึกสบาย ประตู หน้าต่างมีขนาดพอดี ไม่ใหญ่ไม่เล็กไป ก่อนการออกแบบเราต้องคุยกับช่าง ลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้านว่าความต้องการเป็นอย่างไร พระท่านใช้งานอะไรบ้าง

4

หัวใจหลักในการออกแบบวัดคือสะดวกแต่ไม่ต้องสบาย เรียบง่าย มีความสัปปายะที่สุด เมื่ออยู่ข้างนอกมีความสับสนวุ่นวาย แต่พอเข้าเขตวัดอยากให้รู้สึกสงบ ใจเย็น ลักษณะของพื้นที่เดิมเป็นลานหิน เวลาหนาวก็หนาวจัด เวลาร้อนก็ร้อนจัด เราจึงปรับพื้นที่ด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อให้เกิดสมดุล เวลาอากาศร้อนจะไม่ร้อนจัด เวลาหนาวก็มีต้นไม้ไว้คอยบังลม

5

6

อย่างการใช้งานถ้าสบายเกินไปอาจจะเกิดความขี้เกียจ พระปฏิบัติท่านต้องฝึกฝนจิต ฝึกฝนกาย ดังนั้นการออกแบบต้องตอบโจทย์การปฏิบัติของสงฆ์ จะมีอะไรพร้อมสรรพไม่ได้เพื่อให้ได้ปฏิบัติจริงๆ แล้วออกแบบอย่างไรให้รู้สึกว่าอยากปฏิบัติ เช่น ลุกออกจากที่นอนหรือนั่งอยู่ที่พื้นก็มองออกไปเห็นต้นไม้ด้านนอก หน้าต่างจึงออกแบบให้ห่างจากพื้นเล็กน้อย เลือกบานกว้าง เมื่อลุกขึ้นมาเห็นทางเดินจงกรมต้องออกไปปฏิบัตินะ ตรงนี้เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราตั้งใจใส่ไว้

7

1

มีการแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับพระสงฆ์ แม่ชี ญาติโยม เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต เหมือนการออกแบบทั่วไปที่มีทั้งส่วน Public, Semi Public และ Private ส่วนไหนญาติโยมใช้งานได้ทั้งหมด ส่วนไหนใช้งานร่วมกันได้ และส่วนไหนเป็นพื้นที่เฉพาะสงฆ์ ดีไซน์ให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด เลือกใช้วัสดุที่หาได้จากในพื้นที่ ไม่ต้องหรูหรา นำสิ่งที่มีมาจัดวางให้พอเหมาะพอดี ตัดทอนทุกอย่างที่เกินความจำเป็นแต่คงไว้ซึ่งความสง่างามและประโยชน์ใช้สอย

ขอบคุณภาพผลงานจาก: As You Wish Studio

 


You Might Also Like...