Lifestyle & Cooking People

อธิชา ชารีรัตน์ Interior Design และ Director แห่ง PAD : Space Artisan


PAD เปรียบเสมือนกระดานแผ่นหนึ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาสเก็ตช์ไอเดียแล้วนำไปต่อยอดจนทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา

คุณเอ-อธิชา ชารีรัตน์ Interior Design และ Director แห่ง PAD : Space Artisan บริษัทออกแบบตกแต่งภายในและแลนด์สเคปที่เกิดจากการก่อตั้งของเธอและสามี หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านงานออกแบบตกแต่งภายในทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมสิบกว่าปี จากนั้นคุณเอจึงตัดสินใจมาเปิดบริษัทของตัวเองในชื่อ PADEE ที่มาจากนามสกุลของสามี (คุณหนุ่ม-วัชรพงศ์ พาดี) และพาร์ตเนอร์ที่ร่วมกันก่อตั้งบริษัทซึ่งปัจจุบันได้รีแบรนด์มาเป็น  PAD : Space Artisan

หลังเรียนจบด้านสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และทำงานในประเทศไทยได้ระยะหนึ่งโดยเริ่มต้นจากงานอาร์คิเทค คุณเอก็ได้มีโอกาสทำงานในประเทศสิงคโปร์ ทำงานด้านออกแบบตามความเชี่ยวชาญของเธอในการออกแบบโรงแรมและรีสอร์ต โดยปกติเธอได้รับมอบหมายให้ทำโครงการในประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้ได้เดินทางและทำงานในเมืองที่น่าสนใจทั่วโลก เพื่อดูแลกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การออกแบบแนวคิดไปจนถึงการผลิตขั้นสุดท้าย คุณเอมักจะเริ่มโปรเจ็กต์ด้วยการคิดเชิงออกแบบ เพราะเธอเชื่อในการสร้างประสบการณ์ที่แท้จริงที่สามารถสะท้อนตัวตนของพื้นที่ได้  โดยยึดทุกองค์ประกอบของการออกแบบเข้าด้วยกันตั้งแต่รูปลักษณ์โดยรวมไปจนถึงรายละเอียดที่เล็กที่สุด

BlueGold Coffee ที่ออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ Luxury Forest  
De La Sol คอนโดมิเนียมที่โฮจิมินห์ ซิตี้

“ตอนไปทำงานที่สิงคโปร์เหมือนเป็นการเปลี่ยนสายจากอาร์คิเทคไปเป็นอินทีเรีย เพราะตอนนั้นบริษัทที่ทำงานด้วยเขาต้องการตำแหน่งอินทีเรีย ด้วยความที่เอเป็นคนชอบลอง พอทำแล้วรู้สึกสนุก ได้ทำงานกับบริษัทที่ชื่นชอบ และเปิดกว้างให้เราได้ทำงานอย่างเต็มที่ พอเราเห็นงานอินทีเรียที่เราออกแบบก็ชอบ เห็นงานเร็วดี และแต่ละพื้นที่ก็ได้ทำหลายๆ แบบ เห็นอะไรที่หลากหลายมากขึ้น อย่างงานที่เอได้ทำ คือ งาน Hard Rock Hotel ปีนัง, Holiday Inn มัลดีฟส์ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานอินเตอร์เนชั่นแนลที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศทั่วโลก”

จากการทำงานที่สิงคโปร์ครั้งนั้นคุณเอได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ถึง 8 ปี จนกระทั่งเริ่มอิ่มตัวเพราะเป็นซีเนียร์อยู่ในตำแหน่ง Lead Designer ประกอบกับได้รับการติดต่อจากบริษัท The Beaumont Partnership ที่มีความต้องการ Design Director ด้วยความที่อยากลองทำอะไรใหม่ๆ คุณเอจึงตัดสินใจกลับมาทำงานที่เมืองไทย  

คุณอธิชา ชารีรัตน์ กับพาร์ตเนอร์คู่ใจคุณวัชรพงศ์ พาดี ที่ดูแลด้านแลนด์สเคป

“พอได้มาทำงานที่นี่ก็สนุกค่ะ จากที่ดีไซน์ออกแบบอย่างเดียวก็ต้องมาดูเรื่องบริหารคน บริหารการเงิน ทำอยู่ได้ประมาณหนึ่งปีแต่ก็ได้ประสบการณ์มากมาย ได้ไปติดต่อกับลูกค้าโดยตรง เพราะเราต้องดูเรื่องงบด้วย ทำให้การทำงานเติบโตอีกระดับหนึ่ง  และช่วงนั้นก็มีงานส่วนตัวเข้ามา เป็นจังหวะดีที่ตัดสินใจมาเปิดบริษัทของตัวเอง ทั้งได้คำแนะนำจากผู้ใหญ่ให้ตั้งชื่อบริษัทว่า PADEE เพราะเป็นนามสกุลสามี และมันก็เป็นที่มาของเราซึ่งมีความหมายที่ดี จากวันนั้นถึงวันนี้เกือบ 5 ปีแล้ว เราเริ่มรู้สไตล์ เริ่มรู้แล้วว่าแบรนด์เราจะไปทางไหนจึงทำการรีแบรนด์ แต่ยังอยากให้มีกลิ่นอายของชื่อเดิมอยู่ จึงตั้งชื่อให้กลางๆ และจดจำง่าย อีกอย่างเราต้องการบุกตลาดต่างประเทศด้วย กลายเป็นที่มาของชื่อ PAD ที่มาจากคำว่า Ipad เสมือนเป็นกระดานสเก็ตช์ที่เราสร้างสรรค์ไอเดียต่างๆ ให้เป็นจริงขึ้นมา โดยที่ทุกงานเราใส่แรง ใส่ใจเข้าไป”

งานออกแบบเพนท์เฮาส์ย่านทองหล่อ Noble Remix

ไอเดียแต่งครัวสไตล์ Eclectic รีโนเวทคอนโดเก่า ในมู้ดแอนด์โทน Wes Anderson

“งานที่ลูกค้าให้เราทุกงานเราจะใส่ DNA ของเขาเข้าไป ถ้าเปรียบบทบาทของเราเป็นอย่างไร เราก็เสมือนเป็นเชฟที่ไปซื้อวัตถุดิบมาแล้วคุณชอบแบบไหนให้บอกเราจะปรุงให้เอง ซึ่งจะแตกต่างจากเชฟชื่อดังที่เขาจะเอาตัวเองเป็นตัวตั้งในการปรุงให้เรากิน”

“อย่างการทำร้าน BlueGold Coffee คอนเซ็ปต์ก็เป็น DNA ของเจ้าของร้าน เขาขายกาแฟขี้ชะมด ชอบเลี้ยงสัตว์ และมีฟาร์มของตัวเอง เราคิดว่าคอนเซ็ปต์ควรจะเป็น Luxury Forest จนกลายเป็นป่าแบบหรูหรา มีกรงทอง คือใส่คาแรกเตอร์ของเจ้าของเข้าไป อย่างตัวอาร์คิเทคเราอยากทำให้เหมือนคาร์นิวัล มีเด็กมาเที่ยว โดมกลมๆ หน้าร้านก็มาจากไอเดียเตนท์ละครสัตว์ ซึ่งร้านนี้ออกแบบมาแล้ว 2 ปี ตั้งแต่เป็น PADEE”  

“อีกผลงานหนึ่ง คือ งานออกแบบตกแต่งภายในเพนท์เฮาส์ย่านทองหล่อ Noble Remix เจ้าของเป็น Young Family  ชาวมาเลเซีย ด้วยความตั้งใจที่จะฉายความหลงใหลในแฟชั่นและบุคลิกที่ไม่เหมือนใครของเจ้าของห้อง เราจึงผสมผสานความขี้เล่นเข้ากับความหรูหราในการออกแบบเพนต์เฮาส์ขนาด 185 ตารางเมตร ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ของ Wes Anderson เราผสมผสานสไตล์โมเดิร์นยุคกลางกับเฟอร์นิเจอร์อาร์ตเดคโค ซึ่งในหนึ่งห้องจะมีการเล่นสีค่อนข้างเยอะ ทุกขั้นตอนมีรายละเอียด แต่พอทำออกมาลูกค้าชอบ เราก็ชอบ เพราะลูกค้าก็เห็นด้วยกับเราเหมือนจับมือกันทำ ถือเป็นอีกหนึ่งที่งานยากแต่เราก็สามารถตีความตอบโจทย์ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ” 

คอนโดมิเนียม Once Pattaya  ที่ชูคอนเซ็ปต์การใช้โทนสี Copper และ Rose Gold มาผสมผสานในการออกแบบ

 “ส่วนงานแนวอื่นๆ ก็มีงานออกแบบโรงแรม แต่ละงานที่ออกแบบสไตล์จะแตกต่างกันเพราะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าว่าต้องการอะไร อย่างบูทีคโฮเทล ที่เชียงใหม่ นำคุ้มเก่ามาทำเป็นโรงแรม และเจ้าของชอบสะสมงานอาร์ตเราจึงทำออกมาให้เป็นสไตล์อาร์ตแกลเลอรีที่มีความเรียบ และเพิ่มความอบอุ่นด้วยการใส่รายละเอียดของไม้ลงไป งานนี้กิมมิกจึงไม่เยอะเพราะต้องการชูให้คอลเล็กชันอาร์ตเวิร์กมีความโดดเด่นขึ้นมา

“งานคอนโดมิเนียมที่พัทยา Once Pattaya ที่ชูคอนเซ็ปต์การใช้โทนสี Copper และ Rose Gold มาผสมผสานในการออกแบบให้มีความโดดเด่นเป็นที่สะดุดตา ทำให้ผู้มาเยือนครั้งแรกตกหลุมรักในทันที ซึ่งสี Rose Gold มาจากช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน ฟ้าจะออกสีส้มๆ เหมือนภาพ Perspactive เราก็ได้แรงบันดาลใจมาจากตรงนั้น เนื่องจากพัทยาสิ่งที่เด่นๆ คือธรรมชาติที่มีทั้งทะเล ภูเขา และไนต์ไลฟ์ เราก็จับ 2 สิ่งนี้มาผสมผสานกัน มีความโรแมนติก และเล่นกับแสงไฟสื่อถึงไนต์ไลฟ์ โดยโชว์ยูนิตที่มีความเป็น City Condo ใส่ความเป็นรีสอร์ตเข้าไปแต่มีความลักซ์ชัวรีอยู่”  

Pleno โครงการบ้านที่ได้แรงบันดาลใจมาถ้ำอัญมณีผ่านรายละเอียดต่างๆ

“ส่วนที่ต่างประเทศก็จะมีงานออกแบบที่ผ่านมาเช่น De La Sol คอนโดมิเนียมที่โฮจิมินห์ ซิตี้ ของ CapitaLand งานนี้ Sale Gallery จะตั้งอยู่ริมแม่น้ำไซง่อน เป็นงานค่อนข้างไฮเอนด์ คอนเซ็ปต์เป็นบรรยากาศริมแม่น้ำยามเย็น มีการนำธรรมชาติเข้ามาด้านใน ทุกอย่างจะมีเรื่องราว เช่น นำหิน ต้นไม้เข้าไปในตัวอาคารซึ่งมีทั้งธรรมชาติจริง ธรรมชาติที่สรรค์สร้างขึ้นมา และส่วนของโครงการ กลุ่มเป้าหมายคือ Gen Y การออกแบบจึงเป็นสไตล์ลักซ์ชัวรี ลอฟต์ และตกแต่งภายในด้วยแนวเพลงที่แตกต่างกัน โดยใช้องค์ประกอบที่ถอดรหัสจากเครื่องดนตรี เช่น เปียโน กีตาร์ และเสียงกังวานของชาร์มส์เพื่อเติมเต็มซิมโฟนีที่บอกเล่าเรื่องราว  โดยตัวโครงการทั้งหมดมี 3 ตึก แต่ละตึกจะเป็นตัวแทนของเครื่องดนตรี ตึกเอเป็นเปียโน ตึกบีเป็นกีตาร์ ตึกซีเป็นชาร์มส์ แต่ละพื้นที่ก็จะถูกใส่เรื่องราวที่เกี่ยวกับดนตรีลงไป ในขณะเดียวกันเราก็ใส่ไอเดียเพื่อทำการตลาดให้ลูกค้าด้วย ซึ่งงานนี้พอทำออกมาถือว่าประสบความสำเร็จมาก”   

ด้วยผลงานต่างๆ ที่ผ่านมาทำให้การเดินทางของสาวนักบริหารและนักออกแบบตกแต่งภายในคนนี้ได้ได้ใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการสร้างความลงตัวให้กับทุกพื้นที่ให้มีชีวิตชีวาขึ้นมา อีกทั้งยังได้สร้างสรรค์พื้นที่ออกแบบของตัวเองจนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเธอบอกว่าจะใช้ความคิดสร้างสรรค์และงานฝีมือให้บริการออกแบบที่ดีที่สุดอย่างที่ได้ทำมาตลอด  

“หลักการทำงานของเราจะเหมือนน้ำ คือมีความยืดหยุ่น และต้อง Flow อยู่เสมอ แต่ทุกอย่างต้องอยู่ในการควบคุมของเราตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน ต้องคอยตรวจสอบทีมงานและแบบของงานอยู่เสมอ เพื่อที่จะให้งานเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง” คุณเอ-อธิชา กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามผลงาน PAD ได้ที่ https://www.padartisan.com/ ,  FB pad.space.artisan


You Might Also Like...