Design Kitchen & Home

บ้านปิดนอก เปิดใน ซ่อนกลิ่นอายความรู้สึกเหมือนบ้านยุคเก่า


บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่สร้างขึ้นใหม่ มีโจทย์ในการออกแบบว่าต้องเป็นบ้านที่มีบรรยากาศโปร่งโล่ง ได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติค่อนข้างมาก มีคอร์ตยาร์ดกลางบ้านที่สามารถนั่งเล่นได้ทั้งวัน และไม่ว่าจะอยู่มุมไหนภายในบ้านก็สามารถมองเห็นสวนกลางบ้าน สถาปนิกคนสนิทจึงดีไซน์บ้านหลังใหม่ของ คุณตั๊ก-มนต์ชนก ศาสตร์หนู และคุณอาร์ม-ศุภนันท์ สังข์อ่อง ให้เป็นบ้านทรงกล่อง มีฟอร์มเรียบง่ายซ่อนกลิ่นอายที่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านในยุคเก่า ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับบ้านพ่อแม่และน้องชายที่อยู่ติดกัน

หากมองจากโครงสร้างภายนอก ทำให้เรานึกถึงบ้านสมัยเก่าประมาณยุค 60-70s เป็นแบบบ้านที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ นำบล็อกช่องลมมาเป็นฟาซาดเพื่อใช้บดบังแสงแดด และสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายใน โดยคุณเจี๊ยบ-ไกรสิทธิ์ โภคสวัสดิ์ (พี่เขยของคุณตั๊กและคุณอาร์ม) เป็นคนดูแลเรื่องการออกแบบบ้านหลังนี้ให้ทั้งหมด

คุณอาร์มเริ่มต้นเล่าว่า “ทางครอบครัวมีที่ดินอยู่แล้ว พ่อกับแม่อยากให้อยู่ใกล้ๆ กันจึงตัดสินใจใช้พื้นที่โล่งๆ ตรงนี้สร้างเป็นบ้านอีกหลังขึ้นมา โดยวางแนวคิดไว้ว่าต้องการให้โซนทำงานแยกออกจากโซนพักผ่อน เพราะปกติเราทำงานกันที่บ้าน ซึ่งโชคดีที่ได้พี่เขยเป็นคนออกแบบให้ เพราะเขามีความเข้าใจในไลฟ์สไตล์ของพวกเรามาก”

ก่อนหน้านี้คุณตั๊กและคุณอาร์มเคยอาศัยอยู่ในบ้านทาวน์โฮมละแวกเกษตรฯ-นวมินทร์ ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ แสงสว่าง และการทำอาหาร จึงกลายเป็นอีกโจทย์ในการสร้างบ้านหลังใหม่ “เนื่องจากตัวบ้านหันหน้าทางทิศตะวันตก แดดค่อนข้างแรง สถาปนิกจึงแนะนำให้ทำฟาซาดช่วย นอกจากจะบังแดดแล้วลมยังเข้าได้ด้วย ดังนั้นถ้าเรามองจากด้านนอกจะเห็นบ้านเป็นทรงกล่อง แต่พอเข้ามาแล้วกลับมีอะไรแฝงอยู่ในนั้น เราซ่อนความเป็นตัวเองเอาไว้ในความเรียบง่าย”

ว่ากันว่าบ้านมักสะท้อนบุคลิกและตัวตนของเจ้าของบ้าน ผลลัพธ์จึงกลายเป็นบ้านอย่างที่เราเห็น นอกจากดีไซน์ภายนอกดูโมเดิร์น สถาปนิกยังออกแบบภายใต้โจทย์ที่คุณตั๊กและคุณอาร์มต้องการ เป็นบ้านโปร่งโล่ง ได้แสงธรรมชาติ มีความเป็นส่วนตัว ที่สำคัญเห็นพื้นที่สีเขียวได้จากทุกมุมมองของบ้าน “เราต้องการคอร์ตยาร์ดที่สามารถนั่งเล่นได้ทั้งวัน เหมือนบริเวณนี้เป็นศูนย์กลางของบ้าน เพราะส่วนใหญ่เราทำงานที่บ้าน ใช้เวลาอยู่บ้านกันทุกวันจึงอยากให้มีมุมผ่อนคลาย มีสวนให้นั่งเล่น”

ถึงแม้ด้านนอกจะดูทึบตัน แต่เมื่อเข้าสู่พื้นที่ภายในกลับได้ความรู้สึกสบาย ไม่อึดอัด แยกพื้นที่ระหว่างส่วนทำงานและพักอาศัยค่อนข้างชัดเจน “เปิดประตูเข้ามาจะเจอกับออฟฟิศก่อน ตอนแรกว่าจะทำประตูทางเข้า แต่เราตัดออกเพราะไม่อย่างนั้นจะเสียพื้นที่ อีกโจทย์ที่เราบอกความต้องการให้กับทางสถาปนิกคือเราสองคนเป็นนักสะสม มีของเยอะ จำเป็นต้องหาที่อยู่ให้ของ จึงมีตู้บิลต์อินสำหรับโชว์ของสะสมอย่าง เกม กล้อง กระปุกออมสินสมัยเด็กๆ หรือของที่ระลึกที่ได้จากการเดินทางท่องเที่ยว แล้วเราก็เพิ่มตู้ล็อกเกอร์เก็บของ ออกแบบให้อยู่ในโซนเดียวกัน แล้วเล่นไลต์ติงให้มุมนี้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น”

โซนถัดมาเข้าสู่พื้นที่พักผ่อน ออกแบบเป็น Double Volume Ceiling จึงทำให้เปิดรับแสงธรรมชาติได้มากขึ้น ดีไซน์ฝ้าสูงทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกโปร่งสบาย และยังช่วยประหยัดพลังงาน สามารถนั่งมองดูสวนและต้นไม้ตรงคอร์ตยาร์ด “มุมนี้เป็นพื้นที่ใต้บันได เนื่องจากมีพื้นที่เหลือ ทางสถาปนิกเขาเสนอให้แล้วเราก็ชอบด้วย เป็นการเพิ่มพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์มากขึ้น คุณอาร์มเป็นนักดนตรี มีแผ่นเสียง กลายเป็นพื้นที่สำหรับเล่นดนตรี ฟังเพลง มองออกไปเห็นสวน ซึ่งผนังตรงบันไดออกแบบเป็นช่องหน้าต่างบานเลื่อนขนาดยาว ถ้ามองลงไปจะเห็นเป็นสวนหินที่เราตกแต่งอยู่ทางด้านหลัง” คุณตั๊กอธิบายเพิ่ม

จากมุมดนตรีเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่ครัว มุมทานอาหาร และห้องนั่งเล่น เป็นสเปซเปิดที่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง “เราให้โจทย์กับสถาปนิกว่าอยากให้ห้องครัวและห้องนั่งเล่นเชื่อมถึงกัน เวลามีเพื่อนๆ มาที่บ้าน ก็สามารถคุยกันไปดูทีวีกันไปในระหว่างกำลังเตรียมหรือทำอาหาร แต่ขอให้โซนนี้มีประตูกั้น เพื่อเพิ่มความเป็นสัดส่วน”

Pain Point สำหรับการทำอาหารภายในบ้านทาวน์โฮมมีปัญหาเรื่องกลิ่น เนื่องจากคุณตั๊กและคุณอาร์มไม่ได้ต่อเติมพื้นที่ครัวออกไป เมื่อทำอาหารจึงเกิดกลิ่นรบกวนไปทั้งบ้าน ดังนั้นเมื่อถึงคราวทำครัวในบ้านหลังใหม่พวกเขาจึงแก้ปัญหาตรงนี้ด้วยการแยกฟังก์ชันห้องครัวสำหรับทำอาหารหนักออกไป

“ตอนอยู่บ้านทาวน์โฮมเราไม่ต้องการให้ครัวแยกฟังก์ชันออกไปด้านนอก เพราะฉะนั้นเวลาทำอาหารก็เลยมีปัญหาเรื่องกลิ่น บวกกับพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับวางไอส์แลนด์จึงใช้โต๊ะทานข้าวแทน พอเราออกแบบครัวใหม่ก็เลยตั้งใจที่จะแยกครัวหนักออกไป เพิ่มไอส์แลนด์ไว้กลางห้องครัวสำหรับรองรับการใช้งานได้หลากหลาย รวมถึงทำตู้เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บของเยอะๆ

“นอกจากฟังก์ชันครัวที่เราให้ความสำคัญแล้ว ภาพรวมสำหรับการตกแต่งเราไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง ชอบสไตล์ไหนก็หยิบมามิกซ์แอนด์แมตช์ให้เป็นแนวที่เราชอบ ไม่ว่าจะแนวสแกนดิเนเวียน มิดเซนจูรีโมเดิร์น”

รูปแบบในการวางเลย์เอาต์สำหรับโซนนี้ประกอบไปด้วยครัวแพนทรี วางแปลนชุดครัวชิดผนัง เลือกใช้หน้าบานไม้สีน้ำตาลเข้ม มือจับเรซินที่ซื้อมาติดเอง เป็นอีกหนึ่งลูกเล่นที่ทำให้ห้องครัวดูน่าสนใจ เพิ่มฟังก์ชันตรงผนังที่เชื่อมกับครัวหนักด้วยการออกแบบเป็นตู้บิลต์อิน หน้าบานสีขาวแบบไม่มีมือจับเพื่อทำให้ครัวดูมีมิติและไม่น่าเบื่อเกินไป ทั้งยังกลมกลืนกับไอส์แลนด์สีขาวที่รองรับการใช้งานได้หลากหลายฟังก์ชัน ใกล้ๆ กันเป็นห้องครัวหนักออกแบบให้ใช้งานง่าย แบ่งกั้นพื้นที่ด้วยประตูบานเลื่อนกระจกที่สร้างความรู้สึกเชื่อมต่อ “สำหรับครัวหนักเราไม่ทำตู้แขวนเลย เน้นเป็นที่เก็บของแขวนผนังทั้งหมด จะได้ใช้งานสะดวก เพราะนอกจากเราจะทำอาหารทานเองแล้ว ยังขายอาหารผ่านแอปพลิเคชันด้วย”

ต่อจากครัวแพนทรีเป็นมุมทานอาหาร และห้องนั่งเล่น ตกแต่งด้วยโต๊ะไม้และตู้สไตล์สแกนดิเนเวียน ซึ่งคุณตั๊กและคุณอาร์มบอกว่าเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นที่ซื้อมานั้นได้มาจากหลากหลายแหล่ง มีทั้งของมือสองและของใหม่ โดยมุมนี้เรียกว่าเป็นไฮไลต์ของบ้าน เพราะกรุผนังอีกฝั่งที่ติดกับคอร์ตด้วยประตูกระจก ช่วยให้การตกแต่งภายในผสานเข้ากับแลนด์สเคปได้อย่างต่อเนื่องและลื่นไหล มีต้นไม้หลากหลายชนิดถูกจัดวางไว้อย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งต้นซิลเวอร์โอ๊ก เฟิร์น มอนสเตอรา กวักมรกต ในขณะที่ห้องนั่งเล่นก็ยังมองเห็นสวนหลังบ้านที่มีต้นหลิวเข้ามาเพิ่มความพลิ้วไหว และไทรเกาหลี รวมถึงผักสวนครัวที่กำลังโต

คอร์ตยาร์ดกลางบ้านที่ถูกสร้างขึ้นจากความต้องการของคุณตั๊กและคุณอาร์มไม่ได้แค่ทำหน้าที่ดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายในหรือช่วยระบายอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นวิวสวนส่วนตัวที่ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ส่วนไหนของบ้านก็สามารถมองเห็นความสดชื่นนี้ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้ไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่ต่างไปจากเดิม อยู่ติดบ้านมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการทำเพจเฟซบุ๊ก “อยู่ที่บ้าน yu.t.baan” เพจที่แบ่งปันเรื่องราวการแต่งบ้านให้กับคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน ได้เข้ามาดูไอเดียและพูดคุย อย่างที่คุณตั๊กและคุณอาร์มสามารถเป็นตัวเองได้ทุกมุมในบ้านหลังนี้

เจ้าของ คุณตั๊ก-มนต์ชนก ศาสตร์หนู และคุณอาร์ม-ศุภนันท์ สังข์อ่อง
สถาปนิก คุณเจี๊ยบ-ไกรสิทธิ์ โภคสวัสดิ์
พื้นที่ใช้สอย 300 ตารางเมตร


You Might Also Like...