Design Kitchen & Home

ไอศกรีมวานิลลาจากขยะพลาสติก งานออกแบบเชิงแนวคิด สัมผัสได้เพียงการดมกลิ่น


Eleonora Ortolani ได้ค้นพบนิยามใหม่ของไอศกรีมและพลาสติกจากโครงการก่อนสำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขา Materials Future จาก Central Saint Martins ว่า พลาสติกสามารถใช้ทำเป็นไอศกรีมได้

ด้วยการทดลองร่วมกับ Hamid Ghoddusi นักวิทยาศาสตร์จากภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารแห่ง London Metropolitan University ผู้ที่ Ortolani ใช้การสัมภาษณ์และพูดคุยกับหลายสิบคนก่อนนี้ จนได้คนที่เชื่อในสมมุติฐานของเธอและยินดีร่วมพัฒนา จนเธอได้รับการแนะนำต่อให้รู้จักกับ Joanna Sadler แห่ง University of Edinburgh นักวิจัยผู้กำลังพัฒนาดัดแปลงพันธุกรรมแบคทีเรียให้สามารถสร้างสาร Vanillin (C8H8O3) อนุภาคที่ให้กลิ่นวานิลลาได้จากขยะพลาสติก เธอจึงพัฒนาเป็นขนมโปรดของเธอซึ่งก็คือไอศกรีมวานิลลา

Vanillin มีชื่อเป็นสารเคมีเพื่อการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่รู้จักกันในชื่อวานิลลาสังเคราะห์ ด้วยมีราคาที่ถูกกว่า เก็บรักษาและนำไปใช้ง่ายกว่า และยังให้ผลในรูปแบบของกลิ่นที่ไม่แตกต่างกันมากในประสาทสัมผัสของมนุษย์

ความสำเร็จในกระบวนการแปรสภาพพลาสติกให้เป็น Vanillin เริ่มจากการบรรจุเอนไซม์ตัวแรกลงไปในแบคทีเรีย E. Coli เพื่อให้พันธะของโมเลกุลเกิดช่องโหว่ ซึ่งเป็นการยากมากที่จะสร้างช่องโหว่นั้นขึ้นมาได้ แต่เมื่อทำสำเร็จเอนไซม์อีกตัวก็จะเข้าจัดการกับสภาพพันธะที่เปลี่ยนแปลงนั้นให้เกิดการสังเคราะห์ Vanillin โดยนิยามในทางวิทยาศาสตร์อธิบายได้ว่า เมื่อพันธะของพลาสติกถูกแปรสภาพ พลาสติกนั้นก็จะสูญเสียความเป็นโพลิเมอร์ แต่กลายเป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งเท่านั้น ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการเกิดไมโครพลาสติก เพราะไมโครพลาสติกคือการลดขนาดลงจนเล็กจิ๋ว แต่โครงสร้างทางพันธะเคมียังคงเหมือนเดิม การรับประทานไมโครพลาสติกเข้าไปร่างกายจึงไม่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งแตกต่างจากการรับประทานวานิลลาสังเคราะห์

อย่างไรก็ตาม ไอศกรีมวานิลลาจากขยะพลาสติกนี้เป็นเพียงงานออกแบบเชิงแนวคิดที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนาต่อ โดยเฉพาะสารเคมีทางเลือกที่ให้กลิ่นใกล้เคียงกับวานิลลา แต่ Ortolani ที่ได้รับอนุญาตจาก CSM Grow Lab เจ้าของสิทธิบัตรการดัดแปลงพันธุกรรมของแบคทีเรียเพื่อสังเคราะห์ Vanillin จากพลาสติกให้ใช้แบคทีเรียเหล่านั้นที่เธอได้รับเป็นวุ้นกับ Polyethylene Terephthalate จำนวน 20 มิลลิกรัมเพื่อทดลองสังเคราะห์ Vanillin ด้วยตัวเอง กระนั้นก็มีข้อห้ามชัดเจนว่าไอศกรีมวานิลลานี้ไม่สามารถรับประทานได้ ด้วยยังไม่มีการพิสูจน์ว่าจะไม่เกิดอันตรายต่อระบบการย่อยอาหารของสัตว์และมนุษย์ 

“Guilty Flavours” ผลงานออกแบบชิ้นนี้ของ Ortolani จึงถูกนำเสนอในรูปแบบของไอศกรีมที่อยู่ในตู้แช่แข็ง และสัมผัสได้เพียงการดมกลิ่น ซึ่งเป็นไปตามข้อจำกัดทางกฎหมายในการเผยแพร่ผลงานนี้

ภาพ : Eleonora Ortolani


You Might Also Like...