Cooking Lifestyle & Cooking

“หิว Hungry” แบรนด์อาหารทะเลโฮมเมด เรื่องราวปลาทูต้มหวาน จากปากน้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร


“หิว Hungry” แบรนด์อาหารทะเลโฮมเมด  
เรื่องราวปลาทูต้มหวาน พร้อมทาน ที่ทั้งชวนหิวและชวนให้เรามีความสุขกับสิ่งใกล้ตัวไปพร้อมกัน จากปากน้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร
เครดิตภาพ : Patcharaporn Komolpis

รองลงมาจากภาพอาหารสะดุดตาชวนให้หิวในอินสตาแกรม @hungry.hc คือบรรยากาศของชีวิตใกล้ท้องทะเลที่ชวนให้เราสนใจในเรื่องราวการทำแบรนด์เมนูปลาทูต้มหวาน และเป็นที่มาของการเดินทางมาพูดคุยในครั้งนี้

“หิว Hungry” แบรนด์อาหารทะเลแปรรูปจากปากน้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร ผลิตภัณฑ์โฮมเมดที่มีปลาทูต้มหวาน เป็นเมนูเด่นดัง ริเริ่มโดย 2 พี่น้อง คุณมะเหมี่ยว-นัฐยา อุสายพันธ์ และ คุณหมิว-โสมประภา อุสายพันธ์ กับความเชื่อในการทำสิ่งที่รัก หยิบจับสิ่งใกล้ตัวมาสื่อสารผ่านสายตาของคนท้องถิ่นที่ไม่ต้องการปรุงแต่งขึ้นใหม่ แต่นำมาเล่าเรื่องในแบบที่เป็นด้วยความรักในสิ่งที่ทำ

ก่อนจะมาเป็น Hungry

คุณหมิวผู้ออกแบบแพ็กเกจที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร โดยตั้งใจสื่อสารความเป็นไทยแบบเท่ๆ ผ่านความชอบในอาหารและตัวอักษรไทยของเจ้าตัว เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของการเริ่มต้นทำแบรนด์กับพี่สาวว่า

“เริ่มจากช่วงที่เราเรียนด้านการออกแบบ ส่วนพี่มะเหมี่ยวเพิ่งเรียนจบปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ ตอนนั้นยังไม่ได้คิดจะตั้งเป็นบริษัท ก่อนที่จะมาเริ่มต้นธุรกิจนี้เราเห็นว่าที่บ้านมีคุณป้าทำปลาทูต้มหวานอยู่แล้ว เป็นอาหารพื้นบ้านที่มีความน่าสนใจ แต่ยังไม่ได้มีการเล่าเรื่องในแบบที่เรามอง ประกอบกับที่เราเรียนด้านออกแบบมา เลยรู้สึกว่าอยากจะสร้างแบรนด์ให้อาหารของเรามีอัตลักษณ์ความเป็นอาหารไทยที่น่าสนใจ”

เครดิตภาพ : Patcharaporn Komolpis

“ดั้งเดิมที่บ้านทำแพปลาตั้งแต่รุ่นคุณย่า จนมาถึงรุ่นคุณป้าที่เริ่มแปรรูปจากผลิตภัณฑ์ปลาที่มาขึ้นที่แพ เช่น ลูกชิ้น ปลาทูต้มหวาน” คุณมะเหมี่ยวว่าพลางชวนให้เรามองไปยังแพปลาที่มีเรือประมงลำใหญ่หลายลำจอดเทียบอยู่

“เราเห็นปลาทูต้มหวานกันมาตั้งแต่เด็กๆ ที่คุณป้าคิดทำมาเป็นสิบๆ ปี เมื่อก่อนเราไม่ได้สนใจมันเลย รู้สึกว่าเป็นแค่ปลาที่เปลี่ยนจากอยู่ในหม้อมาอยู่ในถุง ไม่ได้รู้สึกถึงความพิเศษของมัน แต่พอได้ไปเรียนต่อ ได้เดินทาง ได้ประสบการณ์จากเมืองต่างๆ สุดท้ายจึงกลับมาคิดว่าสิ่งที่เรามีอยู่มันสามารถพัฒนาต่อให้น่าสนใจได้”

“คนในเมืองอาจไม่ได้รู้จักและให้ความสนใจปลาทูต้มหวานมากนัก เรียกว่ายังไม่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นด้วยซ้ำ อาจจะมีวัยคุณย่าหรือคุณป้าที่พอรู้จักบ้าง ความน่าสนใจของเมนูปลาทูต้มหวานอยู่ตรงที่คนไม่ค่อยได้สนใจเมนูนี้นี่แหละ ดังนั้น เราเลยจับมาเล่าใหม่ ดีไซน์ใหม่ ผ่านมุมมองของหมิวที่เรียนจบด้านการออกแบบมา ทำส่วนของแพ็กเกจให้ดูสนุกขึ้น ให้คนสนใจมากขึ้น”

จุดตั้งต้นของทุกดีไซน์แพ็กเกจเริ่มต้นจากเรื่องราวชุมชน ไม่ว่าจะวิถีชีวิตหรือรายละเอียดเล็กน้อย เราจึงได้เห็นบรรยากาศของความเป็นปากน้ำหลังสวนที่สื่อผ่านดีไซน์อาร์ตเวิร์กสวยๆ บนแพ็กเกจจิง ไปจนถึงการใช้ใบจากที่เป็นส่วนเหลือทิ้งในกระบวนการทำยาสูบมาใช้ในการบรรจุสินค้าเพื่อกันกระแทก ทั้งยังมีกลิ่นหอมจางๆ มาทดแทนการใช้พลาสติก

มองให้ใกล้ตัวที่สุด แล้วค่อยพัฒนาต่อจากนั้น

“ตอนที่เราทำปลาอินทรีดอง เพราะในตลาดเราจะเห็นปลาแซลมอนเป็นส่วนใหญ่ ต่อให้เป็นบางคาเฟ่ที่อยู่ใกล้ทะเลเราก็จะเห็นเมนูปลาแซลมอน จึงเกิดความสงสัยว่าทำไมต้องแซลมอนทั้งๆ ที่เราอยู่ใกล้วัตถุดิบมาก”

ปลาอินทรีดองสูตรบังเอิญจากการทำกินเอง

“จากการที่พี่ชายเป็นคนชอบตกปลา ได้ปลาอินทรีมาทำกินเองด้วยการดองในสาเก เราไปลองชิมแล้วเราพบว่ามันอร่อย และคิดว่าทำขายได้แน่นอน เราชอบตรงที่ปลาอินทรีเป็นปลาที่คนไม่ได้รู้สึกว่าจะนำมาดองได้ ทำให้ตรงนี้เป็นจุดที่น่าสนใจ เริ่มจากตรงที่เรามองให้ใกล้ตัวมากที่สุดแล้วจึงพัฒนาต่อ”

การทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์

“หิว Hungry” นำพาปลาทูต้มหวานเดินทางเข้าสู่ปีที่ 4 ในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมกับยอดคนติดตามใน อินสตาแกรมกว่า 7 พัน รวมทั้งยอดคนติดตามในเฟซบุ๊กถึงหมื่นคน

“เราโชคดีที่เราอยู่ในยุคโซเชียลที่คนขายของออนไลน์ จึงเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เริ่มจากปลาทูต้มหวานที่คุณป้าเราทำอยู่แล้ว ออกแบบให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่น วัยทำงานมากขึ้น พร้อมกับการออกแบบแพ็กเกจเพื่อลงขายผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นช่องทางที่เราสามารถนำเสนอสิ่งที่เราอยากสื่อได้อยู่แล้วผ่านรูปภาพ ผ่านวิดีโอ ผ่านอาร์ตเวิร์ก”

ผลตอบรับคือการทำให้ปลาทูต้มหวานที่เคยซื้อกินในกลุ่มแม่บ้านกลายเป็นที่รู้จักในกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น นอกจากปลาทูต้มหวานแล้ว ยังมีอาหารทะเลโฮมเมดอื่นๆ ที่ชวนให้เราหิวท้องร้องไม่แพ้กันไม่ว่าจะเป็นปลาอินทรีเค็ม ลูกชิ้นปลา ปลาอินทรีดองสาเก และกุ้งดอง

ความรู้สึกเป็นกันเองกับแบรนด์ผ่านการสื่อสารเรื่องวัตถุดิบ

แต่ละโพสต์และเรื่องราวที่ “หิว Hungry” บอกเล่าผ่านรูปภาพชวนให้เราได้รู้สึกเหมือนกำลังติดตามเพื่อนและชีวิตริมทะเล พร้อมทั้งเมนูอร่อยชวนหิวจนเราอยากพรีออร์เดอร์เสียเดี๋ยวนั้น

เครดิตภาพ : Patcharaporn Komolpis

“เวลาที่เราใช้วัตถุดิบอะไร เราพยายามสื่อให้ลูกค้าได้รู้จักวัตถุดิบนั้นด้วย เหมือนที่คนทั่วไปจะไม่รู้จัก ‘กุ้งโอคัก’ ซึ่งเราใช้ในการทำกุ้งดอง เราก็จะให้ความรู้ลูกค้าไปด้วยว่าทำไมเราถึงใช้กุ้งชนิดนี้เพื่อให้คนได้รู้จักที่มาที่ไปของสิ่งที่เขากิน ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าใน “หิว Hungry” คือสิ่งที่เราชอบกิน (ยิ้ม)”

แบรนด์อาหารทะเลโฮมเมดที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นงานคราฟต์

ด้วยการใช้วัตถุดิบทางทะเลที่สดใหม่มาเป็นปัจจัยหลัก ความเสี่ยงจากท้องทะเลโดยเฉพาะเรื่องของลมฝนและสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ทำให้แบรนด์ต้องวางแผนและใช้เวลา

“เพราะปลาทูไทยมีจำนวนลดน้อยลง และคุณภาพไม่ได้ตามที่เราต้องการ จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ปลาทูนำเข้าจากอินโดนีเซีย ก่อนจะต้มต้องเตรียมน้ำในการต้มปลาซึ่งต้องใช้เวลาเคี่ยวกว่า 2-3 วัน เพื่อให้ก้างปลามีความนิ่ม แล้วจึงพร้อมแพ็กส่ง”

จุดเด่นของปลาทูต้มหวานแบรนด์ “หิว Hungry” คือการเก็บได้โดยไม่ต้องแช่เย็น และเก็บได้นานถึง 1 ปี โดยไม่ใช้วัตถุกันเสีย ผ่านกระบวนการใช้ความร้อนให้ก้างนิ่มแต่เนื้อไม่ยุ่ย

“สูตรปลาทูต้มหวานนี้เป็น Secret Recipe ของคุณป้าที่คิดค้นมานานกว่า 10 ปี ทั้งหมดนี้เป็นแพชชันที่เราอยากสานต่อ เพราะเราได้เรียนรู้จากการที่คุณป้าทำให้เห็น จากปลาเป็นตัวมาอยู่ในถุง”

“เราไม่อยากทำอะไรตามตลาดมากเกินไป เราคิดว่าถ้าเราขายสิ่งที่เราชอบจริงๆ เราจะเล่าเรื่องมันได้ดี”

เป็นตัวของตัวเองด้วยแรงบันดาลใจจากสิ่งที่มีอยู่

เพราะความใส่ใจของแบรนด์คือการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเสมอ ก้าวต่อไปคือการขยับขยายสู่การเป็นคาเฟ่กึ่งโฮมสเตย์ในชื่อว่า “อิ่ม” เพื่อให้คนได้มาท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่น

“เรา 2 คนมองเห็นว่าบ้านของเราสวยในแบบที่ไม่ได้หวือหวา แต่สวยด้วยตัวของมันเอง ซึ่งสิ่งนี้ไม่ต่างจากการไปเที่ยวและได้เล่าเรื่องในมุมมองของการท่องเที่ยว เพียงแต่ที่นี่ยังไม่มีการเล่าเรื่องเท่านั้นเอง”

ท้ายสุดของการพูดคุยครั้งนี้ทั้ง 2 พี่น้องพาเราไปดู “ร้านอิ่ม” คาเฟ่กึ่งโฮมสเตย์ที่หยิบยกกลิ่นอายของเรือในทะเลมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ไม่ว่าจะส่วนของไฟระโยงระยาง ดีไซน์ของงานไม้ในร้านที่เราไม่เคยเห็นที่ไหน คุณหมิวเล่าให้เราฟังถึงการใช้กิ่งไม้ที่คลื่นทะเลซัดขึ้นมาบนชายหาดในการตกแต่งเพดานร้านว่า “ถ้าเรามองเห็นคุณค่า เราจะพอใจ และมีความสุขกับสิ่งรอบตัวที่เรามี”

คุณมะเหมี่ยวเสริมให้ฟังถึงก้าวต่อไปในของแบรนด์ “หิว Hungry” และการมี ร้านอิ่ม ว่า

“คนจะถามเราเยอะมากว่าทำร้านขนาดนี้คนจะมาเที่ยวเหรอ? แต่พอเรามาอยู่บ้าน เรามองเห็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่เราออกแบบได้ ไม่ว่าจะเส้นทางปั่นจักรยาน เพราะเราใกล้น้ำ ใกล้ทะเล เป็นการท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่น มีชาวประมงที่พร้อมรับนักท่องเที่ยวออกไปตกปลา และปากน้ำหลังสวนยังใกล้เกาะเต่ามาก”

“ในทุกอย่างๆ ที่เราทำเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นสิ่งธรรมดาที่ไม่มีใครสนใจ สิ่งเดียวที่ขาดคือการจับสิ่งที่มีมาเล่าเรื่องและปะติดปะต่อ เพราะเรารักในสิ่งที่บ้านเราเป็นตอนนี้ เราเชื่อว่ามีคนที่ชอบเหมือนเรา”

“ความเป็นไปไม่ได้ที่คนอื่นมองเห็นเราเองก็มองเห็น เราจึงมองหาจุดเด่นให้คนมาเที่ยวปากน้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร แต่เราไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ เราอยากทำเพื่อให้คนได้มาสัมผัสประสบการณ์ในสิ่งที่เป็นจริงๆ ของวิถีชีวิตที่นี่ และยังช่วยส่งเสริมอาชีพของชาวประมงในท้องถิ่นอีกด้วย”

ด้วยประสบการณ์จากการทำแบรนด์ด้วยตัวเองและการเจอคำถามกังขามากมาย คุณมะเหมี่ยวทิ้งท้ายกับเราถึงแรงบันดาลใจที่อยากส่งต่อให้คนที่อยากทำในสิ่งที่รักว่า

“สำหรับใครก็ตามที่อยากทำอะไรเป็นของตัวเองและมีความฝัน ขอแค่ให้โอกาสตัวเอง เพราะคนอื่นจะเห็นความเป็นไปไม่ได้และปัญหาเยอะแยะมากมาย แต่ถ้าเรามองเห็นความเป็นไปได้เราต้องให้โอกาสตัวเอง”

“หิว Hungry”
instagram.com/hungry.hc/
Facebook.com/HUNGRY.hc
หาซื้อได้ที่
📌Lemon Farm (ทุกสาขา)
📌Iconsiam ชั้น 4 โซน Gastronomer/Iconcraft


You Might Also Like...