Lifestyle & Cooking People

เวชศาสตร์ฟื้นสภาพ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม กับแพทย์หญิงมะลิ วิโรจน์สกุลชัย


การเสื่อมของร่างกายคนเราเกิดขึ้นได้เมื่อพ้นช่วงวัยที่เติบโตเต็มที่ในอายุ 25 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายคนเรามีระดับฮอร์โมนสูงสุด จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป อายุมากขึ้น ฮอร์โมนทุกตัวจะลดลงซึ่งเป็นที่มาของความทรุดโทรมของร่างกาย

Good Living ฉบับนี้เราได้มีโอกาสมาพูดคุยกับแพทย์หญิงมะลิ วิโรจน์สกุลชัย อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนในเวชศาสตร์ฟื้นสภาพ และผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลสหวิทยาการมะลิ โรงพยาบาลแรกในประเทศไทยที่นำฮอร์โมนมาใช้ร่วมกับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน ด้วยแนวคิดเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพแนวใหม่ (Regenerative Medicine เวชศาสตร์ฟื้นสภาพ) ที่ไม่เพียงแค่การรักษาโรค แต่ที่นี่ได้นำเอานวัตกรรมทางการรักษาใหม่มาเพื่อรักษาความเสื่อมของร่างกาย โดยให้การดูแล ตรวจเช็กตั้งแต่ระดับที่ยังไม่เป็นโรค และดูแลสุขภาพแต่ละบุคคลแบบองค์รวมหรือที่เรียกว่า “สหวิทยาการ” โดยใช้ศาสตร์ของการดูแลสุขภาพหลายแขนงที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อการป้องกันและรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ได้ผลการรักษาที่ดีกว่า

โดยคุณหมอได้กล่าวว่า “สำหรับคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก กลุ่มที่ไม่เป็นโรค กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่เริ่มมีความเสื่อมแล้ว กลุ่มที่ 3 มีโรครุนแรง และกลุ่มที่ 4 กลุ่มที่มีความทุกข์ทรมานจากโรคเรื้อรังหลายโรคพร้อมกัน เมื่อมีการประเมินสุขภาพแล้วเราจะแนะนำคนไข้ว่าสิ่งที่สำคัญมากที่สุดนอกจากประเมินจากภายนอกแล้ว คือการประเมินจากภายในที่ต้องมีการตรวจอย่างละเอียด ที่สำคัญมากคือการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และจุดเด่นที่นี่คือการตรวจระดับฮอร์โมน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของโรงพยาบาลเรา”

คุณหมอยังอธิบายเพิ่มเติมถึงการนำฮอร์โมนมาใช้ร่วมกับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันว่า “ในการรักษาโรคทั่วไปกับฮอร์โมนเป็นเรื่องที่เสริมกัน การให้ฮอร์โมนทำให้มีพลังทั้งร่างกายและจิตใจ พอคนไข้เริ่มสดชื่นก็มีใจสู้อยากจะรักษาต่อ ทำให้อาการดีขึ้น การใช้ยาและการร่วมมือกับแพทย์ก็ง่ายขึ้น ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่เห็นผลคือเรื่องการซ่อมแซม เพราะโรคบางโรคการให้แต่ยาบางครั้งยาอาจจะไปทำลายร่างกายได้ อย่างเช่นคนที่เป็นโรคนอนไม่หลับ ก็จะได้ยานอนหลับซึ่งมีผลต่อการกดสมอง เกิดความเสื่อมของสมองขึ้นในระยะยาว แต่ถ้าให้ฮอร์โมนก็จะช่วยทำให้สมองผ่อนคลาย เป็นการซ่อมแซมร่างกายให้ฟื้นขึ้นมา นอกจากผู้ป่วยจะมีพลังแล้ว ปริมาณยาที่ใช้โดยตรงอาจจะลดลงเพราะว่าฮอร์โมนทำให้คนไข้มีอาการดีขึ้น มีการตอบสนองต่อยาดีขึ้นและเร็วขึ้น”

ซึ่งระยะเวลาในการรักษาผู้ป่วยด้วยฮอร์โมนมีระยะเวลาตายตัวหรือไม่คุณหมอบอกว่า “ร่างกายคนเรามีฮอร์โมนมาตั้งแต่เกิด และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อโตเต็มวัย ฮอร์โมนเราจะสูงสุด 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นฮอร์โมนก็จะค่อยๆ เสื่อมลง เหมือนกับร่างกายที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเสื่อมสภาพ ความแก่ก็จะเกิดขึ้นเอง เราแก้ความเสื่อมตามธรรมชาติตรงนี้ได้โดยการให้ฮอร์โมนที่ใกล้เคียงกับวัยที่แข็งแรงคือช่วงอายุ 30-35 ปี ซึ่งเป็นวัยที่คนไข้กำลังแข็งแรง และก็ต่อสู้โรคได้ง่ายขึ้น

“วิธีการรักษาในขั้นตอนแรกคนไข้ทุกคนจะต้องผ่านการคัดกรอง ประเมินสุขภาพ เพื่อหาความเสื่อมและโรคแทรกซ้อน เมื่อประเมินแล้วจึงเริ่มด้วยการรักษา ถ้าคนไข้อยู่ในภาวะที่สุขภาพดีเราก็แนะนำให้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตัวเอง แต่ถ้าคนไข้เริ่มมีความเสื่อม เราก็จะทำหน้าที่ซ่อมแซมให้ หรือถ้าคนไข้มีโรคก็ต้องรักษาโรคด้วย เมื่อทราบว่าคนไข้อยู่ในระดับไหนก็จะมีการวางแผนการรักษาตามเป้าหมายที่ต้องการร่วมกัน

“โดยวิธีการใช้ฮอร์โมนที่ได้ประโยชน์และปลอดภัยนั้นต้องใช้โดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เราใช้ฮอร์โมนธรรมชาติเรียกว่า Human Hormone หรือ Bioidentical Hormone หมายถึงฮอร์โมนที่ร่างกายเราเคยมีตอนหนุ่มสาวอย่างไร เราก็ผลิตออกมาอย่างนั้น ดังนั้นจึงไม่เป็นอันตรายและสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต เราจะใช้ขนาดจำนวนตามสรีรวิทยา และใช้ฮอร์โมนร่วมกันหลายตัวแบบสมดุลทำให้ปลอดภัยและเกิดผลดีมหาศาล”

ในกรณีของคนวัยทองคุณหมอได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “สำหรับวัยทองหญิงกับชายจะแตกต่างกัน วัยทองในผู้หญิงจะเกิดเร็วมาก ทันทีที่รังไข่ไม่มีไข่เหลืออยู่แล้วแม้แต่ฟองเดียว นั่นหมายถึงว่าการหลั่งฮอร์โมนเข้าไปในกระแสเลือดก็จะไม่มีเลย คนไข้ก็จะโทรมอย่างรวดเร็วมาก ฮอร์โมนเพศหญิงจะมี 2 ตัวหลักๆ คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) พอเข้าวัยทองฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวก็ยังมีเหลืออยู่นิดหน่อยจากต่อมหมวกไตซึ่งไม่เพียงพอ ประเด็นแรกของหญิงวัยทองจะมีอาการที่รู้สึกได้ง่ายคือหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน บางรายจะมีโรคเรื้อรังตามมาในระยะใกล้หมดประจำเดือนหรือช่วงที่หมดประจำเดือน ซึ่งจะใช้เวลาช่วง 5-10 ปี ก่อนและหลังหมดประจำเดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย  แต่อันหนึ่งที่คนไข้วัยทองอาจจะไม่คำนึงถึงคือเรื่องกระดูก ซึ่งหมออยากแนะนำตรงนี้ว่า พอหมดประจำเดือนกระดูกจะเริ่มสลายอย่างรวดเร็ว และสิ่งที่ตามมาหลายๆ เรื่องนอกจากเรื่องอารมณ์คือการนอนไม่หลับ ไม่มีแรง โรคหัวใจ หรือโรคต่างๆ ฉะนั้นจะต้องมาฟังคำแนะนำจากแพทย์ด้วย”

“ส่วนชายวัยทองอาจแตกต่างตรงที่มีความเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น มีรูปร่างที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญคือขาดความมั่นใจในตัวเอง หมดภาวะผู้นำ ตรงนี้ถ้ามีการเสริมฮอร์โมนเข้าไปก็เป็นความคุ้มค่าของชีวิตที่ยังคงเสถียรภาพความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ อันนี้รวมถึงสมองด้วย ซึ่งถ้าบางคนไลฟ์สไตล์ดีอยู่แล้วก็ช่วยได้ระยะยาว ไม่แก่เร็ว ไม่เสื่อมเร็ว ถ้าไลฟ์สไตล์ไม่ดี ไม่ออกกำลังกาย เป็นคนเก็บตัว  คนเหล่านี้จะโทรมเร็วมาก การรักษาของคน 2 กลุ่มจะไม่แตกต่างกันมาก เพียงแต่ผลการรักษาคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่ดีผลตอบรับจะเร็วกว่า  

“ในแต่ละคนระดับการให้ฮอร์โมนจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของแต่ละบุคคล อีกทั้งในเรื่องของไลฟ์สไตล์ด้วย ซึ่งเราจะให้คำแนะนำคนไข้ทุกคน เช่น ความเข้าใจผิดๆ เรื่องการงดอาหารมื้อเช้าและทานอาหารวันละหนึ่งมื้อเพื่อลดความอ้วน กรณีเรื่องของเวลาอาหารอันดับแรกเราจะแนะนำคนไข้ว่าควรทานอาหารเช้า เพราะอัตราการเผาผลาญของเรา ฮอร์โมนจะสูงสุดในตอนเช้า ถ้าเราทานอาหารมื้อเช้าน้อยหรือไม่ทาน เราจะเสียโอกาสที่จะกระตุ้นให้ฮอร์โมนออกฤทธิ์

“ส่วนบางคนที่ทานอาหารดึกๆ เนื่องจากการทำงาน กลับบ้านเย็น ทำให้เป็นที่มาของหลายโรค หมอจะแนะนำเรื่องเวลาทานอาหารร่วมกับฮอร์โมนที่เราให้ แค่นี้คนไข้ก็จะดีขึ้น หรือชนิดอาหาร การทานอาหารที่จำเจชนิดเดียวหลายๆ วันจะส่งผลให้เกิดสารพิษในร่างกาย ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อต้านอาหารได้โดยที่ไม่รู้ตัว หลายคนมีโรคที่หาสาเหตุไม่เจอ ซักประวัติไปมาจึงทราบว่าทานอาหารซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน  หรือการออกกำลังกายบางคนออกกำลังกายก่อนนอน ซึ่งกลางคืนควรเป็นช่วงเวลาผ่อนคลาย เพื่อให้ฮอร์โมนเกี่ยวกับการนอนหลั่งออกมาให้หลับสบาย ฮอร์โมนผ่อนคลายจะหลั่งช่วงเวลากลางคืนเพื่อมาซ่อมแซมร่างกาย

“ส่วนเรื่องการนอนมีคนไข้หลายคนถามว่าการนอนควรนอนคืนละกี่ชั่วโมง จริงๆ ชั่วโมงการนอนไม่สำคัญเท่ากับระดับของการหลับ ปกติวงรอบของการนอนเราจะหลับตั้งแต่วงรอบที่หนึ่งประมาณ 90 นาที คืนหนึ่งสัก 3-4 วงรอบ ถือเป็นการนอนที่สมบูรณ์แบบ วงรอบที่หนึ่งเริ่มสเตท 1-2 หลับตื้นๆ ไปจนถึง 3-4 คือระดับการหลับลึก และจะย้อนมาที่ 4 3 2 1 และก็เข้าสเตทที่ 5 อันนี้คือการนอนที่เป็นธรรมชาติ”

นอกจากเรื่องไลฟ์สไตล์การดูแลตัวเองแล้ว ปัจจุบันโรคต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างโควิด-19 ก็เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อชนิดหนึ่ง คนเราจะสู้กับโรคเรื้อรังหรือโรคติดเชื้ออย่างไร ตรงนี้คุณหมอบอกว่า “หัวใจหลักคือภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา ภูมิคุ้มกันจะดีได้นั้นฮอร์โมนจะเป็นตัวหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายดี จะเห็นได้ว่าทั้งไลฟ์สไตล์และฮอร์โมนจะเป็นสิ่งที่เสริมกัน ฮอร์โมนดีก็ทำให้การดำเนินชีวิตดีด้วย ไลฟ์สไตล์ดีก็จะเป็นตัวกระตุ้นฮอร์โมนที่มาเสริมกันและกัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะมีโรคร้ายแรงหรือโรคติดเชื้อใดๆ ขอให้ดูแลรักษาร่างกายของเราอย่างสม่ำเสมอ และฮอร์โมนก็มีคุณสมบัติที่สำคัญมากในการซ่อมแซมระบบต่างๆ ในร่างกาย  ด้วยองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ก็จะสามารถทำให้คนเรากลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อายุยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดี”

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม หรือรับโปรโมชันการตรวจฮอร์โมนได้ที่
โทร. 0 2089 1111, 08 5191 6584 Call Center 1307
www.mali-imc.com, facebook : mali-ih , Line : @Malihospital


You Might Also Like...