Design Kitchen & Home

แบบบ้านกระท่อมหลังน้อยท่ามกลางธรรมชาติ


จะว่าไปแล้วชีวิตคนเมืองอย่างเราๆ เริ่มใช้ชีวิตห่างไกลจากพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้นทุกที หากการมีบ้านสักหลังในขนาดกะทัดรัดที่ได้อยู่ใกล้ชิดต้นไม้เขียวขจี ยินเสียงลม ฟังนกร้องขับขาน มีภูเขาและท้องฟ้าเป็นฉากหลังเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่คอยโอบกอดเราไว้ก็คงจะรู้สึกดีไม่น้อย เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยชุบชูทั้งร่างกายและจิตใจได้เป็นอย่างดี

สมาชิกในครอบครัวจึงชวนกันลงแรงกายและใจเพื่อสร้างบ้านอีกหลังบนที่ดินนี้ซึ่งคุณตาคุณยายได้ส่งมอบไว้ให้ลูกหลาน ต้นน้ำคลองยาง ต. หนองสาหร่าย อ. ปากช่อง ก็ปรับเปลี่ยนเป็นที่พักอาศัย ด้วยการใช้หลักการออกแบบที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ

 “พื้นที่ต้นน้ำที่เราตั้งชื่อว่า ‘Maison Fleurie’ เป็นภาษาฝรั่งเศสที่หมายถึงบ้านดอกไม้ ทุกวันจะมีผึ้งโพรงบินแวะเวียนมาเก็บเกสรดอกไม้จากสวนบ้านเราและบินกลับบ้านในป่าชุมชน ทำให้ในทุกเช้าที่บ้านปากช่องเป็นช่วงเวลาของความสุขที่ได้มานั่งชมดอกไม้บานพร้อมเครื่องดื่มธัญพืชร้อนๆ รอฟังเสียงจากชีวิตเล็กๆ ลุ้นว่าเช้านี้จะได้เห็น ได้ยินเสียงอะไรที่แวะมาทักทายมอบความสุขยามเช้า ทั้งนกยูง เป็ด กระรอก ผึ้ง แตน วัว แมลงภู่ ไก่ กาเหว่า กระแตแต้แว้ด กระปูด และกระยางขาว พลบค่ำก็มีเสียงจิ้งหรีด กบ เขียด เรไร จากบ่อน้ำบรรเลงพร้อมๆ กัน เป็นเพลงที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน

“ที่ดินผืนนี้มีภูเขา เนินเขาล้อมรอบทั้ง 4 ทิศ และมีต้นไม้ใหญ่จากบ้านคุณลุงโชคที่กางใบให้ร่มเงาเย็นสบายกับบ้านเราในทิศเหนือ ทดแทนวิวภูเขายอดราบของทิวลำตะคอง พื้นที่น้ำซับติดคลองยางนี้อุดมสมบูรณ์ตลอดปีด้วยน้ำซับที่ไหลเบาๆ มาจากป่าชุมชนซึ่งเป็นแหล่งของต้นไม้นานาพรรณ เสียงจากป่าของสัตว์ต่างๆ จักจั่นตามฤดูกาล และนกนานาชนิด ซึ่งนับว่าโชคดีมากที่เราได้มาอยู่ท่ามกลางเสียงของธรรมชาติ เพื่อนบ้านที่จิตใจดี และสัตว์เลี้ยงของเขา บ้านเราจึงมีเพื่อนสัตว์ต่างๆ แวะมาเยี่ยมเยือนและช่วยสร้างความสุขเสมอมา เสียงนกยูงร้องหาคู่ ตามมาเฝ้านกยูงตัวเมียที่บินมาบ้านเรา กระรอกเผือกที่วิ่งบนรั้วกระโดดบนกิ่งไม้ไปมา นกนานาชนิดบินมาหาอาหารที่บ่อน้ำทั้ง 4 และมีครอบครัวน้องควายเผือกจากโครงการภูพอเพียงมาขอลงบ่อแช่น้ำคลายร้อน แล้วยังมีสุนัขที่นิสัยน่ารักมากจากบ้านลุงเอกชื่อ ‘ไอ้ผอม’ มุดรั้วมาหาและมาอยู่เป็นเพื่อนกัน ซึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นสุนัขขนฟูล่ำสันหลังจากรับยาและวิตามิน ก็เป็นอีกความผูกพันกันระหว่างคนและสัตว์ที่เขาจำรถเราได้และวิ่งควบมารับและตามไปส่งเสมอ

“ภูมิทัศน์ธรรมชาติที่เราพูดถึง หากมีการจัดทำ ‘แผนผังภูมินิเวศ’ สรุปภาพรวมของศักยภาพพื้นที่ใกล้เคียงจะทำให้มีการฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนา (อย่างเป็นระบบ) บนพื้นที่เล็กๆ ต้นน้ำที่มีสถานปฏิบัติธรรมภูพอเพียง หมู่คอนโดชีวาแซงชัวรี่แนว Wellness บ่อน้ำขนาดใหญ่ (ขุดคลองยางเป็นบ่อกักน้ำ) สวนฝรั่งต้นน้ำ ชูมารูนฟาร์มสัตว์สวยงาม วัดหนองแก วัดพุทธนิคม ร้านขนมชื่อดัง Khaam (ขาม) Maa (มา) และ Buun (บุน)  ซึ่งหากใช้เส้นทางธรรมชาติเป็นทางเข้าผ่านป่าชุมชน (ในช่วงเดือนมกราคม) ก็จะลอดอุโมงค์ต้นไม้ที่คุณลุงโชค เชี่ยวศิลป์ เพื่อนบ้านเป็นผู้ปลูกไว้ให้ลูกหลานชมความงามของประดู่แดงที่ออกดอกพร้อมกันบานสะพรั่งเป็นสีแดงหม่น เมื่อผ่านป่าชุมชนมาเราจะพบไร่ข้าวโพด สวนผัก ไร่ผักชี ขึ้นฉ่าย ที่สลับผลัดเปลี่ยนฤดูปลูกกันบน Rolling Hill เล็กๆ ที่เราจะมองเห็นดอกสีส้มแจ๋นของทิวหางนกยูงริมขอบป่าชุมชนในฤดูฝน”

คุณเกดบอกว่าเธอโชคดีมากที่ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนหลักสูตร WDEP รุ่น 1 (Well-being Design and Engineering Program ของศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ของบริษัท MQDC ที่นำผลงานวิจัยเกี่ยวกับ Well-being ด้านต่างๆ สอนทั้ง Mental – Physical – Environmental และได้นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ต้นน้ำคลองยางแห่งนี้เท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เช่น การคงสภาพต้นไม้น้ำสูงๆ ดั้งเดิม (กกและธูปฤๅษี) รอบบ่อน้ำที่อยู่ใกล้กับป่าชุมชนให้มีลักษณะเป็น Natural Pond เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบเหมาะเป็นที่อยู่ของนกเป็ดน้ำและนกต่างๆ (ตามข้อมูลงานวิจัยเราต้องมีระยะห่าง 20 เมตร เพื่อไม่ให้นกตกใจ) นกเป็ดน้ำเป็นนกตัวเล็กที่น่ารัก ขี้ตกใจ เวลาจะขึ้นบินต้องมีรันเวย์เพื่อ Take Off ที่ไกลพอควร (เขาบินในแนวดิ่งไม่ได้) คุณเกดเล่าให้ฟังต่อว่า ประสบการณ์ที่ทำให้เธอประทับใจมาก คือ Moment ที่นกเป็ดน้ำบิน Take Off บินเฉียดศีรษะเธอ “หากจะให้นกอยู่กับเรา เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเขา นอกจากนี้ยังมีสัตว์อื่นๆ อาศัยอยู่ร่วมกันในบ่อน้ำ เช่น เต่า ปู ปลา กบ เขียด ฯลฯ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ก็มีแผนจะพัฒนาให้มีที่พักริม Natural Pond เฝ้าดูนกบินไปกลับป่าชุมชนและให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนรักธรรมชาติต่อไป

“ทางเดินสัตว์ในสวน” ก็เป็นอีก Good Practice ที่ประทับใจเมื่อได้เห็นต้นแบบจากโครงการ The Forestias ที่มีการทำทางเดินเฉพาะให้สัตว์ต่างๆ เดินลอดผ่านถนนได้อย่างปลอดภัย ไม่ถูกรถทับ ซึ่งเราก็มีแผนที่จะขุดฝังท่อทำเป็นทางลอดใต้ถนนเชื่อมบ่อน้ำ ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาชีวิตสัตว์ต่างๆ แล้ว ก็ยังสามารถใช้เป็นร่องระบายน้ำในฤดูฝนได้อีกด้วย โดยการออกแบบแลนด์สเคปบริเวณนี้จะกลมกลืนเชื่อมต่อกับภาพใหญ่ของพื้นที่ด้วยหลักการ Circular Design ที่นำวัสดุเหลือใช้ ทรัพยากรน้ำกลับมาใช้อีกครั้ง ร่วมกับการใช้วัสดุในพื้นที่ เพื่อลดคาร์บอนจากการขนส่งจากต่างถิ่น อาทิ การใช้ไม้เก่าในพื้นที่ทำประตู หน้าต่าง เสาโรงนา โดยเฉพาะพื้นที่สวนก็นำเศษไม้เก่า และเศษหินมาออกแบบตกแต่งสวนร่วมกัน”

สำหรับตัวบ้านมีลักษณะเป็นกระท่อมในชนบทดูกลมกลืนกับธรรมชาติและบรรยากาศชนบท โดยคุณโอ๊ะให้ชื่อว่า “The Ginger Cat Cottage” มีแมวฟาง (จำลองจากแมวส้มตัวโปรด) เดินเล่นเฝ้าบ้านอยู่บนหลังคาฟาง “เพื่อนบ้านและคนละแวกนี้เรียกบ้านเราว่า ‘บ้านแมว’ ตั้งอยู่กึ่งกลางพื้นที่ 12 ไร่ของ ‘Maison Fleurie’ (บ้านดอกไม้) มีที่มาจากภาพวาด ‘กระท่อมชนบท’ บนแผ่นเซรามิกที่ติดไว้บนผนังบ้านเมืองนนท์ที่เฝ้าดูอยู่ทุกวัน จนกระทั่งผ่านไป 15 ปีก็ถึงเวลาที่ได้ลงมือสร้างบ้านหลังนี้ที่ทุกคนในครอบครัวได้ช่วยกันออกแบบทั้งตัวบ้าน หลังคา และการออกแบบภายใน โดยมีคุณพ่อโอ๊ะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณหลักในการสร้างบ้านและโรงนาทั้ง 2 หลัง”

ภายในตัวกระท่อมเล็กๆ ที่มีขนาดเพียง 7×4 เมตร “ครัว” จึงนับเป็นฟังก์ชันที่สำคัญที่สุดของบ้าน มีชุดเก้าอี้โต๊ะอาหารแอนทีกสไตล์ฝรั่งเศสตั้งอยู่ท่ามกลางเฟอร์นิเจอร์ครัวสีเขียวหม่นที่มีทอปเป็นไม้สักสีน้ำตาลมีลวดลายไม้สวยงามเป็นธรรมชาติเข้ากับฝาตู้เขียวหม่นแนวแอนทีก ให้คนในครอบครัวได้นั่งรับแดดอ่อนๆ ในเวลาอาหารเช้า อ่างล้างมือสีขาวพร้อมก๊อกน้ำแนววินเทจ

ในครัวถูกออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถมองออกไปได้ไกล เห็นท้องฟ้าที่มีแสงของดวงอาทิตย์ไม่ซ้ำกันในแต่ละเช้า ริมหน้าต่างครัวทิศตะวันออกมีดอกตรีชวาสีขาวชูช่อให้ได้ชมไม่เคยขาด มีกุหลาบเลื้อยสีชมพูอมส้มที่แข่งกันออกดอกเป็นพวงส่งกลิ่นหอมผ่านหน้าต่างเข้ามาในครัวทิศใต้ ในบ้านมีต้นคริสต์มาสตกแต่งอย่างงดงามเข้ากับชุดจานพอร์ซเลนสีขาวครีมที่มีขอบจานเฉดสีเขียวเดียวกับเทศกาล มีผลงานการตกแต่งอาหารและบรรยากาศรอบๆ โต๊ะอาหารต้อนรับปีใหม่ มีคุกกี้และเค้กประจำฤดูกาลจากร้านขนม Why Dough ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวของลูกๆ

“ในช่วงการก่อสร้างบ้านเราได้ออกแบบภายนอกและตกแต่งภายในไปพร้อมๆ กันเพื่อให้เข้าธีมและเพื่อให้งานแล้วเสร็จในเวลาที่ใกล้เคียงกัน เราเตรียมกระเบื้องเซรามิกสำหรับตกแต่งแนวภาพธรรมชาติของ Marjolein Bastin ไว้ติดระหว่างกรอบคิ้วไม้สักบนผนังครัวและผนังห้องน้ำให้ดูเป็นห้องเดียวกัน เตรียมสานแมวฟาง เตรียมจัดหาตู้เย็นและโคมไฟไว้ก่อน ซึ่งเราไปพบโคมไฟผนังทองเหลืองวินเทจสีเขียวหม่นที่ถูกซ่อมแซมแล้วนำมาใช้ใหม่อีกครั้ง ตอนซ่อมก็ลุ้นมากๆ ว่าจะสามารถฟื้นฟูสภาพแอนทีกเก่าๆ เหล่านี้ได้หรือเปล่า แต่ในที่สุดเราก็ทำสำเร็จทั้งหลอดไฟ และกรอบผ้าบังแสงนวลของหลอดไฟ โคมไฟแต่ละจุดในบ้าน นอกบ้าน และในโรงนามีเบื้องหลังการได้มาที่ต้องเสาะหา เพราะว่าเราตกแต่งกันเองตามความชอบให้เหมาะสมกับขนาดห้องและตำแหน่งที่รับกัน

“ห้องน้ำเล็กๆ ถูกออกแบบให้กลมกลืนกับห้องครัว และโทนสีวอลเปเปอร์ของมุมนั่งเล่นหน้าห้องน้ำ ผนังห้องน้ำติดกระเบื้องเพนต์เป็นลายเซ็ตเดียวกับครัว โดยติดในกรอบบัวผนังไม้สักรอบห้องน้ำและบนอ่างล้างหน้าที่มีทอปไม้สักดูกลมกลืนด้วยวัสดุธรรมชาติคู่กับก๊อกน้ำทองเหลืองของอ่างมะเฟืองที่เป็นจุดรวมสายตาของห้องนี้ กระเบื้องเซรามิกตกแต่งนี้มีเท็กซ์เจอร์คล้ายดินปั้นเรียบๆ สีน้ำตาลอ่อนนวลตา เข้ากับกระเบื้องพื้นสีส้มรัสติก และผ้าลินินลายสกอตสีเขียวหม่นของประตูตู้ด้านอ่างล้างหน้าที่เข้ากันกับม่านหน้าต่างสีเบจเนื้อคอตตอนลินินที่เราตัดเย็บกันเอง

“บ้านชนบทหลังนี้เราชอบที่จะรับแขกที่ระเบียงหลังบ้านซึ่งเป็น Private Zone มีลมพัดเย็นสบายทุกฤดูกาล มีโรงนาหลังแรกและหอคอยเป็นวิว เราเติมเต็มความ Imperfect ของการก่อสร้าง ‘โรงนา 1’ ด้วยการตกแต่งผนังส่วนที่ไม่สมดุลด้วยรูปปั้นกวางที่มีเขาสวย โรงนา 1 นี้มีระเบียงทางเดินในตัวอาคารที่โชว์ลายน้ำของเสาไม้เก่าๆ และทางเดินเล็กๆ นี้ใช้ทดแทนกันร่มกันฝนได้ดีเวลาเดินไปโรงจอดรถ ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ของอาคาร ส่วน ‘โรงนา 2’ เป็นที่เก็บรถไถคันใหญ่และตัวต่อพ่วงชนิดต่างๆ ที่สร้างด้วยเสาไม้เก่าและมีเศษไม้คละสีเป็นผนัง มีแมวฟางนั่งสงบอยู่หลังคาเป็นเพื่อนกับ The Ginger Cat

“เราเน้นการใช้ชีวิตเอาต์ดอร์ในสวนดอกไม้ ภูมิสถาปัตย์รอบบ้านจึงถูกออกแบบในแนวที่ทุกคนในบ้านชื่นชอบ คือเป็นสวนอังกฤษผสมกับสวนฝรั่งเศสที่กลมกลืนกันด้วยพรรณไม้ที่สอดรับกับสไตล์ของบ้าน อาทิ ต้นสนนานาชนิด, ซิลเวอร์โอ๊ก, แอปเปิล, อะโวคาโด, Tea Tree, มะเดื่อฝรั่ง (Fig), ฝรั่งสีชมพู, ลำไยคริสตัส และไม้ดอกไม้ประดับยืนต้นหรือไม้ดอกข้ามปี เช่น ประดู่แดง, คนทีสอ, American Beauty, ตรีชวา, ชงโคไทย, Silver Button, พุดตานญี่ปุ่น, กุหลาบ, Mexican Sage, ไอริสสีต่างๆ, Blue Sage, เดซีเลื้อย, Russian Sage, หอมหมื่นลี้, คูณม่วง ฯลฯ และที่สำคัญคือ The Potager หรือ Kitchen Garden ในแนวฝรั่งเศสที่ปลูกไม้สวนครัว อาทิ โรสแมรี่ สเปียร์มินต์ มะนาว ตะไคร้ ดอกไม้รับ’ทานได้ ชาสมุนไพรกลิ่นหอมจากโรสแมรี่และสเปียร์มินต์ให้กลิ่นสัมผัสที่สดชื่นกับผู้มาเยือน

“เราพัฒนาพื้นที่จาก ‘ใกล้ตัว’ ไปสู่ ‘ไกลตัว’ มีหลักในการเลือกใช้ไม้ดอกยืนต้นด้วย ‘เหตุและผล’ โดยใช้ไม้ดอกยืนต้นที่ออกดอกช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวเท่านั้น ไม่เลือกใช้ต้นไม้ที่ออกดอกในฤดูร้อนเลย เพราะช่วงมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงปิดเพื่อพัฒนาสวน และที่สำคัญที่สุดคือต้นไม้เหล่านี้ต้องอดทน ทนแล้ง และสามารถอยู่รอดข้ามปีได้ดีในพื้นที่ปากช่อง ปัจจัยการปลูกพืชที่สำคัญแต่ท้าทายมากก็คือสภาพดินที่แตกต่างกันในพื้นที่ผืนเดียวกัน (มีทั้งดินเหนียว ดินร่วนปนทราย ดินทราย) ทำให้เราต้องหาความรู้และเลือกพันธุ์ไม้ลงปลูกอย่างเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงและเลี่ยงการสูญเสีย

“นับว่าโชคดีมากๆ ที่เรามีเวลาเตรียมตัวก่อนการเริ่มต้นพัฒนาพื้นที่ ‘Maison Fleurie’ มีโอกาสได้อ่านหนังสือดี ‘Permaculture’ อ่านเพลินจบในวันเดียว และเข้าร่วมเรียนหลักสูตรระยะสั้นของหน่วยงานต่างๆ  ซึ่งต่อมาก็ได้ประยุกต์ใช้พื้นที่นี้เป็น Living Lab ทดลอง และค้นหาโซลูชันวิถีปฏิบัติที่เหมาะสมกับภูมิสังคมเฉพาะตัว มีการจัดโซนนิงให้ตรงกับฟังก์ชันการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ โดยพื้นที่ฝั่งติดคลองยางเป็นส่วนที่ปลูกไม้เพื่อบริโภคในแนวอินทรีย์ ข้ามถนนมาอีกฝั่งเป็นโซนที่พักอาศัย เรามีบ่อน้ำ 4 บ่อ แต่มีอยู่หนึ่งบ่อที่เก็บน้ำไม่อยู่ อาจเนื่องจากบ่อนี้ขุดลึกถึงชั้นทรายทำให้เก็บกักน้ำไม่อยู่ และเราได้ประยุกต์การ ‘ย่ำขี้’ ซึ่งปกติจะใช้วิธีลงแขกกัน (ใช้แรงคน) ช่วยกันปะบ่อรั่ว ซึ่ง ณ Living Lab แห่งนี้เราได้ประยุกต์ใช้รถแบ็กโฮแทนแรงงานคนในการคลุกเคล้าฟาง ดิน ขี้วัว และน้ำจุลินทรีย์ รวมเป็นของเหลวสำหรับยาก้นบ่อรั่วด้วยวิถีธรรมชาติที่ได้ผลดี ทดแทนการใช้พลาสติกและปูน ซึ่งจะมีปัญหาด้านความสวยงามและความเสื่อมสภาพทำให้ต้องรื้อเปลี่ยนในอนาคต นอกจากนี้ยังได้นำเศษไม้เก่ามาทำขอบแปลงผักสวนครัว นำเศษหินมาตกแต่งเสารั้วประตูบ้าน ขอบบ่อน้ำและทางเดินในสวนที่ผสมผสานกับเศษขอนไม้มะฮอกกานีจากบ้านเมืองนนท์ที่ถูกตัดเป็นแว่นคล้ายเขียง จัดเรียงเป็นทางเดินเข้าสวนได้อย่างลงตัวกลมกลืนกันระหว่าง ‘เศษกิ่งไม้’ และ ‘เศษหิน’ ที่ไม่มีประโยชน์”  

คุณเกดทิ้งท้ายกับเราถึงบ้านหลังนี้ว่า “ด้วยรูปทรงที่มีอัตลักษณ์ชนบทที่น่าเพลินใจของ ‘กระท่อมแมวส้ม’ หลังนี้ที่ทำให้สุขใจทุกครั้งที่ได้มาใช้ชีวิตที่นี่…ปากช่อง อาจเป็นเพราะสีสันที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละวันของท้องฟ้ายามเย็นและยามเช้า กุหลาบสีต่างๆ ที่ผลัดกันบานรับอากาศที่เย็นสดชื่น มิตรภาพจากเพื่อนบ้าน เสียงจากธรรมชาติที่ถักทอความฝันเล็กๆ ของคุณยายที่อยากมีบ้านสีขาวชั้นเดียวบนเนินมาสู่ ‘Maison Fleurie’ ที่ลูกหลานสร้างตามความฝันของคุณยาย และได้ผสมผสานกลิ่นอายความเป็นชนบทของบ้านในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ส่งต่อความสุข ความสำเร็จ และร่วมดูแลรักษาพื้นที่ต้นน้ำแห่งนี้จากรุ่นสู่รุ่น”


You Might Also Like...