Lifestyle & Cooking People

คุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ การออกแบบเพื่อการอยู่อาศัยที่ สุข +สบาย


คุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Boon Design อีกทั้งยังเป็นเจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัลมาแล้วมากมายทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ด้วยการออกแบบที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง อีกทั้งยังใส่ใจในรายละเอียดที่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างตัวอาคาร ที่ว่าง และธรรมชาติ เพื่อการอยู่อาศัยที่ดี อยู่แล้วสบาย ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงหลักสำคัญในการออกแบบ แต่คุณบุญเลิศยังมองว่า 2 สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญของการใช้ชีวิตอีกด้วย

เติบโตมากับศิลปะ
ที่บ้านผมทำป้ายโฆษณาที่ติดตามตึกต่างๆ คุณแม่ก็จะเน้นให้เราทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก และพี่ชายเราก็เรียนช่างศิลป์ก่อนจะไปเรียนต่อมัณฑนศิลป์ เขาสอนให้เราเขียนภาพ ระบายสี ตั้งแต่อยู่ ป.2 พอเราโตมาทำให้มีความสนใจเกี่ยวกับศิลปะ อีกทั้งพี่ชายยังเป็นอินทีเรียก็เหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้เรามีความมุ่งมั่นว่าถ้าไม่ได้เป็นสถาปนิกก็อยากเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ แต่ตอนเด็กผมไม่เก่งวิชาเลขเลย คือตกตั้งแต่อยู่ชั้น ป.5 เมื่อเรารู้ตัวว่าไม่ได้เลขเลยพยายามทำในสิ่งที่ถนัดให้ดีที่สุดคือศิลปะและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ทำคะแนนสอบผ่านได้ จนในที่สุดก็สอบติดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่เคยใช้อย่างอื่นนอกจากบวก ลบ คูณ หาร แต่สิ่งที่ต้องใช้คือเรื่องตรรกะในการหยั่งถึงข้อมูลแล้วนำมาใช้อย่างไร สุนทรียศาสตร์คืออะไร ความงามคืออะไร ปรัชญาการใช้ชีวิตคืออะไร ซึ่งผมคิดว่าการเป็นสถาปนิกหรือดีไซเนอร์ต้องมีสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญ

ตั้งใจว่าอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ            
ในช่วงปี 3 เราได้ทุนไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นทำให้ได้เห็นโลกกว้าง ได้เห็นความเจริญของบ้านเมืองเขา เห็นงานสถาปัตยกรรมต่างๆ เลยรู้สึกตั้งแต่วันนั้นว่าอยากไปเรียนเมืองนอก ด้วยสื่อสมัยก่อนไม่เหมือนทุกวันนี้ ต้องไปเรียนไปเลคเชอร์ ไปฟังสถาปนิกที่เก่งๆ มาพูดมาเล่าว่าทำอย่างไร การที่เราได้ไปเรียนต่างประเทศจะทำให้เรามีหูตากว้างไกล โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน

หลังจากเรียนจบผมทำงานอยู่ 2 ปี โดยเริ่มทำงานที่แรกกับ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา พอทำงานได้ประมาณ 1 ปี รุ่นพี่ก็ชวนให้ไปทำงานกับบริษัทสถาปนิกออสเตรเลีย NFA (Nation Fender Architect) ทำให้เราได้เห็นการทำงานของฝรั่งที่ไม่เหมือนคนไทย ยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องไปเรียนเมืองนอก หลังจากเก็บเงินได้ผมก็ไปเรียนการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ The Bartlett School of Architecture University College London ประเทศอังกฤษ

เนื้อหาต้องใช่และรายละเอียดต้องถึง            
ตอนที่ไปเรียนก็เหมือนได้เปิดโลกของเราอีก ถึงแม้เราจะเคยประกวดแบบแล้วได้รางวัลหรือเป็นนักศึกษาที่ทำคะแนนได้ A แต่สิ่งที่เราเคยเรียนมากลับใช้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่โลกเป็นไปกับสิ่งที่เรียนมาไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน คือที่ไทยจะสอนให้เราทำงานเป็น Project Oriented ไม่ได้สอนเรื่องการดีไซน์แต่เวลาทำงานจริงต้องมีสิ่งเหล่านี้ ทำให้ผมได้รู้ว่าเราไม่รู้อะไรคือเรื่องของดีไซน์ ตลอดจนคุณภาพของงานที่เราจะต้องทำอย่างไรให้เทียบเท่าเมืองนอก ซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ 2 อย่างคือ เนื้อหาต้องใช่และรายละเอียดต้องถึง

ใช้การดีไซน์แก้ปัญหา         
ผมทำบ้านลูกค้าหลังแรกคือบ้านของคุณวิทย์ Vit’s Residence ในปี 2000 ตอนนั้นเราเห็นความขาดแคลนเรื่องของแรงงาน อย่างช่างปูนเวลาถึงช่วงทำนาก็หายกันไปหมด ผมจึงทำบ้านจากเหล็กทั้งหลัง โดยคำนึงถึงความเรียบง่ายของการอยู่อาศัยว่าทำอย่างไรให้สอดคล้องกับเมืองไทย ทำไมหลังคาบ้านต้องร้อน เราเลยออกแบบหลังคา 2 ชั้นมาตั้งแต่ตอนนั้น เกิดจากที่ผมเคยได้ยินแม่พูดเมื่อก่อนว่า “บ้านเราเป็นตึกแถวที่ไม่ร้อนเพราะมีพวกป้ายเก่าๆ วางอยู่ข้างบน ถ้าไม่มีป้ายพวกนี้ต้องร้อนมากแน่เลย” คำพูดนี้ของแม่ทำให้เราคิดว่าถ้าหลังคามีอะไรบังอยู่ก็คงไม่ร้อน

สิ่งที่ผมอยากทำคืองานสถาปัตยกรรมที่เป็นของคนไทย คือเราไม่ได้ปฏิเสธกระจก เหล็ก คอนกรีต แต่เราต้องมองว่าอากาศเมืองไทยเป็นอย่างไร แดดจะร้อน ฝนจะแรง รวมไปถึงวิถีชีวิตของคนไทย พอเราเป็นสถาปนิกเราต้องไม่ดูแต่เรื่องของความสวยงามแต่ต้องยอมรับธรรมชาติต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตเรา เช่น ผมออกแบบบ้านที่กันปลวกกันมดตั้งแต่แรกเพื่อจะได้ไม่ต้องใช้น้ำยาฆ่าปลวกที่สุดท้ายก็ลงไปอยู่ในดินในแม่น้ำ อย่างโบราณเขามักจะทำเสาแล้วมีรางไว้กันปลวก ผมเลยออกแบบบ้านผมให้อยู่บนเสาปูน มีตัวคานเป็นเหล็ก ซึ่งพอเจอเหล็กปลวกก็ไปต่อไม่ได้แล้ว แต่ถ้ากันมดก็ต้องออกแบบอีกอย่างเพื่อไม่ให้มดเข้าบ้าน อาจจะออกแบบให้มีรางน้ำโดยรอบแล้วดีไซน์ซ่อนไว้ ผมคิดว่าการออกแบบมีรายละเอียดบางอย่างที่สามารถใช้การดีไซน์มาช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นได้

Boon Design Office

เพราะทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน            
ผลงานของ Boon Design มักจะมีเรื่องที่ว่าง แสง และธรรมชาติ คือผมชอบให้ตึกอยู่กับต้นไม้ เพราะผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราสร้างไม่มีวันเทียบเท่าธรรมชาติ หลักการออกแบบคือเราต้องใช้ธรรมชาติเข้ามาช่วยเพื่อให้เราอยู่สบายขึ้นทั้งเรื่องมุมมอง ความสวยงาม และร่มเงา ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน ไม่ว่าเราจะทำอะไรหรือสร้างอะไรก็แล้วแต่ ต้องอยู่แล้วดี อยู่แล้วสบาย เป็น 2 สิ่งสำคัญที่ไม่ใช่แค่การออกแบบ แต่เป็นหัวใจสำคัญของการใช้ชีวิตด้วย นอกจากนั้นที่ว่างก็ต้องมีเพราะเราต้องอาศัยอยู่กับธรรมชาติ ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้เหมือนเราไม่รู้ว่าน้ำควรจะอยู่ตรงไหน ลมควรจะเข้าทางไหน ออกแบบหน้าต่างแต่เปิดใช้งานไม่ได้ คือทุกศาสตร์ต้องมาพร้อมกัน งานระบบ ตัวอาคารก็ต้องดีด้วย รวมไปถึงเรื่องของวิถีชีวิตของคน คือสถาปนิกออกแบบทุกอย่างเพื่อรองรับการใช้ชีวิต อย่างบ้านเรือนไทย บ้านที่โตเกียวหรือบ้านฝรั่งก็จะมีข้อดีประจำถิ่นต่างกันไป ถ้าเรานำมาใช้แต่รูปแบบมันจะไม่มีวิถีชีวิตอยู่ในนั้น จะมีแต่คำว่า Style ไม่มีคำว่า Life คือทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกัน

Aurapin’s Resiidence

เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง         
เชื่อว่าหลายคนคงมีโอกาสได้เห็นผลงานการออกแบบของคุณบุญเลิศผ่านทางสื่อต่างๆ อย่างมากมาย รวมไปถึง Rabbit Residence ที่คว้ารางวัลในระดับประเทศและต่างประเทศ อาทิ House of The Year จาก Habitus, Iconic Awards 2019 และ German Design Awards 2020 จาก German Design Council

Rabbit Residence

Rabbit Residence บ้านของคุณป๊อก ซึ่งเป็นภูมิสถาปนิก ผมมองว่าที่ได้รางวัลเพราะเนื้อหาของตัวบ้านมีพลังในตัวเอง บ้านหลังนี้เป็น Landscape Architect ไม่ได้เป็นงานตึกอาคาร ไม่มีรูปร่างแต่มีกำแพงเหมือนเป็นภูมิสถาปัตยกรรมที่อาศัยได้ โดยมีที่ว่างระหว่างกำแพงเยื้องกันตามฟังก์ชันต่างๆ เปรียบเสมือนเป็นรูปด้านของบ้าน ภายในออกแบบเล่นสเตปเพื่อให้สามารถมองเห็นกันได้ทั้งหมด และมีสวนแทรกอยู่ในบ้าน ถ้าดูจากแปลนจะเห็นถึงความเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งและมีความน่าสนใจอย่างมาก

Rabbit Residence

งานออกแบบต้องได้ A ในแบบของเรา            
โรงแรมรายา เฮอริเทจ จังหวัดเชียงใหม่ กับรางวัล Chiang Mai Design Awards เราเริ่มจากการมองภาพกว้างๆ ว่าถ้าไม่ออกแบบอิงประวัติศาสตร์พื้นถิ่นไปเลยก็ต้องทำสิ่งใหม่ที่ Abstract ซึ่งจริงๆ แล้วเนื้อหาของโรงแรมเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในความเป็นประวัติศาสตร์พื้นถิ่น อย่างโครงสร้างปูนจะไปอยู่ในงานพื้นถิ่นเป็นอะไรที่เกินจะบอกว่านี่คืออาคารพื้นถิ่น เราจะต้องมีการผสมผสานอย่างที่สุด การออกแบบจึงเหมือนการมองอดีตที่เลือนรางในปัจจุบัน

โรงแรมรายา เฮอริเทจ เชียงใหม่

แต่เรื่องรายละเอียดต่างๆ เราต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก ในส่วนของล็อบบี้ผมทำให้เหมือนเป็นอุโบสถ มีเสาสูงอยู่ชิดๆ กัน แต่ในขณะเดียวกันห้องอาหารทำอย่างไรถึงไม่มีเสาตรงกลาง ในส่วนของชายคาต้องทำระเบียงลดสเตปลงมา 30 เซนติเมตร เพื่อให้คนนั่งได้เหมือนกับชานบ้านเรือนไทยจริงๆ ถ้าเราทำงานโดยไม่ระวังเรื่องสเกลแบบโบราณ ชายคาจะเต่อ ซึ่งส่วนที่สำคัญของงานโบราณคือ Tradition Space สิ่งเหล่านี้ต้องนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรูปแบบหรือภาษาสถาปัตยกรรมที่อิงวัฒนธรรมโบราณ แล้วฟังก์ชันกับรูปแบบจะตามมา

โรงแรมรายา เฮอริเทจ เชียงใหม่

นอกจากนี้ยังมีผลงานการออกแบบอื่นๆ ที่ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ บ้านของคุณบุญเลิศเอง Aurapin’s Residence กับรางวัลเหรียญทองของสมาคมสถาปนิกสยาม ซึ่งจริงๆ แล้วคุณบุญเลิศไม่ได้คาดหวังว่าการออกแบบนั้นจะต้องได้รางวัล แต่ต้องได้มาตรฐานในระดับ A ของตนเอง “คือ A ของผมจะต้องประกอบไปด้วยหนึ่งอยู่แล้วมีความสุข สองอยู่แล้วสบาย รวมกันเป็นคำว่าสุขสบาย ตามมาด้วยเรื่องของดีไซน์สวยงาม คือ 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน”

ขอขอบคุณภาพผลงานจาก: Boon Design


You Might Also Like...