Lifestyle & Cooking People

ผลรวมของสอง สถาปนิก WOS Architects ที่เชื่อว่าพื้นฐานของการออกแบบคือฟังก์ชัน


พื้นฐานของการออกแบบคือฟังก์ชัน

WOS Architects เป็นบริษัทออกแบบที่ก่อตั้งโดยคุณพฤกษ์ – พฤกษคุณ กรอุดม และคุณฝ้าย – อรไพลิน ลีลาศิริวงศ์ ทั้งคู่สั่งสมประสบการณ์ในการเป็นสถาปนิกมาได้ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ผันตัวมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง

แม้จะออกตัวว่าเป็นบริษัทเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากคนสองคน แต่หากดูจากแนวคิด มุมมอง ผลงานของพวกเขาน่าสนใจมากทีเดียว โดยเชื่อว่าพื้นฐานในการออกแบบคือฟังก์ชัน ถ้าสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้ แม้ดีไซน์ไม่ได้ดูหวือหวา แต่เชื่อว่ามันใช้งานได้อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องความงาม ความหรูหราเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

มุมมองสถาปนิกของฝ้ายและพฤกษ์

รู้สึกว่าตอนเรียนสนุก ทำโปรเจ็กต์หนึ่งมันไม่มีถูกไม่มีผิด มีแค่ว่ามันน่าสนใจรึเปล่า เป็นการเปิดโอกาสให้เราคิดและทำได้อะไรได้หลากหลายและเต็มที่ จริงๆ ก่อนเข้าไปเรียน เรายังไม่เข้าใจทั้งหมดว่าสถาปนิกทำอะไรบ้าง แต่หลังจากเข้าไปเรียนแล้วสนุกดี

มันคือการแก้ปัญหา คือการรวมหลายอย่างไว้ในงานชิ้นหนึ่ง
ทั้งเรื่องความงาม โครงสร้าง งานระบบ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคน

เหมือนพอมีโจทย์หนึ่งมามันไม่ได้มีคำตอบเดียว ขึ้นอยู่กับว่าคำตอบนั้นเราจะตอบอย่างไร มีคำตอบที่หลากหลาย แต่ถ้าเรียนด้านอื่นๆ คำตอบที่ถูกต้องมีแค่อย่างเดียว

โคจรมาพบกัน

เจอกันที่ Chat Architects ก่อนหน้านั้นฝ้ายทำที่ Architects49 เขาได้วิธีการทำงานเป็น Professional คุยกับลูกค้า ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ เยอะมาก ผมอยู่บริษัท Alkhemist Architects เป็นบริษัทเล็กๆ ทำงานคนละแบบกับฝ้าย หลังจากนั้นมาเจอกันที่ Chat Architects ได้ร่วมงานกัน วิธีคิดในงานค่อนข้างเหมือนกัน สไตล์งานที่ชอบก็คล้ายๆ กัน ตอนเรียนกับตอนทำงานไม่เหมือนกัน

ตอนเรียนเราทำ Presentation ออกมาเป็นงานที่อยู่ในกระดาษแค่ 20%
แต่โลกแห่งความจริงมันมีโปรเซสในการสร้างงานเป็น 80% ที่เราไม่เคยเจอในตอนเรียนเลย

ทำแบบ ก่อสร้าง ทำอย่างไรให้เหมือนแบบ ต้องมีการประสานงานติดต่อกับหลายฝ่าย เหมือนเราเริ่มเรียนใหม่อีกรอบ

จุดเปลี่ยนที่หันมาทำงานของตัวเอง

เราได้ทำตามความเชื่อของเราเองจริงๆ

เหมือนสถาปนิกแต่ละคนจะมีแนวคิดที่ตัวเองเชื่ออย่างนั้น แต่สำหรับงานออฟฟิศต้องทำเป็นทีม และมีแนวทางที่ทุกคนต้องฟอลโลว์ไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้งานสำเร็จ พอเราทำโปรเจ็กต์เองเราเป็นคนกำหนด direction เอง คิดว่าโจทย์ๆ หนึ่งมีหลายคำตอบ และผมก็อยากตอบในวิธีของผม แล้วเราก็อยากลองวิธีทำงานในแบบของเราด้วย

ดีไซน์เปิดกว้าง

เราไม่พูดถึงว่าบริษัทเราถนัดงานสไตล์ไหน แต่การทำงานมันเกิดจากการแก้ปัญหา โดยมีพื้นฐานของ Tropical architecture ออกแบบให้เหมาะกับสภาพอากาศ อันนั้นเป็นเรื่องเบสิกอยู่แล้ว เราเหมือนเอาความต้องการของเจ้าของเข้ามาในเชิงของการใช้งาน เราทำตามโจทย์เพื่อให้ออกมาเป็นตัวตนของลูกค้า

เป็นหน้าที่ของเราที่ทำให้ตัวตนของลูกค้ากับบ้านไปด้วยกันได้

โปรเจ็กต์ JY House

โปรเจ็กต์นี้เป็นทาวน์เฮาส์เก่า โจทย์ที่ได้มาเป็นงานรีโนเวท ตอนแรกตั้งใจใช้โครงสร้างเก่าแต่สุดท้ายทำใหม่หมดเลย เป็นทาวน์เฮาส์หน้าแคบและลึกถูกต่อเติมจนภายในมืดทึบ เลยคิดว่าเรายอมเสียพื้นที่ในบ้านเพื่อให้เป็นคอร์ทยาร์ด เป็นสวนภายในและช่วยให้บ้านสว่าง

คนทั่วไปมองว่าทำไมไม่เอาด้านหน้าเป็นสวน แต่พอมีสวนอยู่ด้านหน้า เขาก็จะไม่กล้าออกไปใช้งาน

บ้านหลังนี้ทุกห้องมีหน้าต่าง 2 ด้าน เป็น cross circulation เพื่อให้อากาศถ่ายเท เอาครัวมาไว้ด้านหน้าเมื่อขับรถเข้ามาจอดก็เก็บของได้สะดวก งานระบบก็อยู่ด้านหน้า บางคนอาจจะมองว่าไม่สวย แต่ผมว่าเซอร์วิสง่าย

โปรเจ็กต์ RRP Apartment

ขนาดห้อง 150 ตารางเมตร คอนโดเก่า 20 กว่าปี โจทย์ที่ได้รับคือเจ้าของห้องอยากได้ห้องที่โปร่ง โล่ง สบาย ไม่ปิดกั้นอีกต่อไป ซึ่งตอนแรกห้องโดนแบ่งเป็นห้องๆ มีทางเดินแคบๆ ดูทึบๆ เราออกแบบโดยนำพื้นที่ที่เป็นส่วนกลางมารับแสง รับวิว และทำให้ลมพัดผ่านได้ทั้งห้อง

ห้องที่โปร่ง โล่ง สบาย ไม่ปิดกั้นอีกต่อไป

จากที่เคยเป็นห้องกับทางเดิน พื้นที่เปิดต่อเนื่องกันได้ จะเดินทะลุก็ได้ หรือปิดกั้นในบางเวลาที่เราอยากแยกฟังก์ชัน อยากเปิดแอร์ ภายในตกแต่งเป็นแนวเรียบง่าย โมเดิร์นทรอปิคอล มู้ดโดยรวมเป็นไม้ นำ element ไม้สักเข้ามา ไม่ให้มันเลี่ยนเกินไป มีสีขาวเข้ามาตัด เป็นเส้นวิ่งยาวต่อกันไปตลอด

โปรเจ็กต์ EE House

เป็นบ้านเกษียณขนาด 1ห้องนอน เจ้าของอยู่คนเดียว แต่มีญาติๆ มากินข้าวด้วย จึงมีพื้นที่ส่วนกลางเยอะหน่อย เลย์เอาท์บ้านนี้น่าสนใจ ตรงที่ถนนด้านหนึ่งเป็นถนนโครงการแต่ไม่เคยเทปูน เป็นหญ้ารกๆ พอเรามาทำเลยคิดว่าบ้านฝั่งนี้เป็นบ้านญาติ เลยทำพื้นที่ตรงนี้เป็นสวนนอกบ้าน ส่วนในบ้านก็ทำเป็นพื้นที่สวนให้ต่อเนื่องกัน เป็นพื้นที่กึ่งภายนอกภายในที่ใหญ่หน่อยเพื่อให้มารวมตัวกัน เพราะส่วนใหญ่ญาติอยู่ในตลาด เขาอยากได้พื้นที่โล่งๆ รั้วตรงนี้เราเปิดเป็นเหมือนหน้าต่างใหญ่ๆ แต่มีบานเลื่อนเปิดปิดได้ ด้านหลังเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้าน เป็นห้องนอน มีทั้งช่วงเวลาที่เป็นส่วนตัวและมีลูกหลานมารวมตัวกัน  

วิธีคิดของบ้านหลังนี้เราประสานทุกอย่างเข้าไปในโครงสีแดง เป็นโครงสำหรับระบบไฟ เดินสายไฟไว้ข้างบน ซึ่งมันจะดูเป็นการตกแต่งก็ได้ แต่ก็มีฟังก์ชันของมัน เป็นอีกเลเยอร์หนึ่งที่วิ่งตลอดบ้าน ถ้าบ้านทั่วไปจะฝังบนฝ้า มีปัญหาเรื่องตอนเซอร์วิส เราเลยเอาลงมาเตี้ยหน่อยแล้วเอาเหล็ก H-beam มาทำเป็นวายเวย์ งานไฟฟ้าทุกอย่างอยู่ในนี้หมด

จุดเด่นอีกหนึ่งอย่างก็คือ รั้วและผนังจะมองเป็นอะไรก็ได้ เราไม่ได้แยกว่าอันนี้ในบ้านอันนี้นอกบ้าน ไม่ได้ให้ความหมายฟิกซ์ไว้อย่างเดียว ไม่ใช่ห้องที่แยกขาดจากกัน เป็นห้องก็ได้ หรือเป็นที่โล่งๆ ต่อเนื่องกันก็ได้ แต่มันซ่อนฟังก์ชันเอาไว้ เอาท์ดอร์เป็นงานของแลด์สเคป แต่เราพยายามคิดให้ครบทุกอย่างทั้ง exterior interior

ความเป็น WOS Architects

อาชีพนี้มีคำตอบหลากหลาย อย่างน้อยก็ต้องเป็นอะไรที่ตอบโจทย์เบสิกที่มันควรจะเป็น ทั้งในเชิงแดด ลม ฟังก์ชัน ความต้องการของเจ้าของ

อีโก้ของเรามันไม่ได้แสดงออกมาเด่นชัดจนเกินหน้าทุกอย่าง อาจจะเป็นงานที่ดูเรียบๆ แต่มันมีความคิดของเราอยู่ในนั้น

แต่ไม่ได้แสดงผ่าน element หรือผ่านหน้าตาที่ดูหวือหวา งานเราอาจจะไม่ได้มีเรื่องราวเยอะแต่พยายามเน้นพื้นฐาน อย่างน้อยต้องตอบโจทย์ในเรื่องการใช้งาน เขาสามารถใช้ชีวิตในพื้นที่ของเขาได้ โดยอาจมีเรื่องราวเกิดขึ้นในนั้น เขาแฮปปี้อยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ หลังจากที่เราออกแบบและใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข

ภาพผลงาน : WOS Architects
https://wosarchitects.com/


You Might Also Like...