Made Here On Earth
เริ่มต้นลงมือทำในสิ่งที่ชอบและตัวเองถนัด ก่อร่างความฝันจนเกิดเป็นพื้นที่สำหรับคนที่รักงานคราฟต์
“ก่อนที่จะมาทำ Made Here On Earth ผมเคยทำงานบริษัทออกแบบ เคยเปิดร้านกาแฟชื่อ “สติ” อยู่ชั้นล่างของชามเริญสตูดิโอ ผมทำงาน 7 วัน มาประมาณ 5 ปีแล้ว ยังไม่มีวันหยุดเลย มันเหนื่อยนะแต่เหนื่อยแค่ร่างกาย นอนพักตื่นมาก็หาย คิดว่ายังมีแรงก็ทำไป ทำในสิ่งที่เราชอบและสามารถทำได้ให้ดีที่สุด”
คุณเอฟ-วิทิต ชัยสัมฤทธิ์โชค
ความตั้งใจแรก
ผมเรียนจบมาทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เคยคุยกับเพื่อนเมื่อหลายปีมาแล้วเกี่ยวกับเรื่องเครื่องมือเวลาทำงาน จะเจอปัญหาคล้ายกันตั้งแต่ตอนเรียนจะมีเวิร์กชอปต่างๆ แล้วเราทำงานออกแบบก็อยากทำนู่นทำนี่ แต่มีแค่เครื่องมือพื้นฐานอยู่ที่บ้าน เวลาจะทำงานสักชิ้นต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งเรามีเวลาน้อยแค่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะไปจ้างช่างทำบางทีร้านปิด ช่างไม่ว่าง หรือบางครั้งเขาจะปฏิเสธว่าทำไม่ได้ พอเจอแบบนี้บ่อยๆ ก็เริ่มไม่อยากทำงาน
เลยคิดกันเล่นๆ ว่าคงดีนะ ถ้ามีพื้นที่ที่ให้เราเข้าไปยืมเครื่องมือทำงานได้
และส่วนใหญ่คนที่ทำงานด้านนี้จะมีทักษะพื้นฐานกันอยู่แล้ว คือถ้าเราอยากจะทำของชิ้นเล็กๆ แต่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรเองก็ไม่ไหว
ตอนที่ยังทำงานในบริษัทออกแบบอยู่ วันเสาร์-อาทิตย์ผมทำร้านกาแฟเล็กๆ ในสตูดิโอเซรามิกของเพื่อนที่ชามเริญสตูดิโอ ตอนที่เริ่มแรกๆ ผมก็ไม่เคยทำมาก่อน แค่ชงกินเองอยู่บ้าน ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากนำเสนอผลงานของเรา
ผมมองว่าการทำกาแฟก็เหมือนงานออกแบบที่คนเราเสพในแง่ของของกิน พอทำไปเรื่อยๆ เราเห็นบรรยากาศในสตูดิโอเลยซึมซับความรู้สึกตรงนั้นมามีคนมาเวิร์กชอป กินกาแฟ เลยรู้ว่ายังมีคนสนใจพื้นที่แบบนี้อยู่นะ
หลังจากทำได้ประมาณ 2-3 ปี จึงมาคุยกับเพื่อนอีกทีว่า มาเริ่มทำเรื่องที่เราเคยคุยกันเล่นๆ กันไว้มั้ย พื้นที่ที่ให้คนมายืมเครื่องมือเวลาทำงานออกแบบ ทำขึ้นมาจริงๆ ให้เป็นรูปเป็นร่าง ทั้งหมดน่าจะเกิดจากความชอบและความถนัดของตัวผม จนเกิดเป็น Made Here On Earth ขึ้นมา
Made Here On Earth
“มันเริ่มจากความชอบสองอย่าง คืองานออกแบบและกาแฟ เลยเอามารวมกันไว้ที่นี่ให้เหมือนเป็นคอมมูนิตีสำหรับคนที่เข้ามาเวิร์กชอป ยืมเครื่องมือโดยเน้นงานไม้เป็นหลัก มีคนคอยดูแลให้คำปรึกษา เหมือนเรามานั่งทำงานเรื่อยๆ พอรู้สึกเบื่อก็เดินมาดื่มกาแฟ ทานอาหารว่าง เป็นเหมือนมุมพักผ่อนสบายๆ ออกแบบให้มีพื้นที่เวิร์กชอป ร้าน YO-Frozen Yogurt และร้านกาแฟ SA-TI ด้วย”
สำหรับเวิร์กชอปจะเป็นส่วนที่ให้คนเข้ามายืมเครื่องมือทำงาน ตรงนี้จะช่วยลดเวลาในการทำงานออกแบบ อย่างปกติเรามีเลื่อยที่บ้าน กว่าจะเลื่อยไม้เสร็จแต่ละท่อนใช้เวลานาน แล้วก็เหนื่อยด้วย แต่ที่นี่เราอยากให้ไอเดียที่แต่ละคนอยากทำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะมีเครื่องมือช่วย มีคนคอยดูแลถ้าทำไม่ได้ก็ถามได้ว่าทำยังไง จะดีไซน์โต๊ะ เก้าอี้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ทีนี้พอเขาสอนเราแล้วว่าเครื่องมือแต่ละชิ้นใช้งานยังไง พอทำได้ทุกอย่างก็ง่ายเลย เหมือนมองย้อนกลับไปตอนที่ผมเป็นนักศึกษาเวลาอยากทำงานที่ตัวเองคิดขึ้นมาสักชิ้นก็ไม่รู้จะไปใช้พื้นที่ตรงไหน หรือคนที่เป็นสตาร์ทอัพกำลังเริ่มต้นธุรกิจตัวเองเขาอาจจะไม่มีเงินลงทุนมาก บางครั้งไปจ้างคนอื่นทำ นอกจากต้นทุนสูงแล้ว บางทีคนที่รับทำอาจจะไม่ได้ใส่ใจเวลามีปัญหาที่หน้างานเขาก็ไม่บอกเรา
การที่เราได้ทำงานที่เราคิด เราออกแบบ ลงมือทำเอง ผมมองว่ามันดีกว่านะ และเวิร์กชอปก็ไม่ได้มีแค่งานไม้อย่างเดียว แต่ยังมีงานหนัง เหล็ก หรืองานชุบโลหะด้วย อยากให้มองว่าเป็นพื้นที่ที่เราได้เริ่มต้นทำอะไรด้วยตัวเองมากกว่า”
อยากให้ทุกคนมีทักษะ
“จริงๆ ไม่อยากให้มองว่าต้องเป็นคนที่มีพื้นฐานอยู่แล้วถึงมาใช้เครื่องได้ คนที่ไม่มีทักษะเลยแต่อยากมาเวิร์กชอปก็ได้ เป็นงานอดิเรกทำสนุกๆ หรือจะทำงานจริงจังก็สามารถมาได้ ซึ่งความตั้งใจจริงๆ ผมอยากให้ทุกคนมีทักษะเชิงช่างติดตัว เหมือนเป็นวิถีของการพึ่งพาตัวเองอย่างหนึ่ง เหมือนกับที่เราต้องหุงข้าวเป็นทำกับข้าวเป็นนะ ทักษะช่างก็เหมือนกัน อย่างคนสมัยก่อนที่เขาไม่มีเครื่องจักร เขาก็จะมีวิธีการสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่นหรือไม่ต้องใช้เงิน”
นอกจากนี้คุณเอฟยังอธิบายให้เราเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า “สมมติผมมีเงินจ้างช่างแต่ถ้าเขาบอกไม่ทำ ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้ การมีทักษะติดตัวจะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้ และผมมองว่าสิ่งนี้สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย ไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องทำเก่งมากมาย แค่ลองทำดูก่อน พอลงมือทำนั่นคือเราพึ่งพาตัวเองได้แล้วเรียบร้อย สิ่งนี้คือความตั้งใจหลักที่เราอยากสอดแทรกเข้าไปให้กับทุกคนที่มาเวิร์กชอปด้วย ทีนี้พอเรามีพื้นฐานแล้ว อยากทำอะไรก็ทำได้ จะต่อเก้าอี้ ดีไซน์โต๊ะ ทำชั้นวางของ หรือจะต่อยอดไปจนทำเป็นอาชีพก็ได้”
อ่านเพิ่มเติม — Made Here On Earth พื้นที่ในฝันของคนรักงานคราฟต์ ซอยอารีย์สัมพันธ์
เนื้อหาจากคอลัมน์ Professional ฉบับที่ 128
เรื่อง: หนูเสงี่ยม
ภาพ: พี่ต้น. พี่แหลม
อ่านเพิ่มเติม — รวม 4 Coworking Space & Workshop Studioโดนใจไลฟ์สไตล์ คนรักงานคราฟต์