เอกลักษณ์ของเฟอร์นิเจอร์สไตล์อินดัสเตรียลไม่ได้อยู่ที่ดีไซน์ซึ่งเน้นความเรียบง่ายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ด้วยเสน่ห์ที่ดูแตกต่างจากชิ้นงานประเภทอื่นๆ ความน่าสนใจของรูปแบบงานประเภทนี้จึงอยู่ที่การโชว์ให้เห็นความสวยงามของวัสดุที่นำมาใช้มากกว่า
Idealize Art & Decoration เป็นเฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทยที่ดึงเอาความโดดเด่นของไม้ และเหล็กขึ้นสนิมมาประกอบกันขึ้นจนเกิดเป็นงานดีไซน์เฉพาะตัวที่สะท้อนตัวตนของนักออกแบบได้อย่างชัดเจน โดยมีคุณสุทธิ ปโยธรสิริ ซึ่งควบตำแหน่งเป็นทั้งเจ้าของแบรนด์และดีไซเนอร์ เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ฟังว่า “ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วก่อนหน้านี้ ผมเป็นผู้ผลิตมาก่อน คือทำงานภายใต้ความต้องการของลูกค้า แต่ระยะหลังหันมาทำเฟอร์นิเจอร์ในแบบที่ผมชอบก็เพราะว่าคนอื่นเริ่มก๊อปปี้งานเราเยอะขึ้น พอเห็นแบบนั้นผมเลยเปลี่ยนสไตล์ทันที เชื่อไหมว่าจากเมื่อก่อนเคยทำเฟอร์นิเจอร์ที่มีความประณีตมาก แต่ตอนนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เป็นงานดิบๆ สไตล์อินดัสเตรียล”
ถึงแม้ภาพของเฟอร์นิเจอร์สองสไตล์ที่เขาทำนั้นจะดูขัดแย้งกันอยู่บ้าง แต่คอนเซ็ปต์ภายใต้แบรนด์ Idealize Art & Decoration ที่ดูเท่ๆ เผยให้เห็นความสวยงามของวัสดุ โชว์ผิวสัมผัสของเนื้อไม้ หรือแม้แต่เหล็กขึ้นสนิมที่ผ่านกาลเวลามาหลายปี ในความดิบนั้นยังคงแฝงไว้ด้วยความประณีต เพราะนอกจากจะเน้นเรื่องดีไซน์แล้วก็ต้องใช้งานได้จริงด้วย เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ต้องสัมผัสกับสรีระร่างกาย นักออกแบบจึงให้ความสำคัญระหว่างผู้ใช้และฟังก์ชันเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องให้ความพิถีพิถันเป็นพิเศษ
ส่วนวัสดุที่นำมาใช้เป็นไม้เก่าทั้งหมด เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องไม้โก่งหรือบิดตัว มีทั้งไม้ผนัง ไม้พื้น ไม้หน้าสาม สามารถหาได้ทั่วไป เลือกโทนสีเข้มที่ดูเป็นธรรมชาติจากนั้นนำมาขัดเสี้ยนด้วยมือเพราะต้องการให้ได้ผิวสัมผัสของไม้นำมาประกอบเข้ากับงานเหล็กขึ้นสนิมซึ่งก็เป็นสนิมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เกิดเป็นชิ้นงานดีไซน์ใหม่ๆ ที่ดูเท่และแปลกตาไม่น้อย อย่างเช่น ชั้น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ เป็นต้น
เสน่ห์ของเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ Idealize Art & Decoration จึงมีความเรียบ เท่ เน้นรูปฟอร์มง่ายๆ เห็นแล้วเข้าใจได้ทันที ตรงตามคอนเซ็ปต์ที่นักออกแบบต้องการโชว์ให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุที่มีดีไซน์เฉพาะตัวผสานกับเทคนิคการเชื่อมเหล็กที่หยิบจากงานสถาปัตย์มาใส่ไว้ในเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างลงตัว
Facebook : idldecor
โทร. 0 5200 0414
บทความจากคอลัมน์ “Interior Gallery” นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 124 ประจำเดือนธันวาคม 2559