ชวนมาทำความรู้จักครัวโบราณ “แม่เตาไฟ”คนยุคใหม่อาจยังไม่รู้จักว่าแม่เตาไฟคืออะไร ถ้าอย่างนั้นเราไปทำความรู้จักพร้อมๆ กันเลยดีกว่าบ้านในสมัยก่อนสร้างจากไม้เป็นหลัก การวางพื้นที่ครัวถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะเป็นการวางผังของบ้านหรือว่าการจัดวางเตาไฟอย่างไรเพื่อที่จะป้องกันการเกิดไฟไหม้ได้ นั่นก็คือที่มาของภูมิปัญญาไทยที่มีการทำ “แม่เตาไฟ” ขึ้นมาตัวผู้เขียนเองได้มารู้จักคำว่าแม่เตาไฟก็จากพ่อของผู้เขียนตอนที่ช่วยอธิบายให้พี่สาวช่วงที่กำลังรวบรวมข้อมูลตอนทำวิทยานิพนท์ เรื่องรูปแบบครัวไทยในสมัยโบราณ เพราะพ่อเกิดทันแถมยังได้ใช้แม่เตาไฟด้วย
พ่ออธิบายให้เข้าใจแบบง่ายๆว่า แม่เตาไฟก็คือส่วนฐานสำหรับวางเตา(แบบที่ใช้ถ่านหรือ ฟืน) มีลักษณะเป็นกรอบไม้ขนาดใหญ่ด้านในใส่ดินเหนียวไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกไฟ หรือ เศษถ่านที่ลอยออกจากเตาตกลงไปบนพื้นบ้านจนอาจจะเกิดไฟไหม้ได้ ซึ่งบ้านพ่อที่อยุธยาก็ใช้ (ผู้เขียนไปตอนเด็กมากเลยจำไม่ได้) และวิธีการทำแม่เตาไฟก็ไม่ยุ่งยากใครๆก็ทำได้มีอุปกรณ์ดังนี้
1. ไม้เนื้อแข็งสำหรับทำกรอบ
2. ดินเหนียว
3. ขี้เถ้า
★ วิธีทำ ★
• นำไม้เนื้อแข็งมาประกอบเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยม (จัตตุรัส หรือ ผืนผ้า)ขนาดตามต้องการแลำจำนวนเตาแล้วใช้ไม้ที่เหลือทำกรอบสูงประมาณ 3 -4 นิ้วสำหรับใส่ดิน โดยจะทำแบบมีขาเหมือนโต๊ะไม้เตี้ยๆก็ได้ แล้วนำดินเหนียวผสมกับน้ำเล็กน้อยใส่ลงไปให้เต็ม โดยพยายามเกลี่ยดินให้เรียบเสมอกันเวลาวางเตาจะได้ไม่เอียง แล้วโรยทับด้วยขี้เถ้าอีกชั้น สำหรับสาเหตุที่ใช้ขี้เถ้านั้น พ่ออธิบายว่าหลังจากที่ใช้ไปนานๆความร้อนจากเตาก็ดี สภาพแวดล้อมก็ดีจะทำให้ดินเหนียวแห้งแตกเป็นร่องแบบพื้นดินหน้าแล้ง จนอาจจลึกถึงตัวกรอบไม้ของแม่เตาไฟ ซึ่งร่องเล็กๆเหล่านั้นถ้าเศษไม้ที่ยังติดไฟตกลงไปก็มีความเสี่ยงทำให้ตัวกรอบไม้ติดไฟได้ การโรยด้วยขี้เถ้าจนทั่วจะช่วยอุดร่องเล็กๆเหล่านั้นจนเต็ม
• พ่อยังได้เสริมอีกว่าสำหรับตำแหน่งในการวางเตานั้นก็สำคัญ ที่บ้านของพ่อจะวางให้ห่างจากกรอบของแม่เตาไฟอย่างน้อย 1 ฟุต เพื่อให้มีที่สำหรับปลายฟืนด้านนอกเตา เมื่อไฟกินฟืนในเตาจนหมดเราก็สามารถดันฟืน (ซนฟืน) เข้าไปในเตา
• สำหรับไม้ที่นิยมนำมาใช้ทำฟืนในสมัยพ่อนั้นเป็นไม้สะแกเพราะติดไฟง่ายและไม้ชนิดนี้มียางน้อยกังนั้นควันก็จะน้อยตามไปด้วย และเวลาตัดฟืนนั้นจะตัดให้ยาวประมาณ 50 เซ็นติเมตร
ช่างเป็นครัวโบราณที่ดูคลาสสิกจริงๆ เลยว่าไหม… ☻
ภาพ : เพชรลดา ประกัตฐโกมล