Lifestyle & Cooking People

ออกแบบบ้านให้เหมาะสมปลอดภัย ดีต่อผู้สูงอายุ และสมาชิกทุกคนในบ้าน


เราจะพาทุกคนไปพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์จากภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยให้มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับผู้สูงอายุ อีกทั้งยังเป็น Universal Design ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ เด็ก หรือคนทุกเพศทุกวัยก็สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย คล่องตัว และปลอดภัย รับรองว่าได้สาระความรู้นำไปปรับใช้กับบ้านของตัวเองแน่นอนค่ะ

14

อาจารย์ไตรรัตน์เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้สนใจและเริ่มศึกษาวิจัยเรื่องการออกแบบบ้านที่เหมาะกับผู้สูงอายุให้ฟังอย่างเป็นกันเองว่า “ผมศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับผู้สูงอายุและผู้พิการมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ส่วนตัวเกิดจากคุณพ่อของผมมีอายุมากขึ้น เข่าไม่ค่อยดี จึงอยากให้ท่านย้ายลงมานอนชั้นล่างของบ้าน แต่คุณพ่อไม่ยอมย้าย ท่านบอกว่าพื้นที่ไม่เหมาะสม ตอนนั้นผมเลยไปคุยกับพี่ชายว่าถ้าอย่างนั้นเราซื้อที่แล้วสร้างบ้านอีกหลังอยู่ใกล้ๆ กัน แต่คุณพ่อก็ไม่ยอมย้ายไปอีก จนวันหนึ่งคุณพ่อล้มเลยต้องบังคับให้ท่านย้ายลงมานอนด้านล่าง จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่องการออกแบบห้องนอนแบบไหนเหมาะสมกับผู้สูงอายุ จึงเริ่มต้นการศึกษาวิจัยตั้งแต่ตอนนั้นเรื่อยมา”

เมื่อสังคมไทยเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ โดยในปี 2561 มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุกว่า 16% ซึ่งแน่นอนว่าสภาพร่างกายและความจำของผู้สูงอายุนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยโดยเฉพาะในบ้านนั้น ควรเริ่มจากการออกแบบพื้นที่ภายในบ้านให้เหมาะสมนั่นเอง ซึ่งเรียกว่า Universal Design และจากเดิมที่มีการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดเป็น UDC : Universal Design Center ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน โดยทาง สสส. ได้สนับสนุนคณะสถาปัตยกรรมของ 5 มหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดเป็นโครงการศูนย์ออกแบบขึ้นมา รวมไปถึง Chula.UDC ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นต้นแบบนี้ด้วยเช่นกัน

“เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะมีความเสื่อมถอยของร่างกาย เช่น ระยะของการเอื้อมที่ทำได้น้อยลง การก้มที่ไม่ถนัดเหมือนเดิม ระยะการนั่ง การลุกที่เกี่ยวข้องกับข้อเข่า ผมถือเป็นคนแรกที่เริ่มต้นวัดร่างกายของผู้สูงอายุไทยว่าค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมกับการออกแบบนั้น ควรมีความกว้าง ความยาวประมาณไหน เนื่องจากมาตรฐานส่วนใหญ่จะอ้างอิงจากต่างประเทศมากกว่า และนอกจากเรื่องข้อจำกัดของร่างกายแล้วยังรวมไปถึงภาวะสมองเสื่อมที่พบในผู้สูงอายุ ตรงนี้เองทำให้การออกแบบนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย และช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ สอดคล้องกับข้อจำกัดทางร่างกายและจิตใจด้วย” อาจารย์ไตรรัตน์อธิบาย พร้อมเชิญชวนให้เราเดินชมห้องตัวอย่างภายใน Chula.UDC ไปด้วย

6
เตียงนอนควรสูงจากพื้นประมาณ 45 ซม. รอบเตียงมีพื้นที่ว่าง 3 ด้าน ให้สามารถลุกนั่งได้สะดวก 

เริ่มต้นกันที่ส่วนของการออกแบบห้องนอน “เตียงนอนถือเป็นอีกจุดที่ทำให้ผู้สูงอายุล้มได้บ่อยมาก ควรเลือกเตียงนอนแบบเตียงเดี่ยวที่ไม่นุ่มจนเกินไป มีความสูงประมาณ 45 เซนติเมตร ระยะรอบเตียงควรมีที่ว่างประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถลุก-นั่งสะดวกได้ทั้ง 3 ด้าน นั่งแล้วขาไม่ลอยจากพื้น เลือกใช้กระเบื้องหรือพื้นที่มีโทนสีสว่าง ไม่ลื่น และเป็นวัสดุที่ยึดเท้านุ่มสบาย ไม่มีสิ่งกีดขวางต่างๆ การติดกระจกไว้ในห้องยังช่วยลดอัตราความจำเสื่อมของผู้สูงอายุได้ด้วย ให้ผู้สูงอายุสามารถมองเห็นตัวเองและแต่งตัวเองได้ก็จะช่วยฟื้นฟูความจำ จึงควรเลือกตู้เสื้อผ้าแบบหน้าบานเลื่อน ติดราวเสื้อผ้าให้เตี้ยลง ที่สำคัญคือต้องมีแสงสว่างจากภายนอกหรือติดไฟให้เพียงพอต่อการมองเห็นที่ชัดเจน

3
พื้นที่ในห้องน้ำควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 เมตร ให้วีลแชร์สามารถหมุนได้โดยรอบ

1
บริเวณชักโครกควรเลือกใช้ชนิดนั่งราบ และติดราวจับเป็นรูปตัว L สูงจากพื้นประมาณ 70 ซม.
เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถลุกดึงตัวขึ้นมาได้ง่าย ควรมีระยะยื่นออกมาด้านหน้าชักโครก 25-30 ซม.

“ถัดไปในส่วนของห้องน้ำ พื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากการลื่นล้ม ควรเลือกประตูห้องน้ำแบบบานเลื่อนที่เปิดได้ 90 เซนติเมตร คล่องตัวและมีมือจับยาวที่เปิด-ปิดง่าย สามารถเปิดเข้ามาช่วยเหลือจากภายนอกได้ มีพื้นเรียบเสมอกัน ความกว้างภายในห้องน้ำควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 เมตร เพื่อให้วีลแชร์สามารถหมุนได้โดยรอบ ทุกสุขภัณฑ์ควรมีราวจับที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 เซนติเมตร เพื่อให้จับถนัดมือและพยุงตัวลุกได้สะดวก ด้านล่างอ่างล้างหน้าอย่าลืมเว้นระยะความสูงจากพื้นประมาณ 80 เซนติเมตร ให้วีลแชร์สามารถสอดเข้าไปได้ แยกพื้นที่ส่วนเปียก-ส่วนแห้ง โดยพื้นที่อาบน้ำแนะนำให้ใช้เก้าอี้ในการนั่งอาบน้ำ ติดตั้งฝักบัวที่ปรับระดับความสูง-ความเตี้ยได้ เพื่อให้คนทั่วไปที่ยืนอาบน้ำใช้งานได้สะดวกเช่นกัน” อาจารย์ไตรรัตน์อธิบายถึงการออกแบบส่วนต่างๆ ในห้องนอนและห้องน้ำ

7
อ่างล้างหน้าควรเป็นแบบแขวนหรือแบบครึ่งเคาน์เตอร์ สูงจากพื้นประมาณ 80 ซม. ด้านล่างโล่งและมีราวจับด้านข้าง

15
ผู้สูงอายุควรมีเก้าอี้นั่งอาบน้ำ ป้องกันการลื่นล้ม เลือกใช้ฝักบัวที่สามารถปรับระดับได้เพื่อความสะดวกในการใช้งานของสมาชิกทุกคน
มีราวจับ และติดสัญญาเตือนที่มีเชือกดึงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

อย่างที่เขาบอกกันว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดได้ทุกที่ แต่ถ้าเราออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยตั้งแต่แรกก็จะช่วยลดอุบัติเหตุต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ “ที่เราบอกไปตั้งแต่ต้นว่าเมื่ออายุมากขึ้นระยะการเอื้อมของเราจะทำได้น้อยลง มีผู้สูงอายุบางคนพอเอื้อมไม่ถึงก็ปีนขึ้นไปหยิบของบนตู้หรือชั้นต่างๆ ในครัวแล้วพลัดตกลงมา การเลือกติดตู้ให้เตี้ยลง หรือเลือกใช้ชั้นที่ดึงออกมาได้จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้งานได้ง่ายขึ้น เคาน์เตอร์ครัวควรมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 80 เซนติเมตร มีช่องว่างด้านล่างประมาณ 70 เซนติเมตร ให้สามารถใช้วีลแชร์แล้วสอดขาเข้าไปได้ ความลึกของเคาน์เตอร์ไม่ควรเกิน 50 เซนติเมตร ให้เอื้อมถึงได้ง่ายเวลาเปิดก๊อกน้ำหรือเปิด-ปิดปลั๊กไฟ และเพื่อความปลอดภัยมากขึ้นควรมีสวิตช์สำหรับเปิด-ปิดสัญญาณไฟฟ้าก่อนที่จะใช้งานสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อป้องกันไฟรั่วหรือไฟดูด ซึ่งตรงนี้ก็ดีกับบ้านที่มีเด็กๆ ด้วยเช่นกัน”

2
มุมตัวอย่างเคาน์เตอร์ครัว ออกแบบให้สูงจากพื้น 80 ซม. ด้านล่างเพื่อให้วีลแช์เข้าได้ หลีกเลี่ยงการติดตู้ลอย ให้เลือกติดเป็นชั้นวางของแทน ในระยะที่ผู้สูงอายุเอื้อมถึงเพื่อป้องกันการปีนหยิบของแล้วพลัดตกลงมา

8
ดีไซน์ของใช้ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุใช้งานได้ง่ายขึ้น ควรมีน้ำหนักเบา ด้ามจับใหญ่ และสีสันสดใส

“อุปกรณ์ในห้องครัวมีหลักง่ายๆ ในการเลือกอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ น้ำหนักเบา มือจับใหญ่ถนัดมือ และมีสีสันสดใสมองเห็นง่าย เตาควรเลือกใช้เป็นเตาไฟฟ้าแบบอินดักชัน มีความปลอดภัยมากกว่าเตาแก๊ส ซึ่งการที่ผู้สูงอายุยังสามารถทำอาหารได้เองอยู่นั้น แสดงว่าท่านยังทานอาหารได้อร่อยอยู่ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเริ่มเข้าสู่ภาวะสูงวัยช่วงปลายหรือเริ่มมีอาการสมองเสื่อม ไม่ควรให้ทำอาหารทานเองเพราะจะเกิดอันตรายได้ อย่างการตักข้าว พออายุมากขึ้นอาจจะทำได้ไม่ถนัด การเลือกช้อน-ส้อมที่จับถนัดมือ ตะเกียบที่ล็อกปลายช่วยให้คีบง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้และทำกิจวัตรด้วยตัวเองในบ้านได้มากขึ้น หลายคนคิดว่าการช่วยทำทุกอย่างอาจจะง่ายกว่า ปลอดภัยกว่า แต่นั่นจะทำให้ภาวะร่างกายหรือความจำของผู้สูงอายุเสื่อมไวกว่าการที่ให้เขาทำอะไรด้วยตัวเอง

5
อาจารย์ไตรรัตน์สาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ โดยอาจารย์บอกกับเราว่า การที่ผู้สูงอายุยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จะทำให้อาการสมองเสื่อมเกิดช้าลงได้อีกด้วย

“ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบพื้นที่ในงานหรือการเลือกอุปกรณ์ต่างๆ ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้สะดวก แต่ทุกคนก็ใช้งานได้ง่ายด้วยไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ เด็ก หรือคนทุกเพศทุกวัย ด้วยหลักการของการออกแบบที่เป็น Universal Design บางคนอาจจะคิดว่าเป็นบ้านของผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วทุกคนใช้ร่วมกันได้ จะดีกว่าหรือเปล่าถ้าเราวางแผนการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตที่ปลอดภัยและเหมาะสม ถ้าใครอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือคำแนะนำสามารถมาปรึกษาได้ฟรีที่ Chula.UDC ไม่ว่าจะต้องการปรับปรุงบ้าน สร้างบ้านใหม่ ทั้งประชาชนทั่วไปและภาคเอกชนที่สนในการพัฒนาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยหรืออาคารต่างๆ” อาจารย์ไตรรัตน์กล่าวทิ้งท้าย

17
ที่เปิดขวดและภาชนะต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีแรงเปิด รวมไปถึงเด็กๆ ก็สามารถใช้งานได้ด้วย

อ่านบทสัมภาษณ์จบแล้ว เราต้องกลับไปสำรวจพื้นที่ในบ้านของตัวเองแล้วล่ะ ว่าเหมาะสมและควรปรับปรุงอะไรเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะลูกๆ ที่มีคุณพ่อคุณแม่เริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้ว การได้พูดคุยกับอาจารย์ไตรรัตน์ทำให้เราเข้าใจรายละเอียดต่างๆ มากขึ้น ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์สำหรับผู้สูงอายุ แต่สมาชิกทุกคนในบ้านก็สามารถใช้งานและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และช่วยลดอุบัติเหตุต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในบ้านได้อีกด้วย

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Chula.UDC)
ทุกวันจันทร์-ศุกร์ 8.30-17.00 น. โทร.08 4554 9301 Facebook/ universaldesigncenter


You Might Also Like...