ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนเราที่เปลี่ยนไป บ้านกลายเป็นสถานที่ที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากที่สุด เป็นทั้งที่พักผ่อนกายใจจากความเหนื่อยล้า และยังเป็นสเปซสำหรับทำงานของใครหลายคนอีกด้วย Kitchen Series ฉบับนี้เราจะพาทุกคนออกเดินทางไป LIFE SHOP Nakhon Pathom ชอปขายของที่ระลึกและบ้านของคุณวิ-วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์ ซึ่งอยู่ในโครงการ The Bound House กับการออกแบบบ้านที่เป็นมากกว่าบ้าน
The Bound House เป็นโครงการหมู่บ้านขนาดเล็กที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น น่าอยู่ และเป็นส่วนตัว ประกอบไปด้วยบ้านทาวน์โฮม 20 ยูนิต และอาคารพาณิชย์ 8 ยูนิต “เดอะ บาวด์เฮาส์เริ่มต้นจากคุณบอน-วีรภัฎ ทำงานเป็นสถาปนิกและเปิดสตูดิโอโตฟูมาประมาณ 10 ปี บวกกับคุณบอนเรียนจบมาทางด้านสถาปัตยกรรมผังเมือง จากประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งตอนเรียนความฝันของสถาปนิกส่วนใหญ่ก็คืออยากมีโครงการเป็นของตัวเอง หลังจากทำโปรเจ็กต์ต่างๆ มามากมายเลยคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้ว โครงการ The Bound House จึงเกิดขึ้น” คุณวิเท้าความถึงจุดเริ่มต้นให้เราฟัง
ดีไซน์สวย อยู่สบาย กับการออกแบบที่เน้นเรื่อง Passive Design เป็นหลัก “เราอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ คุณบอนออกแบบโดยยึดหลัก Passive Design คำนึงถึงเรื่องการวางผังอาคาร ทิศทางของแสงและลม นอกจากดีไซน์ของบ้านต้องสวยแล้วเรายังคิดถึงการใช้ชีวิตภายในบ้านด้วย อยากให้อยู่สบาย โปร่งโล่ง อากาศสามารถไหลเวียนได้ดี อย่างใต้หลังคาบ้านจะออกแบบให้มีช่องระบายอากาศให้ลมพัดผ่านได้เพื่อช่วยระบายความร้อน ตัวบ้านจะหันหน้าไปทางทิศใต้กับทิศเหนือเนื่องจากเมืองไทยหน้าร้อนลมจะพัดมาทางทิศใต้ ส่วนหน้าหนาวลมจะมาทางทิศเหนือ หน้าต่างของบ้านก็จะออกแบบให้สามารถเปิดรับลมและแสงสว่างจากธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ อยู่ในบ้านได้ทั้งวันโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์หรือเปิดไฟตอนกลางวัน ส่วนวัสดุที่ใช้ก็จะให้ความรู้สึกถึงความเป็นบ้าน เลือกโทนบ้านสีขาวมองแล้วสบายตา พื้นไม้สีอ่อนที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นๆ”
มาพร้อมคอนเซ็ปต์ Creative Village บ้านที่เป็นมากกว่าบ้าน “เราตั้งใจอยากให้เดอะ บาวด์เฮาส์เป็นเหมือน Creative Village ตั้งแต่การออกแบบเพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ทุกวันนี้ใช้พื้นที่ภายในบ้านเป็นทั้งที่ทำงาน สตูดิโอ หรือทำธุรกิจส่วนตัว นอกจากส่วนที่เป็นบ้านทาวน์โฮมเรายังมีอาคารพาณิชย์อีก 8 ยูนิต ซึ่งก่อนหน้านี้คุณบอนเองไม่เคยทำโปรเจ็กต์ที่เป็นอาคารพาณิชย์มาก่อน พอต้องมาทำโครงการของตัวเอง เราเลยเริ่มต้นจากโจทย์ว่าจะออกแบบอย่างไรให้รู้สึกว่าขนาดพวกเราเองยังอยากอยู่
ด้วยภาพอาคารพาณิชย์ทั่วไปคนจะนึกถึงความเป็นตึกแถว ชั้นบนใช้งานอะไรไม่ค่อยได้ คุณบอนจึงออกแบบแปลนและฟังก์ชันให้ใช้งานได้เต็มพื้นที่ ชั้นบนกั้นเป็นห้องให้สามารถอยู่อาศัยได้เหมือนบ้านจริงๆ ด้านหน้ามีระเบียงและปลูกต้นไม้ได้ เวลามองออกไปแล้วเห็นสีเขียวของต้นไม้จะช่วยสร้างความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติให้กับผู้อยู่อาศัย และถึงเป็นอาคารพาณิชย์เราก็ยังให้ความสำคัญเรื่องการระบายอากาศที่ดีทำให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อน และมีช่องแสงเพียงพอ”
หลังจากพูดคุยกับคุณวิอยู่บริเวณชั้นลอยได้สักพัก คุณวิก็ชวนเราขึ้นไปสำรวจพื้นที่ชั้น 2 และชั้น 3 ระหว่างนี้ก็เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า “Life Shop เริ่มต้นจากเราทำบ้านตัวอย่างที่เป็นทาวน์โฮมเสร็จแล้ว เลยมีไอเดียว่าอยากทำส่วนอาคารพาณิชย์ให้เป็นเหมือนบ้านตัวอย่างด้วย บวกกับวิเป็นคนชอบออกแบบ ประดิษฐ์นู่นนี่นั่นอยู่แล้ว คุณบอนเลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นเปิดเป็นร้านจริงๆ เลยดีไหม ลูกบ้านในหมู่บ้านจะได้มีพื้นที่ไว้มานั่งเล่นจิบเครื่องดื่มง่ายๆ หรือนั่งทานไอศกรีมสบายๆ ด้วย คอนเซ็ปต์คือเป็นซิลเวอร์เนียชอปที่มี Selected Item เป็นสินค้าทำมือ งานดีไซน์ งานแฮนด์คราฟต์ เหมือนเป็นของที่ระลึกเวลาคนมาเที่ยวจังหวัดนครปฐม
“ในส่วนของฟังก์ชันตอนแรกเราตั้งใจว่าด้านล่างจะทำเป็นร้าน ส่วนด้านบนจะทำเป็น Airbnb เลยออกแบบกั้นห้องเล็กๆ ไว้ด้านหน้าสามารถเปิด-ปิดประตูได้เวลาที่เราไม่ได้เปิดร้าน แต่พอมีสถานการณ์โควิด-19 เลยคิดว่ามาอยู่เองน่าจะดีกว่า จากเดิมที่ต้องเดินทางไป-กลับกรุงเทพฯ ตลอด ได้เปลี่ยนบรรยากาศบ้างคงดีเหมือนกัน หลังจากตัดสินใจแล้วพื้นที่ชั้น 1 เลยออกแบบเป็นส่วนของชอป มีเคาน์เตอร์บาร์อยู่ตรงกลางกับมุมนั่งเล่นสำหรับลูกค้า และมีสวนหย่อมเล็กๆ ด้านหลัง
ถัดมาในส่วนของชั้นลอยจะเป็น Working Space ของเราไว้นั่งทำงาน ประชุม หรือบางทีก็เป็นสเปซให้น้องมี (ลูกชายคนโต) กับน้องเวลา (ลูกสาวคนเล็ก) นั่งเล่นนั่งเรียนออนไลน์ได้ เพื่อแยกสัดส่วนจากด้านล่าง ให้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ส่วนพื้นที่ชั้น 2 จะเป็นลิฟวิงสเปซที่เปิดโล่ง มีครัว มุมทานข้าว และนั่งเล่น สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ส่วนชั้น 3 จะแบ่งเป็น 3 ห้องนอน”
และก่อนจะเดินขึ้นไปสำรวจด้านบนชั้น 3 แน่นอนว่าเราต้องขอแวะเข้าครัวของคุณวิสักเล็กน้อย “เรากำหนดฟังก์ชันให้ครัวอยู่ชั้น 2 เพราะต้องการแยกสเปซอยู่อาศัยกับส่วนที่เป็นร้านให้ชัดเจน ออกแบบเป็นครัวแพนทรีที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก มีเตาอบ ไมโครเวฟ และเตาไฟฟ้าไว้ทำอาหารง่ายๆ ส่วนฟังก์ชันใช้งานตอนออกแบบเราจะบอกทางอินทีเรียว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน ตำแหน่งของฮูด ซิงก์ เครื่องซักผ้า อะไรควรหันทางไหนเพื่อให้เราใช้งานได้สะดวกคล่องตัว”
สำหรับการตกแต่งคุณวิเพิ่มเติมความสดชื่นและมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่ภายในบ้านด้วยต้นไม้ ทั้งยังเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์หลากดีไซน์หลายโทนสี ให้ความรู้สึกแตกต่างทว่าลงตัว “พอเป็น Life Shop ทำให้เรานึกถึงคำว่าชีวิต เลยอยากให้มีต้นไม้อยู่ในบ้านด้วย และคิดว่าสีเขียวน่าจะช่วยสร้างความรู้สึกสดชื่นดูเป็นธรรมชาติ เราปลูกต้นสารภีไว้ตรงกลาง เรียกได้ว่าเป็นมุมที่หลายคนชอบมากเวลามาที่ร้านเรา ตอนแรกลังเลเหมือนกันว่าหรือจะใช้ต้นไม้ปลอมมาตกแต่ง แต่การที่คุณบอนออกแบบโดยเน้นหลัก Passive Design ทำให้เราสามารถปลูกต้นไม้จริงในบ้านได้ เพราะมีแสงสว่างเพียงพอ และตอนที่ไปเจอสารภีต้นนี้เขาโตอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่อีกที เลยไม่ค่อยกังวลที่จะเอาเขามาปลูกไว้ในบ้าน
ส่วนเฟอร์นิเจอร์เราพยายามมิกซ์แอนด์แมตช์ โดยไม่จำเป็นว่าทุกอย่างต้องดูเป็นเซ็ตเดียวกันหมด พอเรามิกซ์หลายๆ อย่างเข้าด้วยกันก็ช่วยสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ให้กับบ้าน อย่างเก้าอี้ตัวนี้ตอนอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ ดูเข้ากับใครไม่ได้เลยก็ไม่เป็นไรเราย้ายมาอยู่ที่นี่แทนละกัน รวมถึงคอลเล็กชันซัมมันคอปล่า(SAMMANKOPPLA) ที่วิออกแบบตอนทำโปรเจ็กต์ของ Greyhound กับทาง IKEA ตอนนั้นเราซื้อเก็บไว้ทุกชิ้นไม่ว่าจะเป็นชั้นวางของ ราวแขวน ตู้ เก้าอี้ หมอนต่างๆ เลยเอามาตกแต่งในร้านด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวมากกว่าบิลต์อิน เพราะเราสามารถย้ายเปลี่ยนมุมใหม่ๆ ได้ตลอด”
เราใช้เวลาไม่นานนักในการเดินสำรวจพื้นที่ทั้ง 3 ชั้นของ Life Shop ก่อนจะมานั่งเล่นและชิมไอศกรีมรสส้มโอกับรสข้าวหมูแดงซิกเนเจอร์ที่คุณวิคิดสูตรขึ้นมาเพื่อให้สื่อถึงจังหวัดนครปฐม ที่มีทั้งข้าวหมูแดงและข้าวหลามแสนอร่อย แล้วยังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยส้มโออีกด้วย เรานั่งทานไอศกรีมเพลินๆ พลางคิดในใจว่า “แบบนี้สินะบ้านที่เป็นมากกว่าบ้าน” ถ้าในอนาคตจะมีบ้านของตัวเองสักหลังเราอยากมีบ้านแบบนี้บ้างจัง