ที่นี่เป็นบูติคโฮมสเตย์ริมน้ำแม่กลองชื่อ “บุราณ บางโตนด” อยู่ในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ประกอบด้วยบ้านไม้โบราณทั้งหมด 4 หลัง แต่ละหลังเป็นเรือนไม้เก่าต่างยุคสมัยที่ถูกย้ายรวมไว้ในบริเวณเดียวกันบนเนื้อที่ 3 ไร่ ทุกหลังยังคงรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมของเรือนเหล่านั้นไว้ตามต้นแบบเดิม เพื่ออนุรักษ์ศิลปะ เสน่ห์ และดีไซน์ของงานฝีมือช่างไม้เมื่อ 80 ปีก่อน
คุณติ๊กและคุณสัญญาเล่าที่มาที่ไปของบุราณ บางโตนดให้ฟังว่า ตั้งใจหาอะไรทำในช่วงเกษียณเพราะมีที่ดินที่ซื้อเก็บไว้นานแล้ว จากนั้นก็เริ่มหาซื้อบ้านเก่าโบราณ โดยหลังแรกเป็นบ้านดำรงค์สุนันท์ บ้านไม้สักทอง อยู่ในซอยเจริญรัถ 5 “อาจจะด้วยความที่เราอยู่บ้านไม้มาตั้งแต่เด็ก คงเป็นความชอบที่อยู่ข้างใน พอมันถึงเวลาเมื่อเรามีที่ดินทำให้นึกถึงบ้านเจริญรัถหลังนี้ ซึ่งเรายังคงเก็บข้อมูลประกาศบ้านขายเอาไว้เป็นปี ตอนนั้นยังซื้อไม่ได้เพราะราคาสูง ทีนี้เมื่อเราได้ที่ดินมาก็ทำให้นึกถึงบ้านเจริญรัถ แล้วเราก็ซื้อมา คิดว่าพอทำตรงนั้นแล้ว ตรงนี้ล่ะจะเป็นอะไร ที่ตรงนี้เราตั้งใจทำบ้านอยู่หลังเกษียณ แต่กลายเป็นว่าได้บ้านไม้โบราณมาอีกเรื่อยๆ จะอยู่เองก็คงไม่ใช่”
ในส่วนของบ้านไม้โบราณที่ใช้เป็นห้องพัก เป็นผลงานการออกแบบของคุณจ๋า-ปทมพร เขจรนันทน์ บริษัท Let’s Design Co.Ltd., “เจอคุณจ๋าเพราะเขาออกแบบบ้านหลวงประสิทธิ์เลยอินบ๊อกซ์ให้มาช่วยออกแบบ นำสิ่งที่เรามีอยู่แล้วในบางส่วนมาปรึกษาว่าจะออกแบบอย่างไร ทำแลนด์สเคปอย่างไรให้มันเข้ากัน จากตอนแรกที่คิดว่าจะอยู่เองเพราะอยากอยู่บ้านริมน้ำ แต่ทำไปทำมามันเริ่มใหญ่ขึ้นมีบ้านไม้หลายหลัง เลยคุยกับสถาปนิกว่าในส่วนของผัง ฟังก์ชันจะเป็นอย่างไร ออกแบบพื้นที่ในโซนทานอาหารโล่งๆ เพื่อชมวิวแม่น้ำ ลานข้างบนไว้สำหรับนั่งเล่น สันทนาการสำหรับแขก เป็นคอมมอนแอเรีย ห้องพักและเฟอร์นิเจอร์จัดวางอย่างไร ซึ่งเราก็ต้องออกแบบเพื่อให้ทุกอย่างลงตัว”
คุณจ๋าเล่ารายละเอียดการตกแต่งเพิ่มเติม “พื้นที่ตรงส่วนริมน้ำมีขนาดประมาณ 1 ไร่ โจทย์ที่ได้คือเป็นที่พัก ดังนั้นเราเริ่มคิดถึงฟังก์ชัน ซึ่งควรจะขึ้นได้โดยตรงจากชั้นล่างเหมือนเรือนไทยสมัยก่อนที่เดินขึ้นชานแล้วสามารถเดินขึ้นไปชั้นบนได้เลย โซนด้านหน้าเป็น Welcome Space จากนั้นเมื่อเข้ามาด้านในจะเห็นพื้นที่ถูกแบ่งเป็นปีกซ้ายกับปีกขวา ตรงกลางเป็นพื้นที่รับแขก ส่วนทานอาหารจะถูกลดระดับให้ต่ำลงกว่าสเปซด้านข้าง ออกแบบฝ้าสูง บริเวณนี้เมื่อทุกคนเดินเข้ามาจะเป็นไฮไลท์หลัก เพราะสามารถมองเห็นหญ้าและบรรยากาศริมน้ำได้ชัดเจน ถัดไปเป็นห้องพักถูกแบ่งเป็นห้องพักฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แล้วเราก็ต้องคิดต่อว่าจะแบ่งอย่างไรให้มีความเป็นส่วนตัว เพราะประตูอยู่ชิดกับทางเดิน บางส่วนเลยมีการจัดวางเก้าอี้ สามารถเดินเข้าไปอีกแอเรียหนึ่งได้ ด้านหลังเป็น Reception มีห้องครัวและออฟฟิศ”
ห้องครัวถูกออกแบบไว้อย่างเรียบง่ายดีไซน์ให้ล้อไปกับบรรยากาศโดยรวม ซึ่งคุณติ๊กบอกว่าไม่ตั้งใจทำเป็นครัวหนัก เนื่องจากเป็นบ้านไม้จึงคำนึงเรื่องของความปลอดภัย แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีห้องครัวเพื่อรองรับสำหรับการจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับจัดเสิร์ฟให้กับแขกที่เข้าพัก
“ในครัวจะเต็มไปด้วยตู้ไม้ที่เป็นของเก่าทั้งหมด เราตระเวนซื้อเฟอร์นิเจอร์จากหลากหลายสถานที่ทั้งราชบุรี เชียงใหม่ ลำพูน กรุงเทพฯ ส่วนจานชามเราซื้อเก็บไว้และอยากแบ่งปันให้คนอื่นได้ชื่นชมบ้าง เราเลยนำมาจัดเสิร์ฟให้แขก เพราะฉะนั้นครัวนี้จะเป็นห้องสำหรับจัดเก็บภาชนะทั้งหมด แต่ความตั้งใจในตอนแรกเราไม่มีอาหารเพราะอยากให้แขกสนับสนุนชุมชน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เราจึงต้องแยกครัวหนักสำหรับทำอาหารเอาไว้อีกเรือน”
เจ้าของ คุณสุพัตร-คุณสัญญา วรัญญู
พื้นที่ใช้งานครัว 15 ตารางเมตร