Lifestyle & Cooking People

ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน กับเรื่องราวการเดินทาง ภาพถ่าย และงานสถาปัตยกรรม


ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้เห็นผลงานภาพถ่ายสถาปัตยกรรมของ Spaceshift Studio ทั้งจากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์รูปแบบต่างๆ ตลอดจนตัวสถาปนิกเองที่มักจะส่งภาพผลงานที่ออกแบบมาให้เพื่อลงประกอบบทความ โดยภาพเหล่านั้นได้ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองการถ่ายภาพของ คุณเด๋ย-ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน ที่ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของตัวอาคาร และบริบทโดยรอบ แต่ยังบอกเล่าเรื่องราว คาแรกเตอร์ของตัวอาคารเหล่านั้นได้อย่างน่าสนใจ

ถ้าเปรียบชีวิตคือการเดินทาง
ตอน ม.ปลาย เราอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตอนนั้นยังมีแผนการเรียนวิทยาศาสตร์-สถาปัตยกรรม รุ่นพี่ที่เรียนจบแล้วจะไปสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมที่จุฬาฯ ศิลปากร ลาดกระบัง ตอนนั้นมีเปิดสอนไม่กี่ที่ เวลาเขากลับมาเยี่ยมโรงเรียน เรารู้สึกเหมือนได้รับอิทธิพลมาจากพี่ๆพวกนั้น รวมไปถึงละครเคหาสน์ดาว ที่พี่แท่งกับนุสบาเล่นด้วยกันตอนนั้น (หัวเราะ) เลยพยายามสอบเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรม จนสอบติดที่มหาวิทยาลัยศิลปากร พอเรียนไปเรื่อยๆ ก็เริ่มอยากไปดูงาน อยากเห็นของจริง อยากซึมซับงานสถาปัตยกรรม ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เราจะไปหาดูงานออกแบบสถาปัตยกรรมเท่ๆ ได้จากหนังสือในห้องสมุดกลางกับห้องวารสารของมหาวิทยาลัย

ตอนเรียนปี 3 เราส่งบทความเล็กๆ ไปที่สมาคมสถาปนิก แล้วได้รับคัดเลือกให้ร่วมเวิร์กชอปสัมมนาเชิงปฏิบัติการทางด้านออกแบบผังเมืองกับเด็กสถาปัตย์จากญี่ปุ่น มีสถาปนิกดังๆ ของญี่ปุ่นหลายคน มาเลกเชอร์และมาดูงานพวกเรา ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ว่าโลกของการออกแบบสถาปัตยกรรมยังมีอะไรมากกว่าที่เราเห็นในห้องเรียน

ช่วงปี 1997-1998 ผมไปฝึกงานที่เนเธอแลนด์ พอเก็บเงินได้ก็แบกเป้ไปท่องเที่ยวถ่ายตึก

ในช่วงที่เรียนอยู่ปีสี่ ได้ข่าวว่าที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือมีให้สอบชิงทุนเพื่อไปฝึกงาน ชื่อทุน IAESTE เราสอบได้ ก็เลยเลือกไปฝึกกับ TEAM 4 เป็นบริษัทสถาปนิกที่เมือง Groningen เมืองเล็กๆทางตอนเหนือของเนเธอร์แลนด์ ตรงนี้ถือเป็น Turning Point ของชีวิตในเรื่องของการเดินทาง เพราะสมัยนั้นการดรอปเรียนถือเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะ เป็นพวกนอกรีต คนอื่นเค้าต้องเรียนให้จบก่อน ต้องหางานทำ ต้องมีความมั่นคง แล้วค่อยเดินทาง เราคิดไม่เหมือนคนอื่น ทำไมการเดินทางเพื่อค้นหาความหมายของอะไรสักอย่าง ถึงต้องเป็นตัวเลือกหลังสุดของชีวิต เราว่ามันไม่ใช่ เราอยากเห็นโลก เห็นอะไรที่แถวบ้านไม่มี ก็ถือว่าโชคดีที่พ่อกับแม่เข้าใจเลยได้ไป

ปักหมุดดูงานสถาปัตยกรรม
เราฝึกงานกับ TEAM 4 อยู่ประมาณเกือบปี ถือเป็นอีก Turning Point ในเรื่องของการทำงานจริง ได้เรียนรู้วิธีการทำงานของเขา หลังจากฝึกงานเราเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ก็ตั้งหมายว่าจะแบกเป้เดินทางไปดูงานสถาปัตยกรรมตามที่ต่างๆ ตอนนั้นก็มีในลิสต์เยอะอยู่นะ พอเพื่อนร่วมงานซึ่งก็แก่ๆกันทั้งนั้นรู้เข้า ก็ช่วยกันทำไกด์บุ๊คให้ว่าที่ยุโรปต้องไปดูงานชิ้นไหนบ้าง งานมาสเตอร์ที่เราตั้งใจว่าต้องไปให้ได้ก็เป็นประมาณงานที่เห็นในหนังสือแล้วไม่เก็ทว่ามันดียังไง ที่ประทับใจหน่อยก็มีที่ Notre Dame du Haut ของ Le Corbusier ใน Ronchamp ประเทศฝรั่งเศส กับ Barcelona Pavilion ของ Mies van der Rohe ที่สเปน ผลงานทั้งสองชิ้นทำให้ เรารู้ซึ้งว่าสิ่งที่เคยเห็นในหนังสือนั้นเทียบไม่ได้เลยกับของจริง ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมไม่กี่งานที่ไปยืนดูแล้วรู้สึกอิ่มเอม หัวใจพองโต

ภายนอก Notre Dame du Haut โบสถ์คาธอลิกเล็กๆบนยอดเขาในเมือง Ronchamp ออกแบบโดย Le Corbusier ในปี 1955

ภายในโบสถ์ Notre Dame du Haut แสงธรรมชาติส่องผ่านช่องกระจกเล็กๆ ที่เขียนสีเล่าเรื่องราวทางศาสนา

หลังจากนั้นเราก็กลับมาทำวิทยานิพนธ์ และเรียนจบในช่วงปี 2540 ปีที่ฟองสบู่แตกพอดี ว่างๆยังไม่มีงานทำ ก็มีรุ่นน้องมาบอกว่า Walt Disney World มาเปิด recruit คนไทยไปทำงานที่ฟลอริดา ไปทำงานเป็น cultural exchange staff สัญญา 1 ปี ก็สอบผ่าน เลยปักหมุดอีก พอหมดสัญญาที่ WDW ก็แบกเป้อีกรอบ ไปตระเวณดูงานเริ่มจากฝั่งตะวันออกไล่จากไมอามีไปถึงนิวยอร์ค แล้วก็บินข้ามฝั่งไปทางตะวันตก ซึ่งก็อยู่แต่แถวๆแคลิฟอร์เนีย ก็ดูไปเยอะนะ แต่เอาเข้าจริงๆก็ไม่ค่อยโดน ถูกจริตกับทางยุโรปมากกว่า เพราะช่วงนั้นงานของสถาปนิกเทพๆนั่น เฟื่องมาก Rem Koolhaas, Bernard Tschumi, Zaha Hadid, Frank Owen Gehry ไรงี้ หลังจากการเดินทางทางฝั่งอเมริกา ก็ย้ายกลับมาเมืองไทย มาทำงานในออฟฟิศสถาปนิกกับคนออสเตรเลียแถวสุขุมวิทได้ปีนึงเต็มๆ

Barcelona Pavilion ที่สเปน ออกแบบโดย Ludwig Mies van der Rohe สถาปนิกชั้นครูชาวเยอรมัน

ALBA (dawn) งานประติมากรรมหญิงสาวเริงระบำโดย Georg Kolbe ที่ถูกติดตั้งภายใน Barcelona Pavilion

ก่อนจะเริ่มต้นถ่ายภาพ
ระหว่างนั้นเรามีโอกาสได้เขียนเรื่องที่เดินทางไปเนเธอร์แลนด์ ไปยุโรป เพื่อลงในวารสารประจำปีให้กับทางคณะ ก็มีรูปกับบทความที่เขียนถึงห้องสมุด TU Delft แล้วทาง Art4D น่าจะมาเห็น ประกอบกับพี่สมคิด เปี่ยมปิยะชาติ ซึ่งเป็นบรรณาธิการภาพของ Art4D ในยุคนั้น ไปเที่ยวแล้วถ่ายรูปห้องสมุดนี้มาด้วย แต่ว่ายังไม่มีใครเคยไป และไม่มีใครเขียนให้ บังเอิญว่าเราพอจะเขียนหนังสือได้เลยลองเขียนให้ หลังจากนั้นเราก็เขียนมาตลอด จนได้เข้าไปเป็นบรรณาธิการเต็มตัวตั้งแต่ปี 2002-2013

ช่วงปี 2005 พี่สมคิดหยุดรับงานถ่ายภาพ แกไปเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเอง ก็อยากให้เรามาช่วยถ่ายรูปแทน เพราะเห็นว่าเราพอจะมีทักษะอยู่บ้าง ก็เริ่มฝึกถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมอย่างจริงจังกับพี่สมคิดประมาณ 1 ปี ซึ่งในยุคนั้นการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมต้องใช้เงินลงทุนสูง ก็เลยต้องเปิด Spaceshift Studio โดยชวนพี่บี-อรัญรัตน์ ประถมรัตน์ แฟนของเรา ซึ่งตอนนั้นทำงานเป็นสถาปนิกอิสระมาช่วยกันรันสตูดิโอถ่ายภาพ

ในเรื่องของความชำนาญด้านการถ่ายรูป ก็ไม่ได้ไปเรียนที่ไหน คิดว่าน่าจะได้มาจากพ่อกับแม่ เพราะทั้งสองคนเล่นกล้อง สิ่งนี้เลยเหมือนอยู่ในตัวเราตั้งแต่เด็ก พอได้เดินทางก็จะพกกล้องไปด้วย อย่างตอนไปทำงานที่ยุโรปก็ตั้งใจเอาฟิล์มไปด้วย 100 ม้วน เพื่อถ่ายงานสถาปัตยกรรมที่ชอบกลับมา คือเรารู้สึกว่างานสถาปัตยกรรมเป็นอะไรที่ต้องบันทึกด้วยภาพ เพื่อที่จะสามารถนำมาเล่าหรืออธิบายได้

การผสานกันระหว่าง people และ place เกิดจากการสะท้อนของแสงเงาที่ซ้อนทับกันไปมาหลายเลเยอร์ รูปนี้ถ่ายที่สถาบันโลกอาหรับในปารีส ออกแบบโดย Jean Nouvel

รายละเอียดของผนังภายนอกอาคารพิพิธภัณฑ์เมืองโอกินาวาซึ่งทำจากหินทราย ออกแบบโดย Ishimoto Architectural & Engineering

เล่าเรื่องด้วยภาษาภาพ
ถ้ามองย้อนกลับไปมองวิชาชีพที่เราทำ ทั้งตอนที่เป็นนักเขียนและนักถ่ายภาพ ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับงานสถาปัตยกรรม คำถามที่ว่าเรานำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพยังไง น่าจะเป็นเรื่องของการมีความเข้าใจในการออกแบบสถาปัตยกรรม และการคิดอย่างเป็นระบบ อย่างซีรีย์ภาพที่เราถ่ายในแต่ละโปรเจ็กต์ จะมีการลำดับเรื่องราวซึ่งสิ่งนี้เราได้มาจากการทำงานในกองบรรณาธิการ ในการถ่ายงานแต่ละชิ้น จะเริ่มคิดโดยมองว่าตัวอาคารตั้งอยู่ที่ไหน ภายนอกภายในอาคารเป็นอย่างไร กลางวันกลางคืนเป็นอย่างไร รายละเอียดเชิงเทคนิคหรือวัสดุต่างๆ เหล็ก อิฐ คอนกรีต หิน ปูน ไม้ ที่ใช้ประกอบกันจนกลายเป็นงานสถาปัตยกรรมหนึ่งชิ้นนั้น มีอะไรบ้าง ตลอดจนปรากฏการณ์ทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นสถานที่ (place) กับ ผู้คน (people) ในแต่ละวัน นั้นมีอะไรบ้าง คือภาพของเราต้องเล่าเรื่องหรือสะท้อนคาแรกเตอร์ของตัวอาคารนั้นออกมาให้ได้

งานออกแบบศาลา “No Sunrise, No Sunset” ที่จังหวัดกระบี่ ออกแบบโดย สุริยะ อัมพันศิริรัตน์

NAVAKITEL Design Hotel โรงแรมสีดำที่นครศรีธรรมราช ออกแบบโดย JUNSEKINO A+D และ JUNSEKINO I+D

นอกจากนี้เราต้องมองหา elements ที่อยู่ในตัวงานนั้นๆ แล้วนำมาจัด composition ให้อยู่ในภาพๆ หนึ่ง เช่น สมมติว่าเราเดินเข้าไปในโรงแรมจะเจอกับล็อบบี้ก่อน ถ้าถ่ายตรงๆ จุดเดียว เราจะได้แค่มุมมองเดียว แต่ถ้าเราเอียงไปทางซ้ายจะเห็นล็อบบี้เชื่อมต่อกับโถงลิฟต์ ถ้ามองไปทางขวาจะเห็นส่วนที่ต่อเนื่องกับเลาน์จ สิ่งนี้คือเรากำลังใช้ภาพเล่าถึงสิ่งที่เรียกว่า transition แค่เราขยับกล้องไปทางซ้ายหรือขวา มุมมองกับเรื่องที่จะเล่าก็ต่างกันแล้ว จะใช้ภาพถ่ายเล่าเรื่องหรือทำให้เป็น photo essay ก็ต้องมีการวางลำดับของ elements ต่างๆ ให้ดี

ภาพบันทึกอันแสนเรียบง่ายของปราสาทชูริในโอกินาว่า ที่คุณเด๋ยถ่ายไว้หนึ่งเดือนก่อนที่ตัวอาคารทั้งหมดจะถูกไฟไหม้ไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

รายละเอียดของโครงสร้างและการตกแต่งภายในชานชะลาสถานีรถไฟกลางเมืองมิลาน เผยความงามออกมาชัดเจนในช่วงที่ผู้คนและรถไฟเพิ่งออกไป ส่วนผมนั้นตกรถไฟ

ให้เวลากับการถ่ายภาพ
เรามองว่าการถ่ายภาพเหมือนการสร้างงานศิลปะอย่างหนึ่ง มีคนเคยบอกว่าเราถ่ายภาพแล้วดูสวยกว่าของจริง ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่หรอก เพราะนี่คืองานสถาปัตยกรรม แต่เราให้เวลากับการทำงานนาน เราอยู่ในตึกๆหนึ่งตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เราให้เวลากับมัน และทำให้เราได้มองเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใจแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเรื่องของแสงและเงาที่กระทบตัวตึก ไปจนถึงแสงประดิษฐ์ในเวลากลางคืน ตลอดจนลักษณะเฉพาะของพื้นที่ๆเราไปถ่าย หรือ งานออกแบบภูมิทัศน์ (landscape design) ที่ช่วยสนันบสนุนให้ตัวอาคารมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งคนที่เขาบอกว่าเราถ่ายภาพสวยกว่าของจริงเขาอาจจะไม่ได้มาเห็นในช่วงเวลานั้น หรือมุมมองเดียวกับที่เราเห็นแค่นั้นเอง ความใจร้อนของคนเราทุกวันนี้ มักทำให้เขามองข้ามหรือพลาดสิ่งดีๆ ไป

แสงสุดท้ายของวัน ภายในหอชมวิวของศูนย์คชศึกษา ที่จังหวัดสุรินทร์ ออกแบบโดย Bangkok Project Studio

รายละเอียดของการอิฐที่ใช้ป็นวัสดุหลักของหอชมวิวของศูนย์คชศึกษา ที่เห็นคนยืนเทียบสเกลกับตัวอาคารคืออาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกผู้ออกแบบ

ยกตัวอย่าง ก่อนหน้านี้เราไปถ่ายงานให้กับอาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา โปรเจ็กต์โลกของช้างที่จังหวัดสุรินทร์ โดยอาจารย์ต้องการภาพเพื่อส่งไปประกวดและส่งให้สื่อต่างประเทศ แต่งานยังเป็น Under Construction เราต้องถ่ายให้สื่อได้ว่าถ้าเสร็จแล้วจะเป็นยังไง มีอยู่โมเมนต์หนึ่งสวยมาก เราขึ้นไปบนส่วนที่เป็นหอคอย ในช่วงเวลาที่เหลือประมาณ 5 นาทีของแสงสุดท้าย วันนั้นพระอาทิตย์ทำมุมองศานิดหนึ่ง ส่องเข้ามาเป็นสีทองสะท้อนกับตัวอิฐ ทุกอย่างมันเพอร์เฟ็กต์ ตัวอิฐ มุมแสงเงา แล้วอาจารย์ขึ้นมาพอดี ทำให้เราได้ภาพโมเมนต์นั้นมา

อีกอย่างหนึ่งคือเราโตมากับระบบฟิล์ม ทำให้เราต้องทำงานช้า เพราะถ้าเรา ไม่ใส่ใจ ฟิล์มจะเสีย ซึ่งการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมต้องมีความประณีต พิถีพิถัน ถ้าเส้นล้มหรือเอียงนิดเดียวภาพจะเสีย พอเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิตอล ทำให้ภาพของเรายังมีคาแรกเตอร์ของความประณีตอยู่เหมือนตอนถ่ายฟิล์ม คือภาพต้องเหมือนจริง มองแล้วรู้สึกสบายตา ด้วยน้ำหนักของกล้องที่ไม่หนักเหมือนสมัยก่อน และมีความคล่องตัว ทำให้ภาพของเรามีมุมที่หลากหลายมากขึ้น

สถานที่ท่องเที่ยวทั่วไปผมก็ไปบ้าง แต่ละทริปก็มักได้ภาพแปลกๆที่คนอื่นไม่ถ่ายกัน ภาพร่างกายของคนผสานกับราวธงมนต์ที่ Leh Ladakh นี่ก็ดู spiritual ดีนะ ในความเห็นของผม

บ้านส่วนตัวออกแบบโดย Shinichi Ogawa งานสถาปัตยกรรมบางชิ้นไม่ได้สวยงามด้วยองค์ประกอบมากมาย แต่งามด้วยขนาด สัดส่วน และความประณีตทางเชิงช่างที่ทำให้รูปทรงของอาคารมีความเรียบง่ายได้อย่างมหัศจรรย์

“พี่สมคิดที่เป็นคนสอนเราถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เคยบอกว่า อาชีพนี้ถ้าเราชอบเดินทาง ชอบถ่ายภาพ ชอบงานสถาปัตยกรรม นี่คืออาชีพในฝันเลยนะ ได้ทำในสิ่งที่ชอบ มีรายได้เป็นสัมมาอาชีพ ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการทำงานในทุกวัน”

มีภาพถ่ายหลายภาพของ Spaceshift Studio ที่เราใช้เวลามองอยู่นาน บางมุมมองเรารู้สึกเหมือนได้ไปยืนอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ ได้เห็นแสงและเงาที่ทำให้ตัวอาคารดูน่าสนใจมีชีวิตชีวากว่าที่เคย อีกทั้งยังรวมถึงการถ่ายทอดงานออกแบบของสถาปนิกที่ทำให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันของส่วนต่างๆ ภาพหนึ่งภาพจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย เช่นเดียวกับเรื่องราวของคุณเด๋ย ผู้อยู่เบื้องหลังภาพถ่ายสถาปัตยกรรมที่แฝงไปด้วยความรู้สึกและมุมมองที่หลากหลาย ได้เห็นแต่ผลงานมาเป็นเวลานาน ดีใจที่ได้เจอกันนะคะ

ขอขอบคุณภาพผลงานทั้งหมดจาก: Spaceshift Studio
ขอขอบคุณสถานที่: มิโนะบุรี facebook.com/minoburi


You Might Also Like...