เรามีโอกาสพูดคุยกับ คุณจ๋า-ปทมพร เขจรนันทน์ เจ้าของผลงานการออกแบบร้านกาแฟผ่อดอย ที่จังหวัดเชียงใหม่ และ Bed and Breakfast เวลา วารี 2499 บ้านพักน่ารักที่ออกแบบและรีโนเวตให้กลมกลืนกับธรรมชาติของอัมพวาได้อย่างลงตัว ทั้งหมดนี้เกิดจากความตั้งใจ ใส่ความเป็นตัวเองลงไป ผลงานที่ออกมานอกจากจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว เรายังสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นในผลงานนั้นๆ อีกด้วย
ร้านกาแฟ ผ่อดอยคาเฟ่ จังหวัดเชียงใหม่
Bed and Breakfast เวลา วารี 2499
เชื่อว่าต้องมีหลายๆ คนที่ได้เห็นผลงานการออกแบบร้านกาแฟผ่อดอยและที่พักเวลาวารีกันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ต่างๆ อย่าง sanook.com, kapook.com, forfur.com หรือได้รับการรีวิวจากสมาชิกใน pantip.com ด้วยเนื้อหาการบอกเล่าถึงคอนเซ็ปต์การออกแบบให้เราได้เห็นกันทีละขั้นตอนตั้งแต่แรกเริ่มจนออกแบบและรีโนเวตเสร็จ ใครจะเชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้
ผู้หญิงกับงานสถาปัตย์
จ๋าเรียนจบปริญญาตรีทางด้านสถาปัตย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเรียนจบปริญญาโทจาก University of Colorado at Denver ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากเรียนจบก็กลับมาทำงานตามสายงานที่ตัวเองเรียนจบมาโดยเป็นพนักงานบริษัททั่วไปอยู่ประมาณ 3-4 ปี ก่อนจะมาเปิดบริษัทของตัวเองชื่อ Let’s Design
ในส่วนของการทำงานจะดูทั้งในเรื่องของงานโครงสร้างและอินทีเรียควบคู่ไปด้วยกัน ต้องใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ เพราะแต่ละโปรเจ็กต์ก็จะมีความแตกต่างกันไปทั้งเรื่องของโจทย์ที่ได้รับ ลักษณะของพื้นที่ ประเภทของอาคารว่าเราจะออกแบบให้เป็นบ้านพัก รีสอร์ต โรงงาน หรือร้านกาแฟ แต่ทั้งหมดนี้เราก็จะพยายามสร้างซิกเนเจอร์ให้กับผลงานแต่ละชิ้นที่ออกแบบด้วย
ผ่อดอย คาเฟ่
มองจากเรือนไม้หลังใหญ่ เป็นภาพวิวของบ้านพักเรือนเล็กริมน้ำ
สำหรับที่ร้านกาแฟผ่อดอย จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่เดิมเป็นบ้านพักเรือนไม้หนึ่งหลัง เราเข้าไปรีโนเวทใหม่ทั้งหมดโดยยึดโครงสร้างเดิมเอาไว้ แล้วทำให้มันดูโปร่งโล่งขึ้น เพราะเดิมเป็นหน้าต่างทึบ ห้องน้ำไม่มีแสง เราก็เอามาจัดฟังก์ชันใหม่ โดยวางคอนเซ็ปต์ตกแต่งแบบอิงลิชวินเทจ ด้วยความที่เป็นบ้านหลังใหญ่บางทีคนเข้ามาพักมากันแค่ 2 คน เราเลยมีความคิดว่าสร้างอีกหลังหนึ่งตรงริมน้ำเหมาะสำหรับมา 2 คน ภาพที่ออกมาก็คือเราจะเห็นเรือนไม้หลังใหญ่และเรือนริมน้ำอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน สามารถมองเห็นกันได้
ปรับพื้นที่สำหรับจอดรถ เป็นห้องสมุดเล็กๆ สำหรับคนรักการอ่าน
ส่วนของบ้านพักออกแบบและตกแต่งสไตล์อิงลิช วินเทจ
เมื่อมีบ้านพักจ๋าก็มองว่าบรรยากาศดูเงียบเกินไป เลยคิดต่อยอดว่าอยากทำร้านกาแฟทางด้านหน้าด้วย ในส่วนของฟังก์ชันร้านกาแฟนั้นต้องมีการจัดสรรพื้นที่เพราะมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีส่วนของเคาน์เตอร์กาแฟด้านล่าง ข้างบนเป็นชั้นลอยที่เราเอาภาพศิลปะไปแขวนไว้สำหรับให้เดิมชมเพื่อความเพลิดเพลิน นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ก็จะทำเป็นสวน มีการเปลี่ยนจากที่จอดรถมาสร้างเป็นห้องสมุด มีหนังสือการ์ตูนให้เช่า คือเราออกแบบทั้งหมดให้พื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์กลางชุมชน ให้คนในหมู่บ้านเข้ามานั่งเล่นได้เหมือนเป็นสวนหลังบ้านของพวกเขา พอเราทำตรงนี้คนในหมู่บ้านก็เข้ามาจิบกาแฟ นั่งเล่น อ่านหนังสือในห้องสมุด พอเราเห็นก็มีความสุขตามไปด้วย
จัดสรรพื้นที่สวนปลูกต้นไม้ ดอกไม้ เป็นมุมนั่งเล่นสบายๆ
ที่พักกลางธรรมชาติเวลาวารี 2499
ชมบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่ระเบียงริมน้ำ
แรกเริ่มเลยคือเราไปเจอบ้านหลังนี้ประกาศขายทางเว็บไซต์ อยู่ที่อัมพวาเป็นบ้านที่ตั้งอยู่บริเวณโค้งน้ำ เจ้าของบ้านเป็นคุณยายอายุ 60 เดินไม่ค่อยไหว ลูกๆ เลยอยากให้ขายบ้านหลังนี้แล้วไปอยู่ด้วยกัน ซึ่งตัวบ้านรถไม่สามารถเข้าได้ ต้องจอดแล้วเดินเข้าไป หรือไปทางเรือ
ยึดโครงสร้างเดิมของตัวบ้าน เพิ่มของตกแต่งบ้านให้ดูมีสีสัน
ตกแต่งบรรยากาศในห้องนอนให้เข้ากับเสน่ห์ของบ้านไม้
หลักการออกแบบของที่นี่เราเน้นเรื่องของการอนุรักษ์และเคารพธรรมชาติ เราคิดว่าไม่อยากเปลี่ยนแปลงที่นี่เยอะ โดยยึดโครงสร้างเดิมของบ้านเอาไว้ รวมไปถึงบรรยากาศเดิมๆ ของที่นี่ซึ่งมีเสน่ห์อยู่แล้ว ข้อจำกัดในการทำงานก็คือเรื่องของการขนส่ง เพราะต้องขนทางเรือเท่านั้น เราจึงพยายามใช้วัสดุที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ใช้วิธีการเดียวกับที่ผ่อดอย จังหวัดเชียงใหม่ คือนำไม้เก่าที่มีอยู่มาขัดเสี้ยนทาสีใหม่ ปรับพื้นที่บริเวณด้านหน้าระเบียงเล็กน้อยสำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก อีกทั้งยังเพิ่มเติมในส่วนของชานบ้านสำหรับมุมพักผ่อนอีก
“ที่เวลาวารีจะมีความเป็นธรรมชาติ บ้านอยู่บริเวณคุ้งน้ำ เราสามารถเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกจากระเบียงเดียวกัน มีน้ำขึ้นน้ำลง พอน้ำขึ้นเราจะรู้สึกเหมือนบ้านลอยอยู่ในน้ำ แล้วเรือก็อยู่ใกล้เรามาก เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งให้เราเรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ เราต้องการให้ใครก็ตามที่มาที่นี่สามารถสัมผัสถึงสิ่งเหล่านี้ได้” การออกแบบที่ดีบางครั้งอาจไม่ใช่เพียงต้องคำนึงถึงเรื่องของความสวยงาม ความคงทานแข็งแรง แต่ยังรวมไปถึงการออกแบบอย่างไรให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนอีกด้วย
บทความจากคอลัมน์ “Professional” นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 118 ประจำเดือนมิถุนายน 2559