เมื่อในเมืองอย่างกรุงเทพเต็มไปด้วยสถาปนิกที่มีฝีมือและคนเก่งๆ คุณ มีชัย เจริญพร เลยรู้สึกอยากกลับมาทำงานออกแบบที่จังหวัดนครปฐมบ้านเกิดของตัวเอง จึงเป็นที่มาของ Backyard Architect เริ่มต้นจากสนุกกับการคิดอะไรใหม่ๆ ทดลองทำในสิ่งที่ชอบอย่างงานคอนกรีต เรียนรู้และเข้าใจความเป็นธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ในงานออกแบบ ตลอดจนการเลือกใช้แมตทีเรียลต่างๆ ทำให้คาแรกเตอร์และผลงานของ Backyard Architect ค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้น
ตามเราไปพูดคุยกับคุณมีชัยกันเลยดีกว่า…
จุดเริ่มต้นที่อยากเป็นสถาปนิก
ต้องเท้าความก่อนว่าที่บ้านเราทำงานรับเหมาก่อสร้างอยู่แล้ว ช่วยงานที่บ้านและคลุกคลีกับงานก่อสร้างมาตั้งแต่เด็ก พอเริ่มโตก็เห็นแบบพิมพ์เขียวเลยถามพ่อว่าพ่อต้องสร้างตามในแบบนี้ใช่หรือเปล่า พ่อก็ตอบว่าใช่ ตอนนั้นเลยคิดว่าถ้าเราเขียนแบบให้พ่อสร้างได้ก็คงดี จึงกลายมาเป็นเป้าหมายว่าต้องเรียนสถาปัตย์ให้ได้ ไม่มีความคิดว่าอยากเป็นอย่างอื่นเลยนอกจากสถาปนิก
เก็บเกี่ยวประสบการณ์
หลังจากเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก็เริ่มทำงานออฟฟิศที่เกี่ยวกับงานรับเหมาประมาณ 1 ปี แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าการทำงานแบบนี้ไม่ตอบโจทย์ตัวเราเลย คือเวลาทำงานรับเหมา ถ้าเป็นบ้านก็จะเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ทำให้เราไม่ได้คิดอะไรใหม่ๆ หลังจากนั้นเราเลยไปสมัครทำงานกับบริษัทสถาปนิกของพี่วิน วรวรรณ เหมือนเปิดโลกการออกแบบของเราเลยนะ ให้เราได้คิดไอเดียต่างๆ เรารู้สึกสนุกกับทำงานเหมือนตอนได้คิดโปรเจ็กต์ใหม่ๆ สมัยที่เรียน ได้ทดลองทำนู่นนี่นั่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่หยิบของเดิมมาทำ แต่ต้องคิดวิเคราะห์ทั้งเรื่องดีไซน์ วิธีการ รวมไปถึงขั้นตอนต่างๆ
Backyard Architect
เราทำงานอยู่กับบริษัทวิน วรวรรณ ได้ประมาณ 4 ปี ระหว่างนั้นก็มีความคิดมาตลอดว่าอยากกลับมาทำงานที่บ้าน ทำไมคนที่จะเข้าถึงงานออกแบบส่วนใหญ่ต้องเป็นคนที่อยู่ในเมือง หรือคนที่ทำงานเป็นสถาปนิกเองส่วนใหญ่ก็ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ แต่พอมองกลับไปที่ต่างจังหวัดบ้านเราไม่ค่อยมีเลย อยากให้จังหวัดนครปฐมที่เราอยู่มีงานสถาปัตยกรรมดีๆ เราไม่ได้บอกว่าเราเก่งนะ เพียงแต่อยากให้เขามีตัวเลือกมากขึ้น อีกอย่างไม่อย่างนั้นทุกคนก็เข้ากรุงเทพฯ กันหมด ซึ่งช่วงระหว่างที่ทำงานประจำก็มีงานออกแบบที่ทำเป็นฟรีแลนซ์ให้กับคนที่บ้านอยู่บ้าง บวกกับตอนนั้นเรากับเพื่อนส่งงานเข้าประกวดในงานบ้านและสวนแล้วได้รางวัลชนะเลิศ เลยทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าน่าจะทำได้ เลยตัดสินใจกลับมาเปิดออฟฟิศของตัวเองคือ Backyard Architect
เรียนรู้ ทดลอง สนุกกับการออกแบบ
สิ่งที่เราสนใจตั้งแต่ตอนเรียนคืองานคอนกรีต เราโตมาในยุคที่สถาปนิกชื่อดังอย่าง Tadao Ando, Thom Mayne ทำงานสถาปัตยกรรมคอนกรีตเปลือยเท่ๆ แต่ช่วงที่เราเรียนจบงานคอนกรีตเปลือยได้รับความสนใจน้อยลง แต่ว่าเรายังอยากทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราชอบว่าต้องทำอย่างไร เลยนำมาทดลองกับงานออกแบบของตัวเองว่าทำยากไหม วิธีการเป็นอย่างไร
เป็นความโชคดีที่ที่บ้านทำรับเหมาอยู่แล้วเราเลยได้ลองทำอะไรใหม่ๆ หาความแตกต่างว่าคอนกรีตมีแบบไหนบ้าง ถ้าเราทำงานคอนกรีตหล่อที่ใช้แบบที่มีเท็กซ์เจอร์ไม่เหมือนกัน งานที่ได้ก็จะให้มู้ดแอนด์โทนที่ต่างกันไปด้วย มีทั้งพื้นผิวเรียบ หยาบ มีลายของไม้ที่นำมาทำแบบ อันนี้หล่อด้วยเหล็กนะ ใช้ไม้อัดทั่วไป แต่อันนี้ใช้ไม้อัดดำ
สิ่งเหล่านี้เรามองว่ามันเป็นเสน่ห์ แล้วเราก็หยิบเอามู้ดต่างๆ ของคอนกรีตมาใส่ไว้ในงานออกแบบ และคอนกรีตหล่อต้องทำความเข้าใจ วางแผนตั้งแต่ตอนแรก ต้องใส่ปูนแค่ไหน หินประมาณนี้ ใส่น้ำมากน้อยแค่ไหน การผสมสัดส่วนในแต่ละครั้งจะทำให้เราได้เท็กซ์เจอร์ของปูนที่ต่างกันด้วย
Tom House
ต้อมเฮาส์ น่าจะเป็นผลงานที่ทำให้คนรู้จักเรากับ Backyard Architect มากขึ้น โจทย์คือออกแบบบ้าน 3 หลังอยู่ในพื้นที่เดียวกันประมาณ 1,000 กว่าตารางเมตร มีสมาชิกประมาณ 6 ครอบครัว เราออกแบบให้ทั้ง 3 หลังมีความเชื่อมโยงถึงกันโดยมีชานบ้านแบบไทยๆ ให้ทุกคนสามารถใช้งานพื้นที่และเวลาร่วมกันได้
ซึ่งบ้านแต่ละหลังก็จะมีความแตกต่างกันไป ถือว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่ยากเหมือนกันนะ ด้วยขนาดของพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ เป็นงานที่เราต้องทำเองทุกส่วน เป็นทั้งสถาปนิก อินทีเรีย คุมงานก่อสร้างเอง รับเหมาเอง ใช้เวลาสร้างประมาณ 3 ปี แต่พองานออกแบบเสร็จสมบูรณ์ก็รู้สึกภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีตที่ใช้ สเปซที่เกิดขึ้น เอฟเฟกต์ที่เราอยากให้อยู่ในการออกแบบ ตัวบ้านจะดูโมเดิร์นแต่มีกลิ่นอายไทยๆ ผสมผสานอยู่ อย่างมีหลังคาทรงจั่ว มีพื้นที่ใต้ถุน เหมือนนำวิถีไทยๆ เข้ามาประยุกต์กับการออกแบบโดยมีการผสมผสานวัสดุอย่างงานคอนกรีต เหล็ก และไม้เข้าด้วยกัน เพื่อให้ดูทันสมัยแต่ยังแฝงความอบอุ่นเอาไว้
ในการออกแบบบ้านต้อมเฮาส์ ตรงส่วนของกำแพงเราเพิ่มลูกเล่นให้งานคอนกรีตที่ทำเป็นกำแพง คือปกติเวลาเราหล่อปูนเรียบร้อย ต้องตอกท่อเหล็กออกเพื่ออุดรูปูนให้เรียบร้อย แต่เราอยากให้มีเอฟเฟกต์เกิดขึ้นกับปูน ตอนนั้นคิดว่าทำไมต้องเอาเหล็กพวกนี้ออกด้วย เราปล่อยให้อยู่แบบนั้นเลยได้ไหม พอเวลาผ่านไป ฝนตกลงมาท่อเหล็กก็จะเกิดเป็นสนิมจะทำให้น้ำไหลออกมาเป็นสีสนิม พอน้ำไหลไปเรื่อยๆ ตรงรอยปูนต่อกันก็จะได้เอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพียงแต่เราเป็นคนที่เซ็ตติงเอาไว้ เตรียมพื้นที่ไว้ให้เขา ตอนนี้ผ่านไป 5 ปี เราขับรถผ่านไปที่บ้านหลังนั้นสิ่งที่เราคิดไว้ตอนนี้มันเกิดขึ้นแล้ว (ยิ้มอย่างภูมิใจ) แต่คนอื่นเขาอาจจะมองว่าดูสกปรกก็ได้นะ (หัวเราะ)
ธรรมชาติกับการออกแบบ
Killer Time เป็นอีกโปรเจ็กต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ และเรารู้สึกสนุกกับการออกแบบ เป็นร้านกาแฟอยู่ริมแม่น้ำ ตอนไปดูพื้นที่เจ้าของไม่มีโจทย์อะไรให้เราเลย เดินเข้าไปเป็นที่โล่งๆ เราเจอต้นไม้อยู่ 1 ต้น รู้สึกว่าอยากเก็บต้นไม้ต้นนี้ไว้ อาจจะไม่ได้มีต้นใหญ่มากแต่ถ้าวันหนึ่งเราไม่ได้เก็บมันไว้มันจะใหญ่ได้อย่างไร บวกกับตรงนั้นไม่ได้อยู่บริเวณถนนหลัก จะทำอย่างไรให้เกิดเอฟเฟกต์ขึ้น เราเลยพยายามทำให้ต้นไม้ต้นนี้มีความสวยงามเท่าที่จะเป็นไปได้ที่สถาปนิกคนหนึ่งจะทำได้
เราหยิบคำว่า “ฆ่าเวลา” ขึ้นมาเป็นโปรเจ็กต์ Killer Time คนที่มาเขาต้องตั้งใจมา เลยอยากให้ที่นี่เป็นสถานที่ที่คนอยากใช้เวลา โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คำนี้เกิดเป็นรูปธรรมได้บ้าง เราเลยออกแบบเป็นทางเดินเหมือนอุโมงค์เวลาโดยให้ต้นไม้เป็นศูนย์กลาง เลือกใช้แมตทีเรียลอย่างเหล็กเพราะเมื่อเวลาผ่านไปเจอแดดเจอฝน เหล็กจะมีปฏิกิริยาต่างๆ เกิดขึ้น เป็นสนิม เกิดรูต่างๆ หลังจากนั้นก็มาคิดต่อว่าแล้วเหล็กกับคำว่าเวลาจะเชื่อมโยงกันได้ยังไง เลยตั้งใจออกแบบเหล็กให้เป็นทางเดินเข้าไป ตัวช่องรอบต่อของแผ่นเหล็กแต่ละช่องจะมีองศาที่ไม่เหมือนกัน ผ่านการศึกษาเรื่องแสงและเงาของพระอาทิตย์ โดยเราทำโมเดลขึ้นมาแล้วนำไปเทียบเคียงกับเวลาจริง เราต้องการให้เกิดเส้นตั้งฉากเพื่อเป็นเส้นบอกเวลา
สมมุติเราเดินเข้าไปตอน 10 โมงเส้นนี้จะตั้งฉาก แต่ตอนเราเดินออกมาเวลาเปลี่ยนเส้นนี้ก็จะไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะเส้นเวลา 11 โมงจะตั้งฉากแทน คือเราอยากให้คำว่าเวลาวนเวียนอยู่ในโปรเจ็กต์นี้ พอเดินไปถึงสเปซตรงกลางก็จะเจอกับต้นไม้ที่เหมือนเป็นแกนกลางของเวลา เป็นพื้นที่ล้อมต้นไม้เอาไว้ เราแค่รู้สึกว่าเมื่อวันหนึ่งคนจะรักต้นไม้ต้นนี้ เราก็เหมือนใส่ความรู้สึกรักลงไปให้คนที่จะเข้ามาที่ร้านด้วย พอเขาเริ่มรักต้นไม้ต้นนี้มันก็จะอยู่กับร้านไปอีก 100 ปี จากที่ต้นไม่ใหญ่มากเดี๋ยวก็เติบโตไปเรื่อยๆ
“หลังจากที่กลับมาทำงานที่บ้านได้ 6-7 ปี เราดีใจนะ เพราะตอนนี้มีออฟฟิศที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดเยอะมากเลย เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งอุดรธานี หาดใหญ่ ขอนแก่น ไม่ใช่ว่ามีแค่ในเมืองแต่มีการขยายตัวออกไป เรากลับมาทำงานที่บ้านก็เหมือนได้ให้ความรู้ ความเข้าใจ ทั้งกับช่างที่ทำงาน คนที่เป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ว่างานออกแบบมันมีมากกว่านี้นะ ถ้าเราอยากให้มันเกิดสิ่งไหนเราก็ต้องทำสิ่งนั้น เหมือนช่วงที่ผ่านมาเราใช้เวลาเรียบเรียงตัวเอง พอเวลาผ่านไปภาพความเป็น Backyard Architect ก็ชัดเจนมากขึ้น” คุณมีชัย กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณภาพผลงานจาก Backyard Architect