เมื่อประตูบานใหญ่ถูกเปิดออก บรรยากาศโดยรอบทำให้เราจินตนาการไปไกลเหมือนหลุดเข้าสู่โลกของนิทาน ที่มีปราสาทตั้งตระหง่านอยู่หลังกำแพง มีทางเดินทอดยาว สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้และดอกไม้ปกคลุมไปทั่วบริเวณ ภูมิทัศน์รอบบ้านของเชฟอู๋และคุณต้อง ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น โดยเฉพาะตัวบ้านถูกออกโครงสร้างให้มีรูปทรงแปลกตา และก่อด้วยอิฐแดงทั้งหลัง บ้านทรงยุโรป 7 ชั้นหรือที่หลายคนคุ้นกันในชื่อ Red Brick Kitchen by Chef Aue
มุมโปรดของคุณแม่สำหรับทานอาหารเช้า
บ้านหลังนี้คุณพ่อของคุณต้องเป็นคนออกแบบ มีอายุมากว่า 20 ปีแล้ว ตัวบ้านภายนอกเป็นอิฐแดงทั้งหลังจึงทำให้บ้านมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร เชฟอู๋บอกกับเราว่า “หลังจากผมแต่งงานกับคุณต้องก็ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ เดิมการตกแต่งภายในไม่ใช่แบบนี้ คุณต้อง ภรรยาของผมเพิ่งรีโนเวตภายในใหม่ทั้งหมดได้ประมาณ 3 ปี ปรับปรุงบางอย่างให้ดูทันสมัยมากขึ้น อย่างพื้นกระเบื้องหรือผ้าม่านที่เลือกใช้ ในส่วนของห้องนั่งเล่นที่ชั้นหนึ่ง เดิมเป็นห้อง 3 ห้องติดกัน พอรีโนเวตเราก็ทุบกำแพงทิ้งแล้วใช้บานเฟี้ยมแทน เชื่อมห้องทานข้าวกับห้องนั่งเล่นเข้าด้วยกัน ทำให้บ้านดูกว้างและโปร่งโล่งกว่าเดิม”
รีโนเวตห้องรับแขกเชื่อมต่อกับห้องทานอาหาร โดยทุบกำแพงทิ้งทำให้บ้านดูโปร่งโล่งมากขึ้น
ห้องสมุดที่ออกแบบให้มีชั้นวางและห้องเก็บหนังสือ เป็นสัดส่วนดูเรียบร้อย
พื้นที่ในบ้านแบ่งออกเป็น 7 ชั้นด้วยกัน เริ่มจากชั้นใต้ดินที่ออกแบบให้เป็นห้องออกกำลังกายกับห้องโฮมเธียร์เตอร์ ชั้น 1 เป็นส่วนของห้องรับแขก ห้องครัว และห้องทานอาหารที่เชฟอู๋ใช้สำหรับทำ Chef Table ชั้น 2 ถูกออกแบบให้เป็นห้องสมุดขนาดใหญ่กับมุมทานอาหารเช้าที่คุณแม่ของคุณต้องใช้เป็นประจำ ในส่วนของชั้น 3-4 เป็นพื้นที่ส่วนตัวของสมาชิกในบ้าน ชั้น 5 เป็นชั้นลอยไว้สำหรับจัดเก็บอุปกรณ์และรองรับระบบการจัดการของสระว่ายน้ำที่อยู่บนดาดฟ้าของตัวบ้าน
ออกแบบแปลนครัวให้มีไอส์แลนด์ตรงกลาง ช่วยเพิ่มพื้นที่ในการใช้งานให้สะดวกมากขึ้น
เลือกใช้หน้าบานไม้อัดสักพ่นสีเทาให้ตัดกับทอปเคาน์เตอร์สีขาว
ดีไซน์ให้ชุดครัวมีไวท์บอร์ดสำหรับไว้เขียนโน้ตต่างๆ
การรีโนเวตบ้านครั้งนี้ยังรวมไปถึงส่วนของห้องครัวด้วย ซึ่งเชฟอู๋และคุณต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ด้วยความตั้งใจของเชฟที่จะทำ Chef Table ดังนั้นการออกแบบครัวต้องตอบโจทย์กับการใช้งาน “ตอนที่รีโนเวทบ้านผมก็คิดไว้ว่าจะทำ Chef Table จึงมีการพูดคุยปรึกษากันกับคุณต้องว่าเราอยากให้มีฟังก์ชันอะไรในห้องครัวบ้าง เช่น ขอซิงค์ที่มีขนาดใหญ่เวลาล้างหม้อหรือกระทะหลายๆ ใบจะได้สะดวก อยากให้มีไอส์แลนด์ตรงกลางสำหรับเตรียมของ ปลั๊กสำหรับใช้งานควรอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ผมขอพื้นกระเบื้องสีขาวเพราะอยากให้ห้องครัวดูสว่างและสะอาดตา ส่วนเรื่องดีไซน์อย่างอื่นว่าอยากให้เป็นสไตล์ไหน โทนสีอะไรนั้นผมให้คุณต้องช่วยออกแบบ เนื่องจากคุณต้องเองเรียนจบมาทางด้านสถาปัตย์เขาน่าจะถนัดมากกว่า”
ออกแบบให้ส่วนล้างอยู่ตรงกับโครงสร้างเดิมของบ้านที่เป็นหน้าต่าง ช่วยเพิ่มแสงสว่างและทำให้อากาศถ่ายเทสะดวก
เพิ่มฟังก์ชันการจัดเก็บโดยทำตู้แขวนเหนือเคาน์เตอร์ ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย
ลิ้นชักใต้เคาน์เตอร์สำหรับจัดเก็บอุปกรณ์ของใช้ในครัวแยกไว้อย่างเป็นหมวดหมู่
เลือกใช้ที่รองแก้วและที่รองกระทะร้อนมีลวดลายต่างๆ ก็ดูน่ารักดี
สำหรับพื้นที่ในห้องครัวถูกจัดสรรอย่างเป็นระเบียบ มีการออกแบบให้สามารถใช้งานส่วนต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คุณต้องบอกกับเราว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นหลักก็คือเชฟต้องทำอาหารในห้องครัวได้อย่างคล่องตัว “อย่างแรกคือต้องก็ออกแบบให้ตรงกับความต้องการของเชฟ โดยส่วนตัวต้องชอบโทนสีขาวๆ เทาๆ อยู่แล้วก็ตรงกับที่เชฟอยากให้พื้นของห้องครัวเป็นสีขาวพอดี จึงเลือกใช้ 2 สีนี้เป็นหลัก ออกแบบชุดครัวให้เป็นสไตล์คลาสสิกให้เข้ากับบรรยากาศของตัวบ้าน ให้อารมณ์ย้อนยุคนิดๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ดูทันสมัยด้วย”
ออกแบบพื้นที่สัญจรให้กว้างเพื่อคล่องตัวต่อการใช้งาน
ออกแบบตู้แขวนถึงบริเวณเพดาน ใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าและเก็บของในครัวได้มากขึ้นอีกด้วย
สำหรับชุดครัวคุณต้องออกแบบให้เป็นรูปตัว L เลือกใช้หน้าบานไม้อัดสักพ่นสีเทา ในส่วนของทอปเคาน์เตอร์เลือกใช้เป็นหินสังเคราะห์ลายหินอ่อนสีขาว นอกจากดูแลรักษาง่ายแล้วยังสามารถหล่อเป็นอ่างล้างจานขนาดใหญ่พิเศษได้ตามที่ต้องการ ทั้งยังดูสวยงามเป็นชิ้นเดียวกัน ออกแบบให้มีไอส์แลนด์ตรงกลางเป็นพื้นที่ให้เชฟเตรียมของทำ Chef Table ได้สะดวก และยังออกแบบชุดครัวให้มีฟังก์ชันการจัดเก็บสำหรับอุปกรณ์ทำอาหารต่างๆ ของเชฟอู๋ และของสะสมอย่างแก้ว ถ้วย ชามที่คุณแม่ของคุณต้องสะสมไว้ด้วย
เลือกใช้โคมไฟสไตล์อินดัสเตรียลตัดกับความหวานของชุดครัวสไตล์คลาสสิกได้อย่างลงตัว
ดีไซน์ที่ครอบเครื่องดูดควันเพื่อให้ดูกลมกลืนกับหน้าบานชุดครัว
เว้นที่ว่างใต้ไอส์แลนด์ให้สามารถนั่งสอดขาได้ สำหรับนั่งทานอาหารเพิ่มความสะดวกสบายยิ่งขึ้น
หลังจากพูดคุยกับเชฟอู่และคุณต้องเรียบร้อยแล้ว คุณต้องก็อาสาพาพวกเราเดินชมบ้านหลังนี้ตั้งแต่ชั้นใต้ดินไปจนถึงสระว่ายน้ำบนชั้นดาดฟ้า เราเพิ่งสังเกตว่าผนังภายในบ้านถูกทาด้วยสีครีมอมเหลืองอ่อนๆ บางอย่างยังคงไว้ให้เห็นถึงโครงสร้างเดิม บางอย่างก็ถูกรีโนเวทใหม่แต่ยังดูกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว สะท้อนความเป็นตัวตนของสมาชิกที่อาศัยอยู่ภายใต้บ้านหลังนี้ อย่างหนึ่งที่เราประทับใจคือ หน้าบานชุดครัวบานหนึ่งที่คุณต้องออกแบบให้เป็นกระดานไวท์บอร์ดให้ทุกคนสามารถมาเขียนโน้ตทิ้งไว้ ให้ห้องครัวเป็นเหมือนศูนย์กลางของบ้านที่เชื่อมทุกคนเอาไว้ด้วยกัน
เจ้าของบ้าน : เชฟอู๋-จิตติกร รุณทิวา และคุณต้อง-จารวี จารุทัศน์
พื้นที่ใช้งานครัว : 20 ตารางเมตร
บทความจากคอลัมน์ ” Kitchen Series ” นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 127 ประจำเดือนมีนาคม 2560