หนึ่งในของที่ไม่เคยขาดไปจากครัว และอาจเป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกๆ ของครัวที่เรานึกถึงก็คือ “เขียง” แต่รู้ไหมว่าอุปกรณ์รูปทรงเรียบง่าย แต่ทำหน้าที่ชัดเจนนี้มีเรื่องราวอีกหลากหลาย ที่เรายังไม่เคยรู้ วันนี้ @Kitchen จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “เขียง” ให้มากขึ้น
เพื่อนพ้องของเขียง เขียงนั้นมีหลายชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น…
เขียงพลาสติก หาซื้อได้ง่าย น้ำหนักเบา พื้นผิวเรียบสะดวกต่อการใช้งาน มีสี แบบ และดีไซน์ ให้เลือกมากที่สุด ไม่เก็บกลิ่น จึงสามารถขจัดกลิ่นได้ง่าย เพียงเช็ดล้างทำความสะอาดแบบธรรมดาๆ
เขียงไม้ อีกหนึ่งในชนิดของเขียงที่คนนิยมใช้มากที่สุด โดยมีหลายชนิด หลายทรง หลายขนาด มีความแข็งพอเหมาะกับมีดที่หั่นลงไป ทำให้มีดใช้งานได้นาน และยังมีผลวิจัยด้วยว่าเมื่อใช้เขียงไประยะหนึ่งจนมีร่องรอยการใช้งานแล้ว เขียงไม้จะเก็บแบคทีเรียน้อยกว่าเขียงชนิดอื่น
เขียงหิน มีทั้งแบบทำจากหินแกรนิตและหินอ่อน มีความคงทนสูง แต่ก็หนักมาก
เขียงแก้ว เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่มีความแข็งแรง สวยงาม และไม่เก็บกลิ่น แต่ข้อเสียคือความแข็งและลื่นที่นอกจากทำให้เกิดเสียงเอี๊ยดอ๊าดแล้ว ยังทำให้มีดบิ่นเร็วมากด้วย
เขียงยาง ถือเป็นวัสดุชนิดใหม่ เขียงยางมีคุณสมบัติยืดหยุ่น ช่วยลดแรงเสียดสีระหว่างเขียงกับมีด และลื่นน้อยที่สุดในบรรดาเขียงทั้งหมด แต่ข้อเสียคือห้ามโดนน้ำร้อนหรือของร้อนจัดเด็ดขาด
เขียงชนิดไหน ตรงใจเรา เราจะรู้ว่าเขียงชนิดไหนเหมาะกับเรา ให้สังเกตจากปัจจัยต่อไปนี้ ได้แก่ พื้นที่ ดีไซน์ ราคา และอาหาร
พื้นที่ของครัว
มีความสัมพันธ์โดยตรงกับลักษณะของเขียงที่จะเลือกใช้ หากห้องครัวเราเล็ก การใช้เขียงใหญ่ย่อมทำให้ลำบากในการหาพื้นที่วางผึ่งและจัดเก็บ แต่หากห้องครัวใหญ่ จะมีเขียงไว้หลายชนิด หลายขนาด เพื่อแยกใช้งานตามประเภทก็ยังได้
ดีไซน์
หากครัวเป็นแบบวินเทจ เราอาจเลือกใช้เขียงไม้ที่ดูกลมกลืนกัน แต่หากครัวเป็นแบบโมเดิร์น เราอาจอยากเลือกใช้เขียงพลาสติกที่มีสีสันเข้ากับหน้าบานเพื่อความสวยงามก็เป็นได้
ราคา
ถ้ามีงบประมาณไม่จำกัด การได้เขียงแก้วไว้แต่งห้องครัว จัดวางอาหารช่วยเพิ่มบรรยากาศการทำครัวได้ดี แต่หากมีงบจำกัด เขียงพลาสติกที่มีให้เลือกหลายสี อาจจะเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลกว่า
ประเภทอาหารที่เราทำหรือทำบ่อยๆ ย่อมมีผลต่อชนิดเขียงที่จะเลือกอย่างแน่นอน
เช่น หากเน้นทำอาหารประเภทเนื้อ ที่ต้องมีการหั่น สับ เขียงหินที่ทนทาน อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี
แต่หากเน้นทำอาหารเบาๆ พวกผัก ผลไม้ เขียงไม้เล็กๆ พื้นผิวเรียบ อาจจะเหมาะกว่า
ดูแลเขียงให้เคียงครัว
เขียงพลาสติก เขียงแก้ว และเขียงยาง นั้น สามารถนำไปล้างในเครื่องล้างจานได้ ส่วนเขียงไม้เหมาะที่สุดกับการล้างด้วยมือ นั่นคือล้างด้วยสบู่และน้ำร้อน แล้วเช็ดด้วยผ้าสะอาดทันที เมื่อทำความสำอาดแล้ว ให้นำไปวางผึ่งไว้ในที่แห้งและลมโกรกจนกว่าจะแห้งสนิทจริงๆ แล้วจึงเก็บเข้าที่
สำหรับการขจัดกลิ่นอาหารบนเขียง สามารถทำได้โดยใช้มะนาวผ่าซีก ถูกวนบนผิวหน้าของเขียงให้ทั่ว แล้วจึงนำไปล้างออก หากต้องการความสะอาดที่มากขึ้น อาจะจะโรยเกลือลงบนมะนาวผ่าซีกก่อน แล้วจึงถูบนเขียงก็ได้ จะช่วยขัดสิ่งสกปรกที่ตกค้างบนเขียงได้ดีขึ้น
เขียงแต่ละประเภทมีจุดเด่นจุดด้อยในตัวของมันเอง การเลือกเขียงที่เหมาะกับคุณสมบัติการใช้งาน และการดูแลที่เหมาะสม ย่อมทำให้เราใช้เขียงได้อย่างสะดวกและปลอดภัยอยู่คู่ครัวกันไปนานๆ ค่ะ
อ่านเพิ่มเติม — วิธีเลือกเขียง 6 แบบกับการใช้งานที่ต่างกัน