Idea Kitchen & Home

10 วิธีดูแลบ้านช่วงโควิด ให้บ้านสะอาดปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสอันตราย


วิธีดูแลบ้านช่วงโควิด ช่วยดูแลคนในบ้านและลดความเสี่ยง ด้วยอัตราการติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งสูงจนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเชื้อนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และแพร่กระจายผ่านละอองเสมหะจากการไอจามของผู้ที่มีเชื้อทำให้มีไข้และอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ หายใจหอบเหนื่อย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เราจึงรวบรวมวิธีดูแลบ้านเพื่อต้านเชื้อไวรัสนี้มาฝากเป็นแนวทางในการดูแลตัวเองและบ้านกันนะคะ 

10 วิธีดูแลบ้านช่วงโควิด
ให้บ้านสะอาดปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสอันตราย

1.ใส่ใจความสะอาดมือเป็นอันดับหนึ่ง

เพราะในหนึ่งวันเราใช้มือสัมผัสหลายต่อหลายสิ่ง ในช่วงที่เชื้อไวรัสแพร่ระบาดแบบนี้ การล้างมือโดยทันทีที่กลับเข้าบ้านเป็นสิ่งจำเป็นรวมถึงกิจกรรมอื่นๆที่สุ่มเสี่ยงทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายด้วย

  • ล้างมือก่อนและหลังการจัดเตรียมอาหาร
  • ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
  • ล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังการเข้าห้องน้ำ
  • เช็ดมือให้แห้งทุกครั้งหลังล้างมือ

 โดยระหว่างวันสามารถล้างมือด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหลัก และหากมือเปื้อนมากให้ฟอกด้วยสบู่และล้างน้ำอย่างถูกวิธีและเช็ดให้แห้งทุกครั้ง

2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากากอนามัยที่ใช้งานแล้ว

หน้ากากอนามัยเป็นไอเท็มจำเป็นเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ไม่ควรใช้มือสัมผัสหน้ากากระหว่างวันและทุกครั้งหลังใช้ไม่ควรสัมผัสส่วนหน้าของหน้ากาก ให้ใช้วิธีถอดจากสายคาดหูและกำจัดทิ้งทันที  หากหน้ากากอนามัยชื้นหรือเริ่มสกปรกควรถอดและเปลี่ยนใหม่ และควรล้างมือทุกครั้งหลังถอดและใส่หน้ากากอนามัย ที่สำคัญที่สุดคือไม่ควรใช้หน้ากากอนามัยซ้ำเด็ดขาด

3.ไอ-จาม ในบ้านก็ต้องระวัง

ดูแลบ้านไม่ให้มีเชื้อโรคด้วยการใช้ทิชชูปิดปากทุกครั้งที่ไอหรือจามและทิ้งทันทีหลังใช้ หรือหากสมาชิกในบ้านมีผ้าเช็ดหน้าควรจัดการทำความสะอาดให้ถูกวิธีด้วยการซักล้างทันทีทุกวัน

4.จัดการผ้าเช็ดมือให้ถูกวิธี

ทุกครั้งหลังฟอกมือด้วยสบู่และล้างน้ำควรซับมือให้แห้งด้วยกระดาษทิชชู่และกำจัดทิ้งในทันที สำหรับบ้านไหนที่มีผ้าเช็ดมือควรเปลี่ยนผืนใหม่ทันทีเมื่อผืนเดิมเริ่มชื้นและเปียกน้ำ

5.ยิ่งสัมผัสบ่อย ยิ่งต้องทำความสะอาดสม่ำเสมอ

ตรวจสอบส่วนต่างๆของบ้านที่ผ่านการสัมผัสเป็นประจำตั้งแต่ลูกบิดประตู ราวบันได ก๊อกน้ำ มือจับลิ้นชัก ที่พักแขน ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆในบ้าน

ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาด ซับให้แห้ง จากนั้นเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของโซเดียม ไฮโปคลอไรท์ (Sodium hypochlorite) 0.5 %

6.อย่ามองข้ามขั้นตอนซักผ้า

ไม่ควรเขย่าหรือสะบัดเสื้อผ้าที่ใส่แล้วและซักผ้าให้ถี่ขึ้นกว่าปกติ โดยควรซักทำความสะอาดทั้งเสื้อผ้าใส่แล้ว เครื่องนอน และผ้าเช็ดตัวที่ใช้แล้วด้วยอุณหภูมิน้ำที่ 60-90 องศาเซลเซียสและน้ำยาซักผ้า ก่อนจะตากหรืออบแห้งในทันที

7.สวมใส่ถุงมือทุกครั้งเมื่อทำความสะอาดบ้าน

การสวมถุงมือและใส่ผ้ากันเปื้อนเมื่อทำความสะอาดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับส่วนที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส หากใช้ถุงมือแบบใช้แล้วทิ้งควรกำจัดทันทีหลังใช้งาน และหากใช้ถุงมือยางควรทำความสะอาดหลังใช้งานด้วยสบู่และล้างน้ำ จากนั้นล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของโซเดียม ไฮโปคลอไรท์ (Sodium hypochlorite) 0.5 % ที่สำคัญคือควรล้างมือทั้งก่อนและหลังการสวมใส่ถุงมือทุกครั้ง

8.ทำความสะอาดห้องน้ำและส่วนต่างๆของห้องน้ำอย่างน้อยวันละครั้ง

ห้องน้ำเป็นส่วนหนึ่งของบ้านที่ผ่านการใช้งานมากที่สุดต่อวัน ดังนั้นในช่วงที่มีเชื้อไวรัสแพร่ระบาดเราจึงต้องหมั่นทำความสะอาดอย่างน้อยวันละครั้งไม่ว่าจะส่วนมือจับ ก๊อกน้ำ อ่างล้างหน้า ส่วนผิวสัมผัสต่างๆ ด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ ล้างตามด้วยน้ำและรอให้แห้ง จากนั้นล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของโซเดียม ไฮโปคลอไรท์ (Sodium hypochlorite) 0.5%

9.แยกประเภทขยะก่อนกำจัดให้ถูกวิธี

ควรจัดการขยะที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคและทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ เช่น ถุงมือ หน้ากากอนามัย ทิชชู่ใช้แล้ว หรือผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์อื่นๆด้วยการแยกถังขยะต่างหาก และมัดถุงขยะให้สนิทก่อนนำไปทิ้งให้ถูกที่สำหรับขยะติดเชื้อ

10.กินร้อน ช้อนกลาง ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน

แม้จะเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่การหลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกันก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ เช่นแปรงสีฟัน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ระหว่างมืออาหารควรมีแก้วน้ำส่วนตัวของแต่ละคน ใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้ช้อนส้อมและจานชามด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม —
8 วิธีเตรียมตัวช้อปปิ้งนอกบ้านให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส
4 ขั้นตอน ช้อปปิ้งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างไรให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส

ที่มา
กรมควบคุมโรค โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
Coronavirus disease (COVID-19) technical guidance: Infection prevention and control


You Might Also Like...