“บ้าน” ในความหมายของแต่ละคนแตกต่างกันไป บ้านที่สวยอาจไม่ใช่บ้านหลังใหญ่ราคาหลายร้อยล้าน อาจเป็นเพียงบ้านหลังเล็กๆ แต่เปี่ยมไปด้วยความสุข อยู่แล้วสบายใจ และได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราเลือกก็เพียงพอแล้ว เช่นเดียวกันกับคุณแพร-ฉัตรพร นิลธรรมชาติ สาวนักดีไอวายและเจ้าของบ้านดินหลังนี้นี่เอง
บ้านดินขนาด 2 ชั้นสีเหลืองอ่อนดูสดใสตัดกับประตูบานเฟี้ยมสีฟ้าหลังนี้ เกิดขึ้นมาจากสองมือของคุณแพรและเพื่อนๆ ที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันสร้างขึ้น คุณแพรเล่าให้เราฟังว่า
“แพรเคยทำแบรนด์เกี่ยวกับโปรดักต์แฮนด์เมด ซึ่งคอนเซ็ปต์หลักคือการรักษ์โลก เน้นวัสดุเหลือใช้ ผลงานของเราเคยไปออกงานแฟร์ที่ฝรั่งเศสแล้วมีออร์เดอร์หลายพันชิ้นจากลูกค้า เลยคิดว่าไม่ทำดีกว่า เพราะมันไม่ใช่วิธีการรักษ์โลกแบบที่เราต้องการจริงๆ พอดีมาเห็นคอร์สการพึ่งพาตนเองของพี่โจน จันได เป็นคอร์สสอนเกี่ยวกับการอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงิน สอนวิธีการพึ่งพาตัวเอง และมีสอนทำบ้านดินด้วย หลังจากที่เราไปเรียนได้ 21 วัน ความคิดของเราก็เลยเปลี่ยน และคิดว่าจริงๆ แล้วชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรมากมายเลย เพียงแค่เรามีปัจจัย 4 นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราตัดสินใจสร้างบ้านดินหลังนี้ เลยชักชวนเพื่อนๆ ให้มาช่วยกันสนุกๆ เราใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จนเสร็จเป็นรูปเป็นร่าง”
ภายในบ้านถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ชั้นล่างเป็นห้องนั่งเล่นและพื้นที่สำหรับนั่งทำงาน บรรยากาศในบ้านดูอบอุ่น สบายตาด้วยผนังสีน้ำตาลธรรมชาติ ให้ความรู้สึกคล้ายกับอยู่ในบ้านแถวชนบท เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นถูกจัดวางไว้อย่างเรียบง่าย มีมุมสำหรับนั่งเล่นที่สามารถมองเห็นสวนด้านหน้า มีชั้นหนังสือที่ทำมาจากลังไม้ สำหรับวางอุปกรณ์ทำของ DIY ที่คุณแพรรัก “ทุกอย่างมันค่อยๆ สะสมมาตั้งแต่ตอนที่แพรไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พอไปเรียนแล้วเราได้เรียนรู้ชีวิต ธรรมชาติ และผู้คน มันค่อยๆ บ่มเพาะ และหล่อหลอมความเป็นตัวเรามากขึ้น ตอนที่อยู่เชียงใหม่เราอยากจะไปไหนก็ไปได้เลย ไม่เหมือนกรุงเทพฯ ไม่ต้องเจอกับรถติด เราเลยอยากจะสร้างบ้านที่ให้อารมณ์แบบนั้นอยู่ในกรุงเทพฯ ”
ชั้น 2 ของบ้านเป็นพื้นที่สำหรับห้องนอน มีเพียงฟูกที่นอนที่คุณแพรนำมาจัดวางอย่างง่ายๆ คลุมด้วยมุ้งสีขาวน่ารักๆ ภายในห้องสว่างด้วยแสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามาจากหน้าต่างบานกลมที่สั่งทำขึ้นพิเศษ ข้างๆ กันยังมีมุมสำหรับนั่งเล่นที่ขึงไว้ด้วยตาข่าย สามารถมองเห็นชั้นล่างของบ้าน ซึ่งคุณแพรบอกว่าตอนแรกอยากได้เปลญวนเอาไว้นอนเล่นในบ้าน โดยได้ไอเดียนี้มาจากที่นั่งขึงตาข่ายบนเรือใบ สามารถมองลงไปเห็นท้องทะเลด้านล่าง
ตลอดเวลาที่เรานั่งอยู่ในบ้าน รู้สึกถึงความเย็นสบายแม้ว่าจะไม่ได้เปิดแอร์ ต่างจากเวลาที่เราอยู่ในบ้านที่สร้างด้วยปูนหรือออฟฟิศที่เราทำงานกันอยู่ทุกวันนี้ “บ้านดินมีความพิเศษตรงที่ผนังก่ออิฐของเราจะหนาทำให้ใช้เวลาดูดความร้อนได้ช้าขึ้น ตอนกลางวันผนังจะคลายความเย็นจากตอนกลางคืนทำให้บ้านเย็นขึ้น เราชอบความรู้สึกเวลาได้อยู่บ้านดิน เราว่าดินมันให้ความรู้สึกไม่เหมือนปูน ด้วยสัมผัสและสีสัน มันมีความไม่เนี้ยบอยู่ เหมือนกันกับเวลาเราทำของแฮนด์เมดหรือเวลาที่เราทำอาหารทานเอง อาจไม่อร่อยเหมือนที่ร้าน แต่เราได้ปรุงเองกับมือ เกิดเป็นความสุขเล็กๆ ในใจเรา”
บริเวณข้างบ้านเราจะพบกับสวนหย่อมขนาดเล็กที่เต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียวดูร่มรื่น มีเก้าอี้หวายวางอยู่ข้างๆ คุณแพรบอกเราว่ามุมนี้ก็เป็นอีกหนึ่งมุมโปรดที่มักจะมานั่งเล่นอยู่เป็นประจำ “ระหว่างที่เราทำบ้านดิน เราก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ก่อนหน้านี้เราเป็นนักออกแบบ ต้องอยู่ในสังคมของดีไซเนอร์ ต้องพรีเซนต์ตัวเองตลอดเวลาว่าเราจะเป็นอะไร เราต้องสร้าง Story ให้กับผลงานของเราเพื่อให้มันขายได้ พอได้มาลองทำบ้านดินแล้วรู้สึกว่าเราก็สามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้ว่าอยากจะใช้ชีวิตแบบไหน ไม่ต้องใส่ความพยายาม ทุกอย่างมันก็เบาขึ้น เมื่อก่อนเราชอบออกไปข้างนอกหาคาเฟ่นั่งเล่น ตั้งแต่มีบ้านหลังนี้แพรก็ไม่รู้สึกอยากออกไปไหนอีกเลย”
สิ่งสำคัญของการสร้างบ้านดินหลังนี้นอกจากความภูมิใจแล้วนั่นคือความรู้สึกอิ่มเอมใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะคอยหล่อเลี้ยงชีวิตแบบง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องออกไปขวนขวายจากภายนอก เพราะคุณแพรเชื่อว่าความสุขเกิดขึ้นได้จากความพอเพียงนั่นเอง
เรื่อง DUTNO
ภาพ พี่แหลม