แบบบ้านโมเดิร์นลอฟต์ กับโจทย์การสร้างบ้านหลังใหม่ในพื้นที่เดิม
แม้ทำเลที่ตั้งใน ซอยพิบูลย์อุปถัมภ์ จะเต็มไปด้วยผู้คนที่สัญจรไปมาตลอดเวลา แต่คุณเบิร์ด-ชยาทัต ถนอมเกียรติ ก็คุ้นเคยกับบรรยากาศเหล่านี้เป็นอย่างดีตั้งแต่เด็ก เรียกได้ว่าถ้ามองข้ามเรื่องความวุ่นวายโดยรอบออกไป การสร้างบ้านหลังใหม่ในพื้นที่เดิมก็เป็นอะไรที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องการเดินทางที่สะดวก มีของอร่อยๆ ให้เลือกทานมากมายด้วยเป็นย่านชุมชนและมีตลาดอยู่ใกล้บ้าน
ออกแบบตำแหน่งของห้องครัวให้อยู่บริเวณหน้าบ้านให้ความรู้สึกเหมือนมีคาเฟ่ให้นั่งเล่นสบายๆ ได้ในบ้านตัวเอง
โจทย์หลักในการสร้างบ้านหลังนี้นอกจากจะเน้นความเรียบง่ายสไตล์โมเดิร์นแล้ว ยังออกแบบให้มีความเป็นส่วนตัวและน่าอยู่มากขึ้นอีกด้วย
ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 40 ปี คุณเบิร์ด เริ่มต้นเล่าที่มาที่ไปของบ้านหลังนี้
“เดิมตรงนี้เป็นบ้านของคุณแม่กับคุณยาย พอเวลาผ่านไปก็เริ่มทรุดโทรม ตรงนู้นรั่วตรงนี้รั่ว บวกกับน้องชายอยากแยกบ้านด้วยเพราะก่อนหน้านี้เราอยู่รวมกัน ขนาดบ้านจะไม่ใหญ่มาก เป็นแบบบ้านสมัยก่อนที่มีที่จอดรถอยู่หน้าบ้าน ตอนแรกตั้งใจว่าจะรีโนเวทแต่พอให้ช่างมาตีราคาแล้วค่อนข้างสูง เราจึงตัดสินใจทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่เลยน่าจะดีกว่า”
แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนเพื่อสร้างบ้าน 2 หลัง 2 สไตล์
“เราแบ่งพื้นที่กันคนละครึ่ง บ้านของน้องชายจะเป็นสไตล์คอนเทมโพรารี ส่วนบ้านของเราจะเป็นสไตล์ลอฟต์ เน้นการเลือกใช้สัจจะวัสดุ ให้ความรู้สึกดิบๆ ดูเท่ๆ อย่างงานปูน งานเหล็ก
โดยให้โจทย์กับสถาปนิกว่าอยากให้บรรยากาศชั้นล่างเหมือนเป็นสตูดิโอ เป็นร้านกาแฟ ส่วนชั้นบนจะตกแต่งสไตล์สแกนดิเนเวียน เน้นโทนสีขาวกับงานไม้ดูอบอุ่นๆ เพราะให้ความรู้สึกอยู่สบาย
เราออกแบบชั้นบนกับชั้นล่างให้แตกต่างกันเพราะอยากให้บ้านมี Mood & Tone 2 แบบ ถ้าอยากเท่ๆ ขรึมๆ ก็อยู่ชั้นล่าง แต่ส่วนใหญ่เราจะใช้เวลาอยู่ชั้นบนมากกว่าเพราะตื่นเช้าออกไปทำงานกว่าจะกลับมาก็มืดแล้วไม่ได้มีเวลานั่งเล่นด้านล่างเท่าไรนัก”
บ้านหลังนี้เน้นความเรียบง่ายและมีความเป็นส่วนตัว ภายในบ้านเน้นความโปร่งโล่งด้วยการออกแบบเป็น Open Plan และ Double Space
เมื่อเปิดประตูเข้ามาจะเจอกับส่วนของลิฟวิงรูมสำหรับเป็นมุมนั่งเล่นพักผ่อนดูทีวี ออกแบบให้เปิดโล่งต่อเนื่องกันกับส่วนทานข้าวและห้องครัวที่อยู่ด้านข้าง
แปลนครัวรูปตัว I กำหนดฟังก์ชันให้ใช้งานพื้นที่ส่วนเตรียม ส่วนปรุง และส่วนล้างได้ต่อเนื่องกัน
โดดเด่นด้วยการคุมโทนสีเข้มอย่างสีดำและสีเทาโดยเพิ่มลูกเล่นด้วยการเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันและการฉาบผนังปูนแบบหยาบ มิกซ์แอนด์แมตช์ด้วยเฟอร์นิเจอร์งานหนัง งานไม้ ช่วยสร้างบรรยากาศให้รู้สึกอบอุ่น ทั้งยังเบรกความดิบเท่ด้วยสีขาว
และการเลือกใช้ประตูกระจกบานใหญ่มองออกไปเห็นวิวสวนด้านนอก ช่วยให้สเปซชั้นล่างดูกว้างขวางและสบายตามากขึ้น
เพิ่มพื้นที่จัดเก็บด้วยชั้นวางของติดผนัง หยิบใช้งานง่าย และยังช่วยให้ครัวดูโปร่ง ไม่อึดอัด
กรุแผ่นสเตนเลสเหนือพื้นที่ส่วนปรุงเพื่อป้องกันน้ำมันกระเด็นและคราบสกปรกต่างๆ เช็ดทำความสะอาดได้ง่าย
“พื้นที่ชั้นล่างเราบอกกับกับสถาปนิกว่าอยากได้ห้องเก็บของขนาดใหญ่เพราะมีของเยอะ และด้วยขนาดบ้านที่ไม่ใหญ่มาก เรามีที่จอดรถด้านหน้า มีห้องนั่งเล่นที่เป็นเหมือนโถงตรงกลาง
ซึ่งโดยปกติห้องครัวควรจะอยู่หลังบ้าน แต่พอเราอยากได้ห้องเก็บของตำแหน่งห้องครัวจึงต้องย้ายมาอยู่หน้าบ้านแทน ตอนแรกสถาปนิกจะออกแบบเป็นห้องครัวทึบ มีแปลนครัวรูปตัว U แต่เราอยู่กันแค่ 2 คน ไม่ค่อยอยู่บ้าน ครัวคงไม่ค่อยได้ทำอาหารอะไรมากมายนัก
เราเลยเปลี่ยนจากกำแพงทึบเป็นกระจกแทน แล้วเปลี่ยนแปลนครัวเป็นรูปตัว I ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ออกแบบเป็นเคาน์เตอร์เหล็กสำหรับนั่งทานข้าวหรือนั่งเล่นให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคาเฟ่และดูกลมกลืนกับส่วนอื่นๆ ของบ้านด้วย”
ห้องครัวสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องกันกับมุมทานข้าวและห้องนั่งเล่น
ในส่วนของชุดครัวคุณเบิร์ดเลือกใช้แบรนด์ Starmark
โดยเริ่มต้นจากชื่นชอบดีไซน์และความโดดเด่นของหน้าบานลามิเนตที่มีลวดลายและโทนสีคล้ายสนิมให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากครัวทั่วไป
อีกทั้งยังเข้ากับวัสดุหลักของบ้านที่ส่วนใหญ่เลือกใช้เป็นเหล็ก ติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์เท่าที่จำเป็นอย่าง เตาแก๊ส เครื่องดูดควัน เตาอบ และซิงก์
โดยออกแบบให้มี พื้นที่จัดเก็บ ใต้เคาน์เตอร์ ติดตั้งชั้นวางบริเวณผนังสำหรับวางแก้ว ถ้วย จาน ชาม ไปจนถึงอุปกรณ์ที่หยิบใช้งานบ่อยๆ ถึงครัวจะมีขนาดไม่ใหญ่มากแต่ก็ครบครัน ใช้งานได้สะดวกและคล่องตัวสุดๆ
ติดตั้งซิงก์เข้ากับชุดครัวสะดวกต่อการใช้งาน
บิลต์อินเตาอบเข้ากับชุดครัวใช้งานได้คล่องตัวและดูกลมกลืนสวยงาม
“ตอนแรกที่เราตั้งใจออกแบบเป็นประตูกระจกเพราะอยากเปิดให้อากาศถ่ายเท แต่บ้านเราอยู่บริเวณ 3 แยกพอดี สุดท้ายก็ไม่ค่อยได้เปิดเพราะมีฝุ่นค่อนข้างเยอะเลยติดตั้งเครื่องดูดควันเพิ่ม แต่เอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่ได้ทำอาหารหนักอะไร อย่างมากก็แค่ทำไข่เจียวกับต้มมาม่า เราเลยเลือกใช้เตาแก๊สเพราะไปอ่านรีวิวมาว่าเตาไฟฟ้าทำไข่เจียวไม่อร่อย (หัวเราะ) ด้วยบ้านเราอยู่ใกล้ตลาดพอหิวก็เดินไปสั่งข้าวกะเพราหมูกรอบร้านอาหารตามสั่ง มีร้านผัดไทยอยู่ข้างๆ เวลาไม่สบายก็เดินไปร้านขายยา
ทุกอย่างสะดวกสบายนี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราเลือกจะอยู่ที่เดิม อาจจะดูแออัดหน่อยแต่เราคุ้นชินแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เรารับได้กับคนเยอะ รถเยอะ เพียงแค่ใช้การออกแบบเข้ามาช่วยให้บ้านเรามีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เรามองไม่เห็นเขา เขามองไม่เห็นเราก็พอแล้ว”
แบ่งหมวดหมู่จัดเก็บอุปกรณ์ภายในลิ้นชักให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
ดีไซน์ช่องสำหรับใส่ถังแก๊สช่วยให้ครัวดูเรียบร้อยสวยงาม ไม่รกสายตา
ติดตั้งที่แขวนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้งานเป็นประจำ มองเห็นและหยิบใข้งานได้คล่องตัว
กว่าจะได้บ้านที่ชอบแบบที่ถูกใจก็มีเรื่องให้หนักใจไม่น้อย
“ของตกแต่งบ้านกับเฟอร์นิเจอร์ ต่างๆ เราเลือกกับแฟนทุกชิ้น
ตอนแรกที่ทำบ้านเราจ้างเขามาทำ 2 ส่วนด้วยกันคือภายนอกกับภายใน แต่พอเขาลองทำแบบมาแล้วไม่ตรงกับที่เราอยากได้หรือชอบเท่าไรเพราะเรามีภาพในหัวประมาณหนึ่งว่าสิ่งที่เราชอบคืออะไร
บวกกับก่อนหน้านี้เรามีปัญหาเรื่องผู้รับเหมาเลยทำให้ต้องเข้ามาดูงานเอง จึงกลายเป็นว่าจากที่ไม่ได้สนใจอะไรเพราะคิดว่าให้สถาปนิกช่วยดูแล้วก็ต้องเข้ามาดูเอง ทำให้เราต้องทำการบ้านอย่างหนัก ดูแบบจากใน Pinterest ว่าเราอยากได้แบบไหนแล้วไปหาซื้อมาตกแต่งมุมนั้นมุมนี้ อย่างผนังส่วนต่างๆ ก็เลือกวัสดุเองว่าส่วนของหลังทีวีเป็นกระเบื้องนะ ตรงส่วนทานข้าวเป็นปูนเปลือย ตรงห้องครัวเป็นผนังปูนฉาบหยาบทาสีดำ”
มือจับดีไซน์เรียบง่ายเข้ากับชุดครัวดีไซน์เท่
บ้านหลังแรกที่สร้างเองเป็นอย่างที่คิดไว้ 100%
“สุดท้ายพอบ้านเสร็จเราก็รู้สึกภูมิใจนะ เป็นแบบที่เราชอบน่าจะ 100% เลย เพราะตั้งแต่มีปัญหาเรื่องผู้รับเหมาเราก็เข้ามาดูเองตลอด พอเข้ามาทุกวันทำให้รู้ว่าตรงนี้เราอยากได้อะไร จะปรับอะไร ทุกอย่างที่เลือกมาตกแต่งเราจะหาจนกว่าจะได้ชิ้นที่ชอบแล้วค่อยซื้อ เพราะถ้าซื้อมาแล้วไม่รู้จะจัดวางตรงไหน หรือซื้อมาเก็บๆ ไว้สุดท้ายบ้านรกดูไม่สวย อย่างพวกต้นไม้กับสวนด้านนอกเราก็ค่อยๆ ซื้อมาปลูกมาตกแต่งเพิ่มทีหลัง บ้านจะได้มีสีเขียวบ้างให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ มองแล้วสบายตา
เคาน์เตอร์บาร์สำหรับนั่งทานข้าวและนั่งเล่นสบายๆ ได้ในห้องครัว
สุดท้ายแล้วสถาปนิกเขาก็อยากออกแบบบ้านที่เจ้าของอยู่แล้วมีความสุข ถ้าเรามีไอเดียอะไรก็บอกเขาได้ แต่บางอย่างที่ไม่โอเคจริงๆ เขาก็จะแนะนำ ซึ่งพอบ้านเสร็จออกมาเป็นอย่างที่ตั้งใจแล้วเราอยู่สบายผมว่าแค่นี้ก็โอเคแล้วนะ แต่ถ้าจะมีบ้านอีกหลังผมคงไปซื้อในหมู่บ้านที่หิ้วกระเป๋าเข้าไปอยู่ได้เลยเพราะคงไม่ปวดหัวและเหนื่อยเหมือนทำบ้านเองแบบนี้แน่ๆ (หัวเราะ)”