“จริงๆ เราออกแบบงานได้หลายแนว แต่ในแง่ภาพลักษณ์ของบริษัทเราอยากทำให้ดูชัดเจนใดด้านใดด้านหนึ่ง เราคุยกันว่าจะแต่งตัวให้บริษัทนี้ยังไง เพราะเป็นบริษัทออกแบบทั่วไป เลยคิดว่าการสร้างให้มีตัวตนขึ้นมาน่าจะทำให้คนจดจำและเข้าถึงได้ง่าย เราเลยเซ็ตให้ Collective Studio เป็นผู้ชายง่ายๆ มีบุคลิกสบายๆ มีความตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม” ซึ่งนี่คือความตั้งใจของคุณกอล์ฟ – กอบชัย ลิมปนเทวินทร์ (สถาปนิก) และคุณบอม – ชัชนรินทร์ พราหมณพันธุ์ (ไดเร็กเตอร์) ที่ทำให้บริษัท Collective Studio ยืนหยัดมาทุกวันนี้
ก่อนจะมาเป็น Collective Studio
กอล์ฟ : ผมเรียนด้านสถาปัตยกรรม ทำงานอีเวนท์แต่ไม่ใช่สถาปัตย์ทีเดียว งานอีเวนท์ได้ออกแบบอะไรที่หลากหลาย รวดเร็วและไม่มีข้อจำกัดมาก
บอม : ผมจบคอมมูนิเคชันดีไซน์ด้านกราฟิก ช่วงที่อยู่บริษัทเดียวกับคุณกอล์ฟผมทำกราฟิกของงานอีเวนท์ หลังจากนั้นไปทำบริษัทอินทีเรียในส่วนของกราฟิกดีไซน์ เพราะอินทีเรียมีงานกราฟิกเข้าไปผสมเลยเริ่มชอบและสนุก ผมว่าการนำสิ่งที่ไม่เหมือนกันมาผสมให้มันคอลเลคทีฟจะมีความคิดด้านอื่นๆ ลงไปในงาน เป็นงานที่มีความคิดหลายๆ ด้านมารวมกันแล้วทำให้งานสนุก
กลับมาเจอกันอีกครั้ง
หลังจากแยกย้ายกันไปเรากลับมาเจอกันอีกทีหนึ่งเพราะมีโปรเจ็กต์ใหม่ที่ได้ทำร่วมกัน คุยกันว่าอยากเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง ซึ่งเราอยากให้เป็นบริษัทออกแบบที่มีการรวบรวมสิ่งต่างๆ หลายๆ แนวคิดเข้าด้วยกัน ทั้งในด้านของคุณบอมและผมร่วมให้เป็นงานหนึ่งงาน ซึ่งนี่คือวัตถุประสงค์ที่เราตั้งใจให้เกิดเป็นบริษัทนี้ขึ้นมา
Collective Studio เน้นงานออกแบบเท่ๆ อย่างเดียวหรือเปล่า
บริษัทอินทีเรียดีไซน์มีเยอะ ซึ่งทุกคนก็สามารถทำงานได้ทุกแนว แต่ธุรกิจคือการแข่งขันเราเลยสร้างตัวตนให้กับองค์กร มีคาแร็กเตอร์ชัดเจนเพื่อให้คนเข้าถึงง่าย จดจำง่าย แต่ในเรื่องของสไตล์การทำงานเราทำได้ทุกสไตล์อยู่แล้ว แค่สร้างตัวตนขึ้นแต่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นแนวนี้เท่านั้น และที่ผ่านมาเราออกแบบงานเกือบทุกประเภททั้ง ร้านอาหาร ออฟฟิศ คอนโด บ้าน โรงแรม
เกินความคาดหมายกับรางวัลที่ได้รับ
เราออกแบบโชว์รูมคาวาซากิได้รางวัลในสาขา Retail Interior ของ Asia Pacific Property Awards 2018-2019 และได้รับรางวัล Special Mention ในประเภท Retail Architecture ของ German Design Award 2019 เป็น 2 รางวัลที่เราไม่ได้คาดหวังเลย ผมว่าเราทำโชว์รูมที่นี่ต่างจากโชว์รูมคาวาซากิที่อื่นๆ ซึ่งเป็นโมเดิร์น เรามีแบ็คกราวนด์ในการทำอีเวนท์มาก่อนเราจะรู้ว่าสิ่งไหนที่ควรเก็บไว้ อะไรนำมาเล่นได้หรือไม่ได้ ดังนั้นคาวาซากิที่จังหวัดแพร่จึงมีความแตกต่าง เราทำให้เหมือนโรงงานอุตสาหกรรมของคาวาซากิในยุคโบราณ มันเลยมีเรื่องราวสร้างบรรยากาศให้แตกต่างออกไป
ของเดิมเป็นอาคารเก่าแล้วนำมารีโนเวทใหม่ มันดีในแง่การปรับปรุงอาคารเพื่อให้เกิดการใช้งานใหม่ที่ดีขึ้นด้วย อีกอย่างภาพลักษณ์แบรนด์เขาดูทันสมัย เป็นเรื่องของเทคโนโลยี จริงๆ ค่อนข้างยากที่นำสองสิ่งนี้มาผสมกัน เพราะโปรดักต์เขาไม่มีอะไรที่เป็นวินเทจ เป็นรถทันสมัยเป็นรถในอนาคตที่เน้นความแรงโฉบเฉี่ยว พอสองอย่างนี้รวมกันเลยอาจทำให้เราได้รับรางวัล
งานออกแบบโรงแรมก็ได้รับรางวัล
ผลงานออกแบบ Hostel ‘SRI’ AYUTHAYA ได้รับรางวัล MERIT (รางวัลชมเชย) ในสาขา Hospitality ของ IDA (Interior Design Award 2018) จากงาน BCI ASIA AWARDS 2018 เราพยายามเน้นสตอรีในการออกแบบ ทำให้ดูชัดเจนมีที่มาที่ไป เป็นโฮสเทลที่อยู่ที่จังหวัดอยุธยา เราคิดเรื่องราวว่าที่นี่น่าจะเป็นเรื่องของการค้าขายในอดีต เราก็เอาการตกแต่งเข้าไปใส่
แนวคิดในการทำงานของ Collective Studio
เวลาเราออกแบบงานสักงานหนึ่งต้องทำในสิ่งที่เขาคาดไม่ถึงมากกว่าสิ่งที่เขาคาดหวัง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องการ ส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาหานักออกแบบคือ ทำในสิ่งที่เขาไม่สามารถคิดได้ ดังนั้นหน้าที่เราคือ ทำอย่างไรให้ได้มากกว่าสิ่งที่เขาคาดหวัง เรื่องรองลงมาก็คือ เราต้องเข้าใจว่างานอินทีเรียไม่ได้จบแค่ภาพเปอร์สเปคทีฟ การประสบความสำเร็จคือ การสร้างงานออกมาแล้วมันสวย ใช้งานได้ดี อยู่ในงบที่เขากำหนด ทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จหรือเป็นบ้านที่อยู่แล้วสบาย ฉะนั้นปลายทางไม่ได้จบแค่แบบสวยๆ แต่ต้องใช้ได้จริงเพราะนั่นป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
Collective Studio ในอนาคต
จริงๆ แล้วเราไม่ค่อยได้มานั่งคุยกันเท่าไหร่กับเรื่องว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง แต่แค่รู้สึกว่ามันดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เราทำมา เราไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไรต่อไป พวกเรามองภาพเป็นปีๆ เป็นช่วงๆ มากกว่า ไม่ได้มองเป้าหมายไปไกล คิดว่าปีหน้าจะพัฒนาบริษัทให้ดีกว่าปีนี้อย่างไร เริ่มคิดว่าปีหน้าเราจะทำอะไรให้มากขึ้นกว่าเดิม และถ้าทำสิ่งนั้นได้ผมว่าอันนั้นแหละประสบความสำเร็จสำหรับพวกเราแล้ว
http://www.collectivestudio.biz
เรื่อง วาสสุคนธ์ เอกประดิษฐ์
ภาพ อรรถพล ธัญญากิจ /collective studio