วงการศิลปินด้านประติมากรรมของไทยนั้น มีนักสร้างสรรค์จำนวนไม่มากนัก เพราะการทำงานประติมากรรมมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการปั้นรูป สร้างต้นแบบ ทำแม่พิมพ์ จากนั้นจึงหล่อด้วยปูนเป็นรูปจริงขึ้น หางต้องการให้มีความแข็งแรงทนทานก็จะนำไปถอดพิมพ์เป็นขี้ผึ้งแล้วหล่อด้วยทองแดง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้งานสร้างสรรค์ด้านประติมากรรมมีจำนวนไม่มากเท่าสาขาศิลปะด้านอื่นๆที่เป็นงานแบบ 2 มิติ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้นาย ซี. เฟโรจี ช่างปั้นชาวอิตาลีเข้ามาปฏบัติงานปั้นอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ 1 ทำให้เกิดงานประติมากรรมแนวเหมือนจริงแบบตะวันตกขึ้น นายซี. เฟโรจี ทำงานอยู่ในประเทศไทยนานเข้าก็เลยเกิดความผูกพันกับคนไทย โดยเฉพาะมีความเคารพสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ จึงได้อยู่เมืองไทยปฏิบัติงานประติมากรรมอนุสาวรีย์ชิ้นอื่นๆต่อมาอีกหลายปี
ต่อมาภายหลังท่านเปลี่ยนชื่อเป็น “ศิลป์ พีระศรี” และได้ร่วมมือกับกรมศิลปากรก่อตั้ง “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ขึ้นในปี พ.ศ .2477 เพื่อสอนงานศิลปะทั้งแนวไทยประเพณีและแนวตะวันตกให้กับประชาชนชาวไทยได้ศึกษาเล่าเรียน จนกระทั่งในปี พ.ศ.2486 ก็ได้ปรับสถานะตั้งขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” โดยการสนับสนุนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในระยะแรกๆมีเปิดสอนอยู่ 2 คณะ คือ คณะจิตรกรรมและคณะประติมากรรม ซึ่งสามารถผลิตประติมากรที่มีฝีไม้ลายมือออกมาทำงานรับใช้บ้านเมืองทั้งงานประติมากรรมอนุสาวรีย์และประติมากรรมด้านอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมพินี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนถึงปัจจุบันที่เพิ่งสร้างเสร็จไปไม่นานก็คืออนุสาวรีย์ที่อุทยานราชภักดิ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานอนุสาวรีย์จะมีเรื่องราวและแนวคิดที่เกี่ยวกับพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ในรูปแบบแตกต่างกันไป ซึ่งในช่วงเวลานี้ประติมากรรุ่นหนุ่มสาวหลายคนได้รับความประทับใจจากภาพและเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้สร้างประติมากรรมเกี่ยวกับพระองค์ขึ้น และรวบรวมมาจัดแสดงเผยแพร่ ณ หอศิลป์ของมหาวิทยาลัยเพาะช่าง ถนนตรีเพชร กรุงเทพมหานคร
ประติมากรทั้ง 3 คนที่ทำแนวคิดเรื่อง “ภาพในความทรงจำ” ของแต่ละคนมาจัดแสดงเป็นอาจารย์สอนด้านประติมากรรมอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง
อาจารย์ธุดงค์ สุขเกษม สร้างผลงานจากการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อทรงงานในพระราชกรณียกิจต่างๆตลอด 70 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ทุ่มเทการทรงงานเพื่อพลิกฟื้นฝืนแผ่นดินให้ประชาราษฎร์ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข จากแนวคิดดังกล่าวอาจารย์ธุดงค์จึงสร้างผลงานจากเรื่องราวของพระองค์ในช่วงเวลาต่างๆ เพื่อสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อพ่อของแผ่นดิน
อาจารย์ทรงศักดิ์ นามโพธิ์ ได้แรงบันดาลใจจากภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่างๆทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะยากลำบากหรือทุรกันดานเพียงใด พระองค์ก็เสด็จไปสดับรับฟังและทรงแก้ไขปัญหาของประชาชน ภาพเหล่านี้เป็นความประทับติดตาตรึงใจ อยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน ความผาสุก ความร่มเย็นของปวงชนชาวไทยที่อยู่ใต้ร่มพระบารมีจึงเป็นแรงผลักดันให้ศิลปินถ่ายทอดผลงานเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ แสดงภาพแห่งความดีและความงดงามแห่งบารมีให้ปารากฎออกมาในประติมากรรม
อาจารย์เปี่ยมจันทร์ บุญไตร ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพในความทรงจำที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในช่วงเวลาต่างๆเช่น ช่วงที่ทรงพระเยาว์ ทรงเลี้ยงสัตว์ และช่วงที่ทรงอยู่กับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถสิริกิติ์ ภาพความทรงจำที่อาจารย์เปี่ยมจันทร์ประทับใจค่อยๆปรากฎออกมาเป็นประติมากรรมที่ศิลปินต้องการสร้างความสุข สร้างรอยยิ้มและความรู้สึกแห่งความอบอุ่นที่อยู่ในหัวใจของชาวไทยทุกคน
บทความจากคอลัมน์ “Art Room” นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 132 ประจำเดือนสิงหาคม 2560