Lifestyle & Cooking People

สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ออกแบบอย่างเข้าใจและเชื่อมโยงถึงกัน


คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ กับการทำงานด้านแลนด์สเคปและสถาปัตยกรรมมากว่า 20 ปี ด้วยประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย และมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเชื่อมโยงถึงกัน ผลงานที่ออกมาจึงสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจของผู้ออกแบบและทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ด้วยงานดีไซน์ จากสิ่งเหล่านี้ทำให้ผลงานของคุณสุริยะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และได้รับรางวัลมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โฮมออฟฟิศของ Walllasia ซ่อนตัวอยู่ในซอยเสรีไทย 33 มีการออกแบบตกแต่งที่โดดเด่นกว่าทาวน์เฮาส์หลังอื่นแต่ทว่าดูกลมกลืนกับธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ด้วยการเลือกใช้โทนสีดำและเทาภายนอกดูเข้มรึม เราเดินผ่านทาวน์เฮาส์ด้านหน้าที่เป็นส่วนของออฟฟิศไปยังห้องประชุมที่อยู่ในส่วนของทาวน์เฮาส์ยูนิตข้างหลัง มีพื้นที่คอร์ทตรงกลางที่เปิดโล่งและเชื่อมต่อกันด้วยมุมสวนเล็กๆ เดินผ่านทางเดินที่เลือกใช้เหล็กฉีก มองเห็นด้านล่างที่ออกแบบให้เป็นบ่อน้ำโดยมีฝูงปลาว่ายวนไปมา เป็นการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาเรื่องแสงและการระบายอากาศที่พบในทาวน์เฮาส์ทั่วไป และยังสร้างบรรยากาศในออฟฟิศให้ร่มรื่นใกล้ชิดธรรมชาติอีกด้วย

“ก่อนหน้าที่จะมาทำงานด้านสถาปัตยกรรมเราทำงานมาค่อนข้างหลากหลาย หลังจากเรียนจบครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เริ่มต้นจากเขียนภาพสถาปัตยกรรมและออกแบบของ Souvenir ให้กับทางจิม ทอมป์สัน เกี่ยวกับโปรดักต์ที่มีความเป็นไทย ก่อนจะมาเริ่มต้นทำงานด้านแลนด์สเคปซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำปี 40 พอดี ถ้าจะมองในแง่ดีคือทำให้เรามีโอกาสได้ทำงานหลายอย่าง งานที่เกี่ยวกับ Exhibition ก็เคยทำ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เรามีประสบการณ์และนำมาต่อยอดในการทำงานด้านสถาปัตยกรรมอย่างทุกวันนี้” คุณสุริยะเริ่มต้นแนะนำตัวเองก่อนจะชวนพูดคุยถึงผลงานชิ้นต่างๆ

WALLLASIA2

WALLLASIA1
ขอบคุณภาพโฮมออฟฟิศ WALLLASIA จาก: คุณฉัตรชัย เจริญพุฒ

“งานชิ้นแรกคือ ผมไปช่วยหลานสร้างกุฏิที่วัดเขาพุทธโคดม จังหวัดชลบุรี เนื่องจากหลานไปบวชอยู่ที่นั่นได้ประมาณ 5 ปี และเป็นธรรมเนียมของทางวัดว่าต้องสร้างกุฏิกันเองจากของที่มีทั้งหมดในวัด สร้างด้วยกำลังของพระและเณร ผมก็เข้าไปช่วยทำช่วยออกแบบ นั่นคืองานแรกที่ทำ ด้วยความงามอันแปลกตาจากกุฏิที่เคยพบเห็นได้ทั่วไป ทำให้ทางนิตยสาร Art4D มีความสนใจและตีพิมพ์ผลงานชิ้นนี้ อีกทั้งยังส่งประกวดให้จนได้รับรางวัล AR Awards for emerging architecture 2006 ซึ่งตอนนั้นผมเองไม่รู้เลยว่ารางวัลนี้เป็นอย่างไร เพราะก่อนหน้านั้นผมเองไม่ได้ทำงานด้านสถาปัตยกรรมเต็มตัว แต่หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ทำงานอีกหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นหอไตร อาคารปฏิบัติธรรม ห้องเก็บของ ให้กับวัดป่าวชิรบรรพตด้วย” หลังจากนั้นผลงานของคุณสุริยะก็ได้รับรางวัลอีกมากมายและเป็นที่รู้จักของคนในวงกว้าง

3

สิ่งที่คุณสุริยะให้ความสำคัญคือเรื่องของความเข้าใจและเชื่อมโยงถึงกันในการออกแบบงานชิ้นนั้นๆ “ผมมองว่างานออกแบบหนึ่งชิ้นเกี่ยวข้องกับหลายศาสตร์ จะออกแบบอาคารหนึ่งหลังต้องดูบริบทโดยรอบ ลักษณะพื้นที่ แสง ลม การใช้งาน อารมณ์ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัย การสร้างเรื่องราวให้กับการออกแบบ ตลอดจนต้องช่วยแก้ปัญหาในเรื่องงานก่อสร้างด้วยนี่แหละคืองานดีไซน์”

อาคารที่พักปฏิบัติธรรม 1

อาคารที่พักปฏิบัติธรรม 3
ขอขอบคุณภาพอาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรม วัดป่าวชิรบรรพต จาก: คุณภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน 

สำหรับผลงานที่คุณสุริยะทำอยู่ขณะนี้ค่อนข้างมีความหลากหลาย มีความโดดเด่นและน่าสนใจแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรมหญิงวัดป่าวชิรบรรพต “ผมใช้เวลาในการออกแบบประมาณ 4-5 ปี คอนเซ็ปต์คือออกแบบให้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เหมือนนำกล่องสีขาวไปใว้ในภูเขา โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีอยู่และความสามารถของทีมช่างเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องการก่อสร้าง และต้องประหยัดจึงเลือกสร้างเป็นอาคารคอนกรีต ผสมผสานระหว่างโครงสร้างที่เป็นงานปูนเปลือยและผนังสีขาว เน้นความโปร่งโล่งสบาย มีทางเดินยาวที่มีช่องแสงและช่องลมขนาบอยู่ทั้งสองข้างและด้านบนด้านล่าง

อาคารที่พักปฏิบัติธรรม 2

อาคารที่พักปฏิบัติธรรม 4
ขอขอบคุณภาพอาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรม วัดป่าวชิรบรรพต จาก: คุณภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน 

“โดยระเบียงที่พักมีขนาดแตกต่างกันอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากจังหวะสวดมนต์และการกำหนดลมหายใจ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 (1) / 1 2 3 4 5 6 7 8 9 (2) / 1 2 3 4 5 6 7 8 9 (3) คือ 1-9 หมายถึงการนับเพื่อฝึกสมาธิ (1)(2)(3) คือการนับเพื่อฝึกสติ ผมนำสิ่งนี้มาใส่ไว้ในงานออกด้วย บริเวณดาดฟ้าเป็นลานโล่งและมีน้ำล้อมรอบเหมือนเป็นราวกันตก สะท้อนให้เห็นเงาของภูเขา เป็นการดึงธรรมชาติภายนอกเข้าสู่ภายในให้ความรู้สึกนิ่งและสงบ”

“นอกจากนี้ผมยังออกแบบอาคารเก็บของให้กับทางวัดด้วย โดยใช้แนวคิดสร้างตัวอาคารให้กลมกลืนไปกับพื้นที่และสภาพแวดล้อม เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างอยู่ภายในบ่อดินที่แห้ง ไม่มีน้ำมากว่า 20 ปี เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพของภูเขาด้านหลังและธรรมชาติโดยรอบ ภายในแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างสำหรับเก็บของ ส่วนชั้นบนเป็นที่พักผู้ปฏิบัติธรรม ออกแบบให้เรียบง่าย อากาศถ่ายเท เน้นเรื่องประโยชน์ใช้สอยและคุณค่าทางจิตใจ ใช้เทคนิคการก่อสร้างของช่างในท้องถิ่น และเลือกใช้วัสดุที่หาซื้อได้ในพื้นที่ และมีราคาย่อมเยา เช่น เหล็ก ซีเมนต์บอร์ด และเมทัลชีท”

Oui J,aime2
ขอขอบคุณภาพจาก: คุณภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน

จริงๆ แล้วคุณสุริยะไม่ได้มีเพียงผลงานที่เกี่ยวข้องกับวัดเท่านั้น แต่ยังมีผลงานด้านแลนด์สเคปที่ทำต่อเนื่องยาวนานจนถึงทุกวันนี้กว่า 20 ปี และการออกแบบบ้าน โรงแรม อาคารพาณิชย์ รวมไปถึงผลงานล่าสุดที่กำลังเป็นที่สนใจคือ Oui J’aime โรงแรมและร้านขนมเปี๊ยะตั้งเซ่งจั๊ว ที่เป็นตำนานเก่าแก่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา “เริ่มจากทางเจ้าของเคยเห็นผลงานที่เกี่ยวกับวัดของเรา จึงอยากให้ไปช่วยออกแบบงานชิ้นนี้ให้ ด้วยข้อจำกัดของลักษณะพื้นที่ ทำให้อาคารที่สร้างได้นั้นมีรูปทรงที่ผอมบาง จึงเลือกใช้เหล็กในการก่อสร้าง มองจากภายนอกให้ความรู้สึกสุขุมแต่ดูอบอุ่นด้วยงานไม้ ที่ตกแต่งให้มีกลิ่นอายของบ้านไม้เก่าแบบจีน เหมือนย่านชุมชนตลาดเก่าที่มักพบเจอในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียง”

“ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่จึงต้องจัดสรรและออกแบบให้ลงตัว โดยชั้นล่างจะเป็นส่วนของร้านขายขนมตั้งเซ่งจั๊ว มีบันไดทางขึ้นที่เลือกใช้เป็นหินแกรนิตสีเขียว แท่งหยก และเลือกใช้สีแดงเข้ามาตกแต่ง ตามหลักความเชื่อของคนจีนว่าเป็นสีนำโชค ส่วนของชั้น 2 ออกแบบเป็นพื้นที่อเนกประสงค์และห้องส่วนตัวของเจ้าของ ชั้น 3-4 เป็นส่วนของโรงแรม มีการสร้างเรื่องราวให้โครงสร้างด้วยการทำให้เกิดเลเยอร์แสงและเงา จากวัสดุผนัง (Facade) ที่เป็นเหล็กพับเจาะรู เมื่อมีคนเดินผ่านจะเกิดเป็นเส้นสายที่เคลื่อนไหว เหมือนที่เราเคยเห็นตามงานแสดงศิลปะ อีกทั้งยังช่วยกรองแสงเวลากลางวันและสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับทางเดินอีกด้วย

Oui J,aime1
ขอขอบคุณภาพจาก: คุณภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน

“และยังนำแนวความคิดการทำลายความคาดหวังของคนมาใช้ เพื่อให้ผู้เข้าพักละทิ้งเรื่องของขนาดพื้นที่ ผ่านลำดับการเดินเข้าถึงห้องพัก โดยจัดวางให้มีมุมสวนส่วนตัว มีจุดนั่งพักผ่อนก่อนที่จะแยกเขาสู่ห้องนอน ตลอดจนการปลูกต้นไม้ตลอดแนวด้านหน้า เพื่อแยกความเป็นส่วนตัวของตัวอาคารออกจากถนน ตรงนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องความรู้สึกของคน ไม่เกี่ยวกับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมว่าเป็นอย่างไร แต่เราออกแบบความรู้สึกของคนเมื่อเข้าไปแล้วรู้สึกอย่างไรมากกว่า ตรงนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ ความเข้าใจ และมองทุกอย่างให้เชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งการจะทำงานสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่งนั้นต้องมีองค์ความรู้มากมายประกอบเข้าด้วยกัน”


You Might Also Like...