คุณมินต์-ฉัตรชัย ดีสวัสดิ์ อดีตวิศวกรที่เข้ามารับช่วงการทำสวนมะนาวจากคุณพ่อ โดยนำความรู้ทางสายวิศวกรรมที่เขาได้ร่ำเรียนมาต่อยอดพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการทำคาเฟ่อยู่ท่ามกลางสวนมะนาว อีกหนึ่งความตั้งใจที่อยากให้ที่นี่เป็นฟาร์มกึ่งเรียนรู้ที่มีมะนาวเป็นเรื่องหลักแล้ว เขายังมุ่งมั่นผลักดันให้มะนาวไทยสามารถเป็นสินค้าส่งออกที่มีคุณภาพอีกด้วย
จากฟาร์มกล้วยไม้สู่ฟาร์มมะนาว
คุณพ่อทำอาชีพเกษตรมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อ 40 ปีที่แล้วเขาเคยปลูกมะนาวมาก่อน จากนั้นหันมาปลูกกล้วยไม้ เพราะให้ผลผลิตที่ดีกว่า เราส่งออกกล้วยไม้ไปญี่ปุ่น 15 ปีผ่านมาเศรษฐกิจในญี่ปุ่นค่อนข้างแย่ทำให้ตลาดกล้วยไม้ซบเซา คุณพ่อเลยกลับมาทำสวนมะนาว แต่ก็เกิดวิกฤตจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 อีกครั้ง แล้วปีนั้นก็เป็นปีที่มะนาวราคาขึ้น ทุกคนกลับมาปลูกมะนาวกันหมด
จากนั้นอีก 2 ปีราคามะนาวถูก ต้นมะนาวที่สวนเรากำลังโตและออกลูกเลย แต่กลายเป็นว่าราคามะนาวตก คุณพ่อตัดสินใจขายต้นมะนาวหน้าสวน ลูกค้าเข้ามาน้อยมาก ผมเลยมองว่าเราลองแปรรูปอะไรง่ายๆ คิดว่าทำไมไม่มีใครทำน้ำมะนาวพร้อมดื่ม บรรจุใส่ขวดให้กินง่ายๆ ก็เลยลองทำหน้าฟาร์มดู ผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะไม่ใช่แค่น้ำมะนาวอย่างเดียวที่ขายได้ แต่กลายเป็นว่าเขาซื้อต้นมะนาวกลับไปด้วย
เริ่มเป็นเลมอนมีฟาร์ม
เราทำแบรนด์ธุรกิจมาได้ 2-3 ปี ตลาดโตมาก ช่วงหนึ่งมีกระแสมะนาวต้านมะเร็ง ทุกคนสั่งซื้อ ยอดขายพุ่ง แต่มันเป็นระยะเวลาแค่แป๊บเดียว จากนั้นยอดขายก็ดิ่งลง สินค้าที่เราผลิตมาในช่วงแรกอายุค่อนข้างสั้น เก็บได้ไม่ถึงอาทิตย์ ไม่สามารถผลิตเยอะได้ พอเราได้ออกบูทเยอะ เหนื่อย แต่ข้อดีคือคนรู้จักเรามากขึ้น ข้อเสียคือไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น มีคนก๊อบปี้แบรนด์ และรูปแบบการเซ็ตบูทโดนก๊อบไปหมดจนคนเข้าใจผิด
เราย้อนกลับมามองว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง แบรนด์เราไม่ได้แข็งแรงมาก แล้วการที่ออกรสชาติใหม่ก็ไม่ได้ทำให้การขยายตลาดดีขึ้น ถอยกลับมานั่งคิดทำ R&D ใหม่ ถ้าเราอยากเป็นผู้นำอาจจะต้องเข้าใจและใส่ใจ รวมถึงศึกษาเรื่องมะนาวมากขึ้น แล้วผมก็เข้าใจว่าต้องเก็บฤดูไหนถึงจะดี แล้วมะนาวมีสารอะไรที่ทำให้ขม ต้องเก็บอุณหภูมิเท่าไหร่ แช่แข็งแบบไหน
ศึกษาเรื่องเลมอนอย่างจริงจัง
เจ้าของทำฟาร์มเมลอนที่สวนผึ้งแนะนำว่าต้องปลูกผลไม้นอกซึ่งเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าสำหรับคนไทย ซึ่งเราต้องทำฐานในเมืองไทยให้แน่นก่อนจะขยายไปต่างประเทศ เลยมองว่าต้องนำเลมอนเข้ามาปลูก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นและศึกษาการปลูกแบบจริงจัง ด้วยความที่ชื่อ Lemon Me แต่เราก็เริ่มมีผลไม้ซิตรัสมาปลูก เรามีมะปี๊ด มะนาว และเลมอน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เลมอนยูเรก้า ทรงผลไม่ค่อยนิ่ง ปลายแหลมค่อนข้างชัด บางผลยาวบางผลสั้น เลมอนญี่ปุ่น มีลูกกลมโต สีเหลืองนวล เป็นพันธุ์ที่เราปลูกเยอะที่สุด เลมอนอัลเลน ผลยาวรีแต่จุกสั้นกว่ายูเรก้า และเลมอนฮาวาย ลูกเป็นทรงรีรูปหยดน้ำ
หลักๆ ของการแปรรูปคือเลมอนญี่ปุ่นที่นำมาแปรรูปได้เยอะที่สุด แล้วก็มีมะนาวพันธุ์แป้นแม่ลูกดก เราทำฟาร์มแบบไม่ปลูกลงดิน การไม่ลงดินเลยทำให้ปลูกซิตรัสได้หลากหลายแบบ เราจะเลือกว่าสิ่งไหนที่เหมาะกับเรา เหมาะกับตลาดลูกค้า ทำให้แนวความคิดในการปลูกต้นไม้ของเราเปลี่ยนไป ก่อนหน้านี้เราพยายามปลูกให้เก่งที่สุด ทำอย่างไรก็ได้ให้ออกลูกเยอะที่สุด ตอนนี้เราเปลี่ยนเป็นใช้ตลาดนำ มองว่าพืชไหนที่ปลูกขึ้นมาแล้วทำตลาดได้ แล้วตลาดให้มูลค่ามากกว่ากัน สมการเราเปลี่ยนไปด้วยการแก้ที่เรื่องราคา
ทำคาเฟ่ในสวนเลมอน
โปรดักต์ของเราคือมะนาว เราเลยถอดฟอร์มจากความกลมของมะนาว เป็นดีไซน์ที่เกี่ยวข้องกับรูปทรงกลม งานโค้ง พอดีผมมีโอกาสไปเรียนที่ญี่ปุ่น แล้วเลมอนพันธุ์หลักๆ ที่เราปลูกคือพันธุ์ญี่ปุ่น เลยทำให้ที่นี่เป็นสไตล์ญี่ปุ่น อีกอย่างประเทศนี้เด่นเรื่องการทำงานในพื้นที่ไม่ใหญ่มาก สอดคล้องกับฟาร์มของเรา
เราจัดสเปซแบบ Circular ทำให้ลูกค้าประทับใจในการเดิน จากช่องกำแพงแคบๆ พอเดินมาถึงสวนแล้วรู้สึกว้าว! กับแปลงผักและมีแปลงดอกไม้กินได้ ซึ่งเรานำมาใช้ทำอาหารและตกแต่งจาน ส่วนรูปแบบของคาเฟ่ดีไซน์เป็นสีขาวครีมอยู่ตรงกลาง ดูอบอุ่น มีลานกิจกรรม ถัดจากคาเฟ่เป็นคิตเชน บิสโทร ขายอาหารฟาร์มมากขึ้น และทำศูนย์การเรียนรู้เพิ่มเติม เช่น วิธีสกัดน้ำมันหอมระเหย การทำปุ๋ยจากเปลือกมะนาว รวมไปถึงทำไฟน์ไดนิงให้เข้ามาลิ้มลองเมนูที่มาจากเลมอนในแต่ละสายพันธุ์ หรือโซนเทรนนิงเกี่ยวกับการทำสบู่ เทียนหอม ซึ่งเราพยายามทำเพื่อตอกย้ำให้ Lemon Me Farm เป็นศูนย์การเรียนรู้รวมไปถึงมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากส่วนต่างๆ ของมะนาวอยู่ภายในฟาร์มแห่งนี้อย่างเต็มรูปแบบ
Lemon Me Farm
https://www.facebook.com/lemonmefarm/