ฟังก์ชันใช้งานสำหรับห้องครัวมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทนั่นก็คือ ครัวหนักและครัวแพนทรี ซึ่งหน้าที่ของครัวแต่ละแบบก็มีฟังก์ชันที่แตกต่างกันออกไป ครัวหนักเป็นครัวที่รองรับการทำอาหารหนักประเภท อาหารไทย จีน ซึ่งใช้ไฟแรงๆ บางบ้านกังวลเรื่องกลิ่นจึงออกแบบเป็นครัวปิดแยกออกจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ในขณะที่ครัวแพนทรีเป็นครัวที่รองรับการทำอาหารเบาๆ อย่างเช่น อาหารฝรั่ง ตุ๋น อบ รวมไปถึงการทำเบเกอรีที่ไม่ได้มีกลิ่นแรง
ครั้งนี้เราจะพาไปดูไอเดียการออกแบบห้องครัวภายในบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีทั้งครัวปิดและครัวแพนทรี เรียกว่ารองรับฟังก์ชันการใช้งานครบถ้วนทุกประเภท เราไปดูแบบครัวและแนวทางการตกแต่งของเจ้าของบ้านหลังนี้กันเลย
จากบ้านเก่าที่มีอายุกว่า 30-40 ปี
โครงสร้างเดิมทรุดโทรมเสียหาย พื้นบ้านเสมอกับถนน ถูกเปลี่ยนกลายเป็นบ้านหลังใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยได้มากกว่าเดิม โดยคุณจั๊มนำเอา Pain Point มาปรับแก้เพื่อให้ที่นี่กลายเป็นบ้านที่สนองในเรื่องของฟังก์ชันใช้งานครบถ้วนสมบูรณ์และรองรับกับความต้องการของสมาชิกในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
เจ้าของบ้านเล่าว่า “เมื่อก่อนบ้านทั้งสองหลังแยกกันมีรั้วกั้น หลังจากผมแต่งงานมีแพลนว่าจะสร้างบ้านใหม่ ตอนผมไปคุยกับสถาปนิกเขาเสนอไอเดียว่า บ้านพ่อแม่และน้องสาวมีแพลนจะสร้างใหม่ด้วยหรือเปล่า ผมบอกว่ามีแต่คิดว่าจะสร้างหลังนี้ให้เสร็จก่อนจะได้มีที่อยู่ระหว่างที่เรากำลังก่อสร้าง แต่สถาปนิกเขาแนะนำว่าลองคิดดูก่อนไหมว่า ถ้าเราสร้างหลังนี้ใช้เวลา 2 ปี ย้ายมาอยู่ที่นี่ บ้านข้างๆ ก็สร้างอีก 2 ปี เท่ากับว่าเราต้องอยู่กับฝุ่นทั้งหมด 4 ปี ผมเลยกลับมาปรึกษากับที่บ้านเลยตัดสินใจสร้างพร้อมกันเลย จากบ้านสองหลังที่อยู่แยกกันเรามีไอเดียว่าน่าจะสร้างให้บ้านสอดคล้องกันดีไหม มีเนื้อที่ให้สามารถแชร์กันได้ อย่างเช่น สวน โรงจอดรถ”
“ผมเอามาคุยกับสถาปนิกเพื่อกำจัด Pain Point ตรงนี้ออกไป มีโรงจอดรถที่ไม่จอดซ้อนกันแต่จอดเรียงกันแล้ว แต่ปัญหาต่อมาคือแล้วเราจะเอาสวนไปอยู่ตรงไหน เลยมาคิดต่อว่าไว้ตรงกลางเหมือนคอร์ทยาร์ดกลางบ้านน่าจะดี โดยให้สวนเป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่างบ้านของผมและน้องสาวมีธรรมชาติกั้นกลางเวลาเรามองออกไปก็จะเห็นพื้นที่สีเขียวดูแล้วสดชื่นสบายตาครับ”
นอกจากนี้ฟังก์ชันใช้งานภายในบ้านยังเน้นเก็บของเป็นหลัก ออกแบบตู้บิลต์อินสูงจรดฝ้า เพราะเจ้าของไม่อยากให้มีฝุ่นบนหลังตู้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เขาเคยเจอตอนอยู่บ้านหลังเก่าเช่นกัน ส่วนดีไซน์ภายนอกออกแบบสไตล์โมเดิร์นคอนเทมโพรารี “บ้านของน้องสาวออกแบบเต็มพื้นที่ แต่ถ้าบ้านของผมออกแบบเหมือนกันจะดูอึดอัดและไม่สามารถทำสวนได้ ถ้าเรามองจากภายนอกจะเห็นว่าเหมือนตึก ยื่นไปข้างหน้าหน้าและหดเพื่อหลบให้มีพื้นที่สวน ห้องบางห้องถูกขยายออกไปอยู่บนที่จอดรถ บ้านหลังนี้ก็เลยมีรูปร่างเหมือนเลโก้หน่อยครับ ผมให้เนื้อที่บ้านหลังโน้นมากกว่าเพราะผมอยู่กับภรรยาแค่สองคนเอง”
พื้นที่ชั้นล่างประกอบไปด้วยห้องรับแขกที่เป็น Open Space มีทางเข้าบ้านสองทางคือทางด้านหน้าและด้านข้างห้องครัว “เรารวมเอาห้องรับแขกอยู่ร่วมกับห้องทานข้าว เพราะต้องการความโปร่งให้ทุกอย่างเชื่อมกันหมด แต่ในห้องทานข้าวถ้าอยากได้ความเป็นส่วนตัวก็เลื่อนเปิดปิดได้ ส่วนครัววางแผนให้มีสองจุด คือครัวแพนทรีและครัวหนัก” คุณจั๊มเลือกที่จะออกแบบห้องครัวหนักเป็นครัวปิดเนื่องจากกลัวเรื่องกลิ่น แมลง มด และหนู โดยทำเป็นประตูกระจกบานเลื่อนเพื่อให้ห้องครัวเป็นพื้นที่ที่ดูมิดชิดและเป็นสัดส่วน
“จะเห็นว่าระยะระหว่างห้องทานข้าวกับห้องครัวอาจจะดูไกลไปหน่อย ผมเลยออกแบบให้มีช่องตรงนี้เอาไว้สำหรับระบายลมและเป็นช่องจัดเสิร์ฟอาหาร อีกอย่างเป็นเคาน์เตอร์สำหรับนั่งกินอะไรเล็กๆ น้อยๆ ตรงนั้นได้เลย ส่วนสีหน้าบานชุดครัวผมเลือกสีน้ำเงิน Gentleman blue ชอบสีน้ำเงินอยู่แล้ว พอเห็นภาพจาก Pinterest ว่ามีคนใช้ครัวสีนี้ผมบอกสถาปนิกเลยว่าอยากได้ หาให้ผมได้ไหมเป็นหน้าบานไฮกลอสผิวแมทช์ ดีไซน์ครัวเป็นโมเดิร์นเพื่อให้เข้ากับสไตล์บ้าน มีฟังก์ชันเก็บของเยอะเน้นเป็นตู้บิลต์อินแบบชนเพดาน
สำหรับดีไซน์ครัวแพนทรีเป็นสีคนละโทนเลย เพราะถ้าเลือกสีขาวก็จะขาวไปหมด เลยเลือกหน้าบานสีดำเข้ามาตัด หน้าบานเป็นลามิเนตลายไม้สัก ส่วนพื้นที่ใช้งานตรงนี้เอาไว้สำหรับเตรียมอาหาร มีปาร์ตี้ ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะไปกองรวมอยู่ในครัว เราตั้งใจว่าเตรียมวัตถุดิบแล้วเอาเข้าไปทำในครัวหนัก อีกฟังก์ชันสำหรับครัวแพนทรีก็คือ เป็นมุมเตรียมเครื่องดื่มด้วยครับ”
เจ้าของ คุณจั๊ม-ธีรัตว์ ศรีกิจการ
ขนาดครัว 12 ตารางเมตร