ก่อนจะได้มาเริ่มต้นทำ Anew Craft แบรนด์ออกแบบของแต่งบ้านคนไทย แบรนด์แรกของทั้งคู่ คุณฌาน-นิชฌาน โคตะวัน และคุณไผ่-วชิราวิชญ์ พุ่มเกิด สั่งสมทักษะและประสบการณ์ หล่อหลอมความตั้งใจจากความสนใจที่มีมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมมือกันสร้างสรรค์ให้เป็นรูปเป็นร่างภายใต้ชื่อแบรนด์ Anew Craft แบรนด์ออกแบบของแต่งบ้านที่เชื่อในสิ่งไม่เหลือทิ้ง
Anew Craft
การสร้างใหม่ที่เชื่อในสิ่งไม่เหลือทิ้ง
Anew Craft
ด้วยความหมายของคำว่า Anew ที่แปลว่าการทำสิ่งใหม่ๆ ตัวตนของ Anew Craft ในฐานะแบรนด์ออกแบบของแต่งบ้านจึงเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ต้องการฉีกกฎไปจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ออกแบบเป็นผลงานที่ไม่เหมือนใครด้วยคอนเซ็ปต์ที่เข้าถึงได้ทุกคน
“เราคิดกันว่าอยากลองทำของจากเศษวัสดุที่ได้จากบ้านที่ถูกรื้อทิ้งซึ่งมันจะมีทั้งไม้ดีและไม่ดี เหล็กดี เหล็กเก่า เป็นที่มาให้เราเริ่มต้นจากของตกแต่งชิ้นเล็กๆ เพื่อให้คนทั่วไปได้มองเห็นภาพรวมผลงานเราเองในภาพลักษณ์ของประติมากรรมเป็นหลัก โดยมีฟังก์ชันเป็นเรื่องรอง” คุณฌานเริ่มต้นเล่า
“เราต้องการให้ผลงานที่ออกแบบมีความเรียบง่าย แต่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและไม่ธรรมดา เพื่อให้แต่ละชิ้นงานมีความเป็นตัวเองมากที่สุด เริ่มจากการหยิบเรื่องราวน่าสนใจในชีวิตประจำวันมาถ่ายทอดผ่านงานดีไซน์” คุณไผ่เสริม
ความธรรมดาที่บันดาลใจ
ก้นหม้อ คอนเซ็ปต์ที่สร้างความแตกต่างน่าจดจำได้ทันทีตั้งแต่แรกเห็น เป็นเอกลักษณ์ชิ้นงานของแบรนด์ที่โดดเด่นด้วยลักษณะร่องรอยการเผาไหม้บนพื้นผิวแจกันไม้ เกิดจากการสร้างสรรค์ลวดลายด้วยเทคนิคการเผาไม้ของญี่ปุ่น ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวใกล้ตัวผ่านสิ่งที่สังเกตเห็นในห้องครัว เป็นความธรรมดาที่บันดาลใจการออกแบบใหม่ๆ
“เริ่มจากตอนที่เห็นยายทำอาหารกับเตาถ่านแล้วเกิดเป็นเขม่าควันบริเวณก้นหม้อ มันเป็นภาพธรรมดาของชนบทที่เรามองว่าน่าสนใจ เราทดลองกันหลากหลายวิธีเพื่อสร้างลวดลายการเผาไหม้และกัดเซาะของเปลวไฟให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกใจ”
เชื่อในสิ่งไม่เหลือทิ้ง
ความสวยงามตามธรรมชาติคือสิ่งที่แบรนด์ให้ความสำคัญเป็นอย่างแรก ด้วยการสร้างมูลค่าให้วัสดุผ่านรูปทรงเรียบง่ายที่มีเอกลักษณ์ ทุกการออกแบบจึงเป็นความใส่ใจรายละเอียด เพื่อให้ทุกผลงานทำหน้าที่ของแต่งบ้านที่เติมเต็มความสวยงามของพื้นที่บ้าน
“โดยปกติไม้ที่เหลือจากการรื้อทิ้งจะถูกนำไปทำฟืน แต่ในฐานะนักออกแบบเรามองว่ายังสามารถสร้างมูลค่าให้มันได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับวัสดุเหลือทิ้งแบบเหล็ก โดยที่เราดีไซน์ในสไตล์เรียบง่ายและเหลือความดิบในแบบของวัสดุไว้ ซึ่งทุกครั้งเราต้องเตรียมการตั้งแต่เช็คสภาพ ทำพื้นผิวเพื่อหาศูนย์กลางของวัสดุนั้น ก่อนจะสร้างเป็นรูปทรงในแบบที่เราต้องการ”
เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ
“เรามีแพลนที่จะขยายต่อไปถึงการทำเฟอร์นิเจอร์อย่างสตูล เก้าอี้ แต่เราจะเดินแบบค่อยๆ เดิน เราจึงเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆอย่างของแต่งบ้านเพราะสิ่งสำคัญคือความค่อยเป็นค่อยไปและเรียนรู้กับงาน ซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อที่จะทำให้คนรู้จักมากขึ้นว่าในความเป็นจริงสิ่งที่เราต้องการนำเสนอคืองานศิลปะที่มีรูปทรง”
เรื่องเล่าที่มาพร้อมการเดินทาง
ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนที่เริ่มต้นทำแบรนด์ ทุกการออกแบบมาพร้อมประสบการณ์และการสังเกต แม้ว่าจะคลุกคลีกับการทำงานดีไซน์มาตั้งแต่สมัยเรียน แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้หยุดมองหาความแตกต่างในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์ ควบคู่กับเรื่องเล่าที่มาพร้อมเทคนิควิธีสร้างงานที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่เคยเรียน ด้วยการท่องเที่ยวเพื่อมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เป็นเหมือนการแปลสารสิ่งที่มีอยู่แล้วเพื่อสร้างการออกแบบของตัวเอง
“ในแต่ละวันที่เราออกไปใช้ชีวิต เราพยายามมองหามุมมองใหม่ๆ ไม่ว่าจะพฤติกรรมมนุษย์หรือความงามของสิ่งที่ถูกละทิ้ง เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ผ่านเรื่องราวต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้ อย่างเทคนิคการสร้างงานฝีมือจากพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยที่เรานำมาปรับใช้กับงานของเราเอง”
Anew Craft
การสร้างใหม่ที่เชื่อในสิ่งไม่เหลือทิ้ง
facebook.com/anewcraft
instagram.com/anew.craft/
anew.craft.studio@gmail.com
โทร. 09 7918 8461