Lifestyle & Cooking People

วัชรพงศ์ พาดี ภูมิสถาปนิกที่ทำตัวกลมกลืนไปกับธรรมชาติ


คุณหนุ่ม-วัชรพงศ์ พาดี ภูมิสถาปนิก และเป็น Co-founder บริษัทออกแบบตกแต่งภายในและ แลนด์สเคป PAD: Space Artisan ผู้หลงใหลและรักในงานภูมิสถาปัตย์ ด้วยเสน่ห์ที่เขาบอกว่าไม่ใช่แค่การออกแบบตัวอาคาร แต่ต้องเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เข้าใจเงื่อนไขของธรรมชาติแล้วดีไซน์ให้กลมกลืนไม่โดดเด่นและแข่งกัน เป็นการรวมกันระหว่างสถาปัตยกรรมและระบบนิเวศน์ที่ทำให้ผู้อาศัยมีความสุข

ชอบงานแลนด์สเคป
ช่วงมหาวิทยาลัยผมเลือกเรียน architect ก่อนแล้วเริ่มมารู้สึกว่าไม่ได้ตอบโจทย์ เรามองกว้างไปกว่านั้นว่าถ้าเราเป็นสถาปนิกแล้วสโคปของสเปซมันคือ architecture แต่ไม่ใช่ place ซึ่งสถานที่ประกอบด้วยหลายอย่าง เราเลยอยากขยายสิ่งที่เราสามารถทำให้มันอยู่แล้วมีความสุข โจทย์มันคือ เราอยู่ท่ามกลางระบบรอบตัวเราให้ดูมีความสุข บางทีเราก็ไม่ได้อยากมีบ้านหลังใหญ่มากมาย แต่ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความร่มรื่น

หลังจากเรียนจบเราอยากเป็นคนที่คิดระบบนิเวศน์ทั้งหมดที่เป็นสถานที่ ผมเป็นสถาปนิกสโคปมันแคบ แต่ถ้าผมเป็น master planning หรือแลนด์สเคปที่เป็นสถาปนิกด้วยมันก็สามารถวางได้ว่าฉันจะวางบ้านของฉันอยู่ในโลเคชั่นไหนที่ฉันอยากได้ เพราะเราให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม สามารถวางแผนได้ทั้งหมด ควบคุมได้ตั้งแต่ master planning คือคนที่วางผังบริเวณ แล้วค่อยให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาจอยกัน

ได้ร่วมงานกับบริษัท Bensley Design Studio
เป็นบริษัทออกแบบชื่อดังที่มีสาขาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ผมชอบสไตล์การออกแบบโรงแรมและรีสอร์ทของบิล เบนสเลย์เรียกว่าเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานเลย สุดท้ายได้เข้าไปทำงานที่บริษัทเบนสเลย์ในตำแหน่งจูเนียร์รับผิดชอบงานด้านอินทีเรีย สถาปัตยกรรม และแลนด์สเคป โดยเราได้รับมอบหมายจากซีเนียร์ให้สเก็ตช์ภาพออกมาให้ดูสวยงาม ผมสนุกและชอบบรรยากาศในการทำงานที่นั่นมาก แม้จะทำงานหนักแต่สิ่งที่ได้จากการทำงานหนักในวันนั้นทำให้เรามีวันนี้ ได้เรียนรู้กับคนที่เก่งจริงๆ แล้วเขาก็ให้โอกาสเรา

ก้าวต่อไปเพื่อพัฒนาตัวเอง
หลังจากทำงานที่แรก 5 ปี ผมอยากหาประสบการณ์เพิ่มทั้งเรื่องทักษะภาษาและงานที่เราอยากพัฒนามากขึ้น ดังนั้นทางเดียวที่จะทำให้กล้าและพัฒนาก็คือ ต้องเอาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เขาพูดภาษาอังกฤษ เลยมีโอกาสได้ไปทำงานที่บริษัท Buregafarnell ในประเทศสิงคโปร์แต่งานออกแบบส่วนใหญ่อยู่ที่อินเดียและจีน  ตอนนั้นจีนเพิ่งเปิดประเทศไม่กี่ปี แล้วงานที่เป็น urban planning เป็น master planning เยอะมาก เราได้ทำงานแบบนี้เยอะมาก

เสน่ห์ของงานแลนด์สเคป
ผมว่ามันไม่ได้ทำแค่ตัวโครงสร้างอาคาร แต่ต้องเข้าใจระบบโดยรวม เราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ของ context หนึ่ง เราจะมาเป็นสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่เอาอาคารหน้าตาประหลาดมาตั้งที่ไหนก็ได้ มันไม่ใช่ สเน่ห์คือ ทำตัวให้เข้าใจในเงื่อนไขของธรรมชาติ ของระบบ แล้วทำอย่างไรก็ได้ให้ดีไซน์สิ่งที่เรา input เข้าไปเป็นเรื่องเดียวกันแล้วสวยงาม โดดเด่นในตัวเองแต่ไม่ไปแข่งกับธรรมชาติ เหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งของมัน นี่คือเสน่ห์ที่ผมชอบในงาน

คอนเซ็ปต์แต่ละงานก็มาจากแต่ละพื้นที่เหมือนกัน โดยที่ไม่ไป disturb กับระบบนิเวศน์เดิม ผมเคยฟังภูมิสถาปนิกท่านหนึ่งพูดไว้ว่า ถ้าคุณจะออกสักที่หนึ่งไม่ใช่ว่าคุณจะได้ภาพถ่ายแล้วไปนั่งดีไซน์ ต้องไปนั่งอยู่ในพื้นที่นั้นแล้วดูว่าลม แดด มาทางไหน มีต้นไม้กี่ต้น ไม่ใช่ว่ามาถึงแล้วคุณสั่งตัดต้นไม้ เจ้านายผมแต่ละคนสอนว่า อย่าไปตัดต้นไม้ ถ้าไม่จำเป็น เราต้องดีไซน์ให้หลบมันหรือเก็บมันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้                 แลนด์สเคปเหมือนกันคุณจะไปไถหน้าดินออก ซึ่งมันจะไปเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนทางน้ำหมดเลย มันก็ไม่ใช่ หลักการของเราคือ ต้องออกแบบให้อยู่กับเขาให้ได้

สไตล์งาน
ผมว่ามันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เหมือนแฟชั่น เราต้องลองชอบหลายสไตล์ก่อนแล้วค่อยมากลั่นกรองเป็นสไตล์ของตัวเอง อย่างแรกๆ เราชอบสไตล์ทรอปิคอล บาหลี แต่พอผ่านมาเห็นงานเท่ๆ งานฝรั่งที่เป็นเส้นสายกราฟิกหน่อยมันก็เก๋ก็เท่ดีนะ โล่งๆ มองไปมี sculpture อันเดียวเด่นๆ เราก็เรียนรู้มัน เสพมันดู แต่ทีนี้เราก็กลับมาถามตัวเองว่าเราสไตล์ไหน ถ้าเราติดสไตล์มากเกินไป เราก็จะลืม fundamental แรก มันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและบริบทของที่นั้นๆ เพราะแลนด์สเคปคือทุกสิ่ง คือบริบทหนึ่ง ถ้าเราเอาคำว่าสไตล์ของเราไปจับ หรือเอาสไตล์ของเราไปโยนในบริบททุกที่มันจะกลายว่าคุณไปข่มขืนสิ่งแวดล้อมนั้น ฉะนั้นสไตล์เราก็คือ ตรงนี้มีเงื่อนไขยังไง มีกิมมิกอะไร เราเอาเงื่อนไขกับกิมมิกมาปรุงใหม่ คิดใหม่ด้วยตัวเรา ด้วยมุมมองเรา ไม่ใช่ว่านั่งอยู่บ้านแล้วฉันเก่ง ซีเนียร์คนแรกสอนผมว่า คุณต้องเห็นให้เยอะ เราต้องเห็นทุกสไตล์แล้วดูว่าแต่ละสไตล์มีข้อดีข้อเสียอย่างไร สุดท้ายก็จะรู้ว่าอะไรเหมาะกับอะไรไม่เหมาะกับอะไร เรียนรู้ให้เยอะ ยิ่งรู้เยอะ

รูปแบบในการทำงาน
เราจะทำการวิเคราะห์พื้นที่ ผู้ใช้งาน เจ้าของ สไตล์ที่เขาชอบ เอามาปรุงเป็นสไตล์เรา ถ้าเปรียบเทียบเหมือนคนทำอาหาร แพ้อะไร ชอบทานรสไหน เปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวาน แล้วเราก็จะมีวัตถุดิบในซีซันนั้นในท้องถิ่นนั้นเหมือน story teller ที่บอกว่าในบริบทนี้มีอะไร แล้วเอาตัวตนของคุณที่ชอบเปรี้ยว หวาน มันเค็ม ชอบไทย ชอบฝรั่ง ก็เอามาปรุง โดยเราเป็นเชฟแอบใส่คาแรกเตอร์ของเราลงไปเช่น ต้องมีสระว่ายน้ำ ต้องได้ยินเสียงน้ำ ต้องทัชทั้งกลิ่น มีดอกไม้ที่ให้กลิ่น มีเสียงน้ำด้วย มีดอกไม้ก็จะมีนก ต้นไม้ ต้องครบ พอมีธรรมชาติ พอเราเข้าใจระบบนิเวศน์ว่าต้องการอะไร  มันก็จะมาของมันเอง

ถ้าเราโรยกรวด มี sculpture เท่ๆ นกมาไหมก็ไม่มา นี่คือสไตล์ที่เราคิด แต่ถ้าถามว่าอยู่ในเมืองเป็นตึกออฟฟิศ มีสวน ถามว่าพักเที่ยงมานั่งในสวนไหม ไม่มา เพราะมันร้อน ก็แค่กิมมิกขับรถผ่าน มีต้นไม้ให้ดูร่มรื่น ไม่ต้องมานั่งฟังเสียงนก และดูแลสูง แต่ถ้าในตึกออฟฟิศ ต้องมาดูแลขนาดนี้ก็ไม่มีใครเอา เราก็เสนอสวนที่ดูแลง่ายๆ เท่ มองเห็นแต่ไกล ไม่ต้องเข้าไปนั่งฟังเสียงนก น้ำ มันก็เป็นอีกแบบที่เข้ากับพื้นที่นั้นๆ ถ้าเราเอาตัวไปขายในทุกที่ สุดท้ายงานก็ไม่สำเร็จ เหมือนคุณเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล คุณออกแบบ โยนงานไว้แล้วหนีไป แต่คนที่อยู่ตรงนั้นเขาได้ใช้กับคุณไหม แฮปปี้หรือเปล่า แต่ถ้าเราออกแบบแล้วเขาพึงพอใจนั่นเท่ากับว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว


You Might Also Like...