อภิรัฐ บุญเรืองถาวร การออกแบบที่สร้างความรู้สึกดีให้กับผู้ใช้งาน

พาทุกคนไปพูดคุยกับ คุณอภิรัฐ บุญเรืองถาวร ดีไซเนอร์ไทยที่ได้รับรางวัลการออกแบบจากเวทีระดับโลกอย่าง IF Design Award และ German Design Award ในปี 2020 นี้กว่า 4 รางวัล

เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าการออกแบบที่ดีคืออะไร แล้วผสมผสานระหว่างความเป็นศาสตร์และศิลป์ของงานดีไซน์เข้าด้วยกัน นอกจากจะมีฟังก์ชันใช้งานที่ตอบโจทย์พื้นฐานของการใช้งานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คุณอภิรัฐให้ความสำคัญคือเรื่องของความสวยงามและการสร้างความรู้สึกที่ดีเพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้งานกับโปรดักต์ได้อย่างลงตัวและกลมกลืน

เริ่มต้นจากความไม่รู้และตั้งใจทำให้ดีที่สุด         

ต้องบอกก่อนเลยว่าผมไม่ได้เป็นคนเลือกเรียนทางด้านนี้ด้วยตัวเอง (ยิ้ม) เดิมผมเป็นคนเรียนไม่เก่ง ค่อนไปทางเกเรเลยก็ว่าได้ สมัยนั้นยังเป็นการสอบเอนทรานซ์ก็สอบไม่ติดเลยไปเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงอยู่ 1 ปี ก่อนที่คุณพ่อจะให้ไปเอนทรานซ์ใหม่ จำได้ว่าสอบเยอะมากตั้งแต่วัดแววความเป็นครู พื้นฐานวิศวกรรม สถาปัตยกรรม อะไรที่สามารถสอบได้ก็สอบทุกอย่าง พอคะแนนออกมาผมก็ให้ลูกพี่ลูกน้องช่วยเลือกคณะให้ จนสุดท้ายก็ติดคณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ความเข้าใจในตอนแรกคือคงต้องเรียนออกแบบบ้าน แต่พอเข้าไปจริงๆ เราเรียนเกี่ยวกับออกแบบผลิตภัณฑ์

ผมเริ่มต้นจากไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลยและคิดว่านี่คือโอกาส เพราะตอนนั้นเราค่อนข้างเกเรก็เลยมีความตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ เริ่มสนใจและศึกษา เหมือนต้องฝึกนับ 1 ใหม่

เพราะวาดรูปยังไม่เป็นเลย ในขณะที่บางคนเขาติวมาแล้วเพื่อให้ได้เข้าเรียน สิ่งที่ต่างไปคือผมจะมีความอยากรู้มากกว่าคนอื่นและศึกษาเยอะ โดยเฉพาะเรื่องวิธีคิดแบบ Design Thinking ว่าคนที่เขาออกแบบแล้วได้รางวัลที่ 1 โปรดักต์นั้นต้องออกแบบอย่างไร ซึ่งในช่วงที่เรียนผมแข่งขันและได้รางวัลจากประกวดโครงการต่างๆ ค่อนข้างเยอะ เพื่อนรุ่นๆ เราก็มักจะคิดกันว่าได้รางวัลเยอะมาก แต่ที่ไม่ได้ก็มีเยอะมากเหมือนกันแค่ไม่มีใครรู้ (หัวเราะ)

เมื่อไม่ได้รางวัลสิ่งนี้ทำให้เราต้องไปติดตามดูว่าคนที่เข้ารอบเขาออกแบบอะไร หรือถ้าเราเข้ารอบแล้วไม่ได้รางวัลที่ 1 ที่ 2 ก็ต้องมาดูว่าคนที่ได้รางวัลมีวิธีคิดและออกแบบอย่างไร ทั้งหมดเป็นเหมือนแบบฝึกหัดนอกตำราที่ทำให้เราได้เรียนรู้

Connector Workstation ได้รับรางวัล iF DESIGN AWARD 2020 และ German Design Award Winner 2020

Good Design การออกแบบที่ดีเป็นอย่างไร

ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่ผมสนใจไม่ใช่เรื่องการแข่งขันหรือส่งประกวด ผมอยากรู้ว่าการออกแบบที่ดีต้องเป็นอย่างไร และการประกวดคือวิธี Shortcut การเรียนรู้อย่างหนึ่ง นอกจากการอ่านหนังสือและอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ทำให้เราได้ประสบการณ์จากการไปเจอกรรมการที่เป็นเหมือน Professional Designer อย่างตอนที่ผมไปประกวดที่สิงคโปร์ก็ได้เจอกับ Naoto Fukasawa ดีไซเนอร์นักออกแบบชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงของ MUJI

ถึงแม้คำถามที่ว่าการออกแบบที่ดีคืออะไร? จะเป็นคำถามเบสิกทั่วไป แต่ก็เป็นคำถามปลายเปิดมากๆ เพราะคำตอบค่อนกว้างมากเหมือนกัน สิ่งที่ผมทำได้คือต้องฝึกวิธีคิด ต้องรู้ว่าแบบนี้คือโปรดักต์ที่ดี แล้วนำความคิดนั้นไปออกแบบภายใต้งานดีไซน์เพื่อให้ตรงจุดและตอบโจทย์มากที่สุด จนกระทั่งเวทีถูกขยายจากในประเทศเป็นระดับสากล ผมมีโอกาสได้รับเลือกจากแบรนด์ยุโรปที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำระดับโลกอย่าง Fischer Möbel ให้ออกแบบคอลเล็กชันเฟอร์นิเจอร์เอาต์ดอร์

ความลงตัวระหว่าง Functional Product และ Art Piece              

หลังจากที่เรียนจบผมก็เริ่มทำงานเกี่ยวกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เพราะเราหลงรักในสิ่งนี้ การออกแบบเหมือนกับศาสตร์ 2 ศาสตร์ ระหว่างความเป็นเหตุผลกับอารมณ์ความรู้สึก เหตุผลในการออกแบบให้กับผู้ใช้งาน เช่น ใช้อย่างไร จับถนัดมือหรือเปล่า แต่เวลาเราจะตัดสินใจเลือกซื้ออะไรสักอย่างนั่นเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก แบบนี้สวย แบบนี้เราชอบนะ อยากได้ชิ้นนี้ ของมันต้องมีแล้วล่ะ (หัวเราะ) ถ้าจะแยกให้เห็นภาพชัดเจนคือความเป็น Functional Product และ Art Piece ซึ่งโดยส่วนตัวผมชื่นชอบงานด้านศิลปะมากกว่า อย่างเวลาที่เราได้ดูภาพของศิลปินที่ถ่ายทอดออกมาแต่ละภาพก็จะให้ความรู้สึกต่างๆ

เมื่อผมดีไซน์โปรดักต์จึงพยายามเชื่อมโยงทั้ง 2 อย่างนี้เข้าด้วยกัน เช่น เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นจะเป็นแบบ One Function One Product มีแค่ฟังก์ชันใช้งานเดียวไม่ต้องการฟังก์ชันอื่นเพิ่มเติมแบบที่เป็น Multi-function เช่น เก้าอี้ เราต้องการแค่นั่ง สิ่งที่เราต้องเพิ่มเติมเข้าไปในความหมายของการเป็นเก้าอี้คือเรื่องของ Emotional ความรู้สึกเมื่อใช้งาน นั่งแล้วพอดี รู้สึกสบาย นั่งแล้วสวยหรือเท่ขึ้น

สิ่งนี้ผมให้ความสำคัญมากกว่า Style หรือ Inspiration เพราะผมจะพยายามออกแบบและพัฒนาโปรดักต์ที่คนใช้งานแล้วรู้สึกดี

Suite armchair ออกแบบให้กับ Fischer Mobel ได้รับรางวัล iF DESIGN AWARD 2017

ผลงานออกแบบที่คว้ารางวัลระดับโลก         

ก่อนหน้านี้ที่ผมออกแบบคอลเล็กชัน Suite Dining Chair ให้กับทาง Fischer Möbel ได้รับรางวัล IF Design Award รู้สึกภูมิใจที่ถือเป็นคนไทยคนแรกที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้กับแบรนด์ยุโรปแล้วได้รับรางวัลนี้ แต่สิ่งที่ผมภูมิใจกว่าคือในปี 2020 นี้ได้รับรางวัลจากการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้กับแบรนด์ผู้ผลิตภายในประเทศไทย เหมือนเป็นการช่วยยกระดับเฟอร์นิเจอร์ไทยให้ทัดเทียมกับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของยุโรป

การได้รางวัลไม่ได้หมายความว่าเราเก่งหรือชนะ ผมมองว่าคือการการันตีว่านั่นคือการออกแบบที่ดีมากกว่า

Invisible Bed ที่ออกแบบให้กับทาง Index Living ได้รับรางวัล German Design Award Winner 2020

Invisible Bed เป็นผลงานออกแบบเตียงที่ผมงานร่วมกับทาง Index Living Mall ได้รับรางวัล German Design Award โจทย์คือ ผมตั้งคำถามก่อนว่าเตียงคืออะไร เตียงคือสิ่งที่รองรับที่นอนเอาไว้อีกทีหนึ่ง นั่นคือนามธรรมที่จับต้องได้ว่าเตียงคือสิ่งนั้น แล้วผมก็ถามตัวเองกลับว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่คนใช้งานอยากได้จริงๆ ไหม หรือจริงๆ แล้วเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถยกเตียงให้อยู่ในระดับที่คนนอนสบาย นั่นจึงเป็นคอนเซ็ปต์ของการออกแบบเตียงที่ไม่เห็นเตียง ตั้งชื่อว่า Invisible Bed ดีไซน์ขาเตียงให้เข้าไปลึกที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อให้มองไม่เห็นในระดับสายตา สิ่งที่ได้คือความรู้สึกของผู้ใช้งานที่รู้สึกเชื่อมโยงว่าเรานอนอยู่บนเตียงที่ลอยได้ สบายเหมือนนอนอยู่บนก้อนเมฆ ฟิน (หัวเราะ)

Edge Kitchen ได้รับรางวัล German Design Award Winner 2020

VATIN และ VIN เป็นอีก 2 แบรนด์ที่ผมได้เข้ามาร่วมงานด้วย ในส่วนของ VATIN จะเป็นแบรนด์ชุดครัวที่ล่าสุดเพิ่งได้รางวัลจาก German Design Award

Edge Kitchen เป็นการออกแบบครัวให้ที่มี Motion Sensor เมื่อเดินเข้าไปไฟจะเปิด เดินออกมาไฟปิด หรือเราเรียกว่า Interactive Design
การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานและสิ่งของ นอกจากเรื่องของ Form Follows Function ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานในการออกแบบอยู่แล้วคือการมอบความรู้สึกบางอย่างให้กับผู้ใช้งาน การออกแบบไม่จำเป็นต้อง Functional แบบนี้ก็ได้ เช่น กระเป๋าบางใบ รองเท้าบางคู่ที่เราใช้แล้วรู้สึกสวยขึ้น 10-20% เป็นใบโปรดคู่โปรด ผมว่าความรู้สึกแบบนั้นมันคือการออกแบบที่ดีในมุมมองของผม เราจึงอยากให้ชุดครัวนี้สร้างความรู้สึกแบบนั้นให้กับผู้ใช้ เกิดความรู้สึกสนุกสนานมากกว่าที่จะเข้าไปเพื่อทำอาหารตามปกติ

ผมว่านี่คือความเข้าใจใหม่ของการออกแบบในอีกเจเนอเรชันหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในตำราหรือหนังสือ แต่ว่าถ้าเราทำแบบนั้นได้ เหมือนกับโปรดักต์สามารถสื่อสารกับผู้ใช้ได้

Octagon Trolley : Station for cooking ได้รับรางวัล German Design Award Winner 2020

อย่างผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่ผมออกแบบภายใต้แบรนด์ VATIN คือ Octagon Trolley เป็นเหมือน Cooking Station รถเข็นที่ติดตั้งเตาอินดักชันสามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำให้เกิดอิสระในการทำอาหารมากขึ้น คอนเซ็ปต์คือก่อนหน้านี้ผมไปร้านอาหารหนึ่งที่ประเทศเดนมาร์ก เราสั่งเนื้อไปแล้วแทนที่เขาจะเสิร์ฟแบบเป็นจานแต่กลับเข็นรถมาสไลซ์เนื้อโชว์ที่โต๊ะเราเลย ผมรู้สึกว่านั่นเป็นอะไรที่ทำให้เรารู้สึกได้มากกว่าคำว่าอร่อย แต่สร้างความรู้สึกตื่นเต้น เป็นเหมือน Special Dish จึงเป็นไอเดียในการออกแบบงานชิ้นนี้ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้มีข้อจำกัดว่าการทำอาหารต้องอยู่ที่ห้องครัวอย่างเดียว

นอกจากนี้ยังมีผลงาน Connector Workstation ที่ทำให้กับ VIN ออกแบบเป็น Modular Office ซึ่งได้รางวัลทั้ง IF Design Award และ German Design Award กิมมิกของชิ้นนี้คือเวลาทำงานทุกคนต้องการความเป็นส่วนตัว แต่สิ่งหนึ่งคือถึงเราไม่อยากให้ใครมารบกวนแต่ก็อยากรู้ว่ามีใครเดินมาหรือเปล่า ผมนำองค์ความรู้ของไทยในอดีตมาปรับใช้ บ้านสมัยก่อนที่เป็นฝาขัดแตกเวลาใครมาเราก็สามารถมองเห็นแต่คนที่อยู่ด้านนอกเขาจะไม่เห็นเรา นั่นคือเรื่องของระยะในการมองออกไป พอเราออกแบบในลักษณะนี้ก็ช่วยให้เกิดความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ มีสมาธิในการทำงานและสร้างความเป็นส่วนตัวได้มากขึ้นอีกด้วย

อาชีพดีไซเนอร์เป็นอาชีพที่ยากนะ มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่เราจะเรียนรู้และรู้จักทุกอย่างในโลก แต่เราก็ต้องศึกษา

ผมจะบอกว่า Work Station ก็คือชิ้นแรกที่ออกแบบ ครัวก็ชุดแรกที่ออกแบบ เตียงก็ตัวแรกที่เราออกแบบ ผมได้รางวัลทั้งหมดทั้งที่เป็นดีไซน์ชิ้นแรก เพราะฉะนั้นถ้าย้อนกลับไปกระบวนการคิดคือผมออกแบบสิ่งที่สร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับคนใช้ เหมือนกับเตียงที่เรารู้สึกว่านอนสบาย ทั้งที่ยังไม่ได้นอน ความรู้สึกเหล่านี้นี่แหละที่ส่งผ่านจากตัวโปรดักต์ไปยังผู้ใช้ได้ ผมว่ามันไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะ เช่น เห็นภาพเพนต์ติงของศิลปินคนนี้แล้วทำไมรู้สึกเศร้าอย่างนี้ ซึ่งเขาสามารถสื่อสารออกมาได้ ไม่ต่างกับตัวผลิตภัณฑ์

คอนเซ็ปต์เราคือส่งผ่านความรู้สึกบางอย่างไปยังคนใช้และอยากให้คนใช้รู้สึกดี ถ้าตอบเรื่องนี้ได้หน้าที่ของดีไซเนอร์ในมุมมองของผมก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วครับ

ขอขอบคุณภาพผลงานจาก : คุณอภิรัฐ บุญเรืองถาวร/ VATIN/ VIN