Sensarn Collective เป็นการนำขยะพลาสติกที่มากเหลือจนล้นโลกมาสร้างคุณค่าใหม่อีกครั้ง โดยคุณเตย-นิโลบล ยืนยง คนปลายน้ำที่มองเห็นปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่มีวันหมดมาตั้งแต่วัยเด็ก ริเริ่มต่อยอดความชอบส่วนตัวในเรื่องโปรดักต์ดีไซน์
ด้วยประสบการณ์ในฐานะกราฟิกดีไซเนอร์ที่คลุกคลีกับงานออกแบบมานาน ควบคู่ไปกับความหลงใหลในธรรมชาติและต้นไม้ บันดาลใจให้ระดมไอเดียร่วมกันกับกลุ่มชาวบ้านคนท้องถิ่นอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ภายใต้ชื่อ Sensarn Collective เพื่อสร้างสรรค์งานออกแบบของแต่งบ้านที่มีคอนเซ็ปต์เรื่องสิ่งแวดล้อม
มองเห็นโอกาสในช่วงวิกฤติ
“ตอนที่มีโควิด-19 เราได้อยู่บ้านมากขึ้น มีช่วงเวลาได้คิดเรื่อยเปื่อย บางทีทำงานไปเราก็ได้แวะรดน้ำต้นไม้ระหว่างวันบ้าง ทำให้เริ่มมีไอเดียเรื่องทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับกระถางใส่ต้นไม้ เพราะทางบ้านทำ Local Business เกี่ยวกับขยะพลาสติกรีไซเคิล เริ่มต้นตั้งแต่นำขยะมาคัดแยกและฆ่าเชื้อโรค บดให้ละเอียดก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนสภาพเป็นเส้นหวายพลาสติก จุดนี้เราตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เริ่มต้นจากสิ่งที่เราชอบ ต่อยอดด้วยธุรกิจครอบครัวร่วมกับคนในชุมชน”
Sensarn Collective
ที่มาของชื่อ Sensarn (เส้น-สาน) เป็นการเริ่มต้นเส้นทางขยะพลาสติกรีไซเคิลจากไอเดียของคนหนึ่งคนสู่การสานต่อสายสัมพันธ์เพื่อร่วมกันลงมือทำให้เป็นรูปเป็นร่างโดยกลุ่มคนในท้องถิ่นเดียวกัน ภายใต้แบรนด์ Sensarn Collective ซึ่งมีจุดยืนของตัวเอง
“จากตอนแรกที่คนยังไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ พอเราได้เริ่มออกบูทไปให้คนได้เห็นแบบจับต้องได้ ยิ่งได้ลองแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนที่เข้ามาสอบถาม ทำให้คนเข้าใจงานของเรามากขึ้น ในฐานะของแต่งบ้านรีไซเคิลที่ตอบโจทย์คนรักต้นไม้ด้วยความอีโค่ของผลงาน เรื่องดีคือฟีดแบ็กที่ได้กลับมาช่วยให้เราได้ต่อยอดผลงานของแต่งบ้านหรือของใช้ในบ้านอื่นๆ นอกจากกระถาง ไม่ว่าจะเป็นถาด ที่รองจาน หรือเก้าอี้สาน โดยที่ยังคงสไตล์วินเทจและมินิมอล
ดีไซเนอร์ผู้รักต้นไม้ และเส้นทางการรีไซเคิลขยะพลาสติก
ด้วยพื้นฐานของดีไซเนอร์ที่หล่อเลี้ยงไอเดียด้วยความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนเดิม พร้อมกับความรักในต้นไม้ทำให้คุณเตยตั้งใจต่อยอดธุรกิจรีไซเคิลขยะพลาสติกของที่บ้าน ลงมือออกแบบตามสไตล์มินิมอลที่ชอบเป็นของแต่งบ้านในแบบที่ใช่ ทั้งหมดนี้งานของ Sensarn Collective จึงกำเนิดขึ้นเป็นกระถางต้นไม้ดีไซน์เรียบง่ายและโมเดิร์น ให้กลิ่นอายวินเทจอย่างเป็นเอกลักษณ์ในเวลาเพียง 6 เดือน
“สิ่งที่สนุกของการได้เริ่มต้นทำแบรนด์คือการได้ลองผิดลองถูก มีผลงานที่เสียหายจากการทดลองทำไปกว่าร้อยใบ เพราะไม่มีทางเลยที่จะได้อย่างตั้งใจในครั้งแรก ถึงผิดหวังกับผลงานที่ผิดรูปไปบ้างแต่ก็สนุก เหมือนได้เดินทางไปพร้อมกับชาวบ้าน สานต่อไอเดียซึ่งกันและกัน จากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง เหมือนชื่อแบรนด์ที่พูดถึงเส้นสายที่ต่อเนื่องกัน”
เพราะงานสานไม่ใช่งานที่ทำได้คนเดียว
“เป็นความบังเอิญที่เราได้เจอกลุ่มชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องการสานกระบุงจับปลาซึ่งเป็นทักษะทางภูมิปัญญาที่รับช่วงต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เราจึงพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อร่วมกันประยุกต์ภูมิปัญญากับวัสดุที่มีให้เป็นผลงานจากหวายรีไซเคิล เป็นความท้าทายที่เปลี่ยนจากไม้ไผ่แบบดั้งเดิมมาสู่การใช้หวายพลาสติก ซึ่งมันจะยากตรงที่เส้นหวายรีไซเคิลจะลื่นมือกว่าปกติ จุดนี้เราเหมือนได้ลองเริ่มต้นไปพร้อมกันกับชุมชนเพื่อให้ได้เอกลักษณ์ของงานที่ลงตัว “
“สิ่งที่เราหวังจริงๆ คือการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยลดขยะพลาสติกด้วยขั้นตอนรีไซเคิล โดยที่ได้ช่วยชาวบ้านที่เป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ให้ได้ใช้ทักษะการทำงานสานสร้างสรรค์เป็นผลงานร่วมกัน”
Sensarn Collective
instagram.com/sensarncollective
facebook.com/sensarncollective