ในวันที่โลกหมุนไปเร็วกว่าที่ใจคิดจนเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในมุมมองของนักออกแบบสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือเรื่องการช่วยลดความสิ้นเปลืองจากการใช้ทรัพยากรและวัสดุต่างๆ โดยผ่านกระบวนการคิด ค้นหา และทดลองเพื่อสร้างคุณค่าให้กับสิ่งที่มีอยู่แล้วตลอดจนนำเสนอมุมมองใหม่หรือความไม่ธรรมดาจากสรรพสิ่งสามัญ
เราเลยอยากชวนทุกคนไปพูดคุยกับ คุณชินภานุ อธิชาธนบดี กันที่ TANGIBLE Cafe
หนึ่งในผลงานของ Trimode Studio ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการออกแบบเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
Trimode Studio
หลังจากเรียนจบเราก็เริ่มทำงานโปรดักต์ดีไซเนอร์ตามสาขาที่จบมา แต่ก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วงานดีไซน์นั้นไม่ได้มีข้อกำหนดว่าใครจะทำสาขาอะไร จิวเวลรี โปรดักต์ หรืออินทีเรีย เพราะทุกอย่างล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่ที่ว่าเราจะมองมุมไหนแค่นั้นเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของผม คุณหงส์ และคุณหยก ที่ทำงานต่างสาขาวิชาชีพกันกลายเป็น Trimode Studio ซึ่งถ้าย้อนกลับไปสมัยที่เรียนศิลปากรจะมีงานกิฟต์ (Gift Festival) ที่ทุกคนนำงานของตัวเองมาขาย
ตอนนั้นเรารู้สึกว่าภาษาของงานมีความสอดคล้องอะไรบางอย่าง เพียงแต่มีกระบวนการที่ต่างกัน
โดยแรกเริ่มเราก็ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ โปรดักต์ต่างๆ จนมีลูกค้ามาบอกให้เราช่วยออกแบบสเปซให้ จากนั้นเลยมีการต่อยอดด้านอินทีเรียดีไซน์ที่เกี่ยวกับรีเทลแฟชั่นและร้านอาหาร รวมไปถึงเรื่องของดีไซน์เซอร์วิสด้วย
การทำงานคือเมื่อเราได้รับงานมา 1 งานก็จะมานั่งคุยกันในมุมมองต่างๆ ว่าในมุมของจิวเวลรีมองสิ่งนี้อย่างไร ในมุมโปรดักต์ดีไซน์มองอย่างไร และในมุมของอินทีเรียที่จะต้องนำชิ้นงานนี้ไปวางอยู่ในสเปซนั้นๆ มีความเห็นอย่างไร จากนั้นให้ลองมองในมุมของคนอื่นดูบ้าง
เช่น จิวเวลรีขยับสเกลมามองในมุมของอินทีเรียบ้างไหม โปรดักต์ลองเข้าไปใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ หรือถอยออกมามองในส่วนของโครงสร้าง เรื่องของวัสดุต่างๆ กระบวนการคิดเหล่านี้ก็จะถูกปั้นถูกหลอมรวมกัน
งานของ Trimode จึงที่เน้นทั้งกระบวนการทางอุตสาหกรรม งานคราฟต์ และการผสมผสานเข้าด้วยกัน
รวมไปถึงการตีความแบบ Emotional ในแง่ของงานศิลปะด้วย
TANGIBLE: Creative Flow Space
เดิมทีออฟฟิศเราไม่ได้อยู่ตรงนี้แต่ด้วยสมาชิกที่มากขึ้นเราจึงอยากขยับขยาย ตอนแรกพื้นที่ชั้นล่างเป็นส่วนสำหรับประชุม เป็นพื้นที่ให้เซลส์มานำเสนอสินค้า และเก็บของตัวอย่าง จากนั้นเราก็มาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงงานดีไซน์ที่เรามี ความเป็นตัวตนของทีมเรา หรือกระบวนการทดลองของเราเพื่อให้ชิ้นงานต่างๆ ได้เข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น
จึงเกิดเป็นไอเดียเปลี่ยนพื้นที่ชั้นล่างและชั้น 2 ให้เป็นคาเฟ่ TANGIBLE แล้วเชื่อมโยงงานดีไซน์ผ่านเครื่องดื่ม ไลฟ์สไตล์ และแฟชั่น ทำให้คนภายนอกได้เห็นการออกแบบของเรา และเราเองก็จะได้มุมมองอะไรใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน
ทั้งยังเป็นสเปซไว้ทดลองสิ่งใหม่ นำตัวอย่างวัสดุที่ได้จากซัพพลายเออร์ ผู้ผลิต หรือม็อกอัปที่จะนำไปติดตั้งกับงานอินทีเรียที่อื่นมาต่อยอดและทดลองกับพื้นที่ในส่วนนี้ก่อนได้
ในส่วนของการออกแบบเราจะเน้นให้มีความรู้สึก Energetic Casual และ Relax โดยมีคอนเซ็ปต์ว่า Creative Flow Space เพื่อเปิดความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้ที่พบเห็น วัสดุที่นำมาใช้เราจะไม่ Finish อะไรเลย ทำให้เกิดการตั้งคำถาม แต่ถ้าเราเลือกปิดทั้งหมดหรือใช้กระจก หิน เหล็ก หรืองานไม้ก็เหมือนกับเราปิดความคิดสร้างสรรค์ไปเพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นคืออะไร
การคิดแบบ Creative Flow Space ก็เหมือนการวาง Composition ในส่วนของสเปซและอินทีเรีย
เวลาเดินไปเรื่อยๆ จะเกิดมุมมองใหม่ในทุกย่างก้าวเสมอ ในรูปแบบที่เป็นเหมือนร้านวัสดุก่อสร้าง เพราะสตูดิโอเราเต็มไปด้วยกองวัสดุมากมายอยู่แล้ว
สร้างคุณค่าหรือความไม่ธรรมดาจากสรรพสิ่งสามัญ
TANGIBLE จะเป็นการใช้วัสดุแบบคาดเดาไม่ค่อยได้ เป็นกระบวนการสร้างคุณค่าหรือความไม่ธรรมดาจากสรรพสิ่งสามัญ สิ่งที่เห็นจะเป็นวัสดุพื้นฐานที่เรามองข้ามไป
โดยมีกระบวนการคิดว่าจะทำอย่างไรให้วัสดุที่เป็นพื้นฐานขนาดนั้นและคนเห็นจนคุ้นตาเกิดคุณค่าอีกครั้ง ด้วยการสร้างสิ่งใหม่ จากนั้นก็นำวัสดุต่างๆ ที่มีอยู่มาใช้กับสเปซของเรา
ซึ่งถ้าเรานำตัวอย่างวัสดุมาดูรายละเอียดจริงๆ อาจจะเห็นความน่าสนใจหรือแง่มุมที่ซ่อนอยู่ด้านใน เช่น อะลูมิเนียมที่เรานำมาใช้แล้วมองเห็นเป็นสีรุ้ง ซึ่งปกติเวลานำอะลูมิเนียมมาใช้จะต้องเตรียมผิวและนำไปทำ Powder Coat จากเดิมที่จะต้องทำขั้นตอนต่างๆ นี้เลยลองคิดว่าถ้าตัดการทำ Powder Coat ออกจะเป็นอย่างไร เพราะเราสังเกตเห็นผิวด้านในของอะลูมิเนียมแล้วรู้สึกชอบมากกว่า เมื่อเรานำมาใช้เลยโดยลดทอนขั้นตอนออกก็ไม่ทำให้เกิดฝุ่นละออง ความร้อน และไม่ต้องใช้สารเคมี ทั้งยังเป็นการต่อยอดและสร้างคุณค่าให้กับวัสดุพื้นฐานได้โดยที่ไม่ต้อง Finishing ผิว
พอเรานำมาใช้กับสเปซเวลามีคนสนใจงานดีไซน์มาสอบถาม เราก็สามารถเล่าถึงที่มาที่ไปเป็นแนวคิดว่าจริงๆ แล้วไม่ต้อง Finishing งานก็ดูสวยและจบงานได้เหมือนกัน เขาอาจจะไม่ได้มองวัสดุตัวนี้แต่สามารถนำไปใช้กับสิ่งอื่นได้
เข้าใจขนาดวัสดุ
ย้อนไปตอนที่ทำเฟอร์นิเจอร์เราจะเข้าไปถึงกระบวนการผลิตขั้นตอนที่เป็นอุตสาหกรรม ทั้งงานคราฟต์ งานออกแบบที่เป็นเชิงดีเทลดีไซน์ ทำให้เราเข้าใจเรื่องของขนาดวัสดุ วิธีจบงาน และรายละเอียดต่างๆ รวมไปถึงข้อผิดพลาดที่ได้เจอในกระบวนการเหล่านั้น ทำให้เรามีองค์ความรู้และนำมาปรับใช้เข้ากับงานอินทีเรียดีไซน์ จากเดิมเราจะทดลองและออกแบบผ่านมุมมองในงานศิลปะของเรา
แต่ปัจจุบันมุมมองของเราเปลี่ยนไปซึ่งตรงกับเรื่องของ Circular Design Cycle of Life โดยมีความคิดว่าการออกแบบอะไรสักอย่างหนึ่งต้องไม่จำกัดว่าสิ่งนั้นคืออะไร
เช่น เราออกแบบเก้าอี้ ถ้าตั้งต้นเพื่อให้ได้มาซึ่งเก้าอี้ก็จะเกิดคุณค่าและการใช้งานเป็นเพียงเก้าอี้ แต่ถ้าตั้งต้นจากการเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถนั่งได้ เป็นโต๊ะได้ เมื่อนำไปติดผนังเป็นชั้นวางของก็ได้ ซึ่งกระบวนการคิดเหล่านี้เรานำมาทดลองกับ TANGIBLE อย่างเก้าอี้หรือโต๊ะที่สามารถจัดเก็บหรือเปลี่ยนเป็นชั้นวางของได้เมื่อต้องการใช้สเปซในรูปแบบต่างๆ หรือจัดแสดง Exhibition ซึ่งผมรู้สึกว่าสถานการณ์ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การออกแบบดีไซน์จึงต้อง Flexible มากขึ้น
นอกจากนี้การเลือกใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าโดยการทำความเข้าใจขนาดวัสดุต่างๆ ในอุตสาหกรรมว่ามีขนาดเท่าไรเพื่อการออกแบบฟังก์ชันจากสิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและเหลือเศษทิ้งน้อยที่สุด ซึ่งต้องมีความเข้าใจทั้งโครงสร้างไปจนถึงการปิดผิว คือการทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง
เช่น ทีมงานของเราออกแบบเคาน์เตอร์หนึ่งมีความสูง 77 เซนติเมตร อาจจะเลือกใช้แกรนิตโต้สวยๆ สักแผ่น ซึ่งแกรนิตทั่วไปจะมีขนาด 60 เซนติเมตร หรือ 1.20 เมตร ถ้าเขาออกแบบโดยเข้าใจขนาดของวัสดุก็จะรู้ว่าหน้ากว้างเท่าไรจะทำให้สามารถดีไซน์ในขนาด 60 เซนติเมตรให้สวยได้โดยที่ไม่ต้องใช้แกรนิตโต้ 2 แผ่น แล้วตัดเศษทิ้งเพื่อให้ได้ขนาด 77 เซนติเมตร นอกจากจะประหยัดต้นทุนแล้วยังไม่ต้องใช้วัสดุสิ้นเปลืองอีกด้วย
นำไปสู่การออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ในการทำงานออกแบบถือเป็นงานที่ใช้วัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ สมัยก่อนเราไม่จำเป็นจะต้องนำเรื่องนี้มาคิดในกระบวนการดีไซน์ขนาดนี้ แต่ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมเริ่มมีปัญหาและส่งผลกระทบมากมาย เมื่อทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกัน
ถ้าเราเริ่มต้นอย่างดีออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า สมเหตุสมผล และเหมาะสมกับประเภทการใช้งาน ปลายทางก็จะดีตามไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมที่เราออกแบบบูทในการจัดแสดง Exhibition ส่วนใหญ่จะเลือกใช้วัสดุที่จบงานแล้วรื้อทิ้ง ทั้งยังเต็มไปด้วยสารเคมีจากกาวและการพ่นสีต่างๆ แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากเปลี่ยนความคิดว่าออกแบบโครงสร้างให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้แล้วค่อยปรับดีไซน์เฉพาะส่วน ครั้งต่อไปก็นำกลับมาใช้ได้อีก เพราะในงานแฟร์จะมีดีไซเนอร์ที่รับผิดชอบบูทเป็นร้อยๆ พันๆ คน ถ้าทุกคนออกแบบบูทที่รื้อทิ้งทั้งหมดจะเกิดเป็นภูเขาขยะกองใหญ่มากมายมหาศาล เราก็ถือเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในการเริ่มต้น เพราะทุกอย่างเป็น Circle ถ้าเราเริ่มต้นอย่างดี ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ คุ้มค่า และดีต่อสิ่งแวดล้อม ปลายทางก็จะดีกับโลกที่เราอยู่อาศัย
นอกจากโจทย์ในการออกแบบที่ต้องมีดีไซน์สวย มีฟังก์ชันใช้งานได้ดีจะถือเป็นความสำคัญในลำดับต้นๆ แต่ทุกวันนี้เรื่องของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ขอขอบคุณภาพผลงานจาก : Trimode Studio