Lifestyle & Cooking People

ธนัชพงศ์ เมธีปิยะวัฒน์ สถาปนิกหัวใจรักษ์โลก


เริ่มต้นจากการเป็น Sale Architect มาก่อน
หลังจากเรียนจบปริญญาตรีสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยมหาสารคามแล้วเรียนต่อปริญญาโทที่พระจอมเกล้าลาดกระบังและได้ทุนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปต่างประเทศ หลังจากเรียนจบได้ทุนเรียนปริญญาเอก แต่ผมสละสิทธิ์เพราะตอนนั้นอยากหาประสบการณ์ในการทำงานแล้ว เพราะเราเรียนมาตลอดในขณะที่เพื่อนบางคนเขาทำงานกัน เลยอยากไปลองใช้ชีวิตบ้าง

พอทำงานก็ไม่ได้ทำดีไซน์โดยตรง ทำตำแหน่ง Sale Architect เพราะอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ผมว่าอาชีพหนึ่งที่ทำให้รู้ทุกอย่างนั่นคือ การเป็นเซล เราได้เรียนรู้อีกความรู้สึกหนึ่ง ช่วงแรกอาจจะต้องปรับตัวนิดหน่อยแต่การเป็นเซลทำให้ได้ทั้งการตรงต่อเวลา เตรียมความพร้อม เจรจาต่อรอง ความอดทน การแก้ปัญหา ทำให้เราโตเร็วกว่าคนอื่น ได้วิธีคิด ซึ่งผมว่านี่เป็นข้อดี

_FLU5919

IMG-8537

ประสบการณ์จากการทำงาน
บริษัทแรกผมทำงานถึง 12 ปี รู้สึกอิ่มตัวจึงลาออก ที่นั่นเป็นบริษัทผลิตงานเหล็กสำเร็จรูป ประตูรั้ว ราวระเบียง เหมือนเราโตมาด้วยกันค่อยๆ พัฒนาสินค้า จากเมื่อก่อนหลังคุยแบบกันเสร็จเราจะมีทีมช่างไปเชื่อมกันหน้างาน แต่ตอนนี้โครงการบ้านจัดสรรเขาลดเวลาสร้างบ้าน การจะมานั่งเชื่อมเหล็กหน้างานแบบเดิมก็ทำไม่ได้แล้ว ทุกอย่างจึงเป็นเหมือนเลโก้ที่ต้องไปประกอบกันหน้างาน

พอมาทำงานอีกบริษัทหนึ่งทำเกี่ยวกับงานกระจกสำหรับอาคารสูง แผง Facade ที่เราเห็นเป็นกระจกรอบๆ อาคารแบบนั้นน่ะครับ อันนี้เราได้เรียนรู้อีกหนึ่งประสบการณ์ ต้องดีไซน์ใหม่ทั้งตึกไม่ใช่หยิบอะไรมาใส่ก็ได้ เพราะมันมีเรื่องโหลด เรื่องของความสวยงาม พอทำงานได้สักระยะผมก็รู้สึกเบื่อกับการเป็นลูกจ้าง อีกอย่างเราไปจนถึงจุดสูงสุดแล้ว เลยตัดสินใจทำเองดีกว่าแม้จะมีความเสี่ยงก็ตาม

หลังจากนั้นผมมารับงานออกแบบเต็มตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำเป็นงานหลัก ส่วนร้าน Iden Furniture ทำมา 9 ปีแล้ว อยากมีเฟอร์นิเจอร์เป็นของตัวเองแล้วมันใช้กับงานเราได้ด้วย

IMG-8536

IMG-8540

ศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมเสมอ
นอกจากเป็นสถาปนิกแล้ว ตอนนี้ผมกำลังเรียนต่อปริญญาเอก สาขาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจจะโชคดีที่เรากำลังเรียนอยู่ด้วย ทำให้ได้อ่านเปเปอร์บ่อยๆ อย่างงานวิจัยต่างประเทศนิตยสาร เว็บไซต์ คอยเช็คตลอดว่าอาคารที่ได้รับรางวัลมีอะไรบ้าง เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป รูปแบบความนิยมเป็นแบบไหน โครงการอะไรแปลกๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้แล้วน่าสนใจ ซึ่งมันสามารถต่อยอดให้กับการเป็นอาจารย์พิเศษ เพราะผมสอนด้านออกแบบ อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนิสิตปี 5

อาชีพนี้จึงทำให้เราต้องอัพเดตตัวเองตลอดเวลา เพราะว่านักศึกษาจะเลือกทำโครงการของเขาเอง ฉะนั้นเราต้องรู้ให้ทันโลกไม่อย่างนั้นเราไม่สามารถโค้ชเด็กได้ เหมือนเปิดโลกเปิดมุมมองให้เด็กเห็นในสิ่งที่เขาคิดไม่ถึง

IMG-8539

ความต่างในเรื่องการเรียนของแต่ละระดับปริญญา
มันเป็นคนละสเตจมากกว่า อย่างตอนเรียนปริญญาตรีเขาไม่ได้ใส่ความคิดที่ลึกซึ้งขนาดนี้ เพราะเราต้องฝึกว่าทำอะไรบ้าง ต้องรู้เรื่อง Structure วัสดุ ทักษะในการออกแบบ ต้องฝึกทำบ้าน อาคารทุกประเภท โรงพยาบาล รีสอร์ท สนามบิน แต่พอปริญญาโทผมเรียนในเชิงพลังงานมันก็จะลึกขึ้น หมายถึงอาคารจะใช้พลังงานยังไงให้ประหยัดและมีประสิทธิภาพ เพราะในยุคที่ผมเรียนคือยุคอาคารประหยัดพลังงานกำลังมา แล้วเรื่องเหล่านี้ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เรายังโฟกัสเรื่องแบบนี้อยู่ แต่พอปริญญาเอกมันลึกซึ้งกว่า มองภาพที่ใหญ่กว่า มองไปนอกอาคาร ปริญญาโทมองแค่ตึกเราจะทำยังไงกับตึกแค่ว่ามันแอดวานซ์ขึ้น ต้องมีความรู้ลึกในแง่ของดีไซน์ เช่น จากเดิมเรารู้แค่ว่าลมมันพัดแบบนี้ ปริญญาโทจะพูดแค่นั้นไม่ได้ เราทำช่องเปิดมาก็ต้องเทสต์ว่าลมมันไหลจริงหรือเปล่า เขาจะสอนให้คิดอย่างมีเหตุมีผล

สำหรับปริญญาเอกไม่ได้มองแค่ตึกแล้ว มองไปถึงโลกด้วย มันเป็นคนละสเกลกันเลย หลักๆ อยู่ที่วิธีคิด เขาสอนให้เราตั้งคำถาม เจออะไรแล้วตั้งคำถามรู้จักตั้งคำถามกับมัน ถัดมาคือหาคำตอบจากมันได้ยังไง เราจะไม่ตัดสินใจบนอารมณ์ เราจะทำอย่างนี้เพราะว่า 1…2…3… ต้องมีหลักฐานพิสูจน์ว่าเชื่อถือได้

IMG-8543

สไตล์การทำงานที่ชอบและประทับใจ
สไตล์การทำงานผมค่อนข้างเรียบง่าย เท่ ไม่ต้องเยอะ ประหยัด และเป็นที่จดจำ ส่วนผลงานที่ชอบมีหลายอย่างตั้งแต่ บ้าน โรงแรม อพาร์ทเมนท์ แต่ที่ชอบที่สุดที่กำลังจะก่อสร้างคือ  we love king learning center and number 9 house เจ้าของโปรเจ็กต์อยู่ที่หัวหินแล้วเขาเป็นคนที่รักในหลวงรัชกาลที่ 9 มาก ซื้อที่ซึ่งในหลวงท่านทำโครงการในพระราชดำริที่แรกคือ ตรงห้วยมงคลแล้วก็ทำศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฏีใหม่ให้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่เอาไปทำตาม เช่น ปลูกข้าวในบ่อ ปลูกผักสวนครัว เมนของโปรเจ็กต์นี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีพื้นที่ที่เป็นสวนเกษตรตามทฤษฎีใหม่ มีที่พักอาศัยแล้วมีที่พักเพิ่มอีก 9 ห้อง มีแกลอรีสำหรับพระราชประวัติให้เรีนรู้ ซึ่งตอนนี้แบบเสร็จแล้ว เป็นรูปแบบง่ายๆ ตอนที่ผมคิดแบบนั้นเอาคอนเซ็ปต์โรงนามาใช้แต่ใส่ลูกเล่นให้มันเป็นทรงเกเบิลที่มีดีไซน์เท่ๆ ใช้วัสดุที่เป็นท้องถิ่นเกี่ยวกับการเกษตร หาง่าย ดูแล้ไม่เบื่อแต่ดูแล้วต้องอยากไป ซึ่งที่นี่จะ soft opening ในวันที่ 13 ตุลาคมนี้

แนวคิดในการทำงานที่ยึดถือมาตลอด
เราต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ หมายความว่าเราทำบ้านให้คนอยู่ เรื่องของจรรยาบรรณสำคัญที่สุด อะไรถูกก็ต้องว่าถูก อะไรที่เขาไม่รู้แต่อยากให้เราทำแล้วเราคิดว่าไม่เหมาะก็ต้องบอกว่ามันไม่เหมาะ ไม่ควรทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรโกงในดีเทลหลายๆ อย่าง และสิ่งสุดท้ายคือการบาลานซ์ทุกอย่างคือข้อสำคัญ บาลานซ์ความต้องการของลูกค้า บาลานซ์ความสวยที่ทุกคนอยากจะได้ บาลานซ์งบประมาณบาลานซ์สภาพแวดล้อม ต้องทำให้ลงตัวแล้วมันจะเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ดี

IMG-8541โฟกัสเรื่องรักษ์โลกเป็นหลัก
จริงๆ หลักในการออกแบบมันมีอยู่แล้ว ความสวยงาม ฟังก์ชันการใช้สอย ความแข็งแรงคงทน 3 อย่างนี้ต้องประกอบเข้าด้วยกัน และต้องถูกตามหลักวิชาการที่สำคัญต้องมองสภาพแวดล้อมภายในกับสภาพแวดล้อมภายนอก

เมื่อก่อนสถาปนิกจะมองว่าเราสร้างอาคารขึ้นมาเหมือนอยู่ในรั้วของเราเท่านั้น ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับใคร ไม่เอาเปรียบหรือรบกวนใคร แต่ว่าในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะสร้างอะไรขึ้นมาแล้วไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจะทำยังไงไม่ให้มันไปรบกวนสภาพแวดล้อม ในขณะที่เราจะต้องทำเพื่อเอื้อประโยชน์กับคนที่อยู่ คือต้องเหมาะสมเหมือนเดิมแต่ไม่รบกวนสภาพแวดล้อม มันหมายรวมถึงการบริหารจัดการในการก่อสร้าง ใช้วัสดุน้อยที่สุด หรือการใช้พลังงานสะอาดเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือการนำวัสดุบางอย่างที่นำมาใช้ทำอาคารเป็นวัสดุรีไซเคิล หรืออะไรก็ตามที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม คือไม่ไปเอาของในอนาคตมาใช้ หมายถึงว่าทุกวันนี้เราไปขุดโน่นนี่นั่นมาใช้แล้วคนในอนาคตเขาจะไม่มีใช้ ดังนั้นจะทำยังไงให้เรามีใช้เหมือนกันแต่ต้องนึกถึงคนในอนาคตไม่ให้เขาลำบากด้วย

เรื่อง วาสสุคนธ์ เอกประดิษฐ์
ภาพ อรรถพล ธัญญากิจ
ภาพผลงาน ธนัชพงศ์ เมธีปิยะวัฒน์


You Might Also Like...