Lifestyle & Cooking People

ชีวิตแบบพอเพียงที่โรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว ของ ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ


ชีวิตแบบพอเพียงที่โรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว ของ ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ

ระหว่างเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปวังน้ำเขียว สิ่งที่เราคิดอยู่ตลอดเวลาคือพอเพียงนั้นความหมายที่แท้จริงของคำนี้คืออะไร การเดินทางในครั้งนี้จะทำให้เราได้พบกับอะไรบ้าง แล้วเราจะเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำๆ นี้มากน้อยแค่ไหนกัน @Kitchen พาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับคุณปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ เจ้าของโรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว และคำว่าพอเพียงไปพร้อมๆ กันค่ะ

1

★ รอดชีวิตมาได้เพราะคำว่าพอเพียง ★

ก่อนหน้านี้ผมทำธุรกิจส่วนตัวนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อะไหล่คอมพิวเตอร์ แต่ก็เจอกับวิกฤตหลายอย่าง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ภัยน้ำท่วม แต่พอมาคิดแล้วทุกอย่างก็เกิดจากตัวเรา คือความไม่ประมาณตน ประมาท มีความโลภ ตอนนั้นผมอายุแค่ 25 ผมเป็นหนี้กว่า 50 ล้าน จำได้ว่าขับรถกลับบ้านใจลอยฝ่าไฟแดงไปหลายครั้ง ตัดสินใจไปบวชวัดป่าที่บ้านเกิดจังหวัดกาญจนบุรี พอเริ่มมีสติสภาพจิตใจเริ่มดีขึ้นก็กลับมารับผิดชอบในสิ่งต่างๆ เริ่มต้นอีกครั้ง เราไม่อยากให้คนข้างหลังต้องมาลำบากโดยเฉพาะพ่อกับแม่ ต้องบอกเลยนะครับว่าผมรอดมาได้ เหมือนมีชีวิตใหม่อีกครั้งก็เพราะคำว่าพอเพียงและประมาณตน ซึ่งอยู่ในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

” ประมาณตนก็คือความหมายหนึ่งของคำว่า พอเพียง ทำอะไรแต่พอดี ไม่ประมาท ทำเท่าที่กำลังเราไหว ให้พอมีพออยู่พอกินไม่ไปเบียดเบียนใคร และคำนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนจนเท่านั้นที่จะใช้ได้ ไม่ใช่ให้เรามาปลูกผักปลูกข้าวกินไปวันๆ แต่ไม่มีเงินเก็บไม่มีเงินส่งลูกเรียนไม่ใช่แบบนั้น แต่คือให้เราทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต่อยอดและรู้จักศึกษาพัฒนาความรู้ไปเรื่อยๆ ”

อย่างการทำเกษตรก็ต้องรู้จักนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์จากองค์ความรู้เก่าที่มีแล้วทำให้เกิดรายได้เลี้ยงตัวเองได้ ผมเพิ่งเข้าใจก็ตอนที่ได้ลงมือทำเอง ถึงได้รู้ว่าสิ่งที่พระองค์สอนและทำให้เราเห็นเป็นแบบอย่างนั้น คือสิ่งที่มีค่ามหาศาล ถ้าเรานำมาปฏิบัติก็จะเปิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

3
คุณปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ

★ ไร่กาแฟและเกษตรผสมผสาน ★

หลังจากตั้งสติได้ก็ขับรถมาเที่ยวแถววังน้ำเขียว บังเอิญว่าผมมาเห็นชาวบ้านที่นี่เขาปลูกกาแฟ แต่ปลูกแบบไปงั้น เพราะกาแฟไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลักของวังน้ำเขียว แต่ผมมองเห็นมูลค่าที่สามารถสร้างได้จากกาแฟ และเรายังได้เห็นธรรมชาติเห็นน้ำเห็นดิน ได้สัมผัสอากาศความรู้สึกมันบอกเราว่าที่นี่แหละเราอยู่ได้ จะมาทำเกษตร ตอนนั้นมีเงินติดตัวมาแสนกว่าบาทกับรถยนต์หนึ่งคัน โชคดีที่เราเป็นลูกชาวไร่ชาวนา พอมีพื้นฐาน มีภูมิต้านทาน อดทนได้เพราะเคยผ่านความลำบากมาก่อน

หลังจากตัดสินใจว่าจะปลูกกาแฟก็เริ่มศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังตั้งแต่ประวัติ การปลูกการดูแล ดูว่าที่วังน้ำเขียวมีใครปลูกกาแฟบ้าง ปลูกกันแถวไหน ปลูกอย่างไร แล้วก็เริ่มวางแผนว่าจะเริ่มจากตรงไหน

5
โฮมสเตย์และนาข้าวสาธิตการทำเกษตรผสมผสาน

สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทราบกันก็คือกาแฟนั้นจะเก็บได้แค่ปีละ 1 ครั้ง เกษตรกรจึงคิดว่ามันไม่สามารถสร้างรายได้ให้ได้ตลอดทั้งปีแล้วระหว่างที่ไม่ได้เก็บกาแฟจะเอาอะไรกิน แต่จริงๆ เราสามารถจัดการพื้นที่ ทำเกษตรแบบผสมผสานได้

เช่น พื้นที่ 1 ไร่ เราสามารถปลูกกาแฟสลับกับไม้ผลอื่นๆ ได้ เช่น กล้วยน้ำว้า ทุเรียน ชา หรือปลูกผักที่ไม่ต้องการแสงแดดจัดอย่างผักสลัดก็ได้ คือเราเป็นเกษตรกรก็จริงแต่ต้องรู้จักเอานวัตกรรม เทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้วย เราเป็นเกษตรรุ่นใหม่มีแหล่งข้อมูลมากมายให้เราได้ศึกษา แล้วนำมาพัฒนาควบคู่ไปกับองค์ความรู้เดิมของพ่อแม่เรา

ใครบอกว่าเกษตรกรเป็นอาชีพคนจนนี่ไม่จริงเลยนะ ทำดีๆ มีเงินเก็บมีเงินส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆ เลี้ยงตัวเองเลี้ยงครอบครัวได้เลย อีกอย่างคือเราปลูก ผลิต แปรรูป จำหน่ายและกำหนดราคาได้เองไม่ต้องขึ้นอยู่กับราคาตลาด ทำให้เราพึ่งพาตัวเองได้

2

★ โรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว ★

พอเราเป็นหนี้สิน ผมก็พูดกับตัวเองเอาไว้ก่อนจะทำโรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียวว่า พอแล้วนะทำแบบพอดีตัว ทำเท่าที่กำลังเราไหวไม่ละโมบโลภมากแล้ว ผมต่อยอดจากพื้นที่ที่เรามี ไม่ได้ไปกู้เงินจากธนาคารเพราะต้องใช้หนี้เก่าให้หมดก่อน คิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ประหยัดที่สุด เขียนแบบขึ้นมาเองโดยดัดแปลงจากโรงเลี้ยงวัวเก่าให้เป็นร้านกาแฟเล็กๆ

เริ่มจากคั่วกาแฟในกระทะ ต้มจากโมก้า พอท แล้วดริปขาย หลังจากนั้นก็ค่อยๆ มาจัดการพื้นที่ 5 ไร่ของเราในส่วนอื่น โดยแบ่งออกเป็นแปลงเกษตร ปลูกกาแฟ ปลูกข้าว ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างโกดังเก็บกาแฟออกแบบให้ลมผ่านได้ทุกทาง มีโรงคั่วและโรงสีกาแฟ ในส่วนของออฟฟิศและชอปขายสินค้าก็ดัดแปลงมาจากโกดังเก่า

10
โรงคัดแยกกากกาแฟที่ดัดแปลงจากโรงเลี้ยงวัวเก่า

ในส่วนของโฮมสเตย์นั้นผมมาสร้างทีหลัง ทำให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ อยากถ่ายทอดประสบการณ์ในสิ่งที่เราทำและสัมผัสมาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ได้มาทำตรงนี้ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เขาอยากมีชีวิตแบบนี้ ได้อยู่กับธรรมชาติ สามารถทำงานอยู่ในบ้านเกิดตัวเองได้ เงินเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเนื่องจากคนเราต้องกินต้องใช้ ความรู้ที่เราให้จะช่วยให้เขาสามารถมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวและตัวเอง บางคนกลับไปทำเกษตรแบบพอเพียงในที่ดินของตัวเอง ไม่ต้องปลูกกาแฟก็ได้ปลูกในสิ่งที่เขาถนัด แค่นี้ผมก็ภูมิใจแล้ว

6
ช่วยกันเก็บเมล็ดกาแฟที่ตากไว้คนละไม้คนละมือ

★ วิสาหกิจชุมชน ★

การทำอาชีพเกษตรนั้นเราต้องรู้จักการปรับตัว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งในเรื่องของสภาพภูมิอากาศ หรือแม้กระทั่งเรื่องของเทคโนโลยี

แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการเข้าหาเกษตรกร เพราะเขาทำเกษตรมาทั้งชีวิต การที่จะไปชักชวนให้เขามาทำแบบเราหันมาปลูกกาแฟแบบปลอดสาร แล้วนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นนั้นค่อนข้างยาก เขาคิดแค่ว่าถ้าปลูกแล้วจะเอาไปขายที่ไหน ซึ่งคิดกันคนละแบบกับเราเลย

เราคิดถึงความยั่งยืน สิ่งที่เราทำได้คือลงมือทำให้เขาเห็นว่าทำอย่างไร ทำแบบไหน กาแฟสามารถแปรรูปไปเป็นอะไรได้บ้าง พอเขาเห็นว่าเราทำได้มันเกิดรายได้เขาถึงจะเปลี่ยนความคิด

4

การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาทำให้เราสามารถช่วยเหลือกันได้ทั้งในแบบรูปธรรมและนามธรรมทำให้เกิดความเข้มแข็ง มีการแบ่งปันองค์ความรู้ เมื่อมีปัญหาก็ช่วยกันแก้ไข และผมมองว่านี่ก็คงเป็นอีกความหมายหนึ่งของคำว่าพอเพียง

เมื่อใดก็ตามที่เราเข้มแข็งและไม่ได้มองแต่ตัวเอง แต่ยังนึกถึงผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือชุมชน เมื่อต้นน้ำดีปลายน้ำก็จะดี เห็นไหมครับว่าแค่คำๆ เดียวนั้นถ้าเราเข้าใจและปฏิบัติตามเริ่มต้นจากตัวเรา-ครอบครัว-สังคม-ประเทศชาติ

7

มาถึงตรงนี้ถึงได้รู้ว่าความหมายที่แท้จริงของคำว่าพอเพียงนั้นมันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราให้คำจำกัดความของคำนี้ว่าอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญคือเรานำคำนี้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างไรต่างหาก มีประโยคหนึ่งที่ทำให้เรายิ้มทั้งน้ำตา คุณปกรณ์บอกกับเราว่า “กว่า 30 ปีมาแล้ว ต้นกล้าพระราชทานที่ชื่อว่า กาแฟ ทำให้ชาวดอยและคนไทยอีกหลายชีวิตมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

8

เราเชื่ออย่างสุดหัวใจเลยว่าตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 น้ำตาของคนไทยทั้งหลายคงยังไม่หยุดไหล แท้จริงแล้วพระองค์ยังไม่ได้จากพวกเราไปไหนพระองค์ทรงยังอยู่ในดิน ฟ้า อากาศ เพราะพระองค์เป็นแบบอย่างให้เราในทุกด้าน คำสอนของพระองค์จะเป็นหลักนำชีวิตให้กับคนไทยทุกคน ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

บทความจากคอลัมน์ “Professional” นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 124 ประจำเดือนธันวาคม 2559


You Might Also Like...