Lifestyle & Cooking People

คุยกับ ตั๊บ-ธนพัฒน์ บุญสนาน ว่าด้วยเรื่องของสถาปัตยกรรมไม้ไผ่


คุณตั๊บ-ธนพัฒน์ บุญสนาน เป็นสถาปนิกที่เราคิดว่าเขาเป็นคนที่อารมณ์ดี(มาก) คนหนึ่ง ชื่นชอบไม้ไผ่ตั้งแต่ได้เข้าร่วมเวิร์กชอปเกี่ยวกับไม้ไผ่ที่ทางอาศรมศิลป์จัดขึ้น “ตอนที่ได้ไปดูงานสถาปัตยกรรมที่ทำจากไม้ไผ่ เราประทับใจมาก ไม้ไผ่มีความสวยงามและดูอบอุ่นต่างไปจากวัสดุอื่นที่เคยทำงานมา ไม่ว่าจะเป็นไม้ชนิดอื่น เหล็กหรือปูน ตอนนั้นเรารู้ได้เลยว่าเราจะเป็นสถาปนิกที่ดีได้คงต้องทำงานกับไม้ไผ่ เราชอบ รู้สึกมีแรงบันดาลใจ มีแพชชันที่จะทำงาน”

Profess138-1

บริษัท ธ.ไก่ชน คือจุดหมายของคอลัมน์ Professional ฉบับนี้ ตลอดการเดินทางในใจอดคิดไม่ได้ว่าที่ทำงานของคุณตั๊บจะมีหน้าตาประมาณไหน ออกแบบอย่างไร ดีไซน์แบบไหน จะทำจากไม้ไผ่หรือเปล่า ยังไม่ทันได้คิด(จินตนาการ) ไปมากกว่านี้…ที่นี่ไม่ผิดแน่ ลานกว้างที่มองไปทางไหนก็เจอแต่ไม้ไผ่ ทุกสิ่งล้วนมีส่วนประกอบของไม้ไผ่ “เดินเข้าไปข้างในได้เลยครับ” คุณตั๊บกล่าวทักทายก่อนจะเดินนำพวกเราเข้าไป

Profess138 -5

นี่คงจะเป็นโฮมออฟฟิศที่มีความโฮมมีมาก เรียบง่ายแต่อบอุ่น เป็นบ้านชั้นเดียว เพดานสูง มีช่องหน้าต่างและช่องระบายอากาศใต้หลังคาที่ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นช่องแล้วติดมุ้งลวดกันยุง โต๊ะตัวใหญ่กลางห้องกับบันไดดีไซน์แปลกตาที่ทำจากไม้ไผ่ น่าจะเป็น 2 สิ่งที่แบ่งส่วนของพื้นที่ทำงานและพื้นที่ส่วนตัวไว้อย่างชัดเจน ถ้ามองตามขั้นบันไดขึ้นไปจะพบกับชั้นลอยที่ทำจากไม้ไผ่เป็นส่วนของห้องนอน พื้นที่ใต้ชั้นลอยเป็นห้องครัวขนาดกะทัดรัดสำหรับทำอาหารมื้อง่ายๆ ได้อย่างคล่องตัว แถมหน้าบ้านหรือจะเรียกให้ดูเป็นทางการว่าโฮมออฟฟิศ ยังมีโต๊ะไม้ไผ่ไว้ให้นั่งเล่นอีกด้วย

“ถ้าจะให้ย้อนกลับไปว่าทำไมถึงมาเป็นสถาปนิก คงต้องย้อนไปไกลเหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่เป็นครูทั้งคู่ ช่วงปิดเทอมแม่ไปสอนที่โรงเรียนแถวปิ่นเกล้าแล้วเห็นโปสเตอร์ติวความถนัดทางสถาปัตย์ฯ เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เลยให้เราไปเรียนตั้งแต่อยู่ ม.2 คนที่สอนเขาก็งงเหมือนกันนะว่า ม.2 มาติวทำไม ตอนนั้นเลยชอบวาดรูปมาเรื่อยๆ ไปเรียนจนถึงช่วง ม.5 จนจำได้หมดแล้วว่าเขาสอนอะไรบ้าง ตั้งแต่ตอนนั้นไม่เคยคิดจะเป็นอย่างอื่นเลยนอกจากสถาปนิก และด้วยความที่เรามีเวลาวาดรูปมากกว่าคนอื่น เพราะเรียนมาตั้งแต่ ม.2 ทำให้สอบติดคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร”

_NIK9091

หลังจากเรียนจบคุณตั๊บทำงานเป็นสถาปนิกในบริษัทออกแบบได้ประมาณ 2 ปี ก่อนจะมีโอกาสได้ไปเวิร์กชอปเกี่ยวกับไม้ไผ่ที่ทางอาศรมศิลป์จัดขึ้น “ก่อนหน้านั้นตอนเรียนไม่มีการสอนเกี่ยวกับไม้ไผ่ ไม่มีการออกแบบอะไรที่ใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้องกับไม้ไผ่เลย จนเราได้ไปเวิร์กชอป มีชาวออสเตรเลียที่ทำงานด้านแลนด์สเคปมาให้ความรู้ ซึ่งเขาทำงานไม้ไผ่อยู่ใoเมืองไทย พอหลังจากนั้นเราได้รู้จักกับคนที่มาเวิร์กชอปด้วยกัน เขาชวนไปดูโรงเรียนปัญญาเด่น เราประทับใจมากตอนได้เห็นงานไม้ไผ่ รู้สึกว่ามันสวยงามอย่างตอนไปเที่ยวหรือไปดูงานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เขาจะพาไปดูตึกใหญ่ๆ อาคารสวยๆ โรงแรม รีสอร์ตที่มีดีไซน์โดดเด่น แต่เราไม่ได้รู้สึกประทับใจแบบนี้ แต่กับงานไม้ไผ่มันให้ความรู้สึกบางอย่าง สวยงาม อบอุ่น เหมือนได้เจอแมตทีเรียลที่ชอบ ตั้งแต่เรียนจนทำงานเราไม่ได้อินกับปูน เหล็ก รู้สึกเฉยๆ พอเจอไม้ไผ่เรามั่นใจว่าสามารถทำงานอยู่กับมันได้แน่นอน มีแพชชันที่อยากจะทำงาน คิดเอาเองว่าถ้าจะเป็นสถาปนิกที่ดีได้คงต้องทำงานเกี่ยวกับไม้ไผ่นี่แหละ”

แม้ว่าจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร แต่ความรู้เกี่ยวกับไม้ไผ่ของคุณตั๊บเท่ากับศูนย์ จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อไปเรียนรู้และทำความรู้จักกับไม้ไผ่ให้มากขึ้น “ตอนไปเวิร์กชอปเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนหลายอย่างเหมือนกัน ตัดสินใจลาออกจากงาน ไม่เรียนต่อปริญญาโทหลังจากเพิ่งเริ่มเรียนได้เทอมเดียว แล้วไปอยู่เชียงใหม่ เพราะที่นั่นมีบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับไม้ไผ่โดยเฉพาะ ซึ่งจริงๆ เขาก็ไม่ได้รับเราเข้าทำงาน แต่เราไปที่ออฟฟิศเขาทุกวัน ไปดูว่าเขาทำงานกันอย่างไร ทำแบบนั้นอยู่ประมาณ 3 เดือน ก็มีคนมาให้เราออกแบบรีสอร์ต คงเห็นว่าเราตั้งใจมาทุกวันเลยให้ออกแบบโปรเจ็กต์ส่วนของล็อบบี้ ที่คูลดาวน์ รีสอร์ต นั่นน่าจะเป็นโปรเจ็กต์แรกที่ได้ทำงานไม้ไผ่”

Profess138 -4
ผลงานออกแบบงานไม้ไผ่ชิ้นแรกของคุณตั๊บที่ คูลดาวน์ รีสอร์ต จ.เชียงใหม่

“คูลดาวน์ รีสอร์ต เป็นโปรเจ็กต์ที่ทำให้ต้องเปิดโรงงานไม้ไผ่ของตัวเอง คือเราต้องทำทรีตเมนต์ไม้ไผ่(เป็นวิธีการป้องกันมอด) ก่อนจะสร้างอาคาร แต่ว่าการซื้อที่อื่นมีราคาสูงมากเลยตัดสินใจเปิดโรงงานเพื่อทำทรีตเมนต์ไม้ไผ่เองที่จังหวัดนนทบุรีแล้วส่งไม้ขึ้นไปที่เชียงใหม่ เรียกได้ว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่เขียนแบบเอง หาช่างเอง ช่วยคุมงานทั้งงานปูน งานเหล็ก กลายเป็นผู้รับเหมางานแรกในชีวิตเลย สุดท้ายกลายเป็นสถาปนิกไม้ไผ่ เป็นเจ้าของโรงงาน เปิดบริษัทเป็นของตัวเอง”

“หลายคนอาจจะมองว่าพอเจอทางที่ชอบ ได้ทำงานที่รัก เหมือนเราประสบความสำเร็จแล้ว แต่จริงๆ มันไม่ใช่นะ ยังมีอะไรให้ต้องเรียนรู้อีกเยอะมาก พอเริ่มชอบเราก็ต้องศึกษาเพิ่มตั้งแต่วิธีการทรีตเมนต์ วิธีการเชื่อมต่อ ต้องรู้ว่าส่วนไหนอ่อนหรือแข็ง ทุกอย่างต้องใช้เวลา ความยากคือมันไม่มีคนสอน วัสดุไม่เหมือนตอนเรียน ไม้ไผ่ต้องสุ่มต้องเลือกเอา มีหลายชนิดพันธุ์ บางต้นไม่ตรง การออกแบบต้องใช้ความเข้าใจสูง ทุกวันนี้การทำงานทุกชิ้นยังมีอะไรให้ต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

Profess138 -2
งาน Wonderfruit Festival 2017 ที่คุณตั๊บเข้าร่วมออกแบบ

ตลอดระยะเวลา 4-5 ปี จากประสบการณ์การทำงานและออกแบบสถาปัตย์ที่หลากหลาย ทำให้คุณตั๊บเริ่มรู้ว่าตัวเองชอบออกแบบไม้ไผ่ที่เป็นงานอาร์ตมากกว่าจะเป็นงานเชิงสถาปัตยกรรมอย่างเดียว “หลังๆ เรารู้สึกว่าทำงานอาร์ตที่ไม่ได้เป็นเชิงสถาปัตยกรรมอย่างเดียวจะรู้สึกสนุกมากกว่า อย่างล่าสุดที่ไปออกแบบให้กับงาน Wonderfruit Festival เริ่มจากเมื่อปี 2016 เขาอยากได้ดีไซเนอร์ไทยที่ทำงานไม้ไผ่จึงมีโอกาสได้เข้าไปทำงานที่เราชอบในรูปแบบที่เป็น Festival”

Profess138 -7
The Quarry ในงาน Wonderfruit Festival 2017 

“ที่ผ่านมาเวลาทำงานไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ความรู้เพิ่มเติมเลยนะ แต่ว่าทำงานกับ Wonderfruit ความรู้เราเพิ่มขึ้นแบบพรวดเลย ได้เห็นว่าเขาทำงานกันอย่างไร ทุกคนเป็น Professional ในสิ่งที่ตัวเองถนัด โดยปกติสถาปนิกจะต้องรู้เรื่องระบบท่อ ไฟฟ้า ประปา วิศวกรรม แต่ที่เราไม่เคยรู้เลยว่าเวลาออกแบบเวทีคอนเสิร์ตไฟต้องแขวนอย่างไร ลำโพงจะวางตรงไหน แล้วจะออกแบบให้สิ่งเหล่านี้ดูกลมกลืนได้อย่างไรให้วางไว้แล้วดูไม่เขิน ในงาน Wonderfruit ปีล่าสุด เราดีไซน์ดอกไม้(The Quarry) ให้มีเกสรออกมาสำหรับติดไฟ ลำโพง เป็นการทำงานออกแบบที่ต้องทำร่วมกับไลต์ติงดีไซเนอร์ ดีเจ นักดนตรี เพื่อให้เป็นแดนซ์ฮอลล์ที่ออกมาสมบูรณ์ที่สุด”

Profess138 -6
ภาพผลงานจาก บริษัท ธ.ไก่ชน

“จากประสบการณ์การทำงานทั้งหมด ถ้าย้อนกลับไปดูที่ผ่านมาจะเห็นว่างานที่ทำค่อนข้างหลากหลายมาก แต่ช่วงหลังเริ่มรู้ว่าตัวเองชอบไม่ชอบอะไร อะไรที่ดีไม่ดี เราเข้าใจมากขึ้นว่าไม้ไผ่เหมาะกับอะไร พื้นที่ตรงไหน รายละเอียดการติดตั้ง อาคารหน้าตาแบบไหนที่ชอบอยากออกแบบ แบบไหนที่ทำแล้วแข็งแรง ทำให้งานเริ่มออกมาค่อนข้างเป็นตัวเองมากขึ้นด้วย”

Profess138 -3
ภาพผลงานจาก บริษัท ธ.ไก่ชน

สำหรับงานที่คุณตั๊บภูมิใจที่สุดตลอดระยะเวลาในการทำงานสถาปนิก คือได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำไม้ไผ่ไปตกแต่งในบริเวณพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “ถือว่าเป็นการทำงานที่ครอบครัวผมภูมิใจที่สุด แม้ว่าจะเป็นส่วนที่เล็กที่สุด แต่เราทำอย่างตั้งใจและใช้ความสามารถของตัวเราเองคือการเป็นสถาปนิกทำงานถวายท่านให้ดีที่สุด”

เนื้อหาจากคอลัมน์ Professional ฉบับที่ 138
เรื่อง: หนูเสงี่ยม

ภาพ: พี่นิก
ภาพผลงาน: บริษัท ธ.ไก่ชน


You Might Also Like...