สำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์นอกจากจะต้องตอบโจทย์ขั้นพื้นฐานในแง่ของการปกป้องและถนอมสินค้า บอกเล่าเรื่องราวเพื่อถ่ายทอดความเป็นตัวตนและคาแรกเตอร์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปยังผู้บริโภคเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสนใจ ไปจนถึงตอบสนองความต้องการของตลาด แต่ในมุมมองของคุณแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นอะไรที่มากกว่านั้น การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ยังถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลงาน Prompt Design ได้รับรางวัลมาแล้วกว่า 74 รางวัลในเวทีการประกวดระดับโลก นอกจากการออกแบบดีไซน์จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้แล้วนั้น ยังช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองของต่างชาติที่มีต่อนักออกแบบไทยอีกด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทำให้คุณแชมป์รู้สึกภาคภูมิใจ
จากจุดเริ่มต้นจนวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี
“ย้อนกลับไปในช่วงที่ผมเลือกเรียนสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ผมเองก็ยังไม่ทราบว่าออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องเรียนเกี่ยวกับอะไร เพราะสมัยนั้นสาขาวิชาที่ได้รับความสนใจจะเป็นสถาปัตยกรรมกับมัณฑนศิลป์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ถือเป็นสาขาใหม่เราก็ลองเลือกเรียนดู พอเข้าไปเรียนแรกๆ เราก็ยังไม่เข้าใจมากนัก ยังต้องเรียนวิชาพื้นฐานทางศิลปะไปจนถึงประวัติศาสตร์ศิลป์ เกรดในช่วงแรกได้น้อยมาก เพราะเป็นความรู้วิชาการเกือบทั้งหมด”
“จุดเปลี่ยนคือช่วงปี 2 อาจารย์ให้ทุกคนทำโปรเจ็กต์เพื่อส่งประกวดการออกแบบของเล่น บังเอิญเราทำแล้วได้เข้ารอบเลยรู้สึกสนุกกับการเรียนมากขึ้น เหมือนได้ไปเปิดโลกอีกใบ คือผมรู้สึกว่าการทำงานประกวดทำให้เราได้ฝึกฝนตัวเองมากขึ้นจากโจทย์ที่มีอยู่แค่ในห้องเรียน ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ผมก็ยังทำงานประกวดอยู่เสมอมา น่าจะเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว จากเป้าหมายที่เริ่มจากอยากได้รับรางวัลเราก็เริ่มอยากพัฒนาทักษะของตัวเอง และเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ ครูอาจารย์ มหาวิทยาลัย และเป้าหมายทุกวันนี้ก็ใหญ่ขึ้นคือ ระดับประเทศ เอเชีย ไปจนถึงระดับโลกให้การยอมรับ”
เพราะเราอยากยกระดับมาตรฐานในสายตาต่างชาติว่าวงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของไทยหรือนักออกแบบไทยก็มีฝีมือ เวลาที่คนพูดถึงประเทศญี่ปุ่นว่าเขาออกแบบแพ็กเกจจิงดีจังเลย เราก็อยากให้เป็นแบบนั้นบ้าง เหมือนเป็นตัวแทนคนไทยไปประกวด ซึ่งตอนนี้ได้รางวัลประมาณ 74 รางวัล เราก็เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของต่างชาติได้ประมาณหนึ่ง และไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนถึงจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ผมก็ยังทำไปเรื่อยๆ ครับ (ยิ้ม)
Prompt Design กับการวิ่งทะลุกำแพง
“หลังจากเรียนจบก็เริ่มทำงานกับบริษัทของรุ่นพี่และอาจารย์ ทำได้ประมาณ 3-4 ปีก็มาเปิดบริษัทของตัวเองคือ Prompt Design ด้วยความที่ผมเป็นคนสุดโต่งประมาณหนึ่ง เวลาชอบอะไรจะวิ่งทะลุกำแพงไปเลยเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เคยอยากเป็นนักมายากลและชื่นชอบกีฬาบาสมากๆ เราก็ทำทุกอย่างเต็มที่เลย ไปดูที่สนามประเทศอเมริกา แคนาดา ซึ่งสมัยก่อนสายการบินไม่ได้มีเยอะมากเราต้องนั่งรถบัสข้ามเมืองข้ามเขาไป สะสมของทุกอย่างเกี่ยวกับบาส โมเดล การ์ดบาส เหมือนเป็นงานอดิเรกของเรา แต่พอช่วงที่ต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยความสนใจก็ค่อยๆ ลดลง จนมาเรียนดีไซน์ซึ่งเหมือนเราได้มีงานอดิเรกอีกครั้ง กลายเป็นสูตรผสมที่ลงตัวและถือเป็นความโชคดีที่ได้ทำสิ่งที่ชอบและเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ด้วย”
“ซึ่งเมื่อเราเป็นคนชอบอะไรแบบสุดโต่งแล้วต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่มีกรอบเยอะ จึงทำให้เราวิ่งทะลุกำแพงไม่ได้หรือสร้างอาณาบริเวณที่เราพึงพอใจไม่ได้ ผมเลยออกมาสร้างเวทีที่เป็นลานกว้างๆ ของตัวเอง จนเกิดเป็นบริษัทนี้ขึ้นมา”
แนวคิดและหัวใจการออกแบบบรรจุภัณฑ์
“งานดีไซน์ถือเป็นภาษาอย่างหนึ่ง หน้าที่หรือสาระสำคัญของบรรจุภัณฑ์คือต้องสื่อสารภาษา เรื่องราว หรือจุดเด่นของสินค้าผ่านการออกแบบ เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเข้าใจ สนใจ และเลือกซื้อ”
ส่วนวิธีการหรือแนวคิดในการออกแบบเราต้องเริ่มต้นจากศึกษาข้อมูลหรือหาว่าสินค้าหรือแบรนด์นั้นๆ มีอะไรที่เป็นเสน่ห์ เมื่อเราเจอแล้วก็นำสิ่งเหล่านั้นมาดีไซน์บรรจุภัณฑ์ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภครับรู้ว่าสินค้านี้มีอะไรที่ต่างไปจากคนอื่น
สิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จจะต้องมี 3 องค์ประกอบคือ
หนึ่งเราต้องหาสิ่งที่มีของแบรนด์ เป็นนักขุดเก่ง
สองคือเราต้องออกแบบเก่ง สื่อสารเก่ง
และสุดท้ายเราต้องเข้าใจหัวใจของผู้บริโภค
ถ้าเราไม่เข้าใจหรือขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะไม่สามารถนำสิ่งที่มีค่าของแบรนด์หรือสินค้านั้นไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องได้
ผลงานขวดน้ำแร่ Doi Chang ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จาก Dieline Awards 2020
สิ่งที่ต้องมีมากกว่าดีไซน์คือการแก้โจทย์ในการออกแบบอย่างไร
สำหรับการส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีระดับโลกนั้นเราต้องมีอะไรมากกว่า เพราะ 3 องค์ประกอบนั้นไม่เพียงพอสำหรับการแข่งขัน แต่เราจะต้องเพิ่มเติมในแต่ละส่วนโดยมีสาระสำคัญว่า ดีไซน์นั้นๆ สามารถแก้โจทย์ด้วยการออกแบบอย่างไร และต้องมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีความใหม่ในวงการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ในระดับหนึ่งเหมือนกัน เช่น ผู้บริโภคอยากได้ความสดชื่นจากน้ำดื่ม วิธีการพื้นฐานคือต้องมีหยดน้ำสิ มีน้ำกระจาย แน่นอนว่าตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย แต่ในแง่การประกวดความสดชื่นสามารถตีความเป็นอะไรได้อีกบ้าง ถ้ายิ่งตีความเฉียบคมเท่าไร มีวิธีการใหม่ โอกาสที่จะได้คะแนนก็มีมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำก็คือการติดตามข้อมูลข่าวสารว่าในแวดวงของการออกแบบบรรจุภัณฑ์เขามีการแก้ไขปัญหาอะไร ประมาณไหนไปบ้าง และเราควรสร้างสรรค์วิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ อย่างไร อีกทั้งยังต้องสื่อสารเข้าใจง่าย ด้วยผลงานที่ส่งประกวดมีจำนวนหลายพันชิ้น ผมเองเคยได้เป็นคณะกรรมการในหลายการประกวดด้วยกัน
“สิ่งที่จะดึงดูดกรรมการก็คือ ผลงานนั้นต้องเล่าเรื่องง่ายมากๆ หรือไม่ก็ต้องสวยมากๆ ต้องให้ความรู้สึกเหมือนเวลาเราเดินเข้าไปชมผลงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ที่มีผลงานมากมาย มีงานที่เราดูไม่รู้เรื่องเต็มไปหมด แต่จะมีบางชิ้นที่เราดูไม่รู้เรื่องหรอก แต่มันดึงดูดและทำให้เรารู้สึกได้ว่าชิ้นนี้สวย การออกแบบผลงานส่งเข้าประกวดจึงต้องมีความต่างในความต่างอีกที พูดเหมือนง่ายนะ แต่เราต้องใช้ความตั้งใจเยอะเหมือนกัน“
ผลงานที่ชื่นชอบและรางวัลที่ได้รับล่าสุด
ถ้าจะให้พูดถึงผลงานที่ชอบ ชิ้นแรกน่าจะเป็นงานออกแบบกล่องจิวเวลรีตอนช่วงที่เรียนปี 3 ชอบเพราะถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเรา ผมมองว่าเป็นงานออกแบบที่ใหม่มากจนกระทั่งวันนี้ก็ยังมองว่าเป็นผลงานที่ดีอยู่ โดยปกติกล่องใส่จิวเวลรีจะเป็นกล่องใหญ่ๆ ทำด้วยผ้าสักหลาด ซึ่งผมออกแบบกล่องเป็นรูปทรง 6 เหลี่ยม ตัวฝาสามารถแกะออกมาวางเป็นฐาน ด้านในที่ใส่สร้อยเราใช้วิธีการพับกระดาษแบบพิเศษเมื่อดึงออกมาแล้วนำไปวางไว้ที่ฐานจะกลายเป็นดิสเพลย์สำหรับห้อยสร้อยคอได้ ผลงานนี้ได้รางวัลระดับเอเชีย ซึ่งวิธีพับกระดาษด้านในเราเป็นคนคิดเองทั้งหมด และยังได้รับความสนใจจากคนต่างชาติคือเขามาขอแบบวิธีการพับนี้ไปตีพิมพ์ลงหนังสือที่รวมรวบแบบพับกล่องด้วย
กล่องใส่จิวเวลรีที่คุณสมชนะ ออกแบบให้สามารถดึงออกมาเป็นดิสเพลย์ได้ในตัว
ส่วนผลงานชิ้นถัดไปคือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์น้ำอ้อยไร่ไม่จน ที่สามารถนำมาต่อกันเป็นต้นอ้อยได้ สำหรับผลงานชิ้นนี้ผมรู้สึกประทับใจที่งานดีไซน์เป็นส่วนหนึ่งที่ไปเปลี่ยนผู้ประกอบการ ช่วยเปลี่ยนและขับเคลื่อนแบรนด์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นผลงานที่ได้รับความสนใจทั้งในและต่างประเทศ ถ้าเรามองจะเห็นว่าธุรกิจ SME คงไม่มีต้นทุนสำหรับการทำตลาดหรือประชาสัมพันธ์มากขนาดนั้น แต่ด้วยงานดีไซน์บรรจุภัณฑ์นี้ได้รับรางวัลถึง 12 รางวัล ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรมีโอกาสได้ส่งออกไปยังหลายประเทศ
“สำหรับคอนเซ็ปต์การออกแบบ เราย่อยทุกอย่างให้เหลือเพียงสิ่งสำคัญที่เป็นรากและแก่นของแบรนด์ คือ ธรรมชาติและความสดชื่นที่ได้มาจากน้ำอ้อยจริงๆ เราเลยคิดว่าออกแบบขวดเป็นรูปทรงต้นอ้อยเลย แต่สิ่งที่ยากคือเรื่องของ Production ที่จะต้องนำขวดมาวางต่อกันด้วยเทคนิคที่เราต้องแก้กันอยู่นานเหมือนกันเพื่อให้ตัวขวดซึ่งทำจากพลาสติกสามารถต่อกันได้สนิททุกๆ ชิ้น“
ขวดน้ำอ้อยไร่ไม่จน ออกแบบให้สามารถนำมาต่อกันเป็นลักษณะคล้ายต้นอ้อย สะท้อนให้เห็นถึงความสดชื่นที่ได้จากน้ำอ้อยจริงๆ
และชิ้นสุดท้ายที่เพิ่งได้รับรางวัลที่ 1 จาก Dieline Awards 2020 กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ข้าว Srisangdao Rice
ซึ่งถือเป็นงานที่ผมชอบมากอีกชิ้นหนึ่ง ด้วยเป็นการออกแบบที่ทำให้เปลี่ยนวิธีการคิดของคน เหตุผลคือเราเป็นประเทศที่คุ้นเคยกับข้าวอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยเห็นบรรจุภัณฑ์ข้าวที่มีลักษณะแบบนี้เลย อีกทั้งยังเป็นวัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แกลบข้าวที่เหลือใช้จากโรงงาน ซึ่งแกลบก็คือส่วนเปลือกของข้าวที่เราสีออกไปเมื่อเหลือก็จะนำไปทำเป็นอาหารหรือเปลี่ยนเป็นพลังงาน แต่เราคิดว่าคงจะเก๋และดูเท่ไม่น้อยเลยถ้านำสิ่งที่สีออกไปกลับมาห่อข้าวไว้อีกทีหนึ่ง
วิธีคิดคือเราใช้วัสดุที่กำลังเป็นเทรนด์โลก คือของเหลือใช้จากสิ่งแวดล้อม เป็นวัสดุธรรมชาติที่ไม่ทำลายโลก เป็นสิ่งบ้านๆ ของเราแล้วเพิ่มเทคนิคการปั๊มนูนให้เป็นรูปข้าวและพิมพ์ชื่อแบรนด์ลงไปด้วยการเบิร์นให้เกิดสีเท่านั้น อีกทั้งด้านล่างเรายังออกแบบให้มีช่องที่สามารถนำกลับมาใช้เป็นที่ใส่กระดาษทิชชูได้อีกด้วย เป็นผลงานที่คนชื่นชอบและให้ความสนใจมากจริงๆ
ผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใส่ข้าว Srisangdao Rice ได้รับรางวัลที่ 1 จาก Dieline Awards 2020
New Normal กับการออกแบบบรรจุภัณฑ์
ผมมองว่าเรื่องของ Covid-19 เปรียบเสมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ส่งผลให้ตลาด E-Commerce และ Delivery เติบโตขึ้นแบบฉีดยาจากที่ควรจะค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์ในแง่ของ Delivery Packaging มากขึ้น จริงๆ มีการพัฒนาตลอดเวลาอยู่แล้วแต่แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อเกิดสภาวะนี้ขึ้นในส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์เรื่อง Delivery อาจจะยังมีการออกแบบที่ยังไม่ดีพอเท่าไรนัก เช่น เวลาเราสั่งอาหารมาทานที่บ้านคุณภาพอาจจะลดลงไม่เหมือนไปทานที่ร้าน เราจะเจออย่างนี้เสมอ ความกรอบลดลง มีความชื้น เกิดหยดน้ำ อาหารหกบ้าง เป็นต้น ซึ่งบรรจุภัณฑ์อาจจะยังไม่ได้ถูกดีไซน์มาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ ผมมองว่าในสเตปต่อไปคนจะเริ่มหันมาสนใจและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีฟังก์ชันใช้งานที่ดีขึ้น และคนส่วนใหญ่ก็ยังจะคงสั่งของแบบ Delivery ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ตรงนี้จะต้องมีการพัฒนาที่ดีขึ้นตามไปด้วย
ขอขอบคุณภาพผลงานจาก: Prompt Design