หากเราพูดหรือนึกถึงความเป็น Textile ภาพที่ตามมาในหัวคือ การเห็นชาวบ้านกำลังนั่งทอผ้า นึกถึงสิ่งทอ หรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากเส้นใย เส้นด้าย ผืนผ้า เครื่องนุ่งห่ม แต่สำหรับคุณเต้-ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ผู้ได้รับรางวัล Designer of the Year 2019 สาขา Textile and Fabric Design จะทำให้คุณเปิดโลกและปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับงาน Textile ที่คุ้นเคยไปอย่างสิ้นเชิง
ทราบมาว่าอยากเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์
จริงๆ เราชอบออกแบบอยู่แล้ว ที่บ้านทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เรามีความสนใจเรื่องนี้และคลุกคลีอยู่กับเฟอร์นิเจอร์มาตลอดก็เลยอยากทำ แต่สอบติดภาพพิมพ์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผมได้วิธีคิดจากการเรียนภาพพิมพ์นะ เขามีขั้นตอน กระบวนการในการคิด ไม่เหมือนคนทำงานเพนท์ที่สามารถเติมได้เรื่อย แต่คนทำภาพพิมพ์ต้องคิดงานให้จบ ก่อนที่เราจะเริ่มกระบวนการการพิมพ์ สุดท้ายแล้วถ้าเราคิดไม่จบ บางทีเราไปเติมมันไม่เวิร์คครับ ผมว่าที่จุฬาสอนเรื่องวิธีคิด ไม่ได้เน้นว่าต้องทักษะดี แต่ถ้าวิธีคิดเราได้ อย่างอื่นจะตามมาเอง
เรียนภาพพิมพ์แต่กลับไปทำงานเฟอร์นิเจอร์
ผมเป็นคนชอบสามมิติ เรียนภาพพิมพ์ก็จริงแต่ธีสิสที่ทำเป็นงานสามมิติ เป็นงานประติมากรรม ที่อื่นอาจจะไม่ให้ทำก็ได้ แต่ที่นี่เขาสอนเรื่องวิธีคิด กลายเป็นว่าวิธีคิดเราได้ output ออกมาเป็นอะไรเขาไม่สนใจ อยู่ที่ว่างานเราจะสื่อวิธีคิดออกมาได้แค่ไหน เลยทำเป็นงานประติมากรรมไม้ หลังจากนั้นพอมีพอร์ตที่เป็นงานไม้ มันเลยง่ายที่เราจะเข้าไปสมัครเป็นดีไซเนอร์
แสดงว่ามีพื้นฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว
ผมว่าของแบบนี้อยู่ที่เราดูเราศึกษา ผมก็ดูงานและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ส่วนเรื่องของการออกแบบเขามีหลักการตายตัวอยู่แล้ว ต้องถูกหลัก โต๊ะต้องสูงเท่าไหร่ เก้าอี้สูงเท่าไหร่ รูปร่างหน้าตาจะทำอะไรก็ได้ วัสดุก็เป็นไม้ คอนเซ็ปต์ของแบรนด์เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ แค่นั้นไม่ได้ยุ่งยาก ทำอยู่บริษัทเฟอร์นิเจอร์ Plato ได้ปีกว่าๆ ผมตัดสินใจลาออก
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องออกจากงานทั้งที่เรากำลังสนุกอยู่กับมัน
ตอนนั้นเรารู้ว่าเราควรไปเรียนแล้วล่ะ บางอย่างเราไม่ได้รู้ทั้งหมด ก่อนไปก็ศึกษาว่าจะไปอังกฤษหรือฝรั่งเศส แต่เราได้ยูที่อังกฤษแล้ว เขารับเราเรียบร้อยแต่เราขอทุนไป เพราะค่าเรียนแพง ทีนี้ขอทุนไปไม่ได้ ก็เลยไม่ไป ตัดสินใจไปฝรั่งเศสแทนเพราะค่าเรียนถูกกว่า
ตั้งใจไปเรียนอะไรที่นั่น
ตั้งใจไว้สองอย่างไม่โปรดักต์ก็ Textile จริงๆ ผมทำ Textile มาตั้งแต่ปี 2 ปี 3 ตอนฝึกงานเรามีโอกาสไปฝึกงานกับแบรนด์แฟชั่น Senada พอดีได้รู้จักกับอาจารย์ต่าย ธีระ แกชวนไปทำงาน กลายเป็นว่าได้ทำ Textile ตลอด มีพอร์ต Textile เยอะ ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกอย่างที่เราเคยทำและถนัด เราเข้าไปเรียนกลับเป็นโรงเรียนเพียวอาร์ต เป็นสตูดิโอ Textile แต่ไม่สอน Textile ที่เป็นเสื้อผ้าแต่สอน Textile ที่เป็นอาร์ต เมืองไทยก็ไม่มีใครบอกว่ามันมีแบบนี้ในโลกนี้ด้วย (ยิ้ม) ก็เลยได้ไปเรียนอะไรที่มันแปลกๆ เราก็งงนิดหนึ่งในครั้งแรก แต่ตอนไปอยู่ที่นั่นเราก็พอจะทราบแล้วล่ะว่ามันมีงานประมาณนี้อยู่ เป็นงาน Textileกึ่งอาร์ต ช่วงนั้นเป็นกระแสสักพักหนึ่งว่า Textile เป็นงานอาร์ตที่เริ่มมีศิลปินใช้เทคนิค Textile มาทำศิลปะ เราก็พอจะรู้อยู่บ้างแต่ไม่แน่ใจว่าที่นี่เป็นแบบนั้นหรือเปล่า พอเข้าไปมันเป็นแบบนั้นจริงๆ เลยได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะวิธีคิด ซึ่ง ผมรู้สึกว่าเขาคิดเยอะจังเลย ฝรั่งเศสเน้นวิธีคิดมากกว่าประเทศอื่นๆ แม้งานที่เราเห็นจะออกมาแค่นิดเดียว
แสดงว่าที่ฝรั่งเศสมีชื่อเสียงเรื่องนี้โดยเฉพาะ
สังเกตได้ว่าที่นี่มีแบรนด์เสื้อผ้าเยอะ Textile มันจะถูกแอพพลายเยอะแยะไปหมด ที่นี่เป็นหาวิทยาลัย แต่ว่าเรียนเป็นระบบสตูดิโอ ในประเทศแถบยุโรปถ้าเป็นฝรั่งเศส เยอรมนีไม่ใช้ระบบเดียวกับอังกฤษ อเมริกา ใช้ระบบสตูดิโอ คือเราแอพพลายเข้าไปแล้วต้องแอพพลายเข้าไปในสตูดิโออีกทีหนึ่ง เพื่อจะเรียนกับไดเร็กเตอร์ของสตูดิโอนั้น เหมือนเราสมัครเข้าไปทำงานในสตูดิโอ ไม่ได้สอนแบบว่าเข้าคลาสนั่งเรียน เน้นปฏิบัติและเรียนรู้จากเขา อาจารย์ก็คือไดเร็กเตอร์ของสตูดิโอ เป็นศิลปินที่ทำงานจริงๆ ไม่ใช่อาจารย์ที่เป็นอาจารย์ คนที่ผมไปเรียนด้วยเขาเป็น Textile artist เป็นลูกศิษย์ของศิลปินสเปนซึ่งอยู่ในยุคเดียวกับปิกัสโซ มิโร แล้วสตูดิโอนี้ย้ายมาอยู่ฝรั่งเศสและก่อตั้งสตูดิโอนี้ขึ้นมาผลิตงานให้กับจอห์น มิโร ปิกัสโซ รับผลิตงานให้ในช่วงนั้น และก็เปิดสตูดิโอสอนด้วย เพื่อต้องการให้คนเข้ามาช่วยในการงาน เราจะเห็นมิวเซียมต่างประเทศ จะมีงานของมิโรที่เป็นงาน Textile ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตที่นี่
วิธีคิดที่ได้จากไดเรกเตอร์
ในแง่ของ Textile เปลี่ยนภาพของเราไปมาก ตรงที่ทุกอย่างเป็น Textile ได้ ไม่ใช่แค่สิ่งทออีกต่อไปแล้ว เขาสอนเทคนิคการทอเราประมาณครึ่งปี หลังจากนั้นจะปล่อยเราให้เราทดลอง Material อื่นๆ ที่เอามาใช้กับเทคนิคการทอได้ แต่ว่าวิธีคิดของเขาคือ อะไรก็ได้ที่มันมีข้างบนกับข้างล่างที่ขึงแล้วมีเส้นยืนให้ตึงได้ ก็ทอได้หมด อย่างในสตูดิโอเขาเอากิ่งไม้ พลาสติก กระดาษ มาทำ บางคนก็ไม่ทอเลยหรือตัวเขาเองก็ไม่ทอ ใช้ปืนกาวทำเท็กซ์เจอร์ขึ้นมาแล้วทำ Surface ใหญ่ๆ วิธีคิด Textile ก็คือ Surface ไม่ใช่สิ่งทออีกต่อไป ไม่มีข้อจำกัด แต่งานต้องตอบคอนเซ็ปต์ที่เราตั้งไว้ให้ได้ ส่วนงานที่โน่นที่ผมทำก็มีของใช้ที่อยู่ในบ้าน ของในครัวมาใช้เทคนิคในการทอ เอาหวี ส้อม หลอดไฟมาทอ พยายามหาวัตถุใหม่ๆ ในการทำงานและทดลอง
กับรางวัล Designer of the Year 2019 สาขา Textile and Fabric Design ที่ได้
รางวัลนี้มอบให้กับคนที่ทำงานในสาขาใดสาขาหนึ่งมาเป็นระยะเวลานาน มีผลงานระดับชาติและนานาชาติ เป็นงานรวมๆ ที่เราทำมาทั้งชีวิต เพราะงานเรา Textile เยอะ ผมก็รู้สึกภูมิใจที่เขาให้เกียรติเรา จนถึงวันนี้กับงานของตัวเอง วิธีคิดเราพัฒนาขึ้น มองอะไรที่ลึกขึ้น เมื่อก่อนเรามองว่าดูดีสวย แต่ตอนนี้เรามองมากกว่านั้น งานเราต้องพูดมากกว่าความสวยงาม ต้องมีประเด็นใส่บ้างในแต่ละครั้ง พยายามทำงานให้มีคอนเซ็ปต์มากขึ้น เรื่องของเทคนิคผมว่ามันพัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยี
การเป็นนักออกแบบที่ดี
อย่างแรกต้องมีวินัย จะบอกว่าศิลปินทำงานตามอารมณ์ผมว่ามันไม่ค่อยเมคเซนส์เท่าไหร่ ผมรู้สึกว่าคนที่ทำงานเป็นนักออกแบบศิลปิน เขามีการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน หมายความว่าวันนี้ต้องมีแพลนทำอะไรบ้าง จบด้วยอะไร พรุ่งนี้ทำอะไรต่อ มันจะทำให้เราควบคุมการทำงาน อย่างแรกสำคัญเรื่องเวลา มีลูกค้าเข้ามาก็ต้องตรงเวลา หรือแม้แต่คนที่เป็นศิลปินเองก็เถอะ เพื่อนผมที่เป็นศิลปิน ตื่น 8 โมง ทำงาน วาดรูป พักเที่ยง บ่ายโมงมาทำงานต่อ เขาทำงานเหมือนเป็นพนักงานบริษัท ทำงานทุกวัน งานก็พัฒนาขึ้นทุกวัน มันย้อนแย้งกับคำว่าอารมณ์ศิลปิน ไม่ต้องมีอารมณ์หรืออาจจะมีก็ได้ แต่สุดท้ายก็ต้องทำทุกวัน สำหรับผมความสม่ำเสมอ และการรักษางานให้ได้มาตรฐานของเราเป็นสิ่งสำคัญครับ