เริ่มต้นจากเราติดตามเพจ “ปูเป้ทำเอง” ด้วยความสนใจส่วนตัวของคนที่อยากปลูกต้นไม้ในบ้าน(ให้รอด)บ้าง อยากมีมุมสวนแบบนี้บ้างจังเลย พอรู้ตัวอีกทีก็ไม่ใช่แค่เรื่องปลูกต้นไม้ที่เราสนใจ ยังรวมไปถึงสิ่งละอันพันละน้อยที่คุณปูเป้-สุพัตรา อุสาหะ ลงมือทำเองแล้วนำสิ่งต่างๆ นั้นมาบอกเล่า แชร์สูตร วิธีทำ ตลอดจนเคล็ดไม่ลับมากมายที่เราเห็นแล้วเป็นต้องอยากทำตามบ้าง
คุณปูเป้บอกกับเราว่า “เวลามีคนมาถามว่าปูเป้ทำอะไรก็ตอบไม่ถูกเหมือนกันนะ เพราะทำ 108 อาชีพเลย” เอาเป็นว่า 108 อาชีพที่คุณปูเป้บอกนั้น เราขอพาทุกคนไปทำความรู้จักในแง่มุมของการเป็นนักปลูก แปรรูป และทำผลิตภัณฑ์ของกินของใช้ต่างๆ กันนะคะ
จากบ้านทาวน์โฮมสู่บ้านหลังใหม่ที่มีพื้นที่มากกว่าเดิม
ก่อนหน้านี้เราทำงานเกี่ยวกับร้านอาหารมาประมาณ 20 ปี ตั้งแต่ช่วงมหาวิทยาลัย คือทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จากแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นเล็กๆ จนมีร้านอาหารเป็นของตัวเองโดยร่วมหุ้นกับพี่ที่รู้จัก แต่ด้วยจังหวะเวลาทำให้เราอยากปรับจากการใช้ชีวิตกลางคืนเป็นหลักเพราะต้องดูแลร้านอาหาร มาใช้ชีวิตในช่วงกลางวันปกติบ้าง ทำให้มีโอกาสอยู่บ้านมากขึ้น ได้เริ่มทำอาหารกินเอง และมีอยู่วันหนึ่งเพื่อนสนิทแต่งงานก็มาชวนให้ไปช่วยงาน ทำทุกอย่างทั้งของชำร่วย เตรียมอาหาร อยากได้อะไรบอกมา ด้วยเราเป็นคนที่ชอบทำนู่นนี่นั่นอยู่แล้ว งานเย็บปักถักร้อย แต่งหน้าทำผมทำได้ทุกอย่าง หลังจากวันงานเพื่อนก็มาส่งพร้อมให้ของขวัญเป็นฟาง 1 มัด ต้นกล้าผัก และปุ๋ยมูลไส้เดือน นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มปลูกอะไรกินเอง
ตอนนั้นเราอยู่บ้านทาวน์โฮม 3 ชั้น ไม่มีพื้นดินที่จะปลูกอะไรได้ ด้านหน้าเป็นที่จอดรถ สเปซข้างบ้านก็ไม่มี แต่โชคดีที่หน้าบ้านมีระเบียงประมาณ 2×3 เมตร เราก็เริ่มปลูกต้นกล้าที่เพื่อนให้มาเล็กๆ น้อยๆ จากนั้นก็ปลูกทุกอย่างที่อยากกิน กะเพรา พริก ไปจนถึงอัญชัน ลูกหม่อน แตงกวา ฟักทอง มะระ มะละกอ ถั่วฝักยาว ปรากฏว่าได้ผลผลิตดีมาก แล้วเราก็โพสต์เล่าโพสต์อวดไปตามประสา (หัวเราะ) ทีนี้เริ่มมีคนสนใจเข้ามาถามว่าปลูกยังไง บวกกับพอปลูกเยอะขึ้นกินไม่ทันเราก็เริ่มคิดว่าจะทำยังไงดี จะทิ้งก็เสียดาย เลยแปรรูปวัตถุดิบต่างๆ แล้วแชร์สูตรให้กับคนที่สนใจด้วย กลายเป็นว่าเริ่มมีคนแวะเวียนมาพูดคุย สนใจมาเรียนคอร์สแปรรูปกับเรามากขึ้น จนรู้สึกว่าพื้นที่บ้านของเราเริ่มเล็กเกินไป จึงเริ่มมองหาบ้านหลังใหม่ที่ไม่ต้องใหญ่มาก แต่มีบริเวณให้ปลูกต้นไม้และรองรับคนที่อยากมาชมสวนและเรียนเวิร์กชอปกับเรา
เรียนรู้ว่าดินคือสาระสำคัญ
อย่างแรกที่เราตัดสินใจซื้อบ้านหลังนี้คือทิศของแสง ช่วงเช้าได้แดดฝั่งหนึ่ง ตกบ่ายได้แดดอีกฝั่งหนึ่ง หลังบ้านก็มีแดด จึงเริ่มจากทดลองปลูกต้นไม้ลงดิน เพราะก่อนนี้ปลูกลงกระถางอย่างเดียว เราก็ทำแปลง ปรุงดินเหมือนที่เคยทำคือใช้เศษอาหาร กลบใบไม้ ซื้อมูลสัตว์กับแกลบมา รดน้ำแล้วปลูก แต่ทำไมต้นไม้ไม่โตเลย?
ปัญหาที่พบคือดินเป็นดินเหนียว ขุดยากมาก แต่เราก็ยังพยายามลองว่าดินแบบนี้จะปลูกอะไรได้บ้าง ปลูกต้นกล้วย ปลูกไม้ใหญ่ อีกปัญหาที่เจอคือไม้ใหญ่บางชนิดมีรากฝอยเยอะ ทำให้เวลาหว่านเมล็ดอื่นลงไปแล้วไม่โต รากฝอยจะดูดสารอาหารไปหมดเลย ทั้งที่เราปรุงดินดีมาก ทำให้เห็นว่าถึงจะมีดินก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลูกต้นไม้ได้ จึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นกลับมาปลูกในกระถางแบบที่เราถนัดดีกว่า
หลังจากที่ปรับสภาพดินได้สักระยะเริ่มมีบางจุดที่สามารถปลูกต้นไม้ลงดินได้ เราก็ติดไทม์เมอร์กับสปริงเกอร์รอบบ้านเพื่อให้น้ำตลอดเวลา บวกกับได้ถ่านไบโอชาร์มาจากพ่อครูบาสุทธินันท์ เมื่อนำผงมาโปรยหน้าดินแล้วรดน้ำ ชิ้นที่เล็กมากๆ จะลงไปสู่ชั้นลึก ส่วนที่ไม่ได้บดละเอียดมากจะอยู่กลางๆ และส่วนที่หยาบจะอยู่บนหน้าดิน ไบโอชาร์เปรียบเสมือนบ้านของจุลินทรีย์ ช่วยย่อยสลายทุกอย่างและเก็บความชุ่มชื้น ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ หญ้าเริ่มขึ้น ต้นไม้เริ่มโต ไผ่จากต้นเล็กๆ เริ่มแตกหน่อเป็นพุ่ม
เวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มลงตัว ต้นไม้ ผักสวนครัวต่างๆ ที่ปลูกไว้เริ่มมากขึ้นก็เริ่มเปิดบ้านแบ่งปันให้คนที่อยากปลูกต้นไม้ ปลูกผักกินเองมาชมสวน เลือกซื้อต้นไม้บ้าง ยิ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าคนไม่อยากออกจากบ้านกันเยอะขึ้น อยากปลูกอะไรไว้กินเองแต่เขาไม่รู้ว่าจะไปซื้อที่ไหน และเราไม่ได้ใช้สารเคมี จากนั้นคำถามที่เจอบ่อยมากคือปูเป้ใช้ดินอะไร ใส่ปุ๋ยอะไร มีขายหรือเปล่า? โดยปกติเราทำดินใช้เองอยู่แล้ว หลังบ้านจะมีเข่งไว้ฝังเศษอาหารกับใบไม้แห้งเอาไว้ ทับถมกันได้ประมาณ 3 เดือนก็นำดินมาใช้ พอแบ่งขายไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีคือดินจะหมดแล้ว (หัวเราะ)
จึงเกิดเป็นดินปูเป้ทำเองขึ้นมา โดยได้คุณลุงสุเทพช่วยพัฒนาปรับปรุงสูตร ความเข้าใจของคนที่ปลูกต้นไม้คือขี้หมูบำรุงหัว ขี้วัวบำรุงใบ ขี้ไก่บำรุงผล แต่เราอยากให้คนที่ซื้อดินเราไปสามารถใช้ดินชนิดเดียวได้เลยไม่ต้องมานั่งหาขี้หมู ขี้วัว ขี้ไก่ โดยดินของเราจะผสมขี้ไก่และเป็ด ที่เลือกใช้มูลสัตว์ปีกเพราะไม่ว่าจะเป็นไม้ใบ ไม้ผล หรือไม้ดอกก็สามารถใช้ได้หมด พืชผักของเราจึงสวยงามตามฤดูกาล เมื่อดินดีออกดอกออกผล คนปลูกเขาก็มีกำลังใจ
กระถางและถุงกระสอบสีขาวตอบโจทย์เราที่สุด
เมื่อเรากลับมาปลูกไม้ในกระถางทำให้รู้ว่าดินคือสาระคำคัญที่สุดแล้ว ถ้าจะปลูกไม้กระถางต้องมีสารอาหารเพียงพอในหนึ่งกระถางเพื่อให้ต้นไม้เราโต ถึงดินจะดีแต่ปัญหารากฝอยยังอยู่ รากฝอยดุมากชอนไชเข้ามาในกระถางได้ จึงนำไอเดียที่เราเห็นตอนไปเยี่ยมชมฟาร์มของคุณลุงสุเทพมาปรับใช้ ยกชั้นทำเป็นเหมือนแผงตลาดนัดกับปลูกต้นไม้ในถุงกระสอบสีขาว
การปลูกต้นไม้ในถุงกระสอบทำให้พรวนดินได้โดยไม่ต้องขุดด้านบน แค่ขยำๆ ด้านข้างของถุง สามารถระบายน้ำได้ดี ไม่ดูดความร้อน รากพืชไม่อบ และถ้าต้นไม้ตายเราก็ยังพับเก็บถุงไว้ใช้งานต่อได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อกระถางเพราะมีราคาถูกกว่า และแก้ปัญหาบางจุดที่รากฝอยยังชอนไชอยู่ด้วยการนำพลาสติกมารองไว้ใต้กระถาง
ปลูกต้นไม้ไม่มีมือร้อนมือเย็น มีแต่ใจร้อนใจเย็น
ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเราไม่ได้ปลูกต้นไม้เป็นโซนๆ ทำไมเคลไม่อยู่ด้วยกัน เพราะเราจัดวางต้นไม้ตามแสงแดดที่ได้ อย่างดอกชบาจะชอบแดด ถ้าวางไว้หน้าบ้านดอกจะไม่ออก เพราะแดดเช้ามาเดี๋ยวเดียว แต่ด้านข้างบ้านจะได้แดดตลอดช่วงบ่าย ซึ่งข้อดีของการปลูกต้นไม้ลงกระถางคือ เคลื่อนย้ายได้สะดวก ตรงนี้มีแดดส่องไหมถ้าไม่มีก็ย้าย ถ้าต้นไหนตาย ทรุดโทรม เด็ดมากินจนหมดแล้วก็สามารถเปลี่ยนนำต้นอื่นมาวางแทนได้
ปลูกต้นไม้ไม่มีหรอกมือร้อนมือเย็น อยู่ที่การเรียนรู้พฤติกรรมของต้นไม้และตัวเราเอง เช่น เราดูแลใส่ใจมากน้อยแค่ไหน การไม่ใส่ใจเขาเลยอาจทำให้ต้นไม้ไม่โต แต่ในขณะเดียวกันต้นไม้บางชนิดก็ไม่ต้องการการดูแลมาก วางไว้เฉยๆ เขาก็โต ถ้าเราเรียนรู้และสังเกตจะรู้ว่าต้นนี้ไม่ต้องใส่ใจเยอะ ส่วนต้นนี้ต้องประคบประหงมเป็นพิเศษ
บางคนเวลาปลูกแล้วไม่โตมักจะโทษว่าตัวเองมือร้อน จริงๆ ไม่ใช่นะ สำหรับปูเป้ปลูกต้นไม้มีแต่ใจร้อนกับใจเย็น ปลูกต้นไม้ก็เหมือนเลี้ยงลูก ต้องใจเย็น คอยดูแล สมมุติมีลูก 5 คน แต่ละคนก็นิสัยต่างกันไป เหมือนเรานำเมล็ดพันธุ์จากถุงเดียวกันมาปลูก 5 เมล็ด ต้นหนึ่งโต อีกต้นแกรน ดังนั้นไม่ต้องกังวล ปลูกเท่าที่เรามีความสุข ต้นไหนโตได้เราก็ปลูก ส่วนต้นไหนไม่โตก็ปล่อยไปตามธรรมชาติของเขา
และอย่างที่เราได้เกริ่นไว้ตอนต้นว่านอกจากคุณปูเป้จะเป็นนักปลูกแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่ “ปูเป้ทำเอง” โดยเฉพาะการแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซอสเติมเต็ม ซอสมะเขือเทศ ซีอิ๊วหมักเอง กิมจิผักพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์จากมะกรูดที่ไม่ว่าส่วนไหนก็สามารถนำมาแปรรูปได้หมด อาทิ แชมพู สบู่เหลว โฟมล้างหน้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาอเนกประสงค์
นอกจากคุณปูเป้จะยินดีต้อนรับทุกคนที่อยากมาเยี่ยมชมสวนดูต้นไม้แล้ว ยังมีมุมผลิตภัณฑ์ทั้งของปูเป้ทำเองและจากเกษตรกรเครือข่ายมาวางขายบ้างเล็กน้อย ซึ่งในอนาคตกำลังมีแพลนว่าจะขยับขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น รอติดตามกันได้ที่นี่เลย >> facebook.com/poopaetamayng