Kitchen & Home Pet Club

เต่าดาวพม่า สัตว์เลี้ยงที่ให้ความสุขแบบสโลว์ไลฟ์


เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ คุณริท-ฤทธา ไชยพร เรียกว่าเป็นผู้คลุกคลีและอยู่ในแวดวงของการเลี้ยงเต่ามานานกว่า 20 ปี เขาเริ่มต้นจากเมื่อครั้งไปเดินตลาดนัดสวนจตุจักรแล้วซื้อเต่ากลับมาเลี้ยงตั้งแต่คุณริทยังเด็ก เด็กผู้ชายที่ไม่สนใจสุนัขขนปุยหรือเจ้าแมวขี้อ้อน แต่กลับเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีจังหวะเชื่องช้า ไปดูกันว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เขาหลงใหลการเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้มานานนับสิบปี 

จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงเต่า

ช่วงแรกที่ผมเลี้ยงไม่มีความรู้เกี่ยวกับเต่าเลย ต้องอาศัยอ่านหนังสือของฝรั่งแล้วเราก็ใช้วิธีแปลศัพท์ นั่นหมายถึงมีความเพียรพยายามในการเลี้ยงเต่าที่แปลว่าเราคงชอบเลี้ยงจริงๆ แล้วสมัยนั้นเต่ายังไม่เป็นที่นิยมเลี้ยงมากเท่าปัจจุบัน โดยระหว่างนั้นผมก็เลี้ยงมาเรื่อยๆ แล้วก็เปลี่ยนสายพันธุ์ในการเลี้ยงเต่ามาเรื่อยๆ เหมือนกัน แต่มีหยุดเลี้ยงไปช่วงหนึ่งเพื่อไปเรียนมหาวิทยาลัย แต่หลังจากเรียนจบกลับมามีเวลามีพื้นที่ผมก็กลับมาเลี้ยงใหม่

เสน่ห์ของเต่าดาวพม่า

เต่ามีสายพันธุ์เยอะมากเกินสิบสายพันธุ์ เต่าที่ผมเลี้ยงในตอนนี้คือเต่าดาวพม่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในพม่า อากาศคล้ายกันกับเมืองไทย จริงๆ เป็นเต่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์แต่สามารถเพาะพันธุ์ได้ ตอนนี้ในเมืองไทยมีเยอะกว่าที่พม่าแล้ว คนนิยมเลี้ยงมากขึ้นทำให้ราคาลูกเต่าเกิดมาอยู่ที่ตัวละหมื่นถึงหมื่นสองแล้วแต่ลวดลาย ราคาเต่าดูที่ลายเหลืองหรือดำ ถ้ายิ่งเหลืองจะยิ่งแพง

ส่วนผมเลี้ยงพันธุ์นี้มาประมาณ 5 ปีแล้วครับ สำหรับเต่าในตระกูลดาวมี 2 สปีชีส์ก็คือ ดาวพม่ากับดาวอินเดีย เอกลักษณ์ของเต่าดาวพม่าจะมีลวดลายที่เป็นแพตเทิร์นมากกว่า และลวดลายจะต่อกันเป็นบล็อกๆ ฝรั่งเขาจะเรียกว่า “Flower” เหมือนดอกๆ ผมเลยชอบสายพันธุ์นี้ อีกอย่างเวลาเขาโตเต็มที่ตัวไม่ใหญ่เกินไป

เต่าดาวพม่าตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเต่าตัวผู้ ตัวเมียใหญ่ที่สุดอยู่ที่ประมาณ 13-14 นิ้ว ส่วนตัวผู้ขนาดประมาณ 10 นิ้ว เป็นเต่าที่มีขนาดกำลังดี สามารถดูแลได้ แต่ก็มีเต่าบางสายพันธุ์มีขนาดใหญ่มากๆ เช่น เต่าซูลคาต้าเวลาโตเต็มที่ขนาดประมาณ 3 ฟุต

สำหรับลักษณะนิสัยของเต่าดาวพม่าจะมีความแตกต่างกันระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย ตัวผู้เป็นเต่าที่มีความแอกทีฟเดินทั้งวัน ยิ่งถ้าเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือนกันยายนเขายิ่งเดินทั้งวัน ส่วนตัวเมียนอนเป็นส่วนใหญ่ จะออกมากินอาหารแล้วกลับเข้าไปนอน

เลี้ยงเต่าต้องใช้พื้นที่มากน้อยขนาดไหน

วิธีการเลี้ยงจริงๆ ถ้าตัวเล็กเลี้ยงแค่ในกระบะก็พอ แต่กว่าจะปล่อยสนามแบบนี้ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีขึ้นไป แต่ถ้ารวมระยะเวลาตั้งแต่แรกเกิดจนสามารถขยายสายพันธุ์ต่อไปได้ก็ประมาณ 7 ปี ส่วนพื้นที่ถ้าไม่ได้เลี้ยงเยอะมากผมว่า 2×2 เมตร หรือไม่ก็ประมาณ 3×3 เมตร ก็เพียงพอแล้ว ตัวผู้หนึ่งตัว ตัวเมียหนึ่งตัว และแนะนำให้ทำพื้นที่มีโซนแห้งครึ่งหนึ่ง โซนดินอีกครึ่งหนึ่ง หรือจะเลี้ยงเป็นดินล้วนแบบนี้ก็ได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเรา อย่างเช่นในตอนแรกๆ เต่าจะสามารถปรับสภาพได้แล้วหลังจากที่เลี้ยงในกระบะไม่เคยลงคอกดินเลย ต้องคอยสังเกตในช่วงแรกๆ ว่าเขาสามารถปรับตัวได้ไหม อาจจะปล่อยตอนเช้าแล้วเก็บตอนกลางคืน เพราะอากาศตอนกลางคืนมีความชื้นสูง อาจทำให้เป็นหวัดได้

หรืออย่างการมุงหลังคาทำไว้ก็ดีครับ เพื่อให้เขาสามารถเข้าไปหลบแดด หลบฝนได้ แต่เป็นพุ่มไม้ก็ได้ เพราะเต่าชอบเข้าไปอยู่ในพุ่มไม้ที่เป็นไม้ใบ ช่วยเป็นร่มเงา ส่วนคอกก็ต้องทำให้อุณหภูมิไม่ร้อนเกินไป ให้มีแสงแดดเข้าถึงได้ด้วย

เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดร้อยเปอร์เซ็นต์

อาหารที่เลี้ยงอยู่เป็นอาหารเม็ดร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วผมก็ปลูกต้นหม่อน ต้นชบา ให้เขากินดอกชบาคล้ายๆ กับขนม เต่าจะชอบมากๆ แต่หลักๆ การให้อาหารสำหรับเต่าบกควรให้เป็นอาหารเม็ด 1 ครั้งต่อวัน ประมาณครึ่งกิโลฯ

บางคนเข้าใจว่าเต่ากินผัก กินผักบุ้งเป็นหลัก กินได้แต่ต้องให้ในปริมาณที่เหมาะสม อาหารหลักที่เต่าต้องกินคือหญ้า เพื่อให้ไฟเบอร์สูง เพราะตามธรรมชาติของเต่าจะกินหญ้าและใบไม้แห้งเป็นหลัก ไม่ควรให้ผักที่มีออกซาเลต (Oxalates) สูง เช่น ถั่วฝักยาว หรือกะหล่ำ เต่าควรกินอาหารเม็ดสำเร็จรูป แต่ถ้าเป็นเต่าไซส์ใหญ่อาจจะสลับระหว่างอาหารเม็ดกับผัก เพราะราคาอาหารค่อนข้างสูง ส่วนน้ำที่ให้ก็หมั่นเปลี่ยนทุกวัน

อะไรคือสิ่งที่มัดใจให้เลี้ยงเต่ามานานนับสิบปี

เสน่ห์ของการเลี้ยงเต่า ผมว่าเสียงไม่ดัง ค่อนข้างเงียบ แถมกลิ่นก็น้อยมาก แต่ถ้าเป็นเต่าตัวใหญ่อาจจะมีเหมือนกันแต่ขึ้นอยู่กับเรารักษา และดูแลความสะอาดคอกด้วย ถ้าเราเลี้ยงเต่ากลิ่นจะประมาณมูลวัว แต่เบาบางกว่าวัวเยอะ เพราะฉะนั้นหมั่นทำความสะอาดพื้นที่ที่เราเลี้ยง

โรคประจำตัวของเต่า

เต่าส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว คือ หวัด ติดไวรัส มีอาการเห็นได้ชัดตรงน้ำมูกทางจมูกหรือไม่ก็ออกมาทางปาก มีวิธีดูแลเบื้องต้นใช้วิธีเช็ดและหยอดยา เป็นยาหยอดตาของคนที่ใช้ร่วมกันได้ หยอดไปที่จมูกข้างละหยด ให้โดนไอแดดทั้งวัน รักษาอุณหภูมิให้คงที่สัก 30-32 องศาฯ ประมาณนี้ ถ้ายังไม่หายพาไปหาหมอ หมอก็จะฉีดยาให้แล้วเอกซเรย์ดูปอดว่าติดเชื้อไหม

นอกจากเป็นหวัดแล้ว พบว่ามือใหม่ที่เลี้ยงเต่าจะให้กินแต่ผัก ปริมาณไฟเบอร์ไม่ถึง เพราะฉะนั้นมีโอกาสที่เต่ามีแก๊สและเป็นนิ่วได้ ถ้ามีแก๊สเต่ามีลักษณะตัวบวมตรงบริเวณแขน ขา คอ หุบเข้ากระดองไม่ได้ ต้องคอยจับเขากระตุ้นแช่น้ำ ถ้าเป็นนิ่วก็คือถ่ายไม่ได้ ถ่ายไม่ออกก็ต้องไปคีบออก แต่บางทีหากก้อนนิ่วใหญ่เกินไปอาจเสี่ยงถึงชีวิต

เริ่มเลี้ยงตั้งแต่เป็นไข่

พอเขาออกไข่เราก็เก็บไข่มาใส่ตู้ฟัก มีโอกาสฟักเป็นตัวมากกว่าปล่อยตามธรรมชาติ ตู้ฟักเป็นตู้คุมอุณหภูมิ คุมความชื้น อย่างพันธุ์นี้ถ้าเราเอาเข้าตู้ฟักต้องคูลดาวน์ก่อน 1 เดือน พันธุ์อื่นอาจจะไม่ต้องคูลดาวน์ พอไข่ออกมาปุ๊บก็คูลดาวน์ที่อุณหภูมิ 18 องศาฯ ก่อนประมาณ 1 เดือน แล้วค่อยเอามาฟักที่อุณหภูมิ 30 องศาฯ อีก 3 เดือน พันธุ์นี้ออกไข่ประมาณ 6 ฟองขึ้นไป 1 ปีไข่ประมาณสัก 2-4 หลุม

สำหรับการให้อาหารเต่าเด็กก็ให้เขากินอาหารเม็ดเหมือนกัน แต่จะพิเศษตรงที่เราต้องจับเขาแช่น้ำ ให้ความสูงอยู่แค่ปลายชายกระดอง จับแช่วันละ 10 นาทีไม่ต้องทุกวัน ทำวันเว้นวันก็ได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการขับถ่ายและให้กินน้ำเข้าไป จับแช่จนถึงประมาณ 5 นิ้ว หลังจากนั้นถ้าเต่ามีขนาดใหญ่อย่างที่เห็นนี้ไม่ต้องจับแช่แล้ว ปล่อยเขาตามธรรมชาติ เพียงแต่ใส่น้ำเตรียมไว้ให้ก็พอ  

เลี้ยงง่ายสร้างอาชีพ

ผมว่าเต่าเลี้ยงง่าย เป็นสัตว์ที่อายุยืน 60-80 ปี แต่ถ้าป่วยก็มีค่ารักษาเป็นหมื่น เต่าเป็นสัตว์ที่มีมูลค่าก็ต้องรักษาและคอยสังเกต จับมายกดูเพื่อเช็กสุขภาพ หรือไม่ก็ต้องสังเกตดูว่าเต่าตัวนี้หายไปทำไมไม่เดินออกมา เราต้องเช็กแล้วว่าเป็นอะไรหรือเปล่า อีกอย่างก็คือเต่าเป็นสัตว์ที่ไม่ส่งเสียงดังรบกวน อาจมีร้องบ้างในช่วงที่เขาผสมพันธุ์   


You Might Also Like...