Lifestyle & Cooking People

เรื่องเล่าจากต่างแดนของเชฟประจำสถานทูต


เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าเชฟประจำสถานทูตเขาทำอะไรบ้าง แล้วงานมีความแตกต่างจากเชฟประจำร้านอาหารอย่างไร เชฟฟาร์ม-ณัฏฐ์วัช น้อยนิตย์ จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้เราฟัง ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา เชฟฟาร์มได้ติดตามท่านทูตไปเยือนประเทศต่างๆ มาแล้วถึง 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย โมร็อกโก แคนาดา และสหราชอาณาจักร ซึ่งในการทำงานประจำในแต่ละประเทศก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับประเทศนั้นๆ

ตำแหน่งงานของเชฟคืออะไร

เป็นลูกจ้างอัตราจ้างในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ (แต่ไม่ใช่ข้าราชการ) ได้รับสวัสดิการต่างๆ ไม่ต่างจากข้าราชการ รวมไปถึงเรื่องการขอวีซ่าต่างๆ ที่ทางกระทรวงฯ เป็นผู้ดูแลจัดการให้ โดยตำแหน่งของเชฟคือ ผู้ติดตาม (แม่ครัว/พ่อครัว) ท่านเอกอัครราชทูต หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเชฟติดตามท่านทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศนั้นๆ โดยปัจจุบันเชฟประจำอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ซึ่งตำแหน่งของเชฟนั้นไม่ได้ประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เป็นตำแหน่งเชฟประจำตัวท่านทูต ดังนั้นเวลาที่ท่านทูตหมดวาระ หรือต้องย้ายไปประจำประเทศอื่น เชฟก็สามารถย้ายตามท่านทูตไปได้ ระยะเวลาในการประจำแต่ละประเทศ หรือจะย้ายไปประเทศไหนนั้นขึ้นอยู่กับทางกระทรวงฯ จะส่งท่านทูตไปประจำที่ไหน

หน้าที่ของเชฟคืออะไร

ชื่อตำแหน่งเราก็บอกอยู่แล้วว่าเชฟประจำตัวท่านทูต ดังนั้นหลักๆ คือการรับผิดชอบเรื่องอาหารของครอบครัวท่านทูตที่ทำเนียบ (บ้านพักของครอบครัวท่านทูต) เรียกว่าอาหาร 3 มื้อ ของว่าง ของหวาน เชฟเป็นผู้ดูแลทั้งหมด เพิ่มเติมด้วยเรื่องการออกแบบเมนูและทำอาหารสำหรับงานเลี้ยงของท่านทูตก็อยู่ในความดูแลของเชฟทั้งหมด ซึ่งต้องจัดการให้ตรงกับธีมและงบประมาณที่กำหนดไว้

ตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นตำแหน่งที่ท้าทายไหม

จะว่าท้าทายไหมก็ท้าทาย เพราะเรียนจบจากวิทยาลัยดุสิตธานีมาประมาณ 1 ปีกว่าๆ ก็สมัครเข้าทำงานโดยที่เราไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งนี้เลย แต่ความโชคดีของเชฟคือได้รับคำแนะนำจากมาดาม (ภริท่านเอกอัครราชทูต) ที่สอนหลายๆ อย่าง รวมไปถึงรายละเอียดรูปแบบการจัดเสิร์ฟและปริมาณอาหารในงานเลี้ยงต่างๆ ไปจนถึงอาหารที่ควรและไม่ควรเสิร์ฟในงาน

จริงไหมที่เชฟประจำสถานทูตไทยต้องเก่งอาหารไทยมาก

ในมุมมองของเชฟคือไม่ต้องถึงขนาดไทยวิจิตร แต่ต้องทำอาหารไทยออกมาได้ถูกต้องทั้งสี กลิ่น รสชาติ และรสสัมผัส เพราะเราต้องนำเสนออาหารไทยที่ถูกต้องให้แขกของสถานทูตด้วย โดยการจัดทำเมนูนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานที่หรือประเทศที่เราประจำอยู่ อย่างตอนอยู่ที่โมร็อกโกเราจะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบในระดับหนึ่ง รวมถึงในด้านศาสนาที่ต้องเลือกวัตถุดิบไม่ให้ขัดกับหลักศาสนา ดังนั้นนอกจากความรู้เรื่องอาหารไทยที่ควรมีแล้ว เราต้องมีความรู้ความสามารถในเรื่องการปรับใช้วัตถุดิบที่มีในแต่ละท้องถิ่น และยังต้องทำอาหารชาติอื่นได้ด้วย เพราะเราต้องดูแลอาหารของครอบครัวท่านทูต ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในทำเนียบฯ จึงต้องทำเมนูให้หลากหลายสลับกันไป ทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่งทั่วไป เช่น สเต๊ก พิซซา พาสตา

ความประทับใจและความภูมิใจที่ได้มาทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้

ที่ประทับใจมากๆ คือได้ปรุงพระกระยาหารถวายพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย เวลาที่เสด็จฯ มาต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ประจำ ณ กรุงลอนดอนคือได้ปรุงพระกระยาหารถวายเกือบทุกพระองค์ ครั้งแรกตอนที่เชฟรู้ว่าจะได้ทำถวายนั้นตื่นเต้นมาก แต่ก็มีความตั้งใจที่จะทำออกมาให้ดีที่สุด และถือว่าเป็นมงคลกับชีวิตอย่างมาก เพราะอยู่ประเทศไทยก็ใช่ว่าจะมีโอกาสแบบนี้ง่ายๆ

สำหรับคนที่สนใจอาชีพเชฟติดตามท่านทูต ควรเตรียมตัวอย่างไร

นอกจากความสามารถทางด้านอาหารทั้งไทยและต่างประเทศที่ต้องทำออกมาถูกต้องทั้งสี กลิ่น รสชาติ และรสสัมผัสแล้ว ความรู้ในด้านการจัดตกแต่งจาน (Plating / Presentation) ก็มีความสำคัญ เพราะอาหารที่เสิร์ฟในงานเลี้ยงต้องจัดจานให้เหมาะสมและออกแบบให้สวยงาม ความสามารถในเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การพลิกแพลง รวมไปถึงความพร้อมในการย้ายประเทศเพื่อติดตามท่านทูต และการปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ที่เราไป  


You Might Also Like...