KU.UDC ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน
ถ้าพูดถึง Universal Design หรือการออกแบบเพื่อมวลชน หลายคนคงคุ้นหูกับคำนี้ดี Universal Design คือการออกแบบเพื่อการใช้งานอย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกคน ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ผู้บาดเจ็บ รวมถึงคนที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเอื้อความสะดวกให้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นและเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม สภาพแวดล้อมรอบตัว หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ดังนั้นเมื่อกลางปี พ.ศ. 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนจัดตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) โดยร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก 7 มหาวิทยาลัย หนึ่งในนั้นคือศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU.UDC)
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ อาจารย์โอ๋-รศ. ดร. นวลวรรณ ทวยเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU.UDC) และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแสงสว่างสำหรับผู้สูงอายุ
ที่มาของ KU.UDC
เราเป็นเครือข่ายมาจาก UDC : Universal Design Center ศูนย์การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน โดยมีแม่ข่ายคือรองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์จากภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งท่านได้ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับผู้สูงอายุและผู้พิการ และเป็นหัวหน้าศูนย์ Chula UDC ศูนย์การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งศูนย์ Universal Design Center มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ ทำการออกแบบเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน โดยแต่ละศูนย์จะมีอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละที่ โดย KU.UDC มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะเน้นเกี่ยวกับผู้ที่มีความผิดปกติทางสมอง การออกแบบสภาพแวดล้อมสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม และซึมเศร้า หรือออทิสติก สอดคล้องกับการทำงานก่อนหน้านี้ที่อาจารย์ได้ทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับการใช้แสงและสีบำบัดในผู้สูงอายุและผู้พิการ
โดยเน้นผู้พิการทางสมองเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคสมองเสื่อม เด็กที่มีภาวะผิดปกติทางด้านสมอง เช่น ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม เด็กบกพร่องทางสติปัญญา สมาธิสั้น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องจิตเวชที่เกี่ยวกับเรื่องสมอง เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พอจัดตั้งศูนย์ KU.UDC เราจึงเน้นเรื่องนี้โดยการให้ความรู้ ใช้การออกแบบเรื่องแสง สีที่ช่วยให้ผู้ป่วยลดอาการกระวนกระวาย การออกแบบสภาพแวดล้อมที่ช่วยเยียวยา และความปลอดภัย
กิจกรรมของศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน KU.UDC
กิจกรรมหลักของ UDC คือการประชุมทางวิชาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนในเรื่องต่างๆ ตลอดจนงานสัมมนาต่างๆ โดยในส่วนของศูนย์การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน KU.UDC ที่ผ่านมาเราได้งบประมาณจาก สสส. เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมสิ่งพิมพ์ หนังสือแจกฟรี และดาวน์โหลดฟรีทางออนไลน์ เช่น หนังสือแนวทางการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อม หนังสือคำแนะนำปรับบ้านอย่างไร? ให้สูงวัยภาวะซึมเศร้า กิจกรรมอบรมสัมมนาเรื่องสมองเสื่อม กิจกรรมอบรมออนไลน์ “อยู่ดี (UD) วิถีชีวิตใหม่”
ในหัวข้อต่างๆ อาทิ ออกแบบบ้านอย่างไรให้สูงวัยภาวะสมองเสื่อม, การออกแบบแสงสว่างวิถีชีวิตใหม่, ฤๅซึมเศร้า เราจะออกแบบได้ และกิจกรรม Memory Life Memory Box ซึ่งเป็นกิจกรรมการเขียนบรรยายถึงความทรงจำดีๆ ที่อยากเก็บใส่กล่องแห่งความทรงจำไว้ เรื่องที่เขียนได้ประทับใจก็จะได้รับรางวัลหนังสือแนวทางการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อม และผู้ที่เขียนได้ประทับใจที่สุดจะได้รับการสร้างมุมแห่งความทรงจำพร้อมกล่องแห่งความทรงจำฟรี 1 พื้นที่ เป็นต้น ปัจจุบันมีบ้านที่ทางศูนย์ฯ เข้าไปช่วยปรับให้คำแนะนำแล้วกว่า 20 หลัง รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมจะช่วยอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องสมองด้วย
การออกแบบสภาพแวดล้อม การใช้แสงและสีบำบัด
สำหรับภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ การปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน ประเด็นแรกที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัย เพราะผู้สูงอายุสภาวะสมองเสื่อมมักจะหนีออกจากบ้าน เนื่องจากคิดย้อนวัยว่าต้องกลับบ้านที่อยู่ตอนเด็กๆ เลยถือเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง
อย่างแรกคือประตูก่อนออกนอกบ้าน สิ่งที่ทำได้คือการพราง เราอาจจะนำม่านมาพรางเพื่อไม่ให้มองเห็นว่าเป็นประตู หรือทำประตูโดยใช้สีเดียวกับผนังเพื่อพรางไม่ให้เห็นเป็นประตูสำหรับออกไป หรือแม้แต่การสร้างรั้ว ในต่างประเทศจะนำต้นไม้มาพรางไว้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยปีนหนีออก
ส่วนประตูที่ต้องการให้ไปก็จะเป็นการใช้สัญลักษณ์สี และติดสัญลักษณ์ที่ผู้ป่วยจำได้ โดยจะเน้นสีสันสดใส สีสันชัดๆ คอนทราสต์ระหว่างสีและวัสดุต่างๆ สีที่ควรใช้คือสีส้ม สีเหลือง เพราะในผู้สูงอายุจะสามารถมองเห็นสีส้ม สีเหลืองได้ชัดเจนอยู่ และจะมีทฤษฎีการค้นหาเส้นผ่าน หรือ Wayfinding เพื่อช่วยให้เคลื่อนไหวและจำทางได้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องแสงธรรมชาติที่เข้ามาซึ่งจะช่วยลดอาการกระวนกระวายในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมได้ แต่ต้องเป็นช่วงเวลาด้วย สีของแสงก็เช่นเดียวกัน เช่น ตอนเช้าช่วงเวลา 9 โมงก็จะเป็นแสงที่สีเย็นๆ ขาวๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความตื่นตัว กระตือรือร้น
พอตอนกลางคืนจะเป็นแสงสีวอร์ม เหมาะกับการพักผ่อน ทำให้เกิดอาการง่วง และอาการกระวนกระวายต่างๆ ก็จะลดลง หรือวิวธรรมชาติก็ช่วยลดอาการกระวนกระวายในผู้ป่วยสมองเสื่อมได้เช่นกัน วิวธรรมชาติยังมีส่วนช่วยเด็กที่มีภาวะออทิสติก หรือคนที่มีภาวะโรคซึมเศร้าได้ด้วย เรียกว่าเป็นธรรมชาติบำบัด
ในขณะที่การทำสภาพแวดล้อมให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกันคือความปลอดภัย เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นชนวนกระทบจิตใจและทำให้เกิดอาการ แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น สังคมที่เร่งรีบ ความกดดัน และการเลี้ยงดูในวัยเด็ก รวมทั้งสภาพแวดล้อม ดังนั้นการนำเรื่องแสงและสีมาบำบัดผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าจะมีปัจจัย 5 ประการคือ
1. สีเขียว ช่วยให้ผู้ป่วยสบายตา สบายใจ
2. เรื่องแสงธรรมชาติ งานวิจัยต่างประเทศบอกไว้ว่าห้องผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับแสงธรรมชาติกับที่ไม่ได้รับแสงธรรมชาติส่งผลให้การปรับลดยาต่างกัน แต่ต้องเป็นแสงธรรมชาติในช่วงเช้าประมาณ 08.00-10.00 น.
3. ต้นไม้ ที่ช่วยลดภาวะของอารมณ์และให้ความสดชื่น
4. พื้นที่กิจกรรม ที่จะช่วยให้ได้ผ่อนคลาย เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่กังวล ถ้าเป็นผู้สูงอายุก็อาจจะมีกิจกรรมลานกลางบ้านที่มีต้นไม้ สามารถนั่งเล่นได้ด้วย เวลาคนผ่านมาก็คุยกันได้
5. ตู้ความหวัง เป็นพื้นที่ที่บรรจุความทรงจำดีๆ ซึ่งการมีมุมเล็กๆ ในจุดที่มองเห็นได้ง่ายด้วยการบรรจุความหวัง ภาพถ่าย สิ่งของที่ส่งผลให้รู้สึกถึงความภูมิใจก็จะช่วยกระตุ้นให้มีความสุขได้มากขึ้น
ฝากศูนย์ KU.UDC
หากสังเกตเห็นพ่อแม่พี่น้องหรือคนรักรอบๆ ตัวมีความผิดปกติด้านสมอง ไม่ว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อม ซึมเศร้า จิตเวชทางด้านสมอง หรือแม้กระทั่งมีอาการติดเกม
ถ้าต้องการความรู้ด้านนี้สามารถติดต่อมาที่ศูนย์ KU.UDC หรืออินบ็อกซ์เข้ามาพูดคุยกันได้ เราจะมีแอดมินสถาปนิกมาตอบและให้คำแนะนำเบื้องต้น ทั้งเรื่องการปรับบ้าน ปรับสภาพแวดล้อม
ขณะเดียวกันในสังคมก็อยากให้ทุกคนคอยเป็นหูเป็นตา เพราะเท่าที่สัมผัสกับผู้ป่วยเช่นผู้ป่วยสมองเสื่อม ถ้าสังเกตเห็นในระยะแรกๆ ก็สามารถรักษาหายขาดได้ สุดท้ายก็อยากให้ทุกคนดูแลตัวเอง ดูแลสมองของเราไม่ให้ทำงานหนักหรือเครียดเกินไป และมีสุขภาพจิตที่ดี เพียงเท่านี้เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
สามารถเข้าไปดูกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน KU.UDC ได้ที่ https://www.facebook.com/KU.UDC/ หรือโทร. 09 4919 4642