Lifestyle & Cooking People

กนกพงศ์ ชูเชิต การออกแบบที่ผสมผสานสู่งานดีไซน์ที่ดีและลงตัว


จากความสนใจและชอบเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของวิทยาศาสตร์หรืองานศิลปะ ทำให้คุณป๋อง-กนกพงศ์ ชูเชิต เลือกเรียนทางด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ ตั้งคำถามและทดลองเกี่ยวกับโปรดักต์และงานดีไซน์ก่อนจะนำไปสู่การออกแบบที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้ได้งานออกแบบที่ลงตัวทั้งความสวยงามและฟังก์ชันใช้งาน ซึ่งเราจะพาทุกคนไปพูดคุยกับคุณป๋องถึงผลงานการออกแบบ Frame Table ที่ ได้รับรางวัล Golden Pin จากประเทศไต้หวันในปีที่ผ่านมา และผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโชว์ใน Salone Satellite มิลาน ประเทศอิตาลี

เริ่มต้นจากความสนใจในหลายด้าน

จำได้ว่าตอนเด็กจะชอบดูพวกสารคดีต่างๆ เป็นคนที่มีความสนใจและอยากเรียนรู้ ทำให้เราได้ซึมซับศาสตร์หลายๆ ด้านทั้งวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา จิตวิทยา และศิลปะ บวกกับเป็นคนที่วางแผนชีวิตในระดับหนึ่ง ตั้งแต่ช่วง ม.ปลายก็คิดว่าจะเลือกสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เพื่อที่จะสามารถไปเรียนต่อในสาขาที่เราตั้งใจไว้คือการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะเป็นสาขาที่อยู่กึ่งกลางระหว่างศาสตร์ต่างๆ กับศิลปะ ซึ่งวิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่เราทำได้ดี แต่อีกมุมหนึ่งเราก็ชอบงานศิลปะ ชอบดนตรี เลยนำความชอบทุกอย่างมาหาข้อมูลและคิดว่าน่าจะลงตัวกับสาขานี้ โดยที่เรามีเป้าหมายว่าจะสอบเข้าเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

นำมาผสมผสานและปรุงแต่งโปรดักต์ให้ลงตัว

ถ้าถามถึงเรื่องแนวคิดในการทำงานผมคิดว่าดีไซเนอร์แต่ละคนคงมีที่สไตล์แตกต่างกันไป แต่ด้วยความที่เราชอบเรียนรู้อะไรหลายอย่าง เวลาคิดงานก็จะมีส่วนผสมที่นำมาปรุงทั้งในแง่มุมของศิลปะบ้าง วิศวกรรมบ้าง หรือบางอย่างก็อาจจะเป็น Pure Art ไปเลย การที่เรารู้และสนใจในหลายอย่างเวลาออกแบบก็จะรู้สึกสนุก เอาอันนี้มาผสมอันนั้น เป็นเหมือนแรงบันดาลใจในการคิดและทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมา

ร่วมงานกับแบรนด์ VATIN และ VIN

หลังจากได้ทำงานกับ คุณแก่น-อภิรัฐ เราก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ VATIN และ VIN สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลการออกแบบ Golden Pin ที่ประเทศไต้หวันในปีที่ผ่านมาคือ Frame Table ของแบรนด์ VIN โจทย์คือออกแบบโต๊ะที่ทำให้การทำงานในออฟฟิศมีความเป็นลิฟวิงมากขึ้น ในรูปแบบ Modular Table ที่สามารถต่อได้หลายขนาดให้เหมาะกับทีมงานหรือขนาดของออฟฟิศ ซึ่งเราไม่ได้คิดแค่ดีไซน์ของโต๊ะ แต่คิดระบบของขาโต๊ะด้วย

ในส่วนของขาโต๊ะเลือกใช้เป็นไม้จริงที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น เมื่อใช้งานในออฟฟิศก็ไม่ดูจริงจังเกินไปสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรกับการทำงาน โดยเรานำเสนอภายใต้คอนเซ็ปต์ว่าเป็น Work Life Balance ถึงแม้ว่าทอปโต๊ะจะมีความเป็นอุตสาหกรรม ด้วยผู้ประกอบการเป็นโรงงานทำไม้แผ่นที่มีคุณภาพสูง เราจึงนำมาใช้ในการออกแบบด้วย จากนั้นเราก็มาคิดดีไซน์ของขาโต๊ะที่เป็นไม้แล้วนำทุกอย่างมาแมตช์กันเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีกับผู้ใช้งาน

เช่น คิดเรื่องการจอยต์ไม้และออกแบบคานเฉพาะที่เป็นรูปแบบพิเศษให้สามารถรับแรงและนำไปต่อเข้ากับขาโต๊ะได้ เปลี่ยนทอปได้หลายแบบ เป็นกระจกก็ได้ เป็นไม้ก็ได้ เพราะเราออกแบบให้เป็นโมดูลาร์เพื่อความสะดวกกับการใช้งานในออฟฟิศว่าจะต่ออย่างไร มีสเปซเท่าไร สามารถเดินสายไฟได้ไหม ซึ่งเราคิดระบบการใช้งานของโต๊ะตัวนี้ไว้หมด อีกทั้งตัวคานที่เราออกแบบเป็นสามเหลี่ยมที่มีความเอียงทำให้ดีไซน์ดูเพรียว สวยงามเวลามอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความแข็งแรง

นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานในบ้านได้อีกด้วย อย่างทุกวันนี้ที่เราต้อง Work Form Home โต๊ะตัวหนึ่งในบ้านอาจจะไม่ได้เป็นแค่โต๊ะทำงานหรือทานข้าวเท่านั้น แต่ภายในโต๊ะเดียวกันสามารถนั่งทำงาน ทานข้าว หรือนั่งดูทีวีไปด้วยก็ได้ ตอบโจทย์ได้หลากหลาย เราคิดว่าน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับลูกค้า

เพิ่มมูลค่าและพัฒนาโปรดักต์สู่ระดับสากล

ในปีที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปช่วยงานของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ Parcel Vase เดิมเขาทำเป็นเปเปอร์มาเช่ (Paper Mache) ที่เราเห็นกันทั่วไป เราต้องไปคิดต่อยอดว่ามีอะไรที่ทำแล้วน่าสนใจ เป็นสิ่งใหม่ ตอบโจทย์ลูกค้าที่เขาสามารถนำไปเสนอตลาดหรือขายได้ โดยเริ่มจากไปศึกษาว่าจริงๆ แล้วเปเปอร์มาเช่คืออะไร มีขั้นตอนการทำอย่างไร

ทักษะที่ผู้ประกอบการมีคือนำกระดาษไปย่อยแล้วแปะขึ้นรูปใหม่ ทำออกมาแล้วงานสวยเนี้ยบมาก โดยใช้กาวจากธรรมชาติ 100% ที่ได้มาจากต้นไม้ เมื่อนำมาแปะทับกันจากกระดาษที่บางก็มีความแข็งแรง จากนั้นเราก็นำสิ่งเหล่านี้มาออกแบบเพื่อเพิ่มฟังก์ชันเข้าไป และเป็นสิ่งที่เขาสามารถทำได้ ไม่ยาก

จากเดิมที่มักจะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่แต่ตอนนี้หนังสือพิมพ์ไม่ค่อยมีแล้ว เราเลยนึกถึงกระดาษลัง ความน่าสนใจคือลอนด้านในที่มีเท็กซ์เจอร์และลักษณะเฉพาะ โจทย์ของโครงการนี้ให้ออกแบบของตกแต่งบ้าน ด้วยวัสดุเป็นกระดาษคงเป็นของที่ไม่ได้รับแรงอะไรมาก เป็น Decoration เราเลยมองไปที่การทำแจกันไว้วางตกแต่งที่คนสมัยนี้นิยมใส่ดอกไม้แห้ง ต้นไม้แห้ง โดยไม่ซ้ำกับแจกันที่ไว้ใส่น้ำทั่วไป เมื่อนำไปวางไว้ตามมุมต่างๆ ของบ้านก็สวยดี ตกไม่แตก ราคาไม่แพงมาก โทนสีก็ให้ความรู้สึกแบบสแกนดิเนเวียน น้ำตาลๆ

สำหรับรูปแบบเราครีเอตฟอร์มที่ต่างไปจากเดิมโดยใช้ลูกโป่งเป่าลมให้เป็นฟรีฟอร์ม แทนการใช้โมเดลที่ทุกอันจะเหมือนกันหมด พยายามให้มีความเป็นอาร์ตทิสต์เพราะเปเปอร์มาเช่ก็ถือเป็นงานคราฟต์ แล้วเพิ่มมูลค่าด้วยดีไซน์ของแจกันที่มีฟอร์มเป็นออร์แกนิก เปลี่ยนวิธีการแปะกระดาษใหม่คือต้องฉีกกระดาษตามลอนก่อนนำไปแปะตามฟอร์มให้ดูเรียบร้อยสวยงาม

นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่า จากการทำเปเปอร์มาเช่ที่เหมือนการเลียนแบบวัสดุอื่น เช่น ปูนปลาสเตอร์ที่นำไปปั้นแล้วทาสี ทำเป็นกระปุกออมสิน ซึ่งไม่ได้เป็นตัวตนของเปเปอร์มาเช่จริงๆ สิ่งที่เราคิดคือการสร้างตัวตนและดึงเอกลักษณ์ของเปเปอร์มาเช่ออกมา ทำให้เขารู้สึกภูมิใจในการทำ และยังสอดคล้องกับบริบทสังคมที่สามารถนำไปตกแต่งบ้านในยุคปัจจุบันได้ด้วย

และเป็นผลงานที่ผมส่งเข้าประกวดและได้รับคัดเลือกให้ไปโชว์ในงาน Salone Satellite ที่มิลาน ประเทศอิตาลีในปีนี้ด้วย ซึ่งในแต่ละปีจะมีดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไปนำเสนอแนวความคิดในการออกแบบจากผลงานต่างๆ ดีไซเนอร์ระดับสากลหรือระดับโลกบางคนก็เกิดจากงานนี้ เพราะมีแบรนด์ระดับโลกมาเห็นแล้วพูดคุยชัดชวนให้ไปทำงานกับแบรนด์หรือออกแบบให้ งานนี้ถือเป็นอีกเวทีหนึ่งและอีกก้าวสำหรับผมที่แสดงให้เห็นว่างานออกแบบของเราก็สามารถไปในระดับสากลเหมือนกัน


You Might Also Like...