Lifestyle & Cooking People

Kobayashi กับบทบาทใหม่ในฐานะนักออกแบบและผู้บริหารแบรนด์ Taiyou&C


Mikiya Kobayashi นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และตบแต่งภายในชาวญี่ปุ่นวัย 36 ปี ผู้สร้างชื่อจาก Yamanami Chair ซึ่งชนะการประกวดของ Takumi Kohgei แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ระดับไฮเอนด์ หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในฐานะนักออกแบบอิสระมาร่วมสิบปี ต้นปีนี้ Kobayashi จะเริ่มบทบาทใหม่ในฐานะนักออกแบบและผู้บริหารแบรนด์ Taiyou&C ของตัวเอง

Taiyou&C เปิดตัวด้วยเก้าอี้ 3 แบบและโต๊ะ 1 แบบ ซึ่งเลือกใช้ไม้เนื้อแข็งอย่างวอลนัตและโอ๊กเป็นวัสดุหลัก งานที่ Kobayashi ออกแบบเองมี 2 ชิ้น ได้แก่ โต๊ะ Horizon มีจุดเด่นคือความบางที่ได้สัดส่วนระหว่างแผ่นผิวหน้าโต๊ะและขาโต๊ะ

4

Kobayashi ศึกษาการเข้าไม้และความแข็งแรงที่เป็นไปได้มากที่สุดของแผ่นไม้ที่บางที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเลือกเน้นให้เป็นความบางที่เกิดประโยชน์ใช้สอยด้วยการเว้นช่องว่างระหว่างแผ่นหน้าโต๊ะเพื่อให้ช่องว่างนั้นสร้างความโปร่งจากการมองลอดผ่านและช่องนั้นยังมีขนาดพอจะซ่อนสายไฟจากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อย่างสายชาร์จคอมพิวเตอร์หรือสายไฟของโคมไฟตั้งโต๊ะได้อีกด้วยโต๊ะตัวนี้ได้ Takumi Kohgei ร่วมพัฒนาแบบและผลิต โดยมีมาตรฐานคุณภาพวัสดุและการผลิตระดับเดียวกับสินค้าภายใต้แบรนด์ Takumi Kohgei

1

อีกชิ้นคือเก้าอี้ Round ซึ่งพัฒนาแบบร่วมกับ Fuji Furniture หนึ่งในโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยุคโมเดิร์นที่เก่าแก่ที่สุด แนวคิดของ Round คือการลดสิ่งที่เกินความจำเป็นออกไปโดยที่เก้าอี้ยังคงความงามอยู่ จุดเด่นของการผลิตคือการกลึงขาให้ได้เส้นที่ประกอบรับกันเป็นโครงสร้างที่เบาและง่าย เหนือชั้นด้วยการเข้าไม้โดยการบากหน้าไม้ชิ้นใหญ่เป็นลิ้นสำหรับประกอบกัน Kobayashi มองว่าการบากหน้าไม้เป็นลิ้นนี้ช่วยให้สะดุดตาจากการต่อกันของเส้นของแต่ละส่วน เป็นเก้าอี้ที่สะท้อนแนวคิดการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้อย่างญี่ปุ่นแท้คือเรียบง่าย เบาและทนทาน

2

ผลงานเก้าอี้อีก 2 ชิ้นคือ Keystone ออกแบบโดย Jin Kuramoto เป็นการบูรณาการความคิดด้านการผลิตจาก Fuji Furniture และนักออกแบบเข้าด้วยกัน โดย Kuramoto วางสมมติฐานในการออกแบบไว้เพียงเก้าอี้มีพนักใหญ่แต่ไม่เทอะทะและน้ำหนักเบา การใช้ไม้เนื้อแข็งเท่าที่จำเป็นและใช้การดัดขึ้นรูปไม้อัดตามเครื่องมือในการผลิตของ Fuji Furniture มีจุดเด่นที่ดูคล้ายกับเก้าอี้พับที่ผลิตจากเหล็กรูปพรรณ

3

และ Clover ¾ ม้านั่งไม้ที่ดูน่ารักด้วยการจับลักษณะของใบ Clover สัญลักษณ์ความโชคดีของญี่ปุ่นมาใส่ มีทั้งแบบ 3 ขาและ 4 ขา ตัวที่นั่งผลิตจากไม้อัดที่ตัดและดัดให้ได้รูปเฉพาะสำหรับจำนวนขา นี่คืองานออกแบบเพียงชิ้นเดียวที่ไม่ได้ออกแบบโดยนักออกแบบชาวญี่ปุ่น ด้วยเป็นผลงานการออกแบบล่าสุดของ Ricahrd Hutten นักออกแบบชาวดัตช์ผู้ร่วมก่อตั้ง Droog Design สำนักงานออกแบบผลิตภัณฑ์จากเนเธอร์แลนด์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ ซึ่ง Clover ¾ ก็ตอกย้ำคติในการออกแบบของเขา “ผลงานการออกแบบที่ดีต้องแข็งแรง” ได้อย่างดี

ภาพ : Yosuke Owashi

บทความจากคอลัมน์ ” Around Design นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 127 ประจำเดือนมีนาคม 2560


You Might Also Like...