Little Baker Café and Studio นอกจากจะเป็นคาเฟ่แล้ว ยังมีสตูดิโอสำหรับเวิร์กชอปทำขนม ที่คุณเอ๋ย-สุทธดา จีระพันธ์ เจ้าของร้านเป็นคนสอนเองอีกด้วย ถ้าพร้อมแล้วเราเปิดประตูเข้าไปทักทาย Little Baker กันเลยดีกว่า…
คุณเอ๋ย สุทธดา จีระพันธ์ และทีมงาน Little Baker กำลังทำขนมอย่างตั้งใจ
หลายคนคงรู้จัก Little Baker กับขนมเบเกอรี่ที่ถูกตกแต่งอย่างสวยงาม ผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Instagram กันมาบ้าง เมื่อมีคนสนใจเป็นจำนวนมากทั้งที่เป็นลูกค้า และคนที่อยากเรียนทำขนม จึงเป็นไอเดียให้คุณเอ๋ย จนเกิดเป็น Little Baker Café and Studio “เอ๋ยเปิดร้านออนไลน์มาประมาณ 4 ปีกว่า ใจจริงไม่ได้อยากเปิดหน้าร้านเลย
ก่อนหน้านี้ก็ทำขนมที่ครัวบ้านคุณแม่ อยู่กันหลายครอบครัว แต่เราเป็นคนชอบสอน เวลาลูกค้าจะมาเรียนอาจจะไม่สะดวกเท่าไหร่ ต้องเดินเข้ามาผ่านบ้านหลายหลัง นอกจากเรื่องสอนแล้วจะมีลูกค้าถามบ่อยๆ ว่า มีให้ซื้อเพิ่มได้อีกมั้ยหรืออยากได้ด่วนมีขายหรือเปล่า โดยปกติจะต้องสั่งทำอย่างเดียว เลยเป็นไอเดียให้เรามาเปิดหน้าร้านที่เป็นคาเฟ่และมีพื้นที่สำหรับเปิดสอนด้วย”
“หลังจากคิดว่าจะเปิดหน้าร้านก็เริ่มมองหาทำเล ใช้เวลาเป็นปีจนมาเจอที่ตรงนี้ ชอบบรรยากาศโดยรอบ และตัวตึกที่ไม่ได้เป็นเหมือนตึกแถวสี่เหลี่ยมทั่วไป ใกล้กับบ้านคุณแม่ด้วยจึงตัดสินใจซื้อ แม้ว่าตึกนี้จะมีอายุประมาณ 15-20 ปีแล้ว แต่เอ๋ยไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาอะไร เพราะเราตั้งใจจะทุบรีโนเวทใหม่อยู่แล้ว
จัดสรรพื้นที่ให้ดูโปร่ง คล่องตัว มีโต๊ะกลางห้องสำหรับเตรียมของเมื่อมีคอร์สสอนทำขนม
พื้นที่ของตัวตึกข้างล่างต่อเติมเพื่อให้คนมาเช่าเป็นออฟฟิศ ส่วนด้านบนเป็นที่พักอาศัย เราก็รื้อเกือบทั้งหมดแต่คงโครงสร้างของตึกและบันไดเดิมเอาไว้ ประตูข้างหลังบ้านตอนแรกจะอยู่ตรงกับบันได เข้ามาแล้วสามารถเดินขึ้นชั้น 2 ได้เลย แต่เราขยับให้มาอยู่ข้างๆ แทน ส่วนหน้าบ้านเปลี่ยนเป็นประตูบานเฟี้ยมแทน นอกจากจะปลอดภัยแล้วก็ดูสวยงามให้ความรู้สึกอบอุ่น”
พื้นที่ภายในถูกจัดสรรและออกแบบอย่างลงตัว แม้ว่าตัวตึกจะมีพื้นที่ไม่กว้างมาก แต่ก็ดูโปร่งโล่งไม่อึดอัดเลือกใช้โทนสีสว่างอย่างสีฟ้า สีเทา และสีขาวเป็นหลัก พื้นที่ใช้สอยแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ชั้นล่างถูกออกแบบให้เป็นส่วนของคาเฟ่ ชั้นสองเป็นครัวหลักสำหรับทำขนม ห้องสตูดิโอเวิร์กชอปจะอยู่ในส่วนของชั้นสาม และชั้นสี่เป็นพื้นที่เก็บของ
ผนังด้านหนึ่งเลือกใช้เป็นกระจก ทำให้ห้องดูโปร่ง และยังใช้งานเป็นบอร์ดสำหรับเขียนสูตรขนมได้อีกด้วย
ออกแบบชุดครัวโดยเน้นฟังก์ชันการจัดเก็บ ให้มีพื้นที่สำหรับใส่อุปกรณ์ทำขนมต่างๆ ได้
“ด้วยข้อจำกัดของตัวตึกที่เป็นแนวผอม มีความยาวลึกแต่ไม่กว้างมาก โจทย์หลักๆ คือ เราจะออกแบบและใช้พื้นที่ที่จำกัดนี้ได้อย่างไรให้ลงตัว ซึ่งพอเราเห็นตึกตั้งแต่แรกก็คิดไว้แล้วว่าครัวสำหรับทำขนมคงอยู่ชั้นล่างที่เป็นคาเฟ่ไม่ได้ ด้วยเนื้อที่จำกัด จึงออกแบบให้ด้านหนึ่งเป็นเคาน์เตอร์ เลือกใช้กระจกเข้ามาเพื่อให้ดูโปร่งขึ้น เลือกใช้โทนสีฟ้า-เทา ดูแล้วสบายตา ไม่หวานมากแต่ก็ไม่ดิบจนเกินไป ซึ่งเราหยิบคาแรกเตอร์ของขนมและโลโก้แบรนด์ตั้งแต่ขายทางออนไลน์มาเป็นคอนเซ็ปต์ในการตกแต่งร้าน“
ไอส์แลนด์กลางห้อง ดีไซน์ให้สามารถนั่งได้อย่างสบาย ไม่ติดขา
เมื่อเดินขึ้นไปในส่วนของชั้น 2 จะพบกับห้องครัวหลักสำหรับทำขนมต่างๆ “ชั้น 2 เป็นครัวทำขนมทั้งส่วนของหน้าร้านและลูกค้าที่สั่งออนไลน์ การออกแบบจะเน้นฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก นำประสบการณ์ที่เราใช้ครัวเดิมที่บ้านคุณแม่มาปรับใช้กับที่นี่ให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น ออกแบบเหมือนเป็นจิ๊กซอร์ต่อๆ กัน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือพื้นที่สำหรับนั่งตกแต่งขนมกับพื้นที่ทำขนม เตรียมแป้ง เตาอบ
ซึ่งตอนแรกเราคิดว่าอาจจะต้องแยกชั้นกัน แต่สุดท้ายก็สามารถจัดการพื้นที่ให้ลงตัวได้ โดยมีไอส์แลนด์ขนาดใหญ่อยู่กลางห้องที่เราสั่งทำขึ้นมา ดีไซน์ให้ด้านหนึ่งสามารถนั่งทำงานได้ ส่วนอีกด้านเป็นลิ้นชักสำหรับใส่ของ และอุปกรณ์ต่างๆ เวลาทำงานเสร็จจะได้เก็บให้เรียบร้อย ดูสะอาดตา เพิ่มบรรยากาศให้ดูสดใสด้วยการทาผนังสีฟ้าอ่อน”
บิลต์อินเตาอบเข้ากับชุดครัว ดูเรียบร้อยสวยงาม และสะดวกต่อการใช้งาน
“ส่วนของชั้น 3 ออกแบบเป็นห้องเวิร์กชอป เน้นโทนสีเทาเป็นหลัก เอ๋ยมองว่าส่วนของคาเฟ่ข้างล่างที่เน้นสีฟ้า สะท้อนความเป็น Little Baker อยู่แล้ว พอมาข้างบนเป็นพื้นที่สำหรับเรียนทำขนม เวลาสอนแต่ละครั้งจะมีธีมที่ต่างกันออกไป ซึ่งสีเทาเป็นสีกลางๆ สามารถถ่ายภาพได้ง่าย และนอกจากเป็นห้องเวิร์กชอปแล้ว ยังสามารถจัดประชุมหรือ Private Party ได้ การเลือกสีพื้นๆ อย่างสีเทาจึงง่ายต่อการตกแต่งด้วย”
ลิ้นชักใต้เคาน์เตอร์สำหรับเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ครัวไม่รก ดูสะอาดตา
ฟังก์ชันการใช้งานในห้องเวิร์กชอป คุณเอ๋ยออกแบบโดยเน้นเรื่องฟังก์ชันการจัดเก็บเป็นหลัก ผนังด้านหนึ่งบิลต์อินเป็นตู้และชั้นวางของ ตรงกลางห้องเป็นโต๊ะสำหรับนั่งเรียน และเตรียมของต่างๆ เมื่อมีคอร์สสอนทำขนม โดยเลือกใช้โต๊ะที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เคลื่อนย้ายสะดวก อีกทั้งยังติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างตู้เย็น เตาอบเข้ากับชุดครัว ดูเรียบร้อยและยังประหยัดเนื้อที่อีกด้วย
อีกด้านหนึ่งของไอส์แลนด์ ดีไซน์ให้มีพื้นที่สำหรับวางของได้ด้วย
“ด้วยความเป็นตึกเก่าจึงมีข้อจำกัดเรื่องงานระบบเหมือนกัน อย่างเรื่องระบบไฟจากเดิมที่เดินไฟใต้ดิน เราก็เปลี่ยนมาเป็นเดินลอยแทน ต้องให้การไฟฟ้าเข้ามาตรวจสอบว่าสามารถทำได้ ส่วนระบบน้ำไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก เพียงแต่การใช้งานหลักคือทำขนมต้องดูแลเรื่องไขมันอุดตัน ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เกิดจากที่เป็นตึกเก่า แต่ร้านคาเฟ่ทุกที่ต้องเจอกับปัญหานี้อยู่แล้ว เราก็ต้องจัดการให้ดี มีถังแยกไขมัน มีน้ำยา มีจุลินทรีย์ต่างๆ เข้ามา
“เอ๋ยมองว่าการรีโนเวทตึกทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นตึกเก่าแต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะตัวเราเองค่อนข้างมีโจทย์ชัดเจนว่าความต้องการคืออะไร ฟังก์ชันการใช้งาน รวมไปถึงการตกแต่งภายในว่าอยากให้ออกมาประมาณไหน นอกจากเรื่องความสวยงามแล้วก็ต้องสามารถใช้งานได้จริง ใช้ประโยชน์ของพื้นที่ได้คุ้มค่า จริงๆ สิ่งที่ยากกว่าการก่อสร้างน่าจะเป็นเรื่องย้ายของเข้ามามากกว่า
เพราะเราไม่ได้ทุบโครงสร้างตึก ประตู หน้าต่างคงเดิมไว้ ต้องทำนั่งร้านแล้วใช้คนยกเตาอบขึ้นไป เพราะไม่สามารถขนทางบันไดได้ ตอนนั้นตื่นเต้นมาก ต้องถอดกระจกเตาอบออกก่อนเพื่อป้องกันการแตก หรือตู้เย็นที่ต้องยกขึ้นทางบันไดที่ค่อนข้างแคบ ขูดสีผนังไปหลายรอบ ต้องให้ช่างมาช่วยเก็บสีให้ใหม่ เอ๋ยว่าตอนช่วงรีโนเวทว่ายากแล้ว ตอนย้ายของเข้ามานี่ยากกว่าอีก (หัวเราะ)”
แม้ว่าการรีโนเวทตึกเก่าจะดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย แต่ถ้าเรามีโจทย์ที่ต้องการอย่างชัดเจน ออกแบบและจัดสรรพื้นที่ต่างๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งาน จะช่วยให้ทุกอย่างดูง่ายขึ้น เหมือนกับ Little Baker Café and Studio ที่เป็นคาเฟ่ขนาดกะทัดรัดแต่ครบครัน
เจ้าของบ้าน : คุณเอ๋ย-สุทธดา จีระพันธ์
พื้นที่ใช้งานครัว : 12 ตารางเมตร
เรื่อง หนูเสงี่ยม
แฟ้มภาพนิตยสาร @kitchen