“จริงๆ ไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบงานวิศวะนะ แต่พอต้องเลือกอันใดอันหนึ่ง ระหว่างวิศวะกับงานเซรามิก เลยเลือกอะไรที่ชอบมากกว่า งานวิศวะก็สนุก แต่รู้สึกว่างานเซรามิกมันเข้ากับตัวเองมากกว่า”
ทุกครั้งที่เห็น คุณง้วน-พลเสฏฐ์ โลหะชาละธนกุล นั่งปั้นดินอยู่ที่เก้าอี้ตัวเดิม ตรงริมหน้าต่างในห้องสตูดิโอชั้น 2 ของ Aoon Pottery เรามักจะคิดถึงประโยคนี้ ที่คุณง้วนเคยบอกกับเราตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้พูดคุยกัน
เตรียมดิน
“ผมเรียนจบมาทางด้านวิศวะ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเซรามิกที่มีอยู่น้อยมาก ตอนนั้นเลยอยากไปเรียนต่อที่สวีเดน เป็น Craft School เรียนที่นี่ 2 ปี แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทด้านนี้ได้เลย แต่ระหว่างที่รอสมัครภาคเรียนใหม่ ต้องรออีกประมาณ 1 ปี จึงมานั่งคิดอีกว่า ถ้าไปเรียนแล้วมีคนถามว่า งานเซรามิกไทยเป็นยังไง เราตอบไม่ได้เลยนะ เพราะไม่มีความรู้เลย จึงอยากใช้เวลานี้หาความรู้เพิ่มเติม”
“ผมทำงานเป็นวิศวกรอยู่ประมาณ 6-7 ปี ระหว่างที่ทำงานก็ปั้นเซรามิกเป็นงานอดิเรก ตอนนั้นคือแค่อยากหาอะไรทำตอนว่างๆ แต่พอทำไปเรื่อยๆ เราเริ่มแบ่งเวลาไม่ได้ รู้สึกว่าเวลาที่มีอยู่ไม่พอ จึงตัดสินใจจะลาออกจากงาน พอเราไปบอก เขาถามเรากลับมาว่าสัปดาห์หนึ่งเรียนกี่วัน เราตอบว่าเรียนวันอาทิตย์วันเดียว เขาก็ถามต่อว่าแล้ววันเสาร์ทำอะไร เราบอกว่าไปเที่ยวเล่น เขาถามต่ออีกว่า แล้ววันธรรมดาหลังเลิกงานล่ะ ตอนนั้นเลยชะงักไปเหมือนกัน
หลังจากวันนั้นเลยตั้งกฎกับตัวเองว่า วันเสาร์-อาทิตย์ จะปั้นเต็มวัน แล้วเย็นวันธรรมดาต้องปั้นอย่างน้อยวันละ 2 ใบ บางทีก็ทำให้เพื่อนที่ออฟฟิศ ให้เขาบอกว่าอยากได้แบบไหน เหมือนเป็นโจทย์ให้เราฝึกปั้น พอทำเสร็จออกมา เห็นเขาใช้แล้วชอบ เราก็ดีใจ ทำอยู่แบบนั้นได้ประมาณ 5-6 เดือน เริ่มรู้สึกว่าเวลาที่มีอยู่ไม่พอ เลยต้องเลือกอะไรที่เราชอบมากกว่า”
นวด ปั้น ขึ้นรูป
ย้อนกลับไปเมื่อช่วง 5-6 เดือนก่อนที่ตัดสินใจลาออก
“ตอนนั้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเซรามิก จะเจอแต่ชื่อ อ.สมลักษณ์ ลองโทรไปดู เขาถามกลับมาว่า จบวิศวะแล้วจะมาทำเซรามิกทำไม เราบอกว่าชอบครับ เขาบอกว่าถ้าแค่ชอบไม่พอ แล้ววางสายไปเลย แต่ในช่วง 5-6 เดือนที่ลองตั้งกฎกับตัวเอง เรารู้สึกว่าแค่ชอบมันพอนะ คือเราหาคำตอบที่ดีกว่านี้ไม่ได้แล้วจริงๆ จึงลองโทรไปหา อ.สมลักษณ์ อีกครั้ง บอกว่าผมขอขึ้นไปคุยด้วยที่เชียงราย พอนัดวันได้ก็จองตั๋วเครื่องบินเลย”
แค่ชอบก็เพียงพอแล้ว
“พอไปถึง อ.สมลักษณ์ ก็ถามคำถามเดิมว่า ทำไมถึงอยากมาทำ ก็ตอบไปว่าชอบครับ ผมคิดมาดีแล้ว หลังจากนั้นก็อยู่ที่ดอยดินแดง 1 ปี ช่วงเดือนแรกครึ่งวันเช้า ให้เราตักน้ำ โดยให้กระบวยมา 1 อัน ไปตักทุกวัน ซึ่งบ่อน้ำนี้เป็นส่วนผสมของการเคลือบอย่างหนึ่ง เขาจะเอาขี้เถ้าที่เผาแล้วไปแช่น้ำไว้ เราต้องไปกวนแล้วตักน้ำที่มีขี้เถ้าไปไว้อีกบ่อหนึ่ง เพื่อให้ตกตะกอนแล้วเอาขี้เถ้านั้นมาใช้ ส่วนครึ่งวันบ่าย ให้ไปเป็นลูกมือทุกคนในโรงงาน จริงๆ มันมีรายละเอียด อย่างที่ให้ตักน้ำก็เพื่อปรับสภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับงานหนัก ส่วนที่ให้ไปช่วยคนอื่น เราจะได้เรื่องการทำงานด้วยกัน
“ต่อมาคือให้นวดดิน เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการทำเซรามิก นวดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง อ.สมลักษณ์ คงคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่ต้องลองปั้นแล้ว เขาให้เวลาครึ่งวัน ปั้นอะไรก็ได้ที่อยากปั้น วันนั้นปั้นได้ 8 ใบ พอมาถึงอาจารย์ตัดงานทุกใบเลย เพื่อดูการปั้นของเราว่ามีพื้นฐานแค่ไหน เขาถึงจะต่อยอดให้เราได้ แต่ตอนโดนตัดงาน เราอึ้งไปเหมือนกันนะ หลังจากนั้นอาจารย์จะเลือกแบบที่เหมาะกับเรา ให้ไปฝึกปั้นมา 200 ใบ จากตอนแรกที่คิดว่าทำได้พอสมควร จนได้ไปอยู่ที่นั่นรู้สึกว่าตัวเองเล็กมาก เพราะพี่บางคนปั้นได้ 40-50 ใบต่อวัน บางคนที่ทำงานมานาน ปั้นได้เป็น 100 ใบ เราปั้นทั้งวันได้ 10 ใบ แต่พยายามตั้งเป้ากับตัวเองว่าพรุ่งนี้ต้องได้ 15 ใบ 20 ใบ ไปเรื่อยๆ จนทำได้ใกล้เคียงกับพวกพี่เขา”
หลังจากนั้นจึงกลับมาปั้นให้ช้าลง
“ที่ทำได้เยอะนั้นเป็นเชิงปริมาณ แต่ยังไม่ได้ดีเลย พอปั้นได้เร็วขึ้นแล้ว เลยกลับมาปั้นให้ช้าลง ใส่ใจรายละเอียดมากขึ้นเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ดีออกมา ระหว่างที่ปั้นจะมีเหมือนปรัชญาสอนเรา คือ ทำเซรามิกเราจะคาดหวังมากไม่ได้ แต่ต้องตั้งใจทำจริงจังในทุกขั้นตอน ถ้าพลาดไปสักขั้นตอน ผลจะออกมาให้เห็นตอนที่ทำเสร็จแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ถึงแม้ว่าจะโฟกัสทุกขั้นตอน สุดท้ายผลที่ออกมาก็น้อยครั้งมากที่จะตรงใจเรา”
เมื่อทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง จากคนที่ยังไม่ได้มีพื้นฐานความรู้เรื่องเซรามิกเลย
“จากความตั้งใจที่อยากไปเรียนต่อ พอได้ไปฝึกงานอยู่ที่ดอยดินแดง มันตอบอะไรที่เราเคยสงสัยได้หมด ถ้าไปเรียนต่ออีก 4 ปี ยังไงก็ต้องกลับมายู่ดี ถ้าอย่างนั้นทำเลยดีกว่า สิ่งสำคัญของช่างปั้นคือการฝึกฝน จึงตัดสินใจไม่ไปเรียนต่อ แต่มาเปิดสตูดิโอเซรามิกของตัวเองชื่อ Aoon Pottery
อยากให้มีพื้นที่สำหรับทำงานเซรามิกในแบบของตัวเอง ตอนไปฝึกงานที่เชียงราย เราจะได้เห็นบริบทของงานเซรามิกกับธรรมชาติ อาจารย์สมลักษณ์ท่านเป็นคนเชียงราย ก็ทำเซรามิกในบริบทที่เขาอยู่มา มีต้นไม้ ธรรมชาติเยอะๆ แต่ตัวเราเป็นคนกรุงเทพฯ เลยอยากให้มีอะไรแบบนี้ในกรุงเทพฯ เป็นบริบทในเมืองที่เป็นตึกแถว แต่มีเรื่องราวในแบบของเรา”
เผาดิบ เคลือบ และเผา
“ถามตัวเองว่าทำไมเราถึงอินกับเซรามิก เป็นเพราะเราอินกับการใช้งาน เวลาได้ใช้งานเซรามิก เราจะรู้สึกมีความสุข จึงอยากให้คนอื่นรู้สึกอย่างเดียวกับเรา
ด้านล่างเลยเปิดเป็นคาเฟ่ขึ้นมา ให้ความรู้สึกเหมือน Living Gallery สามารถเลือกภาชนะทุกใบในร้านมาใช้ได้ ซึ่งทุกใบทำเสร็จจากที่หมดเลย ปั้นข้างบน เผาข้างล่าง เอาออกมาจากเตา ใครชอบแล้วอยากซื้อกลับบ้านก็ได้ มีคนเคยบอกว่างานเราเป็นญี่ปุ่น ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ ที่เหมือนอาจเป็นเพราะเราชอบเรื่องแร่ธาตุธรรมชาติ ดินตามธรรมชาติ คนญี่ปุ่นก็ชอบแบบนั้นเหมือนกัน เป็นแบบเรียบๆ ที่ตอนนี้เรากำลังศึกษาเรื่องการใช้งาน อย่างคนสมัยก่อนเขาทำเซรามิกเพื่อใช้จริงๆ ถ้าเป็นเหยือกรินน้ำต้องปากบานถึงจะใช้งานได้ดี มันมีรายละเอียดอยู่ เราจึงหยิบเรื่องฟังก์ชันการใช้งานมาใส่ไว้ในงานที่ทำด้วย เคลือบธรรมชาติไม่มีสารเคมี ปลอดภัยกับคนใช้และคนทำด้วย”
ถ้าชีวิตคนเราเหมือนกับขั้นตอนการทำเซรามิก ก็คงเป็นอย่างที่คุณง้วนบอก บางครั้งมันเป็นเรื่องที่คาดหวังไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือ ต้องทำทุกขั้นตอนด้วยความตั้งใจ จริงจัง ถึงผลออกมาจะไม่ได้ตรงใจ แต่แค่เรามีความสุขในทุกๆ ขั้นตอนก็พอ เหมือนกับงานเซรามิกที่คุณง้วนบอกกับเราว่า “จริงๆ แล้วผลลัพธ์ออกมาคือมันสวยหมดทุกใบเลยนะ แต่อยู่ที่ว่าสวยของใคร ถ้าเรามองอย่างเข้าใจ”
เนื้อหาจากคอลัมน์ Professional ฉบับที่ 134
ภาพ: พี่ภูมิ/ พี่แหลม
เรื่อง: หนูเสงี่ยม