Kitchenware

KAV งานออกแบบเซรามิก ของใช้ไอเดียเก๋เหมาะกับโต๊ะอาหาร


Kav แบรนด์ออกแบบงานเซรามิก

ชายหนุ่มคนนี้ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นโปรดักต์ดีไซเนอร์อย่างเต็มตัว กับผลงานการออกแบบภาชนะบนโต๊ะอาหาร ถึงแม้เป็นดีไซเนอร์น้องใหม่ แต่แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนั้นไม่แพ้รุ่นพี่ นั่นคงเป็นเพราะเขาได้เริ่มต้นจากงานศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองรักจากนั้นจึงค่อยๆ ต่อยอดและพัฒนากลายเป็นชิ้นงานมีดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

คุณหนุ่ม-กวิน วิริยะรังสฤษฎ์ ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ KAV พูดคุยกับเราอย่างเป็นกันเองว่า “ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนชอบงานศิลปะ ชอบวาดรูปอยู่แล้ว โตมาก็เลยเลือกเรียนกราฟิก และไปเรียนต่อด้าน Illustration ที่ประเทศอังกฤษ พอเรียนจบผมก็คิดอยากจะนำผลงานที่เป็น Illustration ที่ผมถนัดนี่แหละมาทำเป็นอาร์ตเวิร์กสักอย่าง ความคิดในตอนนั้นของผมก็คือ อยากทำอะไรที่นอกเหนือจากการนำรูปไปวางไว้บนกระดาษ ผมมองว่างานแนวนี้สามารถสะท้อนบุคลิกของคนได้ เลยคิดถึง Eating Product ที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้งานของคน เลยมองที่จานก่อนเป็นอันดับแรก”

1

จากความตั้งใจในวันนั้น เขาจึงเริ่มต้นวางแผนและออกแบบโปรดักต์ภายใต้แนวความคิดเรียบง่ายแต่แฝงด้วยความขี้เล่น

“ผมเริ่มต้นจากการทำจาน เพราะรู้สึกว่าดีไซน์จานที่ทำเป็น Illustration ในเมืองไทยนั้นยังมีน้อยมากถ้าเปรียบเทียบกับเมืองนอก อีกอย่างหนึ่งผมคิดว่าจานเป็นภาชนะประเภทหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับผู้ใช้ ผมก็เลยออกแบบให้โปรดักต์และคนใช้มีปฏิสัมพันธ์กัน”

จานคอลเล็กชันแรก Blessing Blue จานลายนกกระเรียนและลายนกกระสา มีจุดเด่นอยู่ตรงที่ผู้ใช้งานสามารถนำจานมาวางต่อกันก็จะเกิดเป็นตัวนก นอกจากนี้คุณหนุ่มยังนำเรื่องความเชื่อของนกสองชนิดนี้มาใส่ลงในชิ้นงาน เนื่องจากให้ความหมายที่ดี เพราะหากบ้านไหนมีนกกระเรียนจะทำให้อายุยืน สุขภาพแข็งแรง และมีความรักที่ยั่งยืน ส่วนนกกระสาจะช่วยให้มีความเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จเมื่อทำการค้า ครอบครัวมีความอบอุ่น

2

Fluffy Dreamers เป็นคอลเล็กชันแมว ที่เขาคิดขึ้นจากความชอบส่วนตัว นำเอาสเปซในจานมาเล่นสนุกกับอิริยาบถของแมว ไอเดียที่ใส่เพิ่มเข้าไปก็คือ กลิ่นอายของงานคราฟท์ วาดแมวเป็นขนๆ ดูแล้วให้ความรู้สึกปุกปุย นุ่มๆ แค่เห็นจากภายนอกก็เข้าใจง่ายสามารถจับต้องได้ทันที ส่วนคอลเล็กชันล่าสุดคือ Hungry Bear เกิดจากแนวคิดที่อยากสร้างตัวการ์ตูนสักตัวหนึ่งแล้วใช้ถ้อยคำ (เกี่ยวข้องกับเรื่องกิน) มาพูดกับคนที่กำลังใช้จานอยู่ โดยนำคาแรกเตอร์หมีผู้หญิงและหมีผู้ชายวาดลงในจาน และยังคงคอนเซ็ปต์การฝนด้วยดินสอใส่ลงไป

ถึงแม้ KAV จะเพิ่งเริ่มต้น แต่เราก็เชื่อมั่นว่าในอนาคต แบรนด์ไทยแบรนด์นี้จะเติบโตอย่างเข้มแข็ง และพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ แม้หลายคนมองว่างาน Illustration เป็นเพียงแค่ภาพประกอบที่ใช้ในสื่อโฆษณา และสิ่งพิมพ์ แต่สำหรับผู้ชายคนนี้เขากลับคิดว่าสามารถสื่อความหมายได้มากกว่าภาพวาด นี่จึงเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่เพิ่มคุณค่าและสร้างเอกลักษณ์ที่ชัดเจนให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

บทความจากคอลัมน์ “Interior Gallery” นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 119 ประจำเดือนกรกฎาคม 2559


You Might Also Like...