นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียวในญี่ปุ่นได้พัฒนาเทคนิคการผลิตซีเมนต์ที่สามารถทำขึ้นจากเศษอาหาร นอกจากจะใช้ในการก่อสร้างแล้ว ความคินอกกรอบนี้ยังกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่กินได้ด้วย
Yuya Sakai ศาสตราจารย์ผู้รับผิดชอบงานวิจัยนี้ เป็นวิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านคอนกรีตและการรีไซเคิล ซึ่งผลงานการวิจัยก่อนหน้านี้ เขาก็ได้พัฒนาเทคนิคในการผสมผงคอนกรีตรีไซเคิลกับเศษไม้ ทำให้เกิดวัสดุที่ทนทานขึ้นผ่านการบีบอัดแบบร้อน โดยในระหว่างการทดลองเขาเกิดปิ๊งไอเดียที่อยากจะทดสอบวัสดุเหลือใช้อื่นๆ มาทำในรูปแบบเดียวกัน หนึ่งในนั้นก็คือผักและผลไม้
กระบวนการผลิตทั้งหมดได้รับการบันทึกและนำเสนอเข้าที่ประชุมประจำปีครั้งที่ 70 ของสมาคมวัสดุศาสตร์ในเดือนพฤษภาคม 2564 ผ่านบทความเรื่อง Development of Novel Construction Material from Food Waste มีการบันทึกของการผลิตวัสดุนี้เอาไว้ว่า วิธีการทำจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน: หลังจากหั่นวัตถุดิบ (เปลือกส้ม หัวหอม ฟักทอง กล้วย ผักกาดขาว และสาหร่าย) ให้เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ แล้วจะนำไปไว้ในเตาอบที่อุณหภูมิ 105°C หรือเป็นเครื่องอบแห้งสูญญากาศ เมื่อวัตถุดิบแห้งลงแล้วจะถูกนำไปบด จากนั้นผสมน้ำ และเติมเครื่องปรุงรส และกดให้ร้อนที่อุณหภูมิ 180°C
การทดสอบพิจารณาจากความแข็งแรงของวัสดุและรสชาติ ผลลัพธ์บ่งชี้ว่า วัตถุดิบอื่นๆ นั้นมีความแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักกาดขาวที่ให้ความทนทานมากกว่าซีเมนต์ทั่วไปถึง 3 เท่า ยกเว้นตัวอย่างที่ได้จากฟักทอง ตามที่ผู้เขียน Sakai และ Machida กล่าวถึง ส่วนที่ท้าทายที่สุดของกระบวนการคือความจริงที่ว่าอาหารแต่ละชนิดต้องการอุณหภูมิและระดับความดันที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้สามารถจินตนาการได้ว่าต้องทำการทดสอบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นเนื้อเดียวกันและน่าพอใจ
นอกจากการนี้แล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อย่างเรื่องของรสชาติและกลิ่น ในขั้นตอนการทดสอบยังระบุเอาไว้ว่า ถึงแม้วัตถุดิบเหล่านี้จะผ่านกระบวนการข้างต้นแล้ว วัตถุดิบยังคงกลิ่นดั้งเดิมไว้ได้ ซึ่งศาสตราจารย์ Sakai ได้พูดถึงผลิตภัณฑ์นี้ว่า ปราศจากสารพิษ และยังปลอดภัยต่อการบริโภค แต่มันอาจจะมีความ “กรุบกรอบมาก” ก็เท่านั้นเอง (ฮา)
มาถึงเรื่องการทดสอบเกี่ยวกับเรื่องของความทนทานของวัสดุได้รับการระบุว่า หลังจากผ่านไป 4 เดือน ยังไม่พบว่ามีแมลง หนอน หรือเชื้อราบนวัสดุ ยังคงรูปลักษณ์ไว้เหมือนเดิม ซีเมนต์นี้ยังสามารถกันน้ำได้ด้วยเมื่อเคลือบด้วยสารเคมีและแลคเกอร์
ศาสตราจารย์ Sakai กำลังเดิมพันกับเทคโนโลยีนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยลดขยะอาหารทั่วโลก ซึ่งตามข้อมูลของ UN สูงถึง 900 ล้านตันต่อปี แต่ยังสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยหรือในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกด้วย
ในขณะที่เทคโนโลยียังอยู่ในช่วงการพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้าง หลายบริษัทในพื้นที่อื่นๆ ได้ค้นหานักประดิษฐ์ที่สนใจในการผลิตเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของต่างๆ Machida เองซึ่งเป็นผู้ทำงานร่วมกันในโครงการและผู้เขียนบทความที่อ้างถึงข้างต้น ได้ก่อตั้งบริษัทชื่อ Fabula Inc. โดยมุ่งเน้นที่เครื่องใช้ในบ้านและวัตถุอื่นๆ ที่ทำจากซีเมนต์ที่บริโภคได้
นอกจากข้อดีที่กล่าวมาแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าซีเมนต์ที่กินได้นั้นสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและสามารถฝังได้เมื่อไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ซึ่งกลายเป็นวัสดุที่มีศักยภาพในการทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกและซีเมนต์ทั่วไป การประยุกต์ใช้ยังเพิ่มความหมายใหม่ให้กับสถาปัตยกรรมที่นอกจากการมองเห็น การสัมผัส การได้กลิ่น และการได้ยินแล้ว ตอนนี้ยังสามารถกระตุ้นการรับรสได้อีกด้วย