เมื่อบ้านหลังใหม่กำลังก่อสร้างไปพร้อมๆ กับการเริ่มต้นชีวิตครอบครัว แน่นอนว่านอกจากเรื่องของดีไซน์และสไตล์ที่ชอบในการออกแบบแล้ว ฟังก์ชันและพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ยังต้องคำนึงถึงความสอดคล้องในการใช้งานและมีความปลอดภัย โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กๆ อย่างครอบครัวของคุณเจษ และคุณแพม ห้องครัวสไตล์คันทรีในบ้านหลังนี้ จึงออกแบบเน้นให้มีพื้นที่จัดเก็บสำหรับใส่อุปกรณ์ของใช้ต่างๆ ไว้อย่างเรียบร้อยเป็นระเบียบ เพื่อให้ลูกๆ มีสเปซสำหรับวิ่งเล่นและทำกิจกรรมภายในบ้านได้อย่างเต็มที่
“คอนเซ็ปต์การออกแบบบ้านคือ คุณเจษ อยากได้บ้านสไตล์อเมริกันคอนเทมโพรารี เป็นความฝันของเขาตั้งแต่ตอนไปเรียนที่อเมริกา เพราะบ้านเช่าที่เคยอยู่จะเป็นสไตล์นี้ มีการแบ่งผนังด้วยสี คิ้ว และขอบบัวเพื่อให้ดูสวยงาม ตอนแรกเราตั้งใจสร้างเป็นเรือนหอแต่ว่าเสร็จไม่ทันวันแต่งงาน เลยอยู่บ้านคุณแม่สามีหลังติดกันข้างๆ ซึ่งเป็นบ้านและโฮมออฟฟิศด้วย ระหว่างที่สร้างก็ตั้งท้องลูกคนแรกพอดี โจทย์เลยเป็นการออกแบบเพื่อครอบครัวใหม่ มีพี่ที่รู้จักกันเป็นสถาปนิกมาช่วยออกแบบให้” คุณแพมเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้
แปลนบ้านออกแบบอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน มีห้องโถงโล่งตรงกลางต่อเนื่องกันกับส่วนอื่นๆ ทั้งห้องกิจกรรมของลูก ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องทานข้าว สามารถมองเห็นและรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่ดูอบอุ่น โดยเลือกใช้โทนสีที่มองแล้วสบายตาอย่างโทนสีขาวและครีมเป็นหลัก
“คุณเจษมีการออกแบบบ้านให้เป็นแปลนสี่เหลี่ยม เพื่อให้สามารถใช้งานเต็มพื้นที่ มีการกำหนดตำแหน่งของห้องต่างๆ ตามฟังก์ชันการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น การทำฮอลเวย์กลางบ้านเพื่อให้ดูโปร่งโล่ง มีทางเข้าห้องรับแขกทางด้านขวาของฮอลเวย์โดยที่แขกไม่ต้องเดินผ่านส่วนอื่นของบ้าน และอีกด้านหนึ่งมีมุมสำหรับนั่งถอดและจัดเก็บรองเท้าได้ด้วย โดยแต่ละห้องจะมีประตูบานเฟี้ยมหรือประตูบานเลื่อนแบบซ่อนในกำแพงเพื่อลดการเกะกะสายตาและมีพื้นที่เมื่อเก็บประตู โดยตั้งใจไม่ติดรางเลื่อนที่พื้น เด็กๆ สามารถวิ่งเล่นได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าจะสะดุดล้ม อีกทั้งยังสามารถเปิด-ปิด กั้นและขยายพื้นที่ห้องได้ตามการใช้งาน”
โดยส่วนตัวแล้วคุณแพมเป็นคนชอบเก็บของ และยิ่งเป็นครอบครัวใหญ่แบบนี้ของยิ่งเยอะ “แพมเป็นคนชอบจัดของ ชอบทำงานบ้านเอง ถึงจะมีพี่เลี้ยงช่วยแต่เราจะเป็นคนคอยดูแลเรื่องความสะอาดต่างๆ ทุกอย่างที่ดีไซน์หรือออกแบบจะอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวในการใช้งาน เช่น อยากให้มีตู้เก็บไม้กวาดในบ้านนะ ไม่อย่างนั้นเวลาทำความสะอาดแล้วไปเก็บไว้หลังบ้านหรือตามมุมต่างๆ พอเวลาเราจะใช้ต้องเดินไปหลังบ้านหรือบางทีก็ตามหากันว่าอยู่ไหน
ภายในบ้านออกแบบให้มีพื้นที่เก็บของค่อนข้างเยอะ แต่เราให้อินทีเรียช่วยออกแบบซ่อนฟังก์ชันตู้เอาไว้ ให้ดูเรียบๆ กลมกลืนไปกับบ้าน อย่างบริเวณตี่จู้เอี๊ยะออกแบบให้เป็นเหมือนเตาผิงอยู่ตรงกลาง เรารู้สึกว่าถ้าด้านบนทำเป็นผนังเฉยๆ จะเสียพื้นที่ไปเปล่าๆ เลยทำเป็นหน้าบานเลื่อนข้างในสามารถเก็บของเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างยาสามัญประจำบ้าน อุปกรณ์ทำงานคราฟต์ของลูก ซึ่งถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้ว่าตรงนี้สามารถเก็บของได้ด้วย ตรงมุมทางเข้าบ้านเราก็ทำเป็นตู้สูงไว้ใส่ของต่างๆ เช่น รองเท้า แว่นตากันแดด หมวก อุปกรณ์ว่ายน้ำ กระเป๋าและถุงผ้าใส่ของ รวมไปถึงอุปกรณ์ทำความสะอาดบ้าน พอเรามีพื้นที่เก็บของบ้านก็ดูไม่รก มองแล้วสะอาดตา หาของง่าย และเมื่อทุกอย่างสามารถจัดเก็บไว้ในตู้ทำให้มีพื้นที่โล่งสำหรับให้ลูกๆ ใช้ทำกิจกรรมที่หลากหลายได้ภายในบ้าน”
รวมไปถึงพื้นที่ในห้องครัวด้วย อย่างที่บอกว่าแพมเป็นคนชอบจัดของ ตอนช่วงที่ทำบ้านเรามีโอกาสได้ไปเดินชมบ้านตัวอย่างโครงการต่างๆ ไปเจอไอเดียตู้ที่เขาออกแบบไว้หลังครัว มีขนาดเท่าคนจริง มีประตูให้เดินเข้าไปด้านในได้แล้วเก็บของทุกอย่างไว้ในนั้น และตอนที่เราไปเรียนต่างประเทศ บ้านเช่าที่นั่นเขาก็มีตู้แบบนี้เหมือนกัน แพมเลยนำไอเดียจาก 2 แบบนี้มาใส่ไว้ในห้องครัวเรา โดยออกแบบให้มีทั้งหมด 2 ตู้ ทำโครงสร้างให้สามารถเดินเข้าไปได้ ด้านในมีชั้นวางของที่ดีไซน์เป็นรูปตัว U เพื่อหยิบและมองเห็นได้สะดวก โดยชั้นไม่ลึกเกินไป ติดไฟให้เปิด-ปิดอัตโนมัติเวลาเราเปิดหน้าบาน ผนังด้านในบุด้วยไม้แอชย้อมสีแล้วเซาะร่องให้ดูสวยงามตามสไตล์อเมริกัน ดีไซน์ขนาดให้พอดีไม่กว้างหรือเล็กจนเกินไป ตู้หนึ่งไว้เก็บจาน ชาม แก้ว ส่วนอีกตู้หนึ่งไว้สต็อกของต่างๆ อย่างขนมลูกหรือแก้วน้ำของลูก เราก็วางไว้ชั้นข้างล่าง ให้เขาหยิบเองได้ง่ายๆ”
สำหรับดีไซน์หน้าบานมีการเลือกใช้วัสดุอย่างหลากหลายทั้งหน้าบานไม้จริง อะลูมิเนียม และกระจกใส เพื่อให้ครัวดูโมเดิร์นและน่าสนใจมากขึ้น “ตอนแรกอินทีเรียแนะนำว่า 2 ตู้นี้อยากให้ใช้เป็นกระจกที่ดูขุ่นหน่อย แต่เราบอกว่าไม่เป็นไรอยากให้เป็นกระจกใส เพราะสามารถมองเห็นของข้างใน และเป็นการบังคับไปในตัวให้จัดของเป็นระเบียบ พอเราเริ่มต้นแบบนี้ก็ทำให้คนอื่นเป็นระเบียบตามไปด้วย หยิบไปใช้แล้วเก็บเข้าที่เดิม ส่วนหน้าบานตู้อื่นๆ เราเลือกใช้ไม้จริงแล้วพ่นสี ทำลูกเล่นให้ดูเก่าๆ แบบแอนทีกตามขอบบัว แต่ในส่วนปรุงอาหารและส่วนล้าง แพมเลือกใช้เป็นหน้าบานอะลูมิเนียม สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย”
นอกจากเรื่องดีไซน์และการจัดเก็บที่คุณแพมใส่ใจเป็นพิเศษแล้ว การกำหนดฟังก์ชันต่างๆ ภายในครัว คุณแพมได้นำประสบการณ์จากห้องครัวเก่าของที่บ้านมาปรับใช้กับห้องครัวนี้ เพื่อให้ตรงกับไลฟ์สไตล์และการใช้งานมากที่สุด “เราพยายามวางแผนทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้น ทุกอย่างเกิดจากประสบการณ์ใช้งานจริงจากบ้านเก่า พอสร้างบ้านหลังใหม่ในวัยที่เรามีครอบครัว เลยนำสิ่งต่างๆ มาปรับใช้ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง อย่างถ้าเราทำอาหารอยู่ต้องหยิบจับอะไรบ้าง เครื่องปรุง จาน-ชาม ช้อน-ส้อม กระทะ-หม้อ ดังนั้นแพมเลยออกแบบให้ทุกอย่างเป็นเหมือน Tri-Angle ตู้กับลิ้นชักที่ใส่ของต่างๆ จะหยิบได้คล่องตัวโดยที่ไม่ต้องเดินไปไหนไกล
ถัดไปในส่วนของทอปเคาน์เตอร์ที่บ้านเก่าจะเหนียวอยู่ตลอดเวลา เราเลยเลือกใช้ทอปเคาน์เตอร์ที่สามารถเช็ดทำความสะอาดโดยใช้น้ำหรือน้ำยาทำความสะอาดได้ เปียกได้ เช็ดได้ ครัวก็จะดูสะอาดอยู่เสมอ หรือแต่ก่อนเราเห็นแม่ชอบตำน้ำพริกเป็นประจำ ตรงไอส์แลนด์เลยออกแบบให้มีมุมสำหรับนั่งตำน้ำพริกได้ด้วย แต่เรายังไม่เคยตำน้ำพริกเลยนะ(หัวเราะ) แต่ตรงนี้เวลาเราทำอาหารลูกๆ ก็จะมายืนดู มานั่งเล่นด้วยได้
เรื่องแสงและการถ่ายเทอากาศก็สำคัญ ด้วยความที่ครัวของเราอยู่ในบ้านและเชื่อมต่อกับห้องอื่นๆ บวกกับครัวที่เป็นสไตล์คันทรี คุณเจษเลยตั้งใจให้มีหน้าต่างบานใหญ่ตรงมุมล้างจานดีไซน์ใส่ขอบบัวแบบฝรั่ง ใช้กระจกลูกฟักแล้วติดมุ้งลวดแบบซ่อนสามารถเลื่อนเปิดได้เมื่อต้องการระบายอากาศในห้องครัว ด้านบนเหนือหน้าต่างก็ออกแบบให้มีช่องแสงเพื่อให้ครัวสว่าง ไม่อับชื้น ทั้งช่วยฆ่าเชื้อโรคและประหยัดไฟด้วย และออกแบบให้มีไฟซ่อนตรงกำแพงเพื่อสะดวกต่อการทำอาหารในเวลากลางคืน รวมถึงมีโคมไฟกลางไอส์แลนด์เพื่อแสงสว่างที่เพียงพอระหว่างทำอาหาร ถ่ายรูปอาหารหรือสังสรรค์ในครัว
อีกสิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำสำหรับคนที่กำลังสร้างบ้านหรือออกแบบห้องครัวคือเรื่องระบบไฟ การติดตั้งจำนวนดวงไฟและปลั๊กให้เพียงพอ ทำให้มองเห็นชัดเจนระหว่างทำอาหาร หรือหยิบของ เพราะพอถึงเวลาเราจะได้ใช้งานจริงๆ ถ้าติดตั้งน้อยเกินไปต้องใช้ปลั๊กต่อหรือตำแหน่งอยู่ไกลเกินไปอาจจะไม่สะดวก ทำให้สะดุดเกิดอันตราย การวางแผนไว้ตั้งแต่แรกยังทำให้บ้านของเราดูเรียบร้อยอีกด้วย
การจะออกแบบบ้านสักหลังไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คงไม่ยากเกินไปถ้าเรารู้ความต้องการของตัวเองและสมาชิกในครอบครัวว่ามีการใช้งานอย่างไร ที่สำคัญคือการออกแบบพื้นที่จัดเก็บไว้ตั้งแต่แรกจะทำให้บ้านของเราเป็นระเบียบและสวยงามแม้จะผ่านเวลาไปนานแค่ไหนก็ตาม